ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
๒๑๐. สุราเป็นเหตุให้ละเมิดศีลข้ออื่น ๆ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกแล้ว แม้เราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินข้อที่ว่า บุรุษละเว้นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมาคือสุราและเมรัยแล้ว ถูกพระราชาจับฆ่า หรือจองจำ, เนรเทศ หรือลงโทษอย่างอื่นตามควรแก่เหตุ เพราะเหตุที่มีเจตนา เว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมา คือสุราและเมรัย โดยที่แท้กรรมชั่วของบุรุษนั้นต่างหาก ที่ประกาศว่า บุรุษนี้ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมาคือสุราและเมรัย จึงฆ่าหญิงบ้าง, ชายบ้าง, จึงถือเอาสิ่งที่เขาไม่ให้จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง ด้วยอาการแห่งขโมย, จึงก้าวล่วงในภริยาของผู้อื่น ในบุตรีของผู้อื่น, จึงหักรานประโยชน์ของคฤหบดีบ้าง บุตรของคฤหบดีบ้าง ด้วยการพูดปด. เขาย่อมถูกพระราชาจับ ฆ่า หรือจองจำ, เนรเทศ หรือลงโทษอย่างอื่นตามสมควรแก่เหตุ เพราะเหตุที่ตั้งแต่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมา คือสุราและเมรัย ท่านทั้งหลายเคยได้เห็นได้ฟังอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ?" "ข้าพระองค์ทั้งหลายเคยได้เห็นเคยได้ฟังและจักได้ฟัง พระเจ้าข้า"
ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๓๕
๒๑๑. เวทนา ๒ ถึง ๑๐๘
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยาย๑ ที่เรียกว่าปริยาย ๑๐๘ แก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง. ธรรมปริยายที่เรียกว่าปริยาย ๑๐๘ เป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เวทนา ๒ เราก็กล่าวไว้โยปริยาย , แม้เวทนา ๓ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย, แม้เวทนา ๕ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย, แม้เวทนา ๖ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย, แม้เวทนา ๑๘ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย, แม้เวทนา ๓๖ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย, แม้เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวไว้โดยปริยาย." "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๒ เป็นไฉน ? เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางจิต นี้เรียกว่าเวทนา ๒ "เวทนา ๓๒ คือ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข." "เวทนา ๕ คือ สุขินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือความสุขกาย) , ทุกขินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือความทุกข์กาย , โสมนัสสินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือความสุขใจ), โทมนัสสินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือความทุกข์ใจ), อุเปกขินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือความรู้สึกเฉย ๆ)." "เวทนา ๖ คือ ความรู้สึก (สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข) ที่เกิดจากสัมผัสทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย และทางใจ."
"เวทนา ๑๘ คือ โสมนัสสูปวิจาร ๖ (หมายถึงอาการที่จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ ๖๓ ด้วยความสุขใจ) โทมนัสสูปวิจาร ๖ (หมายถึงอาการที่จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ ๖ ด้วยความทุกข์ใจ) อุเปกขูปวิจาร ๖ (หมายถึงอาการที่จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ ๖ ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ)."
เวทนา ๓๖ คือ โสมนัส (ความสุขใจ) ที่อาศัยบ้านเรือน (เคหสิตะ) ๖ อย่าง, โสมนัสที่อาศัยการออกจากกาม (เนกขัมมสิตะ) ๖ อย่าง, โทมนัส (ความทุกข์ใจ) ที่อาศัยบ้านเรือน ๖ อย่าง, โทมนัสที่อาศัยการออกจากกาม ๖ อย่าง, อุเบกขา (ความรู้สึกเฉย ๆ ในอารมณ์) ที่อาศัยบ้านเรือน ๖ อย่าง, อุเบกขาที่อาศัยการออกจากกาม ๖ อย่าง (๖ × ๖ = ๓๖)."
เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนา ๓๖ ที่เป็นอดีต (ล่วงแล้ว), เวทนา ๓๖ ที่เป็นอนาคต (ยังไม่มาถึง), เวทนา ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน (เกิดขึ้นเฉพาะหน้า) (๓๖ × ๓ = ๑๐๘)."
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๘๖
๒๑๒. เน่าในคืออะไร
"ดูก่อนกิมมิละ๔ ความเป็นผู้เน่าในเป็นไฉน ? ดูก่อนกิมมิละ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติที่เศร้าหมอง๕ ข้อใดข้อหนึ่ง ไม่ออกจากอาบัติ (นั้น) ตามควรแก่รูป นี้เรียกว่าความเป็นผู้เน่าใน."
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๐๗
๑. คำว่า ปริยาย แปลว่า ไปโดยรอบ ถือเอาความว่า นัย หรือเรื่องราว คำว่า ธรรมปริยาย คือ นัยะของธรรม กล่าวไว้โดยปริยาย คือกล่าวไว้โดยนัย หรือโดยประการหนึ่ง
๒. ตั้งแต่เวทนา ๓ ไป ได้แปลถอดความโดยตัดคำซ้ำ ๆ ออก แต่ก็ได้แปลสำนวนบาลีให้เห็นแล้วในเวทนา ๒
๓. อารมณ์ ๖ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย และสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ
๔. เป็นชื่อของภิกษุรูปหนึ่ง
๕. หมายถึงอาบัติหยาบ และอาบัติหนักประเภทสังฆาทิเสส
|