บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๖๖. ถ้ากลัวทุกข์ก็อย่าทำความชั่ว

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี สมัยนั้นเด็ก ๆ หลายคนจับปลาอยู่ ในระหว่างกรุงสาวัตถี กับเชตวนารม. ขณะนั้น เป็นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงอันตรสาวก (นุ่งผ้า) แล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต. พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๆ หลายคนเหล่านั้นกำลังจับปลาอยู่ จึงเสด็จเข้าไปหา แล้วตรัสว่า "เด็ก ๆ ทั้งหลาย พวกเธอกลัวทุกข์ ไม่รักทุกข์ ใช่หรือไม่" เมื่อเด็กทั้งหลายกราบทูลรับว่า "เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัวทุกข์ ไม่รักทุกข์." จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "ถ้าท่านทั้งหลายกลัวทุกข์ ถ้าทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็อย่าทำกรรมชั่ว ไม่ว่าในที่แจ้ง หรือในที่ลับ ถ้าท่านทั้งหลายจักกระทำ หรือกระทำความชั่วอยู่ ก็จะไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ แม้จะตั้งหน้าหนีไปอยู่."

อุทาน ๒๕/๑๔๙

๑๖๗. คนค่อม แต่มีคุณธรรมสูง

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นท่านพระภิททิยะผู้ค่อม (เรียกชื่อติดกันว่า ลกุณฏกภัททิยะ) เดินตามหลังภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระลกุณฏกภัททิยะเดินตามหลังภิกษุหลายรูปมาแต่ไกล เป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เตี้ยต่ำมาก อันภิกษุทั้งหลายบังเสียโดยมาก. ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นภิกษุรูปนั้นหรือไม่ ผู้เดินตามหลังภิกษุหลายรูปมาแต่ไกล เป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เตี้ยต่ำมาก อันภิกษุทั้งหลายบังเสียโดยมาก." ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นแหละ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมาบัติที่ภิกษุนี้ไม่เคยเข้า หาได้ยากมาก กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริยะโดยชอบ เพื่อประโยชน์อันใด ภิกษุนี้ ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์นั้น อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบัน."

              ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

              "รถที่ไม่มีส่วนบกพร่อง มีหลังคาขาว มีกำข้างเดียว กำลังแล่นอยู่ ท่านจงดูรถคันนั้น อันไม่สะเทือน มีกระแสอันขาด ไม่มีเครื่องผูก กำลังมาอยู่."

อุทาน ๒๕/๒๐๐

๑๖๘. ลักษณะแห่งที่สุดทุกข์

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิฎฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงชักชวนให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมิกถา อันปฏิสังยุต (เกี่ยวข้อง) ด้วยพระนิพพาน. และภิษุเหล่านัน ก็สนใจ ใส่ใจ ตั้งใจ เงี่ยโสต สดับพระธรรม.

              เมื่อยังมีความเพียร บัณฑิตพึงเว้นบาปทั้งหลายในชีวโลก (โลกแห่งสัตว์มีชีวิต) เหมือนคนมีตาดีเว้นทางไม่สม่ำเสมอฉะนั้น."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะนั้นไม่มีดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ไม่มีอากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจายตนะ, อกิญจัญญายตนะ, เนวสัญานาสัญญายตนะ, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ทั้งสอง, เราย่อมกล่าวถึงอายตนะนั้นว่า ไมใช่การมา มิใช่การไป มิใช่การตั้งอยู่ มิใช่การจุติ (การเคลื่อนจากที่เดิม) มิใช่การเกิดขึ้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเป็นไป ไม่มีอารมณ์ นั่นแหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์."

อุทาน ๒๕/๒๐๖

              (หมายเหตุ : คำว่า อากาสานัญจายตนะ หมายความว่า แหล่งที่มีอากาศไม่มีที่สุด วิญญาณัญจายนตะ แหล่งที่มีวิญญาณไม่มีที่สุด อากิญจัญญายตนะ แหล่งที่ไม่มีอะไรเลย เนวสัญญานาสัญญายตนะ แหล่งที่มีสัญญา (ความจำได้) ก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ เป็นชื่อของอรูปฌานทั้งสี่ และเป็นชื่อของที่เกิดของผู้บรรลุอรูปฌานทั้งสี่นั้น).

อุทาน ๒๕/๑๔๕

๑๖๙. คมิกวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้จะเดินทางจากไป)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้จะเดินทางจากไป พึงเก็บเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ เครื่องใช้ที่ทำด้วยดิน (หมายถึงดินเผา) ปิดประตูหน้าต่างแล้ว บอกมอบเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง ถือเอาความว่าที่อยู่อาศัย). ถ้าไม่มีภิกษุ พึงบอกสามเณร. ถ้าไม่มีสามเณร พึงบอกคนดูแลวัด. ถ้าไม่มีคนดูแลวัด พึงบอกอุบาสก."

              "ถ้าไม่มีภิกษุสามเณร คนดูแลวัดหรืออุบาสก พึงวางเตียงไว้บนก้อนหิน ๔ ก้อน (เพื่อไม่ให้ปลวกขึ้น) แล้ววางเตียงซ้อนเตียง วางตั่งซ้อนตั่ง ทำเสนาสนะให้เป็นกองอยู่ข้างบน เก็บเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ เครื่องใช้ที่ทำด้วยดิน ปิดประตูหน้าต่างแล้วจึงหลีกไป."

              "ถ้าวิหารรั่ว ถ้าสามารถ ก็พึงมุงเสีย หรือพึงทำความขวนขวายด้วยคิดว่า ทำอย่างไร จะมุงวิหารได้. ถ้ามุงได้อย่างนี้ ก็เป็นการดี. ถ้าไม่ได ที่ใดฝนไม่รั่ว พึงวางเตียงไว้บนก้อนหิน ๔ ก้อน ในที่นั้น, วางเตียงซ้อนเตียง วางตั่งซ้อนตั่ง ทำเสนาสนะให้เป็นกองอยู่ข้างบน เก็บเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ เครื่องใช้ที่ทำด้วยดิน ปิดประตูหน้าต่างแล้วหลีกไป."

              "ถ้าวิหารรั่วทั้งหลัง ถ้าสามารถ พึงนำเสนาสนะ ไปสู่หมู่บ้าน (ฝากชาวบ้านไว้) หรือพึงทำความขวนขวายว่า ทำอย่างไรจะนำเสนาสนะไปสู่หมู่บ้านได้. ถ้านำไปได้อย่างนี้ ก็เป็นการดี. ถ้าไม่ได้ พึงวางเตียงไว้บนก้อนหิน ๔ ก้อน วางเตียงซ้อนเตียง วางตั่งซ้อนตั่ง ทำเสนาสนะให้เป็นกองอยู่ข้างบน เก็บเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ เครื่องใช้ที่ทำด้วยดิน คลุมด้วยหญ้า หรือใบไม้ แล้วหลีกไปด้วยคิดว่า ถ้าอย่างไร แม้ส่วนประกอบทั้งหลายจะพึงเหลืออยู่."

              "นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือวัตรของภิกษุผู้จะเดินทางจากไป ที่ภิกษุผู้จะเดินทางจากไป พึงปฏิบัติโดยชอบ."

วินัยปิฎก ๗/๒๒๒


๑. พระพุทธภาษิตนี้ เปรียบพระอรหันต์กับรถที่ดี และดีอย่างผิดกว่ารถธรรมดา คือรถธรรมดามีซี่ล้อ (กำ) มาก แต่นี่มีกำซี่เดียว ท่านเปรียบด้วยสติ รถธรรมดา มีน้ำมันที่หยอดไว้ตามหัวเพลา ตามดุม ไหลเยิ้ม แต่รถนี้ไม่มีแระแส คือเทียบด้วยไม่มีกระแสตัณหาไหล รถธรรมดา ต้องผูกมัดรัดรึง แต่รถคันนี้ไม่ต้องมีอะไรผูก เทียบด้วยไม่มีกิเลส
๒. อุบาสก แปลว่า ผู้นั่งใกล้ คือนั่งใกล้พระรัตนตรัย ถือเอาความว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนา
๓. คำว่า เสนาสนะ โดยทั่วไป หมายรวมทั้งที่อยู่อาศัย แต่ในที่นี้ รูปความให้หมายเพียงเครื่องปูนั่ง ปูนอน รวมทั้งเตียงตั่ง เพราะคำว่า ที่อยู่อาศัย ใช้คำว่า วิหาร แล้ว

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ