บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๖๕. ประวัติสุปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์ สมัยนั้นคนเป็นโรคเรื้อนผู้มีนามว่า สุปพุทธะ เป็นคนจน คนกำพร้า คนขัดสน. สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยบริษัทใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุปพุทธผู้เป็นโรคเรื้อน เห็นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นดังนั้น จึงคิดว่า "เขาคงแบ่งของเคี้ยวของกินอย่างใดอย่างหนึ่งกันในที่นั้นโดยไม่ต้องสงสัย. แม้ไฉน เราพึงเข้าไปหามหาชนกลุ่มนั้น บางทีจะได้ของเคี้ยวของกินอย่างใดอย่างหนึ่งในที่นั้นบ้าง." สุทปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน จึงเข้าไปหามหาชนกลุ่มนั้น ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยบริษัทใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ครั้นเห็นดังนั้น จึงคิดว่า "เขามิได้แบ่งของเคี้ยวของกินอย่างใดอย่างหนึ่งในที่นี้ พระสมณโคดมนี้กำลังแสดงธรรมในบริษัท. แม้ไฉน เราพึงฟังธรรม" จึงนั่งลง ณ ที่นัน ด้วยคิดว่า เราจักฟังธรรม.

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาดูบริษัททั้งปวงโดยรอบคอบ ว่าใครในที่ประชุมนี้จะควรรู้แจ้งธรรมะ ก็ได้ทรงเห็นสุปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน ผู้นั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นทรงเห็นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า สุทปพุทธะผู้นี้ ควรรู้แจ้งธรรมได้ จึงทรงปรารภสุปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน แสดงอนุบุพพิกถา (ถ้อยคำที่กล่าวตามลำดับ) คือทรงประกาศกล่าว ว่าด้วยทาน, ศีล, โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของกาม และอานิสงส์ (ผลดี) ในการออกบวช.

              เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน เป็นผู้มีจิตอันควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนีวรณ์ (กิเลสที่กั้น) มีจิตมีอารมณ์สูง จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ว่าด้วยทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิดความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงเปิดหงายขึ้นได้เอง. ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแก่สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน ณ ที่นั่งนั้นเอง เสมือนหนึ่งผ้าอันบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย ควรรับน้ำย้อมด้วยดีฉะนั้น.

              ลำดับนั้น สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว บรรลุแล้ว รู้แจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมก้าวล่วงความสงสัยแคลงใจได้แล้ว ถึงความเป็นผู้กล้าหาญไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัย (ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น) ในเรื่องคำสอนของพระศาสดา ลุกขึ้นจากที่นั่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ไพเราะนัก พระเจ้าข้า เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด ชี้ทางแก่คนหลงทาง ตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีตาจะได้เห็นรูป พระผู้มีพระภาค ได้ทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอเนก มีข้อเปรียบฉะนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต."

              ลำดับนั้น สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ชักชวน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมิกถา ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วหลีกไป. ต่อมาสุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน หลีกไปแล้วไม่ช้า ก็ถูกโครุ่นขวิด ถึงแก่ชีวิต.

              ลำดับนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว จึงกราบทูล่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนเป็นโรคเรื้อน ชื่อสุปพุทธะ ผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมิกถา นั้น ทำกาละเสียแล้ว สุปพุทธะนั้น มีคติและความเป็นไปข้างหน้าเป็นอย่างไร ?" พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสิ้นกิเลสเครื่องผูกมัด ๓ ประการ สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า."

              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน เป็นคนจน เป็นคนกำพร้า เป็นคนขัดสน ?" พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในกาลก่อน สุปพุทธะ ผู้เป็นโรคเรื้อน ได้เป็นบุตรของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้. เขาเดินทางไปสู่สนามในอุทยาน ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ตครสิขี กำลังเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในพระนคร ครั้นเห็นก็คิดว่า "คนขี้เรื้อนอะไรนี่เที่ยวเดินอยู่" จึงถ่มน้ำลาย แสดงอาการไม่เคารพหลีกไป. ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เขาหมกไหม้ในนรกสิ้นปีเป็นอันมาก สิ้นร้อยปีเป็นอันมาก สิ้นพันปีเป็นอันมาก สิ้นแสนปีเป็นอันมาก. ด้วยผลอันเหลือแห่งกรรมนั้น เขาจึงได้เป็นคนยากจน เป็นคนกำพร้า เป็นคนขัดสนในกรุงราชคฤห์นี้. เขาอาศัยพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงสมาทาน (ถือเอา) ศรัทธา (ความเชื่อ) ศีล (ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย) สุตะ (การสดับตรับฟัง) จาคะ (การสละกิเลส) ปัญญา (ความรอบรู้). ครั้นเขาอาศัยพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สมาทานศรัทธา จนถึงสมาทานปัญญาแล้ว ภายหลังที่สิ้นชีวิตแล้ว ก็เข้าถึงความเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้น เขาย่อมรุ่งเรืองเหนือเทพเหล่าอื่นโดยวรรณะ โดยยศ."

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนันแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "เมื่อยังมีความเพียร บัณฑิตพึงเว้นบาปทั้งหลายในชีวโลก (โลกแห่งสัตว์มีชีวิต) เหมือนคนมีตาดีเว้นทางไม่สม่ำเสมอฉะนั้น."

อุทาน ๒๕/๑๔๕


๑. ค้นพบด้วยพระองค์เอง
๒. โดยใจความ คือความเห็น เป็นเหตุยึดว่ากายของเรา, ความสงสัย, การติดในศีลและพรต
๓. เป็นสำนวนให้เข้าใจว่าตกนรกอยู่นาน

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ