บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๗๐. เสนาสนวัตร (ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ในวิหารใด ถ้าสามารถ เธอพึงทำความสะอาด. เมื่อจะทำความสะอาดวิหาร พึงนำบาตรจีวรออกก่อน แล้ววางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พึงนำผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอนออกวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พึงนำฟูก และหมอนออกวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. เตียงตั่งพึงทำให้ต่ำนำออกให้ดี อย่าให้ครูดสี กับกระโถนออกวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พึงนำแผ่นกระดานสำหรับพิงออกไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พึงสังเกตเครื่องปูพื้นตามที่ตั้งไว้เดิม แล้วนำออกวางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. (สมัยก่อนที่อยู่ไม่ยกพื้นโดยมาก เมื่ออยู่กับพื้นดินจึงต้องใช้เตียงใช้ตั่ง และใช้เครื่องปูพื้น). ถ้าวิหารมีหยากไย่ พึงนำหยากไย่ออกจากเพดานก่อน."

              "ถ้าฝาที่ทาด้วยสีดินแดง เป็นจุดด่าง พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้แห้ง แล้วเช็ด. ถ้าพื้นทาด้วยสีดำเป็นจุดด่าง พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้แห้งแล้วเช็ด. ถ้าพื้นไม่ได้ทาสีไว้ พึงพรมน้ำแล้วกวาด ด้วยคิดว่า อย่าให้วิหารเปรอะเปื้อนด้วยธุลี พึงเก็บขยะไปทิ้ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

              "ไม่พึงตีเสนาสนะ (หมายถึงใช้มือทุบตีหรือใช้ไม้ตีให้ฝุ่นละอองออก) ในที่ใกล้ภิกษุ. ไม่พึงตีเสนาสนะในที่ใกล้วิหาร. ไม่พึงตีเสนาสนะใกล้น้ำดื่ม. ไม่พึงตีเสนาสนะใกล้น้ำใช้. ไม่พึงตีเสนาสนะในลานด้านทวนลม พึงตีเสนาสนะด้านใต้ลม."

              "เครื่องปูพื้น พึงตากได้ไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำความสะอาดแล้ว ดีแล้ว จึงนำไปปูไว้ ณ ที่ซึ่งปูไว้เดิม. ที่รองเตียง พึงตากไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เล้วเช็ด นำไปตั้งไว้ในที่เดิม. เตียงตั่ง พึงตากแดดไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำความสะอาดแล้ว เคาะแล้ว ทำให้ต่ำ นำไปให้ดี มิให้ครูดสีบาน และกรอบประตู แล้วพึงตั้งไว้ ณ ที่เดิม. ฟูกและหมอน พึงตากแดดไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำความสะอาดแล้ว ดีแล้ว จึงนำไปวางไว้ ณ ที่เดิม. กระโถน พึงตากแดดไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ขัดถูแล้วนำไปตั้งไว้ ณ ที่เดิม. แผ่นกระดาษสำหรับพิง พึงตากแดดไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง นำไปตั้งไว้ ณ ที่เดิม. พึงเก็บบาตรจีวร. (โปรดสังเกตว่า สิ่งที่นำออกก่อน เก็บเข้าทีหลังทั้งหมด)."

              "เมื่อจะเก็บบาตร พึงถือบาตรด้วยมือข้างหนึ่ง ใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำใต้เตียง ใต้ตั่ง แล้วจึงเก็บ (เพื่อไม่ให้บาตร ซึ่งโดยมากเป็นบาตรดิน กระทบอะไรแตกเสียหาย). ไม่พึงวางบาตรบนพื้นว่าง (คือที่ไม่มีอะไรบังอยู่ข้างบน). เมื่อเก็บจีวร พึงจับจีวรด้วยมือข้างหนึ่ง รูดราวจีวร หรือเชือกที่ขึงสำหรับพาดจีวรด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พึงเก็บจีวรเอาชายด้านนอกพับเข้ามาด้านใน (คือพาดจีวรเข้ามาหาตัวผู้พาด เพื่อไม่ให้จีวรไปกระทบของแหลมคมอื่น ๆ ภิกษุที่รู้วินัยข้อนี้ เวลาตากจีวร จึงตากจีวรเข้าหาตัว)."

              "ถ้าลมมีฝุ่นทางทิศตะวันออกพัดมา พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก. ถ้าลมมีฝุ่นทางทิศตะวันตกพัดมา พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก. ถ้าลมมีฝุ่นทางทิศเหนือพัดมา พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ. ถ้าลมมีฝุ่นทางทิศใต้พัดมา พึงปิดหน้าต่างด้านใต้."

              "ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างในเวลากลางวัน ปิดเวลากลางคืน. ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างในเวลากลางวัน เปิดในเวลากลางคืน.

             "ถ้าบริเวณรก พึงกวาดบริเวณ. ถ้าโรงเก็บของรก พึงกวาดโรงเก็บของ. ถ้าโรงประชุมรก พึงกวาดโรงประชุม. ถ้าโรงไฟ (สำหรับต้มน้ำ เป็นต้น) รก พึงกวาดโรงไฟ. ถ้าวัจจกุฎี (ส้วม) รก พึงกวาดวัจจกุฎี. ถ้าน้ำดื่มไม่มี พึงตั้งน้ำดื่มไว้. ถ้าน้ำใช้ไม่มี พึงตั้งน้ำใช้. ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ."

              "ถ้าอยู่ในวิหารเดียวกับภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ยังไม่ได้อาปุจฉา (บอกกล่าว หรือขอโอกาส) ไม่พึงให้อุทเทส (การแนะนำ) ไม่พึงให้ปริปุจฉา (การสอบถาม) ไม่พึงทำการสาธยาย (ท่องบ่น) ไม่พึงกล่าวธรรม ไม่พึงจุดไฟ ไม่พึงดับไฟ ไม่พึงเปิดปิดหน้าต่าง (ถ้าขออนุญาตแล้วทำได้) ถ้าเดินจงกรม (เดินไปเดินมา กำหนดจิตไว้ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง) ในที่จงกรมอันเดียวกับภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ภิกษุผู้แก่พรรษากว่าอยู่ในที่ใดพึงกลับจากที่นั้น (คือเมื่อเดินไปถึงที่นั้น แล้วให้กลับ) ด้วยคิดว่า ชายสังฆาฏิจะไม่กระทบภิกษุผู้แก่พรรษากว่า."

              "นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือวัตรอันเกี่ยวกับเสนาสนะของภิกษุทั้งหลาย ที่ภิกษุทั้งหลายพึงปฏิบัติชอบในเรื่องเสนาสนะ."

วินัยปิฎก ๗/๒๓๖

๑๗๑. ธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง

              ในข้อนั้น ธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่างเป็นไฉน ?

              ๑. เพราะอาศัยความทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา

              ๒. เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีลาภ

              ๓. เพราะอาศัยลาภ จึงมีการวินิจฉัน

              ๔. เพราอาศัยการวินิจฉัน จึงมีความกำหนัด (หรือความคิด) ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ

              ๕. เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ จึงมีการฝังใจ

              ๖. เพราะอาศัยการฝังใจ จึงมีการหวงแหน

              ๗. เพราะอาศัยการหวงแหน จึงมีความตระหนี่

              ๘. เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการอารักขา

              ๙. เพราะมีการอารักขาเป็นเหตุ จึงมีการจับท่อนไม้ การจับศัสตรา การทะเลาะ การแตกแยก การกล่าวขัดแย้งกัน การชี้หน้ากัน การพูดส่อเสียด การพูดปด และธรรมที่เป็นบาปอกุศลอีกเป็นเอนก

              นี้คือธรรมที่มีความทะยานอยากเป็นมูล ๙ อย่าง.

อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๒๗

๑๗๒. เรื่องของกิเลส (เครื่องใจให้เศร้าหมอง) ๑๐ อย่าง

              ในข้อนั้น เรื่องของเกิเลส ๑๐ อย่างเป็นไฉน ?

              ๑. โลภะ ความโลภ                    ๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย

              ๓. โมหะ ความหลง                    ๔. มานะ ความถือตัว

              ๕. ทิฏฐิ ความเห็น (ผิด)             ๖. วิจิกิจฉา ความลังเลสังสัย

              ๗. ถีนะ ความหดหู่                     ๘. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

              ๙. อหิริกะ ความเป็นผู้ไม่ละอาย               ๑๐. อโนตตับปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป

อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๒๘

๑๗๓. จิต มโน วิญญาณ เกิดดับ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ พึงเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและพ้นไปในกาย อันประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่นี้ได้. เพราะเหตุไร ? เพราะความก่อขึ้น ความสลายตัว การรวมตัว การแยกตัว ของกายอันประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่นี้ อันบุคคลเห็นได้. เพราะเหตุนั้น บุถุชนผู้มิได้สดับจึงพึงเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและพ้นไปในกายนั้นได้."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ธรรมชาติที่เรียกว่าจิตบ้าง ใจ (มโน) บ้าง วิญญาณบ้าง อันใด, บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ (สามารถ) พอที่จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด และพ้นไปในธรรมชาตินั้นได้ เพราะเหตุไร ? เพราะธรรมชาตินัน อันบุถุชนผู้มิได้สดับ ฝังใจ ยึดถือ ลูบคลำ (ด้วยใจ) มานานแล้วว่า "นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา." เพราะเหตุนั้น บุถุชนผู้มิได้สดับ จึงไม่ (สามารถ) พอที่จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และพ้นไปได้ในธรรมชาตินั้น."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ พึงถือกายอันประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่นี้ว่า เป็นตนดีกว่า. การถือว่า จิตเป็นตนไม่ดีเลย. เพราะเหตุไร ? เพราะกายอันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ นี้ ที่ตั้งอยู่ ๑ ปี, ๒ ปี, ๓ ปี, ๔ ปี, ๑๐ ปี, ๒๐ ปี, ๓๐ ปี, ๔๐ ปี, ๕๐ ปี, ๑๐๐ ปี แม้ตั้งอยู่เกิน ๑๐๐ ปี ก็ยังเห็นได้. แต่ธรรมชาติที่เรียกว่าจิตบ้าง ใจบ้าง วิญญาณบ้างนั้น ในกลางคืนกับกลางวัน ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งก็ดับไป."

สังยุตตนิกาย นิทานวัคค์ ๑๖/๑๑๔


๑. ฟูก คือเบาะ มี ๒ ชนิด คือฟูกสำหรับเตียง ฟูกสำหรับตั่ง ในวินัยปิฎก เล่ม ๒ หน้า ๒๔๔ กล่าวว่า ฟูกหรือเบาะนี้ ยัดด้วยของ ๕ อย่าง คือขนสัตว์, ปอ, เศษผ้า, หญ้าและใบไม้. ของยัดที่ห้าม คือนุ่นและสำลี
๒. การแปลเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นความละเอียดลออในการทรงบัญญัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
๓. แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า จิต ใจ วิญญาณ ใช้เป็นไวพจน์ของกันและกันได้ แม้ในที่บางแห่งจะแสดงหน้าที่ของคำทั้งสามนี้ต่างกัน

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ