บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๕๒. เวียนว่ายตายเกิด

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย. สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้ มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้น เบื้องปลาย ของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่. ควรเพื่อจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรที่จะพ้นไปเสีย."

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๖/๒๑๙

๑๕๓. อะไรยาวนานสำหรับใคร

              "ราตรีของผู้ที่ตื่น ยาวนาน. โยชน์ของผู้เมื่อยล้า ยาว, สงสาร (การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด) ของคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ยาว."

๑๕๔. ความเป็นสหายในคนพาลไม่มี

              "ถ้าเที่ยวไป ไม่พบคนที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ก็ควรบำเพ็ญความเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะความเป็นสหายในคนพาลไม่มี."

๑๕๕. ของเราแน่หรือ ?

              "คนเขลาย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ก็ตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน ?"

๑๕๖. พาลและบัณฑิตที่รู้จักตัวเอง

              "คนพาลรู้จักความเป็นพาลของตน ก็เป็นบัณฑิตได้บ้าง เพราเหตุนั้น, แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต เรากล่าวว่าเป็นพาลแท้."

๑๕๗. ทัพพีไม่รู้รสแกง

              "ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตจนตลอดชีวิต แต่ไม่รู้แจ้งซึ่งธรรม คนพาลนั้น ก็เหมือนทัพพีที่ไม่รู้รสแกงฉะนั้น."

๑๕๘. ลิ้นรู้รสแกง

              "ถ้าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้เพียงครู่เดียว แต่รู้แจ้งซึ่งธรรมได้โดยพลัน วิญญูชนนั้นก็เหมือนลิ้นที่รู้รสแกงฉะนั้น."

๑๕๙. มีตนเป็นอมิตร

              "คนพาลย่อมเที่ยวไป กับตนที่เป็นอมิตรนั่นแหละ ทำบาปกรรมอันมีผลเป็นที่เดือดร้อน."

ธรรมบท ๒๕/๒๓

๑๖๐. สะอาดด้วยน้ำ หรือ ด้วยความประพฤติ ?

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา สมัยนั้น ชฏิล (นักบวชเกล้าผมเป็นเซิง) มากหลาย ดำผุดบ้าง ดำหัวบ้าง เอามือกวักน้ำรดตนเองบ้าง ในแม่น้ำคยา บูชาไฟบ้าง ในสมัยที่มีหิมะตกระหว่างราตรีฤดูหนาว อันเย็นเยียบ ด้วยคิดว่า ความบริสุทธิ์จะมีได้ด้วยวิธีการนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฏิลเหล่านั้นทำอาการอย่างนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "ความบริสุทธิ์เพราะน้ำในแม่น้ำที่คนเป็นอันมากอาบนั้น ย่อมไม่มี ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรมะ ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์."

อุทาน ๒๕/๘๐

๑๖๑. อยู่ในอำนาจของคนอื่นเป็นทุกข์

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมารดา มีธุระบางอย่างเกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล. พระราชามิได้ทรงพิจารณาเรื่องนั้นตามความต้องการ (อรรถกถากล่าวว่า นางวิสาขาไปเฝ้า แต่ไม่พบ หลายครั้ง). นางวิสาขาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า "ดูก่อนวิสาขา เธอไปไหนมาแต่ยังวันทีเดียว." นางวิสาขาจึงกราบทูลเรื่องนันให้ทรงทราบ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "การอยู่ในอำนาจของคนอื่น ทุกอย่าง เป็นทุกข์, การเป็นอิสสระ ทุกอย่าง เป็นสุข. คนทั้งหลายย่อมเดือดร้อนในเรื่องทุกข์สุขทั่วไป เพราะว่ากิเลสเครื่องมัดสัตว์ เป็นของก้าวล่วงได้ยาก."

อุทาน ๒๕/๙๘

๑๖๒. สิ้นหลงย่อมไม่หวั่นไหว

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชนวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ท่านพระสาริบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นพระสาริบุตรเช่นนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "ภูเขาศิลา ไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่ด้วยดีฉันใด เพราะสิ้นความหลง ภิกษุย่อมไม่หวั่นไหว ดุจภูเขาฉะนั้น."

อุทาน ๒๕/๑๑๒

๑๖๓. ไม่โศกในท่ามกลางแห่งความโศก

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต. ขณะนั้นท่านพระอุปเสนะ วังคันตบุตร ผู้ไปสู่ที่ลับ หลีกเร้นอยู่ ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า "เป็นลาภของเรา, เราได้ดีหนอ. พระศาสดาของเรา เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และเราก็ได้ออกจากเรือน บวชไม่มีเรือนในพระธรรมวินัยที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ของเราเล่า ก็มีศีล มีกัลยาณธรรม และทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ตัวเราก็มีจิตตั้งมั่นดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง และเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เราจะอยู่จะตาย ก็นับว่าเจริญ.

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของท่านพระอุปเสนะ วังคันตบุตรแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "ผู้ใดจะเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อน จะตายก็ไม่เศร้าโศก ผู้นั้นเป็นผู้เห็นบท (แห่งธรรม) ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งความโศก. ภิกษุผู้ถอนความทะยานอยากในความมีความเป็นได้ มีจิตสงบ สิ้นการเวียนว่ายในชาติ (ความเกิด) ความเกิดอีกของเธอย่อมไม่มี."

อุทาน ๒๕/๑๔๒

๑๖๔. อกเขา อกเรา

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จสู่ชั้นบนปราสาทอันประเสริฐกับพระนางมัลลิกาเทวี. พระองค์ตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า "ดูก่อนมัลลิกา ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอเองมีหรือไม่ ?" พระนางมัลลิกากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อมฉันไม่มี ก็ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์เองมีหรือไม่ ?" พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า "ดูก่อนมัลลิกา ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเราเองไม่มี."

              ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลข้อโต้ตอบของพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวี ให้ทรงทราบ

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              ""บุคคลตรวจดูด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเองในที่ไหน ๆ ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลายอย่างนี้ ผู้รักตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น."

อุทาน ๒๕/๑๔๕


๑. คำนี้เป็นชื่อพิเศษแสดงประวัติว่า ได้เคยต่อสู้กับมิคารเศรษฐี บิดาสามี ซึ่งบีบคั้นนางต่าง ๆ และได้อาศัยความดีต่อสู้ จนบิดาสามียอมเรียกเป็นมารดา
๒. เป็นการแปลหัก ถือเอาใจความ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ