บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๒. เกาะชายสังฆาฏิพระพุทธเจ้ายังไม่ชื่อว่าอยู่ใกล้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุจับชายสังฆาฏิตามหลัง ย่างเท้าตามทุกก้าว แต่เธอมีความละโมภ มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเป็นโทษ ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภิกษุนั้น ก็ยังอยู่ไกลเราโดยแท้ และเราก็อยู่ไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรม ย่อมไม่เห็นเรา"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้น อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ แต่เธอไม่มีความละโมภ ไม่มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่เป็นโทษ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม ผู้เห็นธรรม ย่อมเห็นเรา"

อิติวุตตก ๒๕/๓๐๐

๓. ศัตรูภายใน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการ ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย โมหะ ความหลง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการเหล่านี้แล."

อิติวุตตก ๒๕/๒๙๕

๔. อาคามี(ผู้มาเกิด) อนาคามี(ผู้ไม่มาเกิด อรหันต์(ผู้ไม่มีกิเลส)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยกามโยคะ ประกอบด้วยภวโยคะ ย่อมเป็นอาคามี มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ผู้ไม่ประกอบด้วยกามโยคะ แต่ยังประกอบด้วยภวโยคะ ย่อมเป็นอนาคามี ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ผู้ไม่ประกอบด้วยกามโยคะ ไม่ประกอบด้วยภวโยคะ ย่อมเป็นพระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะ."

อิติวุตตก ๒๕/๓๐๓

๕. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญา

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญา ย่อมเป็นผู้เสร็จธุระอยู่จบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย เราเรียกว่าอุดมบุรุษ

              ๑. ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณศีล คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีศีลสำรวมในปกฏิโมกข์ (ศีลที่สำคัญของภิกษุ) สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร (มารยาทและการไปแต่ในที่ที่สมควร) เห็นภัยในโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอชื่อว่ามีกัลยาณศีลดั่งกล่าวมานี้แล

              ๒. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีลดั่งนี้แล้ว จะชื่อว่ามีกัลยาณธรรมอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งการอบรมธรรม อันเป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ อยู่ เธอชื่อว่ามีกัลยาณธรรม ดั่งกล่าวมานี้แล

              ๓. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรมดั่งนี้แล้ว จะชื่อว่ามีกัลยาณปัญญาอย่างไร? ภิกษุในพระธรรม วินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนในปัจจุบันอยู่ เธอชื่อว่ามีกัลยาณปัญญาอย่างนี้แล

              ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญาดั่งนี้แล้ว ชื่อว่าเสร็จธุระ อยู่จบพรหมจรรย์ เราเรียกว่าอุดมบุรุษ."

อิติวุตตก ๒๕/๓๐๓

๖. กองกระดูกเท่าภูเขา

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนหนึ่งที่เวียนว่ายท่องเที่ยวไปตลอดกัปป์ จะพีงมีกองกระดูกใหญ่ เหมือหนึ่งเวบุลลบรรพตนี้ ถ้ามีผู้คอยรวบรวมไว้ และกองกระดูกที่รวบรวม จะไม่กระจัดกระจายหายเสีย."

อิติวุตตก ๒๕/๒๔๒

๗. ยังพูดปดทั้ง ๆ ที่รู้ จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปดทั้ง ๆ รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้."

อิติวุตตก ๒๕/๒๔๓

๘. มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่างเหล่านี้ คือ

              ๑. โลภะ ความอยากได้ เป็นมูลรากแห่งอกุศล

              ๒. โทสะ ความคิดประทุกษร้าย เป็นมูลรากแห่งอกุศล

              ๓. โมหะ ความหลง เป็นมูลรากแห่งอกุศล

              ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่างเหล่านี้แล."

อิติวุตตก ๒๕/๒๖๔

๙. พระธรรมเทศนา ๒ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ประการ มีอยู่โดยปริยาย คือ ธรรมเทศนาที่หนึ่งว่า "ท่านทั้งหลาย จงเห็นบาปโดยความเป็นบาปเถิด" ธรรมเทศนาที่สองว่า "ท่านทั้งหลายเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว จงเบื่อหน่ายคลายความติดในบาปนั้น จงหลุดพ้นไปเถิด" นี้คือธรรมเทศนา ๒ อย่างของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอยู่โดยปริยาย."

อิติวุตตก ๒๕/๒๕๕

๑๐. อะไรเป็นหัวหน้าอกุศลธรรมและกุศลธรรม

              "ดุก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชา (ความไม่รู้) เป็นหัวหน้าแห่งความพรั่งพร้อมด้วยอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายใจ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ย่อมตามหลังมา วิชชา(ความรู้) เป็นหัวหน้าแห่งความพรั่งพร้อมด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย ความละอายใจ ความเกรงกลัวต่อบาป ย่อมตามหลังมา."

อิติวุตตก ๒๕/๒๕๕

๑๑. อริยปัญญา

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เสื่อมจากอริยปัญญานั้น ชื่อว่าเสื่อมแท้ เขาย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความติดขัด มีความคับแค้น มีความเดือดร้อนในปัจจุบัน สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็มีทุคคติเป็นที่หวังได้ สัตว์ที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม เขาย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความติดขัด ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบัน สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็มีสุคติเป็นที่หวังได้."

อิติวุตตก ๒๕/๒๕๖

๑๒. คำอธิบายเรื่อง "ตถาคต"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตปลีกออกได้จากดลก เหตุให้โลกเกิดอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตละเหตุที่ให้เกิดโลกได้ ความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตทำให้ความดับแห่งโลกแจ่มแจ้งแก่ตนได้ ข้อปฏิบ้ติให้ถึงความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตได้อบรมข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว สิ่งใดที่โลกพร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม ที่ประชาพร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ทราบแล้ว รู้แล้ว บรรลุแล้ว แสวงหาแล้ว ตรองตามแล้วด้วยใจ เพราะเหตุที่สิ่งนั้น ๆ อันตถาคตตรัสรู้แล้ว จึงเรียกว่าตถาคต ดั่งนี้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด นิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ข้อความทั้งหมดที่ตถาคตกล่าว พูด แสดง ระหว่างราตรีนั้น ๆ (คือตั้งแต่ตรัสรู้แล้วจนถึงนิพพาน) ย่อมเป็นอย่างนั้นเทียว ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด ก็พูดได้อย่างนั้น เพราะเหตุที่พูดได้ตามที่ทำ ทำได้ตามที่พูด ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นใหญ่ (โดยคุณธรรม) ไม่มีใครครอบงำได้ (โดยคุณธรรม) รู้เห็นตามที่แท้จริง เป็นผู้มีอำนาจ (โดยคุณธรรม) ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต."

อิติวุตตก ๒๕/๓๒๑

๑๓. ภิกษุ กับ คฤหัสถ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ คฤหบดีที่อุปฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้น ก็นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก นี้แหละภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกันและกัน เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเหมือนห้วงน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ."

อิติวุตตก ๒๕/๓๑๔

๑๔. สกุลที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีพระพรหม. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีเทวดาคนแรก. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีอาจารย์คนแรก. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีบุคคลผู้ควรนำของมาบูชา. คำว่า พระพรหม คำว่า บูรพเทวดา(เทวดาคนแรก) คำว่าบูรพาจารย์ (อาจารย์คนแรก) คำว่า อาหุเนยยะ (ผู้ควรนำของมาบูชา) เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้คุ้มครองเลี้ยงดูบุตร แสดงโลกนี้แก่บุตร."

อิติวุตตก ๒๕/๓๑๓

๑๕. ผู้กล่าวตู่พระตถาคต

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ ประเภทเหล่านี้ ย่อมกล่าวตู่ (หาความ) ตถาคต คือบุคคลผู้คิดประทุษร้าย มีโทสะในภายใน ๑ ผู้มีศรัทธา กล่าวตู่ ด้วยถือเอาความหมายผิด๑๐ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ ประเภทเหล่านี้แล ย่อมกล่าวตู่ตถาคต."

ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๗๖


๑. คำในภาษาบาลีว่า มีอินทรีย์ปรากฏ หมายความว่า ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๒. กามโยคะ เครื่องมัดสัตว์คือกาม ความใคร่
๓. ภวโยคะ เครื่องมัดสัตว์คือภพ ความพอใจในความีความเป็น
๔. กัลยาณศีล ศีลอันดีงาม, กัลยาณธรรม ธรรมอันดีงาม, กัลยาณปัญญา ปัญญาอันดีงาม
๕. โพธิปักขิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ คือ อิทธิบาท (ธรรมทีให้ประสบความสำเร็จ) ๔, สิตปัฏฐาน(การตั้งสติ) ๔, สัมมัปปธาน(ความเพียรชอบ) ๔, อินทรีย์(ธรรมอันเป็นใหญ่) ๕, พละ(ธรรมอันเป็นกำลัง) ๕, โพชฌงค์(ธรรมอันเป็นตัวประกอบแห่งการตรัสรู้) ๗, มรรค(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) ๘
๖. เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ, ปัญญาวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะปัญญา
๗. มีอยู่โดยปริยาย คือมีอยู่โดยอ้อม ไม่ต้องบอกกันตรง ๆ ก็ชื่อว่ามีอยู่แล้ว
๘. อวิชชา ความไม่รู้ มีคำอธิบายว่า ได้แก่ไม่รู้ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่ในที่นี้แม้ความไม่รู้ทั่ว ๆ ไป ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้
๙. เป็นสำนวนบาลี หมายถึงรู้ด้วยจมูก ลิ้น กาย คือ ข้อความในตอนนี้ ต้องการจะพูดว่า เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู ดมด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย รู้ด้วยใจ แต่รวม ๓ เรื่องตอนกลางด้วยคำว่า ทราบ
๑๐. แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้ร้ายพระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่โกรธ หรือเกลียดชังเท่านั้น ผู้เคารพนับถือมีศรัทธานั่นแหละ ถ้าเรียนผิด ทรงจำผิด หรือเข้าใจผิด ก็อาจพูด ด้วยความเข้าใจผิดนั้น เป็นไปในทางให้ร้ายได้เหมือนกัน

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ