ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
๒๖. โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักข้อหนึ่งที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) นี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นอย่างยิ่ง."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๔
๒๗. ภพ (ความวนเวียนเป็นนั่นเป็นนี่) เปรียบเหมือนอุจจาระ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุจจาระ, ปัสสาวะ, น้ำลาย, น้ำหนอง, เลือด แม้มีประมาณน้อย ก็มีกลิ่นเหม็นฉันใด เราย่อมไม่สรรเสริญภพ(ความวนเวียนเป็นนั่นเป็นนี่) แม้มีประมาณน้อย โดยที่สุด แม้เพียงลัดนิ้วมือเดียวฉันนั้น."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๖
๒๘. ผลของสุจริตและทุจจริต
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสอันจะเป็นไปได้ ที่วิบาก(ผล) ของกายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต จะพึงเกิดขึ้น ให้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ. ฐานะนั้นย่อมไม่มี. ก็แต่ว่าฐานะนั้นมีอยู่ ที่วิบาก(ผล)ของ
กายทุจจริต วจีทุจจริต มโนทุจจริต จะพึงเกิดขึ้น ให้ไม่น่าปราถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ฐานะนั้นมีอยู่"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส อันจะเป็นไปได้ ที่วิบาก(ผล) ของ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้น ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ฐานะนั้นย่อมไม่มี ก็แต่ว่าฐานะนั้นมีอยู่ ที่วิบาก(ผล) ของกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
จะพึงเกิดขึ้น ให้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฐานะนั้นมีอยู่."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๓๗,๓๘
๒๙. กายคตาสติ เปรียบเหมือนมหาสมุทร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใคร ๆ นึกออกถึงมหาสมุทรก็จะเห็นได้ว่า แม้น้ำน้อยทั้งหลายใด ๆ ก็ตาม ที่ไหลลงทะเล ย่อมเป็นอันผู้นั้นหยั่งเห็นได้ กายคตาสติ (สติอันไปในกาย) ใคร ๆ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กุศลธรรมทั้งหลายใด ๆ ก็ตาม ที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา(ความรู้ธรรมะที่เป็นจริง)
ย่อมเป็นอันผู้นั้นหยั่งเห็นได้."
เอกนิบาต อังคุตตระนิกาย ๒๐/๕๕
๓๐. กายคตาสติ ทำให้ได้อะไรบ้าง ?
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวช. เพื่อประโยชน์อันใหญ่, เพื่อความปลอดโปร่งจากโยคะ๑ อันใหญ่, เพื่อสติสัมปชัญญะ, เพื่อได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณคือความรู้ภายใน),
เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน, เพื่อทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชา(ความรู้) และวิมุติ(ความหลุดพ้น). ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน ? ธรรมอย่างหนึ่ง คือ กายคตาสติ(สติอันไปในกาย). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวช, เพื่อประโยชน์อันใหญ่ ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุติ."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๕๕
๓๑. อานิสงส์ต่าง ๆ ของกายคตาสติ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตก(ความตรึก) วิจาร(ความตรอง) ก็ระงับ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา แม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญเต็มที่ ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน? ธรรมอย่างหนึ่ง คือกายคตาสติ(สติอันไปในกาย) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อธรรมอย่างนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตก วิจารก็ระงับ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา แม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญเต็มที่"
(ขึ้นต้นอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกัน มีคำแสดงอานิสงส์ของกายคตาสติตอ่ไปอีกว่า)
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว อันบุคคลย่อมละได้"
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลยิ่งขึ้น"
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว อวิชชา อันบุคคลย่อมละได้, วิชชาย่อมเกิดขึ้น, อัสมิมานะ(ความถือตัวว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่) อันบุคคลย่อมละได้, อนุสัย (กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องในสันดาน)ทั้งหลาย ย่อมถึงความถูกถอนราก, สัญโญชน์ (กิเลสที่มัดสัตว์ไว้ในภพ) ทั้งหลาย
อันบุคคลย่อมละได้"
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานในปัญญา เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน (สภาพที่ดับสนิทโดยไม่มีเชื้อเหลือ)"
"อเนกธาตุปฏิเวธ๒ (ความตรัสรู้หรือรู้ซาบซึ้งตลอดธาตุเป็นอเนก) นานาธาตุปฏิเวธ (ความตรัสรู้หรือรู้ซาบซึ้งตลอดธาตุต่าง ๆ) นานาธาตุปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธาตุต่าง ๆ) ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเจริญกายคตาสติ"
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล"
"เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งกายคตาสติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความเจริญด้วยปัญญา เพื่อความไพบูลย์ด้วยปัญญา เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากว้างขวาง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเต็มที่ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญารวดเร็ว
เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไว เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาอันทำให้บันเทิง เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาไหวพริบ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญากล้า เพื่อความเป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๕๗, ๕๘
๓๒. กายคตาสติ กับ อมตะ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดไม่ได้บริโภคกายคตาสติ ผู้นันไม่ได้บริโภคอมตะ ผู้ใดได้บริโภคกายคตาสติ ผู้นั้นได้บริโภคอมตะ
(ข้อความต่อไปอีกมากมีใจความว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกายคตาสติ ก็ชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอมตะ ต่างแต่โวหารที่เปลี่ยนไป).
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๕๘
๑. กิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ มี ๔ อย่าง คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
๒. คำว่า ปฏิเวธ แปลว่า "แทงทะลุ" หรือที่โบราณแปลว่า "แทงตลอด" ตรงกับคำแปลในภาษาอังกฤษ Penertration เมื่อมาในลำดับแห่งปริยัติ(การเรียน) ปฏิบัติ(การกระทำ) หมายถึงการได้รับผลของการปฏิบัติ
|