บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๗๖. พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรม

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา(ความเชื่อ) ศีล(ความเป็นปกติทางกาย วาจา) สุตะ(ความสดับตรับฟัง) จาคะ(ความสละ) ปัญญา(ความรู้) ปฏิภาณ(ความไหวพริบ) ธรรมเหล่านั้นของเธอ ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เจริญขึ้น. เรากล่าวข้อนั้นว่าเป็นความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญ ดูก่อนภิกษุทังหลาย อย่างนี้แล คือความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเจริญ
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ. ธรรมเหล่านั้นของเธอย่อมไม่เสื่อมไป ย่อมไม่เจริญขึ้น เรากล่าวข้อนันว่าเป็นความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล คือความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ที่มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อมเป็นอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีพื้นเพแค่ไร เกี่ยวกับศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ. ธรรมเหล่านั้นของเธอย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เสื่อมไป. เรากล่าวข้อนั้นว่าเป็นความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความหยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อม. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล คือความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่หยุดอยู่ มิใช่ความเสื่อม."

ทสกจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๑

๗๗. ไม่ฉลาดในเรื่องจิตของผู้อื่นก็ควรฉลาดในเรื่องจิตของตน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนัน พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในกระจก อันบริสุทธิ์ผ่องใสหรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็ย่อมพยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว. ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยเหตุนี้แล ว่าเป็นลาภของเราหนอ เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอดังนี้ ฉันใด.

              "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย
              ๑. เรามีอภิชฌา(ความโลภ) หรือไม่มีอภิชฌา(ความโลภ) อยู่โดยมากหนอ
              ๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) หรือไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมากหนอ
              ๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึงรัด หรือปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมากหนอ
              ๔. เราฟุ้งสร้าน หรือไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมากหนอ
              ๕. เรามีความลังเลสงสัย หรือข้ามพ้นความลังเลสงสัย อยู่โดยมากหนอ
              ๖. เรามีความโกรธ หรือไม่มีความโกรธ อยู่โดยมากหนอ
              ๗. เรามีจิตเศร้าหมอง หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง อยู่โดยมากหนอ
              ๘. เรามีกายกระสับกระส่าย หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย อยู่โดยมากหนอ
              ๙. เราเกียจคร้าน หรือปรารภความเพียร อยู่โดยมากหนอ
              ๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น หรือมีจิตตั้งมั่น อยู่โดยมากหนอ

              "ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
              ๑. เรามีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
              ๒. เรามีจิตพยาบาท(ความคิดให้ร้าย) อยู่โดยมาก
              ๓. เราถูกความหดหู่ ง่วงงุน รึกรัด อยู่โดยมาก
              ๔. เราฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
              ๕. เรามีความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
              ๖. เรามีความโกรธ อยู่โดยมาก
              ๗. เรามีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
              ๘. เรามีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
              ๙. เราเกียจคร้าน อยู่โดยมาก
              ๑๐. เรามีจิตไม่ตั้งมั่น อยู่โดยมาก" ดังนี้
              ภิกษุนั้นก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะ อันมีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาป อกุศล เหล่านั้นเสีย เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้า หรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
              "๑. เราไม่มีอภิชฌา (ความโลภ) อยู่โดยมาก
              ๒. เราไม่มีจิตพยาบาท อยู่โดยมาก
              ๓. เราปราศจากความหดหู่ ง่วงงุน อยู่โดยมาก
              ๔. เราไม่ฟุ้งสร้าน อยู่โดยมาก
              ๕. เราข้ามพ้นความลังเล สงสัย อยู่โดยมาก
              ๖. เราไม่มีความโกรธ อยู่โดยมาก
              ๗. เราไม่มีจิตเศร้าหมอง อยู่โดยมาก
              ๘. เราไม่มีกายกระสับกระส่าย อยู่โดยมาก
              ๙. เราปรารภความเพียร อยู่โดยมาก
              ๑๐. เรามีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก" ดังนี้
              ภิกษุนั้นก็ควรทำความเพียร เพื่อดำรงอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๒-๑๐๔

๗๘. ฉลาดในเรื่องจิตของตนอีกอย่างหนึ่ง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของผู้อื่น, เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอก็พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในปริยาย(เรื่องราว) แห่งจิตของตน.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยายแห่งจิตของตนอย่างไร? เปรียบเหมือนหญิงหรือชายรุ่น หรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ผู้รักการประดับตกแต่ง เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในเงากระจกอันบริสุทธิ์ผ่องใส หรือในพื้นน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็พยายามเพื่อนำออกซึ่งธุลีหรือมลทินนั้นเทียว ถ้าไม่เห็นธุลีหรือมลทินในเงาหน้านั้น ก็มีความอิ่มใจ เต็มปรารถนา ด้วยเหตุนั้นแล ว่าเป็นลาภของเราหนอ. เงาหน้าของเราบริสุทธิ์หนอ ดังนี้ ฉันใด."

              "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือการพิจารณาดังต่อไปนี้ของภิกษุ ย่อมมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย

              ๑. เราได้เจโตสมถะ (ความสงบแห่งจิต) ในภายใน หรือไม่ได้หนอ?

              ๒. เราได้อธิปัญญา(ปัญญาอันยิ่ง) อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ หรือไม่ได้หนอ?"

              "ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน และเพื่ออธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ." ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และย่อมได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

              "แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เรายังไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่อธิปัญญา อันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรม" ภิกษุนั้น ก็ควรทำฉันทะ, ความพยายาม, ความอุตสาหะ, ความตั้งใจ, ความไม่ท้อถอย, สติและสัมปชัญญะอันมีประมาณยิ่ง เพื่อให้ได้กุศลธรรมเหล่านั้น. เหมือนคนที่มีผ้าถูกไฟไหม้ มีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบทำผ้าหรือศีรษะนั้นให้ไฟดับไปฉะนั้น. ในสมัยอื่น ภิกษุนั้นย่อมได้เจโตสมถะในภายใน และได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ.

              "แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า "เราได้เจโตสมถะในภายใน ได้อธิปัญญาอันเป็นเครื่องเห็นแจ้งธรรมะ" ดังนี้. ภิกษุนั้น ก็ควรทำความเพียร เพื่อตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น และเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะยิ่งขึ้นไป."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๐๔-๑๐๖

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ