ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
๒๑๖. คว่ำหน้ากิน แหงนหน้ากิน เป็นต้น
สมัยหนึ่ง ท่านพระสาริบุตรอยู่ ณ เวฬุวนาราม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์ เช้าวันหนึ่งท่านพระสาระบุตรนุ่งอันตรวาสก (สบง) แล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ครั้นเที่ยวไปตามลำดับตรอกในกรุงราชคฤห์แล้ว ก็นั่งพิงเชิงกำแพง๑ แห่งใดแห่งหนึ่ง ฉันบิณฑบาตนั้น ลำดับนั้น นางสูจิมุขี ปริพพชิกา (นักบวชหญิง) เข้าไปหาพระสาริบุตร แล้วถามว่า "ดูก่อนสมณะ ท่าน คว่ำหน้าบริโภคใช่หรือไม่ ?" พระสาริบุตรตอบว่า "ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้คว่ำหน้าบริโภค"
นางถามว่า "ดูก่อนสมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าบริโภคใช่หรือไม่ ?"
"ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้แหงนหน้าบริโภค."
"ดูก่อนสมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านหันหน้าไปตามทิศใหญ่บริโภคใช่หรือไม่ ?"
"ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้หันหน้าไปตามทิศใหญ่บริโภค."
"ดูก่อนสมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านหัหน้าไปตามทิศเฉียงบริโภคใช่หรือไม่ ?"
"ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้หันหน้าไปตาทิศเฉียงบริโภค."
"ดูก่อนสมณะ เมื่อข้าพเจ้าถาม ท่านก็ปฏิเสธทั้งหมด ถ้าอย่างนั้น ท่านบริโภคอย่างไร ?"
"ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์บางพวกสำเร็จความเป็นอยู่ (ครองชีวิต) ด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา คือวิชาดูที่ (ว่าตรงไหนดีเป็นมงคล) สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่าคว่ำหน้าบริโภค."
"ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์บางพวกสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา คือวิชาดูดาวฤกษ์ สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่าแหงนหน้าบริโภค."
"ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์บางพวกสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยมิจฉาชีพ เพราะประกอบเนือง ๆ ซึ่งการไปชักสื่อ (ให้ชายหญิงเป็นสามีภริยากัน) สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่าหันหน้าไปตามทิศใหญ่บริโภค."
"ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์บางพวกสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชาคือวิชาดู (ลักษณะ) ร่างกาย สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่าหันหน้าไปตามทิศเฉียงบริโภค."
"ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยมิจฉาชีพดังกล่าวนั้น เราแสวงหาอาหารโดยธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้วก็บริโภค."
ลำดับนั้น นางสูจิมุขี ปริพพาชิก เข้าไปสู่ถนนจากถนน สู่ทางสี่แยก จากทางสี่แยก เที่ยวบอกกล่าวอย่างนี้ว่า "สมณศากยบุตรทั้งหลายแสวงหาอาหารโดยธรรม, แสวงหาอาหารที่ไม่มีโทษ ท่านทั้งหลาย จงถวายอาหารแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด."๒
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๑๗/๒๙๕
๒๑๗. พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระองค์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ในบุพพาราม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ สมัยนั้นพระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ประทับนั่ง ณ ที่กลางแจ้ง เพื่อการปวารณาในวันอุโบสถ๓ วันนั้นขึ้น ๑๕ ค่ำ ขณะนั้นทรงเห็นภิกษุสงฆ์นิ่งอยู่ จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราปวารณาแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะไม่ตำหนิการกระทำใด ๆ ทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ ?"
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างนั้น ท่านพระสาริบุตรจึงลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง น้อมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมไม่ติเตียนการกระทำใด ๆ ทางกายหรือวาจาของพระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทำให้เกิดมรรคา เป็นผู้ฉลาดในมรรคา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในขณะนี้เป็นผู้ดำเนินตามมรรคา เป็นผู้มารวมกันในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอปวารณากะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงตำหนิการกระทำใด ๆ ทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ ?"
"ดูก่อนสาริบุตร เราไม่ติดเตียนการกระทำใด ๆ ทางกายหรือทางวาจาของเธอ ดูก่อนสาริบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้มีปัญญาเป็นเหตุให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม เป็นผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ดูก่อนสาริบุตร เปรียบเหมือนเชษฐโอรส (บุตรคนใหญ่) ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ย่อมทำให้จักร (กงล้อ) ที่พระบิดาหมุนแล้ว ให้หมุนตามไปได้โดยชอบฉันใด เธอก็ฉันนั้น ย่อมยังธรรมจักร (กงล้อคือธรรม) อันยอดเยี่ยม ที่เราหมุนแล้ว ให้หมุนตามไปได้โดยชอบ."
พระสาริบุตรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตำหนิการกระทำใด ๆ ทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์ ก็ภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ รูปเหล่านี้เล่า พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงตำหนิการกระทำทางกายหรือทางวาจาบ้างหรือ ? พระเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนสาริบุตร แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุ ๖๐ รูปได้วิชชา ๓, ภิกษุ ๖๐ รูปได้อภิญญา ๖, ภิกษุ ๖๐ รูป เป็นอุภโตภาควิมุต (ผู้พ้นจากกิเลสโดย ๒ ส่วน คือพ้นเพราะสมาธิ และพ้นเพราะปัญญา), ภิกษุที่เหลือ เป็นปัญญาวิมุต (ผู้พ้นจากกิเลสเพราะปัญญา).
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง น้อมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นย่อมทำให้ข้าพระองค์แจ่มแจ่ง ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นย่อมทำให้ข้าพระองค์แจ่มแจ้ง."
"ดูก่อนวังคีสะ ข้อนั้นจงแจ่มแจ้งเถิด๔ ."
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาหลายคาถาโดยย่อว่า
"ในวันนี้ซึ่งเป็นวัน (ขึ้น) ๑๕ ค่ำ ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้ตัดเครื่องผูกคือกิเลสอันร้อยรัดได้ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้สิ้นความเกิดอีกแล้ว ผู้แสวงคุณอันประเสริฐ ได้มาประชุมกันแล้ว โดยความบริสุทธิ์๕ เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีอำมาตย์แวดล้อม เสด็จไปโดยรอบแผ่นดินนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นที่สุดฉันใด พระสาวกทั้งหลายผู้มีวิชชา ๓ ผู้ทำมฤตยูให้เสื่อม ย่อมนั่งล้อมพระบรมศาสดาผู้ชนะสงคราม ผู้เปรียบเหมือนนายกองเกวียนผู้ยอดเยี่ยมฉะนั้น สาวกเหล่านั้นทั้งหมด เป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค. มลทินย่อมไม่มีในที่นี้. ข้าพเจ้าขอไหว้พระผู้อาทิตยวงศ์ ผู้ฆ่าเสียซึ่งลูกศรคือตัณหาพระองค์นั้น."
ปวารณาสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๒๘๑
(หมายเหตุ : พระสูตรนี้แสดงตัวอย่างอันดีที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าว ชี้ข้อที่ผิดพลาดของพระองค์ได้ อันเป็นวิธีการที่ไม่เปิดโอกาสให้ปกปิดความเสียหายใด ๆ ไว้ ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ก็ทรงทำพระองค์เป็นแบบอย่าง คำกล่าวของท่านพระวังคีสะ ในตอนหลังเป็นการกล่าวด้วยสำนวนกวี ซึ่งท่านพระวังคีสะเป็นผู้เชี่ยวชาญ).
๒๑๘. ยังยึดถือจะชื่อว่าไม่มีโทษไม่มี
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น จะมีอยู่บ้างหรือไม่หนอในโลก อริยสาวกนั้นย่อมรู้อย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น ไม่มีเลยในโลก.
สังยุตตนิกาย ขันธวรรค ๑๗/๑๑๔
๒๑๙. ตรัสแนะนำให้สังคายนาพระธรรมวินัย
"ดูก่อนจุนทะ เพราะเหตุนี้แล ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ท่านทั้งหลายทั้งปวงพึงประชุมกัน มาพร้อมกัน สังคายนา (ร้อยกรอง) พิจารณาอรรถะกับอรรถะ พยัญชนะกับพยัญชนะ (คือจัดระเบียบพิจารณาทั้งโดยเนื้อความและตัวอักษร) ในธรรมเหล่านั้น โดยประการที่พรหมจรรย์นี้พึงเป็นของยั่งยืน ตั้งอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย."
ปาสาทิกสูตร ๑๑/๑๓๙
๑. กุฑฺฑมูลํ ฝรั่งมีความเห็นว่า เป็นไม้มีหัวชนิดหนึ่ง อรรถกถาไม่ได้อธิบายไว้
๒. คำว่า น้องหญิง เป็นคำที่สมณะเรียกสตรีโดยทั่วไป ถือเป็นคำเหมาะสม : อนึ่ง ในการแปลข้อความตอนนี้ ข้อความตอนใดซ้ำ ได้ตัดออกบ้าง แต่คงได้ความอย่างเดิม
๓. ตามปกติว้นกลางเดือนหรือปลายเดือน ถือว่าเป็นวันอุโบสถ แต่ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ไม่มีการสวดปาฏิโมกข์ ใช้ปวารณาแทน ปวารณาคือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
๔. เป็นสำนวนแสดงว่า พระวังคีสะคิดอะไรขึ้นมาได้จากพระพุทธดำรัสนั้น จึงกราบทูล พระองค์จึงตรัสเปิดโอกาสให้เล่าข้อคิดนั้น
๕. คำว่า โดยความบริสุทธิ์ในที่นี้ ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อมาประชุมกันแล้วจะบริสุทธิ์ขึ้น แต่เป็นวินัยกรรมที่ภิกษุทุกรูป ทั้งพระอรหันต์ ทั้งที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ จะต้องกระทำทุกกึ่งเดือนโดยไม่มีการยกเว้น เพราะเกี่ยวด้วยการบริหารหมู่คณะ เป็นแต่ว่าถ้าภิกษุที่ประชุมกันเป็นพระอรหันต์ล้วน อุโบสถนั้น ก็เรียกวิสุทธิอุโบสถ ปวารณานั้น ก็เรียกวิสุทธิปวารณา
|