บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๒๐๖. ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี (มาตุคาม) ๕ อย่างเหล่านี้ ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ คือ

              ๑. สตรีเมื่อเป็นสาวไปสู่สกุลแห่งสามี ย่อมพลัดพรากจากญาติทั้งหลาย นี้เป็นทุกข์โดยเฉพาะของสตรีข้อแรก ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ
              ๒. สตรีย่อมมีระดู (ประจำเดือน) นี้เป็นทุกข์โดยเฉพาะสตรีข้อที่สอง ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ
              ๓. สตรีย่อมมีครรภ์ (ตั้งครรภ์) นี้เป็นทุกข์โดยเฉพาะของสตรีข้อที่สาม ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ
              ๔. สตรีย่อมคลอดบุตร นี้เป็นทุกข์โดยเฉพาะของสตรีข้อที่สี่ ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ
              ๕. สตรีย่อมทำหน้าที่บำเรอบุรุษ นี้เป็นทุกข์โดยเฉพาะของสตรีข้อที่ห้า ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ
              ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์โดยเฉพาะของสตรี ๕ อย่างเหล่านี้แล ซึ่งสตรีได้รับต่างหากจากบุรุษ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๗

๒๐๗. กำลัง ๕ ของสตรี

              "ดูก่อนภิกษุทั้หลาย กำลัง ๕ ของมาตุคามเหล่านี้ คือ

              ๑. กำลังคือรูป
              ๒. กำลังคือทรัพย์
              ๓. กำลังคือญาติ
              ๔. กำลังคือบุตร
              ๕. กำลังคือศีล
              นี่แลคือกำลัง ๕ ของสตรี
              ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรีประกอบด้วยกำลัง ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้องอาจ ครองเรือน, ย่อมข่มสามี ครองเรือน, ย่อมครอบงำสามี ครองเรือน."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๓๐๕

๒๐๘. บุรุษประกอบด้วยอะไรจึงครอบงำสตรีได้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษประกอบด้วยกำลังข้อเดียว ก็ครอบงำสตรีได้ กำลังข้อเดียว คือ อิสสริยพละ กำลังคือความเป็นใหญ่ สตรีที่ถูกกำลังคือความเป็นใหญ่ครอบงำแล้ว กำลังคือรูปก็ต้านทานไม่ได้ กำลังคือทรัพย์ก็ต้านทานไม่ได้ กำลังคือญาติก็ต้านทานไม่ได้ กำลังคือบุตรก็ต้านทานไม่ได้ กำลังคือศีลก็ต้านทานไม่ได้."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๓๐๕

              (หมายเหตุ : พระพุทธภาษิตนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าสตรีมีกำลัง ๕ ข้อแล้ว ก็เป็นผู้ครองเรือนที่มีอำนาจเหนือสามี แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสามีเป็นอิสสรชนคือผู้เป็นใหญ่ เช่น เป็นพระราชา กำลังคือความเป็นใหญ่ของสามีเพียงข้อเดียว ก็ครอบงำสตรีไว้ได้ พระพุทธภาษิตนี้เป็นกระจกฉายให้เห็นระบบการปกครองและสังคม ในสมัยนั้นว่า อำนาจสิทธิ์ขาดเป็นของคนชั้นปกครอง อนึ่ง บาลีพระไตรปิฎกฉบับไทยตอนนี้ตกหล่น ๒ คำ ได้สอบกับฉบับอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ และอรรถกถาฉบับอักษรไทยแล้ว ข้อความที่ตก คือที่เรียงตัวดำไว้ให้ดังต่อไปนี้

              กตเมน เอเกน พเลน. อิสฺสริยพเลน. อิสฺสริยพเลน อภิภูตํ มาตุคามํ เนว รูปพลํ ตายติ...)

๒๐๙. ของแก้กันอย่างละ ๓

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ (ความกำหนัดยินดี) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) นี้แลคือธรรม ๓ อย่าง.
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างที่ควรเจริญเพื่อละธรรม ๓ อย่างเหล่านี้คือ อสุภะ (ความกำหนดหมายถึงสิ่งที่ไม่งาม) ควรเจริญเพื่อละราคะ, เมตตา (ไมตรีจิตคิดจะให้ผู้อื่นเป็นสุข) ควรเจริญเพื่อละโทสะ, ปัญญา (ความรอบรู้ตามความเป็นจริง) ควรเจริญเพื่อละโมหะ. นี้แลธรรม ๓ อย่างที่ควรเจริญ เพื่อละธรรม ๓ อย่าง."

ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๙๕

              (หมายเหตุ : พระพุทธภาษิตแห่งเดียวกันนี้ แสดงถึงธรรม ๓ อย่างที่ควรเจริญเพื่อละธรรม ๓ อย่าง อีก ๙ ชุด คือ


              ควรเจริญกายสุจริต        เพื่อละ        กายทุจจริต
              ควรเจริญวจีสุจริต        เพื่อละ         วจีทุจจริต
              ควรเจริญมโนสุจจริต         เพื่อละ         มโนทุจจริต.


              ควรเจริญเนกขัมมวิตก (ความตรึกในการออกจากกาม) เพื่อละกามวิตก (ความตรึกในกาม)
              ควรเจริญอัพยาปาทวิตก (ความตรึกในการไม่ปองร้ายผู้อื่น) เพื่อละพยาปาทวิตก (ความตรึกในการปองร้ายผู้อื่น)
              ควรเจริญอวิหิงสาวิตก (ความตรึกในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น) เพื่อละวิหิงสาวิตก (ความตรึกในการเบียดเบียนผู้อื่น).


              ควรเจริญเนกขัมมสัญญา (ความกำหนดหมายในการออกจากกาม) เพื่อละกามสัญญา (ความกำหนดหมายในกาม)
              ควรเจริญอัพยาปาทสัญญา (ความกำหนดหมายในการไม่ปองร้าย) เพื่อละพยาปาทสัญญา (ความกำหนดหมายในการปองร้าย)
              ควรเจริญอวิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายในการไม่เบียดเบียน) เพื่อละวิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายในการเบียดเบียน).


              ควรเจริญเนกขัมมธาตุ (ธาตุคือการออกจากกาม) เพื่อละกามธาตุ (ธาตุคือกาม)
              ควรเจริญอัพยาปาทธาตุ (ธาตุคือการไม่คิดปองร้าย) เพื่อละพยาปาทธาตุ (ธาตุคือการคิดปองร้าย)
              ควรเจริญอวิหิงสาธาตุ (ธาตุคือการไม่เบียดเบียน) เพื่อละวิหิงสาธาตุ (ธาตุคือการเบียดเบียน).

ควรเจริญอนิจจสัญญา (ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง) เพื่อละอัสสาททิฏฐิ (ความเห็นด้วยความพอใจ)
              ควรเจริญอนัตตสัญญา (ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตน) เพื่อละอัตตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นว่าตัวตน)
              ควรเจริญสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เพื่อละมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด).


              ควรเจริญมุทิตา (ความพลอยยินดีเมือ่ผู้อื่นได้ดี) เพื่อละอรติ (ความไม่ยินดีหรือความคิดริษยา)
              ควรเจริญอวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) เพื่อละวิหิงสา (ความเบียดเบียน)
              ควรเจริญธัมมจริยา (การประพฤติธรรม) เพื่อละอธัมมจริยา (การประพฤติไม่เป็นธรรม).

ความเจริญสันตุฏฐิตา (ความสันโดษ คือยินดีเฉพาะของของตน) เพื่อละอสันตุฏฐิตา (ความไม่สันโดษ คือไม่ยินดีเฉพาะของของตน)
              ควรเจริญสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เพื่อละอสัมปชัญญะ (ความไม่รู้ตัว)
              ควรเจริญอัปปิจฉตา (ความปรารถนาน้อย) เพื่อละมหิจฉตา (ความปรารถนามาก).

ควรเจริญโสวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่าง่าย) เพื่อละโทวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่ายาก)
              ควรเจริญกัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้คบเพื่อนดีงาม) เพ่อละปาปมิตตตา (ความเป็นผู้คบเพื่อนชั่ว)
              ควรเจริญอานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก) เพื่อละเจตโส วิกเขปะ (ความฟุ้งซ่านแห่งจิต).


              ควรเจริญสมถะ (การทำใจให้ตั้งมั่น) เพื่อละอุทธัจจะ (ความคิดฟุ้งซ่าน)
              ควรเจริญสังวระ (ความสำรวมระวัง) เพื่อละอสังวระ (ความไม่สำรวมระวัง)
              ควรเจริญอัปปมาทะ (ความไม่ประมาท) เพื่อละปมาทะ (ความประมาท).

ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๔๙๕-๘

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ