บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๖. ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งความรู้(วิชชาภาคิยะ)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา(วิชชาภาคิยะ)๒ อย่างเหล่านี้ คือ สมถะ(ความสงบ) ๑ วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง) ๑. สมถะ อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมทำให้จิตได้รับการอบรม จิตได้รับการอบรมแล้ว ย่อมทำให้ละราคะ (ความกำหนัดยินดี หรือความติดอกติดใจ) ได้ วิปัสสนา อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมทำให้ปัญญาได้รับการอบรม, ปัญญาได้รับการอบรมแล้ว ย่อมทำให้ละอวิชา(ความไม่รู้ตามความจริง) ได้."

ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๗๘

๑๗. คำอธิบายนิพพานธาตุ ๒ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ มี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสสนิพพานธาตุ กับ อนุปาทิเสสนิพพดานธาตุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่พึงทำอันได้ทำเสร็จแล้ว วางภาระแล้ว มีประโยชน์ของตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นเครื่องผูกพันในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ การเสวยอารมณ์ทั้งปวงของภิกษุนั้น ดับสนิท นี้เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ."

อิติวุตตก ๒๕/๒๕๘

๑๘. ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ถูกปรุงแต่ง มีอยู่

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง มีอยู่ ถ้าไม่มีธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ความพ้นไปจากธรรมชาติที่เกิด ที่เป็น ที่มีใครทำ ที่มีอะไรปรุงแต่ง ก็จะปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุที่มีธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ความพ้นไปจากธรรมชาติที่เกิด ที่เป็น ที่มีใครทำ ที่มีอะไรปรุงแต่ง จึงปรากฏได้."

อิติวุตตก ๒๕/๒๕๗

๑๙. ความเสื่อมที่เลวร้าย ความเจริญที่เป็นยอด

              " ความเสื่อมจากญาติ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย ก็คือ ความเสื่อมจาก ปัญญา"

              " ความเจริญด้วยญาติ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา. เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วย ปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"

              " ความเสื่อมจากโภคทรัพย์ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย ก็คือความเสื่อมจาก ปัญญา

              " ความเจริญด้วยโภคทรัพย์ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วย ปัญญา. เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วย ปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"

              " ความเสื่อมจากยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจาก ปัญญา"

              " ความเจริญด้วยยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วย ปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วย ปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๗,๑๘

๒๐. จิตผ่องใสเศร้าหมองได้ หลุดพ้นได้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองเพราะอุปกิเลส ที่จรมา"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล หลุดพ้นได้จากอุปกิเลส ที่จรมา."

เอกนิบาต อุงคุตตรนิกาย ๒๐/๑๑

๒๑. การอบรมจิตของบุถุชนผู้มิได้สดับ และอริยสาวกผู้ได้สดับ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลส ที่จรมา บุถุชนผู้มิได้สดับเรื่องนั้น ย่อมไม่รู้ตามความจริง เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า การอบรมจิตของบุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่มี"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล หลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา อริยสาวกผู้ได้สดับเรื่องนั้น ย่อมรู้ตามความจริง เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า การอบรมจิตของอริยสาวกผู้ได้สดับมีอยู่."

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๑,๑๒

๒๒. เมตตาจิตชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุส้องเสพ เจริญ ทำในใจ ซึ่งเมตตาจิต แม้ชั่วเวลาสักว่าลัดนิ้วมือเดียว เราย่อมกล่าวว่า เธอผู้นี้ อยู่อย่างไม่ว่างจากฌาน เป็นผู้ทำตามคำสอนของศาสดา เป็นผู้ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันอาหารของราษฎรไปเปล่า ๆ จะกล่าวไย ถึงข้อที่ภิกษุจะทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า."

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๒

๒๓. กุศล อกุศล มีใจเป็นหัวหน้า

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไปในส่วนแห่งอกุศล เป็นไปในฝักฝ่าย (พวก) แห่งอกุศล เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจย่อมเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดตามมา"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศล เป็นไปในส่วนแห่งกุศล เป็นไปในฝักฝ่าย (พวก) แห่งกุศล เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจย่อมเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดตามมา."

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๒

๒๔. ผู้ให้ กับ ผู้รับ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่วแล้ว ทายก(ผู้ให้) พึงรู้ประมาณ ไม่ใช่ปฏิคาหก(ผู้รับ) ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ชั่วแล้ว"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ปฏิคาหก(ผู้รับ) พึงรู้ประมาณ ไม่ใช่ทายก(ผู้ให้) ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมกล่าวไว้ดีแล้ว."

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๕

๒๕. ผู้ปรารภความเพียร กับ ผู้เกียจคร้าน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่วแล้ว ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ชั่วแล้ว"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ดีแล้ว."

เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๕,๔๖


๑. อุปกิเลส คือความชั่วทางจิตที่ทำจิตให้เศร้าหมอง มีความโลภอย่างแรง เป็นต้น

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ