บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๙๙. ปฏิบัติได้แค่ไหน อะไรสงบระงับ ?

              "ดูก่อนภิกษุ ความสงบระงับ ๖ ประการเหล่านี้ คือ

              ๑. วาจาของผู้เข้าสู่ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ย่อมสงบระงับ
              ๒. วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ของผู้เข้าสู่ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ย่อมสงบระงับ
              ๓. ปีติ (ความอิ่มใจ) ของผู้เข้าสู่ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ย่อมสงบระงับ
              ๔. (ลมหายใจเข้าออก) ของผู้เข้าสู่จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ย่อมสงบระงับ
              ๕. สัญญา (ความจำได้หมายรู้) และเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทนยิตนิโรธ (สมาบัติ ที่ดับ สัญญา ความจำ และเวทนา ความเสวยอารมณ์) ย่อมสงบระงับ
              ๖. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมสงบระงับ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๙

๒๐๐. ความดับแห่งเครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น

              "ดูก่อนภิกษุ เรากล่าวถึงความดับแห่งอนุบุพพสังขาร (เครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น) ไว้แล้ว คือ

              ๑. วาจาผู้เข้าสู่ฌานที่ ๑ ย่อมดับ
              ๒. ความตรึก (วิตก) ความตรอง (วิจาร) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๒ ย่อมดับ
              ๓. ความอิ่มใจ (ปีติ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๓ ย่อมดับ
              ๔. ลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสะ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๔ ย่อมดับ
              ๕. ความกำหนดหมายในรูป (รูปสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ ย่อมดับ
              ๖. ความกำหนดหมายในอากาสานัญจายตนะ (อากาสานัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับ
              ๗. ความกำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากิญจัญญายตนะ ย่อมดับ
              ๘. ความกำหนดหมายในอากิญจัญญายตนะ (อากิญจัญญายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ย่อมดับ
              ๙. สัญญา (ความจำได้หมายรู้ ; ความกำหนดหมาย) และเวทนา (ความเสวยอารมณ์) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมดับ
              ๑๐. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมดับ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๘

              (หมายเหตุ : ขอแทรกคำอธิบายศัพท์ตั้งแต่ข้อ ๕ มาในที่นี้ เพื่อความเข้าใจ คือตั้งแต่ข้อ ๕ อากาสานัญจายตนะ ถึงข้อ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวม ๔ ข้อ เป็นชื่อของอรูปฌาน หรือฌาน(การเพ่งอารมณ์) ที่มีสิ่งซึ่งมิใช่รูปเป็นจุดประสงค์ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งว่าอากาศหาที่สุดมิได้, วิญญาณัญจายตนะ เพ่งว่าวิญญาณหาที่สุดมิได้, อากิญจัญญายตนะ เพ่งว่าไม่มีอะไรแม้แต่น้อย และเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งว่าสัญญาคือความจำได้ หรือความกำหนดหมายเป็นของไม่ดี เมื่อเพ่งอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้สัญญาหยุดทำหน้าที่ แต่ยังมีอยู่อย่างไม่เป็นข้อเป็นงอ อรูปฌานนี้แม้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาก็บำเพ็ญกันได้ แต่ทางพระพุทธศาสนายังมีชั้นสูงสุดอีกข้อหนึ่งคือสัญญาเวทนยิตนิโรธ แปลว่า ดับสัญญา ความจำ และเวทนา ความเสวยอารมณ์ได้)

๒๐๑. บุถุชนกับอริยสาวกต่างกันอย่างไร ?

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชน (คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส) ผู้มิได้สดับ ย่อมเสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง อริยสาวก (ศิษย์ของพระอริยะ) ผู้ได้สดับ ก็เสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในบุคคลเหล่านั้น ? อะไรเป็นเครื่องทำให้อริยสาวกผู้ได้สดับต่างจากบุถุชนผู้มิได้สดับ ?"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ย่อมตีอกพิไรรำพัน ย่อมมืดมน ย่อมเสวยเวทนา ๒ ทาง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ย่อมไม่ตีอกพิไรรำพัน ย่อมไม่มืดมน ย่อมเสวยเวทนาเพียงทางเดียว คือ ทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๕๗

๒๐๒. สตรีที่บุรุษไม่ชอบใจเลย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรี (มาตุคาม) ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)               ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                               ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."

๒๐๓. สตรีที่บุรุษชอบใจแท้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สตรีที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)               ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล                           ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับบุรุษนั้น
              สตรีผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของบุรุษ."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖

๒๐๔. บุรุษที่สตรีไม่ชอบใจเลย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. ไม่มีรูป (รูปไม่งาม)               ๒. ไม่มีทรัพย์
              ๓. ไม่มีศีล                               ๔. เกียจคร้าน
              ๕. ไม่มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔

๒๐๕. บุรุษที่สตรีชอบใจแท้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี องค์ ๕ คือ
              ๑. มีรูป (รูปงาม)
              ๒. มีทรัพย์
              ๓. มีศีล
              ๔. ขยัน ไม่เกียจคร้าน
              ๕. มีบุตรกับสตรีนั้น
              บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่พอใจโดยส่วนเดียวของสตรี."

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๙๖


๑. เรื่องนี้มีประโยชน์ในทางหลักวิชามาก ทำให้เข้าใจในหลักการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี
๒. พึงสังเกตว่า คำว่า เวทนา ได้วงเล็บความหมายไว้ ๒ อย่าง คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่ง เป็นการอธิบายเต็มความหมาย อีกอย่างหนึ่งใช้คำสั้น ๆ ว่า ความเสวยอารมณ์ ซึ่งควรทราบด้วยว่า การใช้คำเต็มความหมายชัดกว่า แต่ถ้าจะต้องใช้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะยืดยาด บางครั้งจึงต้องใช้ว่า เวทนาทับศัพท์หรือคำอธิบายสั้น ๆ
๓. ข้อความที่นำมาแปลนี้ คัดมาเฉพาะที่แสดงความต่างกันของบุคคล ๒ ประเภท มิได้นำข้อความตอนอื่น ๆ มาทั้งหมด

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ