บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๑๗. ต้องเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จึงสิ้นอาสวะได้

              "พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของผู้รู้ผู้เห็น ไม่กล่าวความสิ้นอาสวะของผู้ไม่รู้ไม่เห็น. รู้อะไร? เห็นอะไรเล่า? ความสิ้นอาสวะจึงมีได้. รู้เห็นโยนิโสมนสิการ (การทำไว้ในใจโดยแยบคาย) และอโยนิโสมนสิการ (การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย). เมื่อทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อาสวะที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น. เมื่อทำไว้ในใจโดยแยบคาย อาสวะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ก็จะละเสียได้."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยทัสสนะ (การเห็น) ก็มี อาสวะที่พึงละได้ด้วยสังวร (ความสำรวม) ก็มี อาสวะที่พึงละได้ด้วยปฏิเสวนะ (การใช้สอย, การบริโภค) ก็มี, อาสวะที่พึงละได้ด้วยอธิวาสนะ (การอดทน หรือข่มไว้) ก็มี อาสวะที่พึงละได้ด้วยปริวัชชนะ (การงดเว้น) ก็มี อาสวะที่พึงละได้ด้วยวิโนทนะ (การบรรเทา หรือการทำให้น้อยลง) ก็มี อาสวะที่พึงละได้ด้วยภาวนา (การอบรม คือลงมือปฏิบัติให้เกิดผล) ก็มี."

              (๑) อาสวะที่พึงละได้ด้วยทัสสนะ(การเห็น)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการเห็น เป็นไฉน? ปุถุชน (คนผู้ยังมากด้วยกิเลส) ในโลกนี้ ผู้มิได้สดับ ผู้มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า มิได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า มิได้เห็นสัตบุรุษ (คนดี) ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ มิได้ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่รู้จักธรรมที่ควรทำไว้ในใจ (ควรใส่ใจ) ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรทำไว้ในใจ (ไม่ควรใส่ใจ). เมื่อไม่รู้จักธรรมที่ควรใส่ใจ และไม่ควรใส่ใจ จึงใส่ใจธรรมที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขาใส่ใจธรรมที่ไม่ควรใส่ใจชนิดไหน ? คือชนิดที่เมื่อใส่ใจเข้า กามาสวะ (กิเลสที่หมักดอกสันดานคือกาม) ภวาสวะ (กิเลสที่หมักดองสันดานคือความยินดีในภพ) อวิชาสวะ (กิเลสที่หมักดองสันดานคืออวิชาความไม่รู้จริง) ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขาไม่ใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจชนิดไหน ? คือชนิดที่ เมื่อใส่ใจเข้า กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เกิด ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะละเสียได้. เพราะการใส่ใจธรรมที่ไม่ควรใส่ใจ และการไม่ใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจของบุคคลผู้นั้น อาสวะที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น. ผู้นั้นย่อมใส่ใจโดยไม่แยบคาย อย่างนี้ว่า
              "๑. เราได้เคยเกิดมาแล้ว ในอดีตกาลนานไกลหรือหนอ ?
              ๒. หรือว่าเราไม่ได้เคยเกิดมาแล้ว ในอดีตกาลนานไกล ?
              ๓. เราได้เคยเกิดเป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลนานไกล ?
              ๔. เราได้เคยเกิดเป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลนานไกล ?
              ๕. เราได้เคยเกิดเป็นอะไรแล้วเกิดเป็นอะไรอีกหนอ ในอดีตกาลนานไกล ?           ๖. เราจักเกิดหรือหนอ ในอนาคตกาลนานไกล ?
              ๗. หรือว่าเราจักไม่เกิด ในอนาคตกาลนานไกล ?
              ๘. เราจักเกิดเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลนานไกล ?
              ๙. เราจักเกิดเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลนานไกล ?
              ๑๐. เราจักเกิดเป็นอะไรแล้วเกิดเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลนานไกล ? หรือปรารภปัจจุบันกาลนานไกล ก็เกิดความสงสัยภายในขึ้นว่า

              ๑๑. เราเป็นหรือหนอ                       ๑๒. หรือว่าเราไม่ได้เป็น
              ๑๓. เราเป็นอะไรหนอ                      ๑๔. เราเป็นอย่างไรหนอ
              ๑๕. สัตว์นี้มาเกิดจากที่ไหนหนอ       ๑๖. เราจักไปเกิดที่ไหนหนอ ?"

              เมื่อเขาใส่ใจโดยไม่แยบคาย อย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็น) ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นคือ

              ๑. ความเห็นอย่างเป็นจริงอย่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "อัตตา (ตัวตน) ของเรามีอยู่."
              ๒. ความเห็นอย่างเป็นจริงอ่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "อัตตา (ตัวตน) ของเราไม่มี."
              ๓. ความเห็นอย่างเป็นจริงอย่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "เรายอมจำอัตตา(ตัวตน) ได้ด้วยอัตตา (ตัวตน) นี่เอง."
              ๔. ความเห็นอย่างเป็นจริงอย่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "เรายอมจำอนัตตา (สิ่งไม่ใช่ตัวตน) ได้ด้วยอัตตา (ตัวตน) นี่เอง."
              ๔. ความเห็นอย่างเป็นจริงอย่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "เรายอมจำอนัตตา (สิ่งไม่ใช่ตัวตน) ได้ด้วยอัตตา (ตัวตน)นี่เอง."
              ๕. ความเห็นอย่างเป็นจริงอย่างมั่นคงของผู้นั้น ย่อมเกิดขึ้นว่า "เรายอมจำอัตตา (ตัวตน) ได้ด้วยอนัตตา (สิ่งไม่ใช่ตัวตน) นี่เอง."
              ๖. หรือผู้นั้นเกิดความเห็นอย่างนี้ว่า "อัตตา (ตัวตน) ของเรา เป็นผู้พูด เป็นผู้รู้ ย่อมเสวยผลแห่งกรรมดี กรรมชั่ว ในที่นั้น ๆ อัตตา(ตัวตน)ของเรา นั้นแหละ เป็นของเที่ยง ยั่งยืน เป็นอย่างนั้น ไม่แปรผัน จักตั้งอยู่อย่างนั้น เสมอด้วยสิ่งซึ่งคงทนทั้งหลาย."
              "นี้แล ภิษุทั้งหลาย เรียกว่าทิฏฐิคตะ (ตัวทิฏฐิ) ทิฏฐิคหณะ (การยึดด้วยทิฏฐิ) ทิษฐิกันตาระ (ทางกันดารคือทิฏฐิ) ทิฏฐิวิสูกะ (ความยอกย้อนแห่งทิฏฐิ) ทิฏฐิวิปผันทิตะ (ความผันผวนแห่งทิฏฐิ และทิฏฐิสังโยชนะ (เครื่องผูกคือทิฏฐิ)."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชน ผู้มิได้สดับ ผู้ถูกเครื่องผู้กคือทิฏฐิผูกมัดแล้ว เรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้นไปจากคยามเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้าได้รับการแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยเจ้า ผู้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้จักธรรมที่ควรใส่ใจ และไม่ควรใส่ใจ. ผู้นัน เมื่อรู้จักธรรมที่ควรใส่ใจ ย่อมใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจ ย่อมใส่ใจในธรรมที่ควรใส่ใจ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขาย่อมไม่ใส่ใจธรรมที่ไม่ควรใส่ใจชนิดไหน ? คือชนิดที่เมื่อใส่ใจเข้า กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขาย่อมใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจชนิดไหน ? คือชนิดที่ เมื่อใส่ใจเข้ากามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ย่อมละเสียได้. เพราะการไม่ใส่ใจธรรมที่ไม่ควรใส่ใจ เพราะการใส่ใจธรรมที่ควรใส่ใจของบุคคลนั้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ก็จะละเสียดได้ ผู้นั้นย่อมใส่ใจโดยแยบคายว่า นี้คือทุกข์, นี้คือเหตุให้ทุกข์เกิด, นี้คือความดับทุกข์, นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. เมื่อบุคคลนั้นใส่ใจโดยแยคายอย่างนี้ ย่อมละสังโยชน์ (กิเลสเครื่องผูกมัด) ๓ อย่างเสียได้ คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นเป็นเหตุยึดถือว่ากายของเรา) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) สีลัพตปรามาส (ความยึดถือศีลและพรต ได้แก่ความติดในลัทธิพิธีต่าง ๆ). นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ด้วยการเห็น."

              (๒) อาสวะที่พึงละได้ด้วยสังวร (ความสำรวม)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยความสำรวม เป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม ระวัง อินทรีย์ (สภาพที่เป็นใหญ่) คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมระวังแล้ว อาสวะ (กิเลสที่หมักดองสันดาน) ที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อสำรวมระวังแล้ว อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อน ก็จะไม่มี. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ดวยความสำรวม."

              (๓) อาสวะที่พึงละได้ด้วยปฏิเสวนะ (การส้องเสพ, การใช้สอย, การบริโภค)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการส้องเสพ เป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร (ผ้านุ่งห่ม) เพียงเพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน บำบัดสัมผัส อันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้เกิดความละอาย."

              "เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคบิณฑบาต (อาหาร) มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตกแต่ง เพียงเพื่อตั้งอยู่ได้แห่งร่างกายนี้ เพื่อยังชีวิต เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการบริโภคนี้ เราจักบำบัด (ทุกข) เวทนาเก่า ไม่ทำ (ทุกข) เวทนาใหม่ ให้เกิดขึ้น เราจักดำรงชีวิตได้. ความไม่มีโทษ และความอยู่เป็นผาสุกจักเกิดขึ้น."

              "เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง) เพียงเพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน บำบัดสัมผัส อันเกิดจากเหลือบ ยุง ลมแดด และสัตว์เสือกคลาน เพื่อบรรเทาอันตรายอันเกิดแต่ฤดูกาล และเพื่อยินดีในความหลีกเร้น."

              "เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคยารักษาโรค เพื่อบำบัดเวทนาเนื่องจากอาพาธต่าง ๆ อันเกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่มีความเจ็บไข้เป็นสำคัญ."

              "เพราะเมื่อภิกษุไม่ต้องเสพปัจจัย ๔ อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น. เมื่อส้องเสพปัจจัย ๔ อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะไม่มี. นี้แล ภิษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ด้วยการส้องเสพ."

              (๔) อาสวะที่พึงละได้ด้วยอธิวาสนะ (การอดทนหรือข่มไว้)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอดทน เป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนได้ต่อหนาว ร้อน หิวระหาย ต่อสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ต่อถ้อยคำหยาบคายที่มากระทบ ต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น อันกล้าแข็งเจ็บปวด ไม่เป็นที่สำราญ ไม่เป็นที่พอใจ ขนาดจะทำลายชีวิตเสียได้."

              "เพราะเมื่อภิกษุนั้นไม่อดทน อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดทนอาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะไม่มี. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอดทน."

              (๕) อาสวะที่พึงละได้ด้วยปริวัชชนะ (การงดเว้น)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการงดเว้น เป็นไฉน ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเว้นช้างดุ ม้าดุ โคดุ สุนัขดุ งู ตอไม้ ที่ที่มีหนาม บ่อน้ำ เหว น้ำครำ หลุมโสโครก ภิกษุนั่งในอาสนะอันไม่สมควร คบมิตรชั่ว ย่อมถูกเพื่อนพรหมจารี ผู้รู้ เข้าใจไปในฐานะอันชั่ว เธอพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเว้นอาสนะอันไม่สมควรนั้น ที่เที่ยวไปอันไม่สมควร และมิตรชั่วเหล่านั้น. เพราะเมื่อเธอไม่เว้น อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเว้นอาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะไม่มี. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ด้วยการงดเว้น."

              (๖) อาสวะที่พึงละได้ด้วยวิโนทนะ (การบรรเทา)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการบรรเทา (การทำให้น้อยลง) เป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดไป ย่อมทำให้ตั้งอยู่ไม่ได้ซึ่งกามวิตก (ความตรึกในกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในการปองร้าย) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในการเบียดเบียน) ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว. เพราะเมื่อภิกษุนั้นไม่บรรเทา อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะไม่มี. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่าอาสวะที่พึงละได้ด้วยการบรรเทา (การทำให้น้อยลง)."

              (๗) อาสวะที่พึงละได้ด้วยภาวนา (การอบรม)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอบรม (การลงมือปฏิบัติให้เกิดผล) เป็นไฉน ? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอบรม (ลงมือปฏิบัติ) สัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญา เครื่องตรัสรู้) คือ (๑) สติ (ความระลึกได้) (๒) ธัมมวิจยะ (การเลือกเฟ้นธรรม) (๓) วิริยะ (ความเพียร) (๔) ปิติ (ความอิ่มใจในธรรม) (๕) ปัสสัทธิ (ความสงบใจ) (๗) อุเบกขา (ความวางเฉยในธรรม) อันอิงความสงัด อิงความคลายกำหนัด อิงความดับทุกข์ อันน้อมไปเพื่อความสละกิเลส. เพราะเมื่อภิกษุนั้น ไม่อบรม อาสวะ ที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออบรม อาสวะที่ทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้ ก็จะไม่มี. นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอบรม."

              (สรุปความ)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เนื่องจากอาสวะที่พึงละได้ด้วยการเห็น อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยความสำรวม อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยการส้องเสพ อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอดทน อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยการงดเว้น อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยการบรรเทา อันเธอละได้แล้ว อาสวะที่พึงละได้ด้วยการอบรม อันเธอละได้แล้ว เธอจึงชื่อว่า ปิดกั้นแล้วด้วยการปิดกั้นอาสวะทั้งปวง ตัดขาดซึ่งตัณหา คลายได้ซึ่งเครื่องผูกมัด ทำที่สุดทุกข์ได้โดยชอบ เพราะตรัสรู้เรื่องของจิตใจ."

สัพพาสวสังวรสูตร ๑๒/๑๒-๒๐


๑. ได้แก่ความติดใจในฌาน หรือในสมาธิชั้นสูง
๒. อรรถกถาแก้ว่า สมฺมาทิฏฺฐิยา วินิวิชฺฌฏเฐน วา วิโลมนฏฺเฐน วา วิสูกํ
๓. สูตรนี้ ฝรั่งสนใจมาก ได้เลือกนำไปแปลไว้ในหนังสือ Sacred Books of The East เล่ม ๑๑ ด้วย

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ