บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๗๔. เข้ากันได้โดยธาตุ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้โดยธาตุ. คนมีศรัทธา ย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้กับคนมีศรัทธา. คนมีใจละอายต่อบาป ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีใจละอายต่อบาป. คนมีความเกรงกลัวต่อบาป ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีความเกรงกลัวต่อบาป. คนที่สดับตรับฟังมากก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่สดับตรับฟังมาก. คนที่ปรารภความเพียร ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่ปรารภความเพียร. คนที่มีสติตั้งมั่น ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีสติตั้งมั่น. คนที่มีปัญญา ก็เข้ากันได้ ลงกันได้ กับคนที่มีปัญญา. แม้ในอดีตกาลนานไกล ในอนาคตกาลนานไกล ในปัจจุบันกาลนานไกล ก็เป็นอย่างนี้."

๑๖/๑๙๑

๑๗๕. ตัวอย่างของผู้เข้ากันได้โดยธาตุ

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. สมัยนั้น ท่านพระสาริบุตร เดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค. แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ, ท่านพระมหากัสสปะ, ท่านพระอนุรุทธ์, ท่านพระปุณณะ, ท่านพระอุบาลี, ท่านพระอานนท์ และพระเทวทัต (แต่ละท่าน) ต่างก็เดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค.

              ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นสาริบุตรกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีปัญญามาก. ท่านทั้งหลายเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีฤทธิ์มาก. ท่านทั้งหลายเห็นมหากัสสปกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
             "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธุตวาทะ (ผู้กล่าวในทางขัดเกลากิเลส คือ สรรเสริญการประพฤติธุดงค์). ท่านทั้งหลายเห็นอนุรุทธ์กำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้มีทิพยจักษุ. ท่านทั้งหลายเห็นปุณณะ มันตานีบุตรกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม). ท่านทั้งหลายเห็นอุบาลีกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นวินัยธร (ผู้ทรงวินัย). ท่านทั้งหลาย เห็นอานนท์กำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้สดับตรับฟังมาก. ท่านทั้งหลายเห็นเทวทัตกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้โดยธาตุ. ผู้มีอัธยาศัยเลว ย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยเลว ผู้มีอัธยาศัยดีงาม ย่อมเข้ากันได้ ลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้แล้ว ลงกันได้แล้วโดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในอนาคตกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายจักเข้ากันได้ ลงกันได้โดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ลงกันได้โดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."

๑๖/๑๘๖

๑๗๖. เรื่องที่มิได้ตรัสบอกมีมากกว่า

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไม้ประดู่ลาย ใกล้กรุงโกสัมพี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลายขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ? คือใบประดูลายเล็กน้อยที่เราถือไว้ กับใบที่อยู่บนต้นประดู่ลาย อย่างไหนจะมากกว่ากัน ?"

              ภิกษุทั้งหลายกราบทูลตอบว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลายเล็กน้อยที่ทรงถือไว้ มีประมาณน้อย ที่แท้ใบที่อยู่บนต้นประดู่ลายมีมากกว่า."

              พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องที่เราตรัสรู้แล้ว แต่มิได้บอกแก่ท่านทั้งหลาย ก็มีมากกว่า ฉันนั้นเหมือนกัน เหตุไรเล่า เราจึงมิได้บอก? ก็เพราะว่า เรื่องนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ ความสงบ ระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เราจึงไม่บอกเพราะเหตุนั้น."

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๕๔๘

๑๗๗. เรื่องที่ตรัสบอกคืออะไร ?

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องอะไรเล่าที่เราบอก ? เราบอกว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. เหตุไรเล่า เราจึงบอกเรื่องนี้ ? ก็เพราะว่า เรื่องนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ ความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน เราจึงบอกเพราะเหตุนั้น. เพราะเหตุนั้นแล จึงควรกระทำความเพียร (เพื่อรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง) ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์."

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๕๔๘

๑๗๘. ใบไม้ขนาดเล็กที่ห่อน้ำหรือห่อใบตาลไม่ได้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่กล่าวว่า ตนไม่ต้องตรัสรู้อริยสัจจ์คือทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามเป็นจริง ก็จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบได้ (พ้นทุกข์ได้) นั้นมิใช่ฐานะที่มีได้ เปรียบเหมือนคนที่กล่าวว่า ตนจะเอาใบตะเคียน ใบทองกวาวหรือใบมะขามป้อม (ซึ่งเป็นใบไม้ขนาดเล็กมาก) มาทำเป็นกระทงใส่น้ำหรือใส่ใบตาล ย่อมมิใช่ฐานะที่มีได้ฉะนั้น."

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๕๔๙

๑๗๙. ธรรมที่เป็นใหญ่คือปัญญา เทียบด้วยราชสีห์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ตาม ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ย่อมกล่าวได้ว่า เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้นโดยกำลัง โดยฝีเท้า และโดยความกล้า. ธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ (โพธิปักขิยธรรม) เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ตาม ปัญญินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนคือปัญญา) ย่อมกล่าวได้ว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ในทางเป็นไปเพื่อความตรัสรู้."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้มีอะไรบ้าง ? ธรรมที่เป็นใหญ่คือความเชื่อ (สัทธินทรีย์) เป็นธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ธรรมที่เป็นใหญ่คือ ความเพียร (วิริยินทรีย์) ความระลึกได้ (สตินทรีย์) ความตั้งใจมั่น (สมาธินทรีย์) และปัญญา (ปัญญินทรีย์) เป็นธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ย่อมเป็นไปเป็นเพื่อความตรัสรู้."

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๓๐๑


๑. ปลาสปตฺต ใบทองกวาว
๒. ในที่บางแห่งเรียกโพธิปักขิกธรรม
๓. ในที่อื่นทรงแสดงโพธิปักขิกธรรม หรือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ในที่นี้เลือกแสดงเพียง ๕ ประการ ใน ๓๗ ประการนั้น

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ