บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๑๘. ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท

              "ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาท ย่อมเผากิเลสที่ผูกมัดใหญ่น้อย ไปได้เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ฉะนั้น."

๑๑๙. ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาทอีกอย่างหนึ่ง

              "ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาท เป็นผู้ไม่ควรที่จะเสื่อม ย่อมอยู่ในที่ใกล้พระนิพพานเทียว."

๑๒๐. จิตที่กวัดแกว่งดิ้นรนนั้นดัดให้ตรงได้

              "ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่กวัดแกว่ง ดิ้นรน รักษายาก ห้ามยากให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรฉะนั้น. จิตนี้ ที่ยกขึ้นจากห้วงน้ำคือความอาลัย เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาที่ถูกโยนไปบนบก."

๑๒๑. จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้

              "การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เป็นของเบา มักตกไปในอารมณ์ตามที่ใคร่ เป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกแล้ว นำความสุขมาให้."

๑๒๓. จะพ้นจากบ่วงมารได้อย่างไร

              "ผู้ใดสำรวมจิต ซึ่งเที่ยวไปได้ไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีร่าง มีแค่คูหา (คือตัวมนุษย์) เป็นที่อาศัยได้ ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมาร."

๑๒๔. ผู้เช่นไร ปัญญาไม่รู้จักบริบูรณ์ ผู้เช่นไรไม่มีภัย

              "ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย ปัญญาของเขาย่อมไม่บริบูรณ์. ผู้มีจิตอันกิเลสไม่รั่วรดแล้ว มีจิตอันกิเลสตามกำจัดไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว เป็นผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัย."

ธรรมบท ๒๕/๑๙

๑๒๕. ความจนเป็นทุกข์ในโลก

              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

              จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทังหลาย คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้. แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              "คนจนกู้หนี้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย. แม้การเสียดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              "คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวง ก็เป็นทุกข์ ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              "คนจนถูกทวง ไม่ให้เขา ก็ถูกเขาตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              "คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี, การกู้หนี้ก็ดี, การเสียดอกเบี้ยก็ดี, การถูกทวงก็ดี, การถูกตามตัวก็ดี, การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปไมยก็อย่างนั้นเหมือนกัน. บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา(ความเชื่อ) ในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้ เรียกว่าเป็นคนจน ไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่งในวินัยของพระอริยเจ้า."

              "คนจน (ทางธรรม) นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีความเพียรในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ การประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ นี้ เรากล่าวว่า เป็นการกู้หนี้ของผู้นั้น."

              "คนจน (ทางธรรม) นั้น เพราะเหตุที่จะปกปิดทุจจริตทางกาย วาจา ใจนั้น จึงตั้งความปรารถนาลามก ปรารถนาว่า ดำริว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามทางกาย ด้วยคิดว่า คนทั้งหลายอย่ารู้เรื่องเราเลย. ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการเสียดอกเบี้ยของผู้นั้น."

              "เพื่อนพรหมจารี (ร่วมประพฤติพรหมจรรย์) ผู้มีศีลเป็นที่รัก ย่อมกล่าวถึงผู้นั้นว่า มีการกระทำอย่างนี้ มีความประพฤติอย่างนี้. ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการถูกทวงของผู้นั้น."

              "ความคิดที่เป็นอกุศล (กุศลวิตก) อันลามก อันประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมติดตามผู้นั้น ผู้ไปสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างก็ตาม. ข้อนี้ เรากล่าวว่า เป็นการถูกตามตัวของผู้นั้น."

              "คนจน (ทางธรรม) นั้น ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ แล้ว ภายหลังที่สิ้นชีวิตไป ย่อมถูกจองจำ ด้วยการจองจำในนรกบ้าง ด้วยการจองจำในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานบ้าง."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นการถูกจองจำอย่างอื่นสักอย่างเดียว ที่ทารุณ ที่นำทุกข์มาให้ ที่ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมะอันปลอดโปร่งจากิเลส อันเป็นธรรมยอดเยี่ยม เหมือนการถูกจองจำในนรก หรือในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย."

ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๓๙๒


๑. ได้ตัดข้อความที่ซ้ำกันออก คือคำว่า ไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง แม้คำกราบทูลของภิกษุทั้งหลายที่ว่า "อย่างนั้น พระเจ้าข้า" ซึ่งมีแทรกอยู่ทุกข้อ ก็ตัดออก
๒. แปลตามศัพท์ว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ