บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

การรักษาสาธารณสมบัติ
(มีข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับความรอบคอบในการทรงบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้า)

๑๓๘. ผ้าเช็ดเท้า

              สมัยนั้น ท่อนผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำเป็นผ้าเช็ดเท้าได้."

๑๓๙. ห้ามเหยียบเสนาสนะทั้งที่เท้าเปื้อน

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเหยียบเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) ด้วยเท้าที่มิได้ล้าง. เสนาสนะเสียหาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ล้างเท้า ไม่พึงเหยียบเสนาสนะ. ผู้ใดเหยียบ ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ."

๑๔๐. ห้ามเหยียบเสนาสนะทั้งที่เท้าเปียก

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเหยียบเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) ด้วยเท้าที่เปียก. เสนาสนะเสียหาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีเท้าเปียก ไม่พึงเหยียบเสนาสนะ ผู้ใดเหยียบ ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ."

๑๔๑. ห้ามใส่รองเท้าเหยียบเสนาสนะ

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใส่รองเท้า เหยียบเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย). เสนาสนะเสียหาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใส่รองเท้า ไม่พึงเหยียบเสนาสนะ ผู้ใดเหยียบ ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ."

วินัยปิฎก ๗/๑๔๔

๑๔๒. ห้ามบ้วนน้ำลายบนพื้นที่ทาสี

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายบ้วนน้ำลายลงบนพื้นที่ทาสี. สีเสียหาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงบ้วนน้ำลายลงบนพื้นที่ทาสี. ผู้ใดบ้วน ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต (ให้ใช้) กระโถน (ได้)."

๑๔๓. ให้ใช้ผ้าพันเท้าเตียงเท้าตั่ง

              สมัยนั้น เท้าเตียงบ้าง เท้าตั่งบ้าง ครูดพื้นที่ทาสี. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พ้น (เท้าเตียง เท้าตั่ง)ด้วยท่อนผ้า."

๑๔๔. ห้ามพิงฝาที่ทาสี

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพิงฝาที่ทาสี. สีเสียหาย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงพิงฝาที่ทาสี. ผู้ใดพิง ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นกระดานสำหรับพิง." แผ่นกระดานครูดพื้นข้างล่างและครูดฝาข้างบน. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พันข้างล่าง และข้างบน (แห่งแผ่นกระดาน) ด้วยท่อนผ้า."

๑๔๕. อนุญาตให้ใช้เครื่องปูนอน

              สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้ว ก็ยังรังเกียจที่จะนอน. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูลาดก่อนแล้ว จึงนอน."

วินัยปิฎก ๗/๑๔๕

๑๔๖. ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ (คือทนอยู่ไม่ได้). สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน. สิ่งใดไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ข้อนี้ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ก็เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ (คือทนอยู่ไม่ได). สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน. สิ่งใดไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. ข้อนี้ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับ เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด (หมายถึงความติดใจ). เพราะคลายความกำหนัด ก็หลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้น ก็มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. เธอย่อมรู้ว่า ชาติ(ความเกิด) สิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ (การประพฤติเหมือนพรหม คือไม่ครองเรือน)ได้อยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว, กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ (เพื่อมาเกิดอีก) ไม่มี."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๑

๑๔๗. ผู้ชื่นชมทุกข์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดชื่นชมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชื่นชมรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้) ธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) ผู้นั้นชื่อว่าชื่นชมทุกข์ ผู้ใดชื่นชมทุกข์ ผู้นั้นเรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้."

๑๘/๑๖-๑๗

๑๔๘. ความเกิด ความดับ แห่งทุกข์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิดปรากฏ แห่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้ ธรรมะ สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) คือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ความตั้งอยู่แห่งโรค ความปรากฏ แห่งความแก่และความตาย."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความระงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งตา หู เป็นต้นเหล่านั้น คือความดับแห่งทุกข์ ความระงับแห่งโรค ความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่งความแก่และความตาย."

๑๘/๑๗

๑๔๙. ตา หู เป็นต้น มีที่ไหน มารมีที่นั่น

              ท่านพระสมิทธิกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำที่กล่าวกันว่า มาร มานั้น ด้วยเหตุเพียงเท่าไหร จึงชื่อว่ามาร หรือบัญญัติคำว่า มาร ได้."

              พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ดูก่อนสมิทธิ ในที่ใดมีตา มีรูป (สิ่งที่เห็นด้วยตา) มีความรู้แจ้งทางตา มีธรรมที่พึงรู้แจ้ง ด้วยความรู้แจ้งทางตา ในที่ใดมีหู มีเสียง ฯลฯ มีใจ มีธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ มีความรู้แจ้งทางใจ มีธรรมที่พึงรู้แจ้ง ด้วยความรู้แจ้งทางใจ ในที่นั้น ย่อมมีมาร หรือมีการบัญญัติว่า มาร ได้."

              "ดูก่อนสมิทธิ ในที่ใดไม่มีสิ่งเหล่านั้น ในที่นั้นย่อมไม่มีมาร ไม่มีการบัญญัติว่า มาร ได้."

๑๘/๔๖

๑๕๐. นรกที่ตา หู เป็นต้น

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านได้ดีแล้ว ขณะ(กาลเวลา) เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันท่านได้รับแล้ว. นรกอันเชื่อว่าเนื่องด้วยอายตนะสำหรับถูกต้องอารมณ์ ๖ ชนิด เราได้เห็นแล้ว ในนรกนั้น บุคลย่อมเห็นรูปใด ๆ ด้วยตา ก็เห็นแต่รูปที่ไม่น่าปรารถนา ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา, เห็นแต่รูปที่ไม่น่าใคร ไม่เห็นรูปที่น่าใคร, เห็นแต่รูปที่ไม่น่าพอใจ ไม่เห็นรูปที่น่าพอใจ."

              "เขาฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้), รู้ธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) ก็ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้อง ได้รู้แต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ดม ไม่ได้ลิ้ม ไม่ได้ถูกต้อง ไม่ได้รู้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ."

๑๕๑. สวรรค์ที่ตา หู เป็นต้น

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของท่านทั้งหลาย ท่านได้ดีแล้ว ขณะ(กาลเวลา) เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันท่านได้รับแล้ว. สวรรค์อันเชื่อว่าเนื่องด้วยอายตนะสำหรับถูกต้องอารมณ์ ๖ ชนิด เราได้เห็นแล้ว. ในสวรรค์นั้น บุคคลย่อมเห็นรูปใด ๆ ด้วยตา ก็เห็นแต่รูปที่น่าปรารถนา ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนา. เห็นแต่รูปที่น่าใคร่ ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าใคร่. เห็นแต่รูปที่น่าพอใจ ไม่เห็นรูปที่ไม่น่าพอใจ."

              "เขาฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูกต้องโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้องได้), รู้ธรรมะ (สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ) ก็ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้อง ได้รู้แต่สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ดม ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ถูกต้อง ไม่ได้รู้สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ."

๑๘/๑๕๘


๑. เขฬมลฺลก
๒. ข้อความต่อจากนี้ กล่าวถึงสิ่งที่คู่กันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่ถูกต้องได้ สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ทั้งอดีต อนาคต ว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
๓. จักขุวิญญาณ
๔. มโนวิญญาณ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ