ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
๓๓. ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้ ๕ ประเภท
"พระอุบาลีกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้ มีกี่ประเภท ? พระผู้มีภาคตรัสตอบว่า "ดูก่อนอุบาลี ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้ มี ๕ ประเภท คือ
๑. ภิกษุผู้เข้าไปสู่บริเวณบ้านเรือน
๒. ภิกษุผู้เดินในทาง
๓. ภิกษุผู้อยู่ในที่มืด
๔. ภิกษุผู้ไม่ทันสนใจ (ในภิกษุผู้จะไหว้) คือมัวสนใจในเรื่องอื่น ๆ ไม่ทันเห็น ไม่ทันสังเกต แม้ไหว้ก็คงไม่รู้ว่าไหว้)
๕. ภิกษุผู้นอนหลับ."
๓๔. ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท
"ดูก่อนอุบาลี ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้ อีก ๕ ประเภท คือ
๑. ในขณะดื่มข้าวยาคู
๒. ในขณะอยู่ในโรงฉัน
๓. ภิกษุเป็นศัตรู (ขณะที่กราบไหว้ อาจประทุษร้ายเอาได้)
๔. ภิกษุผู้ส่งใจไปที่อื่น
๕. ภิกษุผู้เปลือยกาย."
๓๕. ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท
"ดูก่อนอุบาลี ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท คือ
๑. ภิกษุผู้กำลังเคี้ยว
๒. ภิกษุผู้กำลังบริโภค๑
๓. ภิกษุผู้กำลังถ่ายอุจจาระ
๔. ภิกษุผู้กำลังถ่ายปัสสาวะ
๕. ภิกษุผู้อันสงฆ์ประกาศยกเสียจากหมู่ (ถูกลงอุกเขปนียกรรม)."
๓๖. บุคคลที่ภิกษุไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท๒
"ดูก่อนอุบาลี บุคคลที่ภิกษุไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท คือ
๑. ภิกษุผู้บวชภายหลัง
๒. บุคคลที่มิได้บวชเป็นภิกษุ (อนุปสัมบัน)
๓. ภิกษุต่างนิกาย (นานาสังวาส) ที่แก่กว่า แต่พูดไม่เป็นธรรม
๔. มาตุคาม (ผู้หญิง)
๕. บัณเฑาะก์ (กระเทย)"
๓๗. ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท
"ดูก่อนอุบาลี ภิกษุที่ภิกษุด้วยกันไม่พึงไหว้อีก ๕ ประเภท คือ
๑. ภิกษุผู้อยู่ปริวาส (ในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)
๒. ภิกษุผู้ควรแก่มูลายปฏิกัสสนา (การชักเข้าหาอาบัติเดิม ในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)
๓. ภิกษุผู้ควรแก่มานัตต์ (ในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)
๔. ภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์ (ในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)
๕. ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน (คือการสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส ภายหลังที่ประพฤติกรรมดั่งกล่าวในข้อต้น ๆ แล้ว)
(รวมความนข้อนี้ คือ ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ระหว่างทำพิธีออกจากอาบัติ แม้จะมีพรรษาอายุสูงก็ไม่ควรกราบไหว้ เพราะเท่ากับกำลังต้องโทษ).
วินัยปิฎก ปริวาร ๘/๕๐๖
๑. ของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ และเหง้าเผือกมัน เหง้าบัว เป็นต้น ของบริโภค คืออาหารทั่ว ๆ ไป
๒. ตรงนี้ ใช้คำว่า บุคคล เพื่อให้ครอบไปถึงผู้มิได้บวช ผู้หญิงและกะเทย ในภาษาบาลีมิได้มีตัวนามปรากฏ ถ้าจะแปลตรง ๆ ศัพท์ก็แปลได้ว่า ผู้ที่ไม่ควรไหว้ แต่ถ้าไม่กล่าวไว้ให้ชัดตามเจตนารมณ์ของพระวินัย อาจเข้าใจผิดเป็นเรื่องของคฤหัสถ์
|