บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๒๖. ไตรลักษณ์มีอยู่แล้วโดยปกติ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุ, ความตั้งอยู่แห่งธรรม, ทำนองแห่งธรรมอันนั้น ก็ตั้งอยู่แล้ว คือข้อที่ว่า สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง)ทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ (ทนอยู่ไม่ได้) ธรรม (ทั้งสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง และไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ตถาคตตรัสรู้เข้าใจทำนองธรรมนั้น ครั้นตรัสรู้แล้ว เข้าใจชัดแล้ว ก็บอก, แสดง, บัญญัติ, ตั้งไว้, เปิดเผย, แจกแจง, ทำให้ง่ายถึงข้อที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน."

ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๓๖๘

๑๒๗. ฤกษ์งามยามดี

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ในเวลาเช้า เช้าวันนั้น ย่อมเป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ในเวลากลางวัน กลางวันนั้นย่อมเป็นกลางวันที่ดีของสัตว์เหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ในเวลาเย็น เย็นวันนั้นย่อมเป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น."

๒๐/๒๗๘

๑๒๘. การแสวงหา ๒ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือการแสวงหาอามิส กับการแสวงหาธรรม. ในการแสวงหาทั้งสองอย่างนี้ การแสวงหาธรรมเป็นเลิศ."

ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๑๖

๑๒๙. นักรบทางธรรม

              "บุคคลรู้จักกาย ซึ่งมีอุปมาด้วยหม้อดิน (คือแตกง่าย) ปิดกั้นจิต ซึ่งมีอุปมาเหมือนพระนคร (ซึ่งมีคูและป้องเป็นเครื่องกั้น) พึงรบมาด้วยอาวุธคือปัญญา พีงรักษาชัยชนะ และไม่มุ่งแต่จะพัก (คือไม่ติดในสมาบัติจนไม่มีโอกาสทำหน้าที่สูงขึ้นไป)."

๑๓๐. อนาคตของกายนี้

              "ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน ถูกทอดทิ้งปราศจากวิญญาณ เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ฉะนั้น."

๑๓๑. ใครทำร้ายก็ไม่เท่าจิตของตน

              "โจรต่อโจร หรือคนผูกเวรต่อคนผูกเวร พึงทำความพินาศอะไรให้แก่กัน จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำบุคคลให้เลวร้ายยิ่งกว่านั้น."

๑๓๒. ใครทำดีให้ก็ไม่เท่าจิตของตน

              "มารดา บิดา หรือญาติอื่น ๆ ทำความดีบางชนิดให้ไม่ได้ จิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว ทำบุคคลให้ดีได้ยิ่งกว่านั้น."

ธรรมบท ๒๕/๒๐

๑๓๓. ผู้ชนะโลกทั้งสามและรู้จักเลือกเฟ้นธรรมะ

              "ใครเล่าจักชนะแผ่นดินนี้ และยมโลก กับทั้งเทวโลก ? ใครเล่าจักเลือกเฟ้นบทแห่งธรรม ที่ตถาคตแสดงดีแล้ว เหมือนหนึ่งช่างดอกไม้ ที่ฉลาด เลือกเฟ้นดอกไม้ฉะนั้น."

              "ผู้ศึกษา จักชนะแผ่นดินนี้ และยมโลก กับทั้งเทวโลก. ผู้ศึกษา จักเลือกเฟ้นบทแห่งธรรมที่ตถาคตแสดงดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้ที่ฉลาด เลือกเฟ้นดอกไม้ฉะนั้น."

๑๓๔. ผู้ที่มัจจุราชมองไม่เห็น

              "บุคคลรู้กายนี้ว่า เป็นเสมือนฟองน้ำ (คือแตกทำลายง่าย) รู้กายนี้ว่า มีธรรมดาเหมือนพยับแดด (คือมีลักษณะลวงตา) ตัดพวงดอกไม้ของพญามาร (คือความวนเวียนในภูมิทั้งสาม) พึงบรรลุสภาพที่พญามัจจุราชมองไม่เห็น."

๑๓๕. ห้วงน้ำใหญ่-มฤตยู

              "มฤตยูย่อมพานรชน ผู้มัวเก็บดอกไม้ (คือกามารมณ์) มีใจข้องในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่อิ่มในกามให้ไปสู่อำนาจ."

ธรรมบท ๒๕/๒๑

๑๓๗. พระอรหันต์ไม่ก้าวล่วงฐานะ ๙ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีฐานะอยู่ ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'สมณะ ศากยบุตร อยู่อย่างมีธรรมอันไม่ตั้งมั่น' เมื่อนักบวชเจ้าลัทธิอื่นกล่าวอย่างนี้ ท่านพึงกล่าวว่า 'ผู้มีอายุ ธรรมที่พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ผู้เห็น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว มีอยู่ เป็นธรรมอันไม่พึงก้าวล่วงตลอดชีวิต เหมือนหนึ่งเสาเขื่อน เสาเหล็ก ฝังไว้ลึก ฝังไว้ดีแล้ว เป็นของไม่หวั่นไหว ไม่สั่นสะเทือน ฉะนั้น. ผู้มีอายุ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้มีกิจอันพึงทำได้เสร็จแล้ว วางภาระแล้ว มีความต้องการของตนอันบรรลุแล้ว สิ้นกิเลสอันเป็นเหตุมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพนั้น เป็นผู้ไม่เป็นไปได้ ที่จะก้าวล่วงฐานะ ๙ ประการ คือ

              ๑. ไม่เป็นไปได้ที่จะจงใจฆ่าสัตว์มีชีวิต

              ๒. ไม่เป็นไปได้ที่จะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ อันกล่าวได้ว่า เป็นอาการของขโมย

              ๓. ไม่เป็นไปได้ที่จะเสพเมถุนธรรม

              ๔. ไม่เป็นไปได้ที่จะกล่าวเท็จโดยเจตนา

              ๕. ไม่เป็นไปได้ที่จะทำการสะสมบริโภคกาม เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน

              ๖. ไม่เป็นไปได้ที่จะถึงความลำเอียงเพราะรัก

              ๗. ไม่เป็นไปได้ที่จะถึงความลำเอียงเพราะชัง

              ๘. ไม่เป็นไปได้ที่จะถึงความลำเอียงเพราะหลง

              ๙. ไม่เป็นไปได้ที่จะถึงความลำเอียงเพราะกลัว."

ปาสาทิกสูตร ๑๑/๑๔๗


๑. แผ่นดินนี้ (หมายถึงแผ่นดินภายใน คืออัตตภาพร่างกาย) ยมโลก (นรก) เทวโลก (สวรรค์)
๒. คำว่า ผู้ศึกษา แปลจาก คำว่า เสขะ โดยทั่วไป แปลว่า ผู้ศึกษา โดยเจาะจงในทางธรรม หมายถึง พระอริยบุคคลผู้บรรลุมรรคผลตั้งแต่ขั้นต่ำ จนถึงจวนจะบรรลุขั้นสุดท้าย คือตั้งแต่โสดาปัตติมรรคถึงอรหัตตมรรค
๓. หมายถึงฟองบนผิวน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วแตกไป
๔. อภพฺโพ ที่แปลว่า ไม่เป็นไปได้ เพื่อให้ความชัด เพราะถ้าแปลว่า ไม่ควร จะหมายความว่า เป็นคำสอนว่า ไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความหมายในที่นี้ว่า ไม่เป็นไปได้

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ