บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๘๔. ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ

              ในธรรมเหล่านั้น ศีลวิบัติเป็นไฉน ? ความก้าวล่วง (วิติกกมะ) ทางกาย ความก้าวล่วงทางวาจา ความก้าวล่วงทั้งทางกาย และทางวาจา. นี้เรียกว่าศีลวิบัติ. แม้ความเป็นผู้ทุศีล ทุกอย่าง ก็ชื่อว่า ศีลวิบัติ

              ในธรรมเหล่านั้น ทิฏฐิวิบัติเป็นไฉน ? ความเห็นอย่างนี้ว่า ทานไม่มี, การบริจาคไม่มี, การบูชาไม่มี, ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ไม่มี, โลกหน้าไม่มี, มารดาไม่มี, สัตว์โอปปาติกะไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ประพฤติชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งรู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบถึงโลกนี้ โลกหน้า ไม่มี. นี้เรียกว่าทิฏฐิวิบัติ. แม้มิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด) ทุกอย่าง ก็ชื่อว่าทิฏฐิวิบัติ.

๘๕. ศีลสัมปทา ทิฏฐิสัมปทา

              ในธรรมเหล่านั้น ศีลสัมปทาเป็นไฉน ? ความไม่ก้าวล่วงทางกาย ความไม่ก้าวล่วงทางวาจา ความไม่ก้าวล่วงทั้งกายและวาจา. นี้เรียกว่าศีลสัมปทา. แม้ความสำรวมในศีลทุกอย่าง ก็ชื่อว่าศีลสัมปทา.

              ในธรรมเหล่านั้น ทิฏฐิสัมปทาเป็นไฉน ? ปัญญาอย่างนี้ว่า ทานมี, การบริจาคมี, การบูชามี, ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วมี, โลกนี้มี, มารดามี, บิดามี, สัตว์โอปปาติกะมี, สมณพราหมณ์ที่ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งรู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ทราบถึงโลกนี้ โลกหน้า มี. นี้เรียกว่าทิฏฐิสัมปทา แม้สัมมาทิฏฐิทุกอย่าง ก็เรียกว่าทิฏฐิสัมปทา.

อภิธัมมปิฎก สังคณี ๓๔/๓๓๖

๘๖. ธรรมที่มีอารมณ์และไม่มีอารมณ์

              ธรรมที่มีอารมณ์เป็นไฉน? กุศลในภูมิ ๔ , วิบาก ในภูมิ, กิริยาอัพยากฤต ในภูมิ ๓. ธรรมเหล่านี้มีอารมณ์.

              ธรรมที่ไม่มีอารมณ์เป็นไฉน ? รูป นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่มีอารมณ์.

๓๔/๓๓๖

๘๗. ธรรมที่เป็นจิตและไม่ใช่จิต

              ธรรมที่เป็นจิตเป็นไฉน? จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา) โสตวิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู) ฆานวิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก) ชิวหาวิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น) กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย) มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ). ธรรมเหล่านี้ เป็นจิต.

              ธรรมที่ไม่ใช่จิตเป็นไฉน? เวทนาขันธ์ (กองเวทนา) สัญญาขันธ์ (กองสัญญา) สังขารขันธ์ (กองสังขาร) รูป และ นิพพาน ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่จิต.

๓๔/๓๖๗

๘๘. ธรรมที่เป็นเจตสิกและไม่ใช่เจตสิก

              ธรรมที่เป็นเจตสิกเป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ . ธรรมเหล่านี้ เป็นเจตสิก.

              ธรรมที่ไม่ใช่เจตสิกเป็นไฉน ? จิต, รูป, นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่เจตสิก.

๘๙. ธรรมที่ประกอบและไม่ประกอบกับจิต

              ธรรมที่ประกอบจิต (จิตตสัมปยุต) เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์. ธรรมเหล่านี้ประกอบกับจิต.

              ธรรมที่ประกอบกับจิต (จิตตวิปปยุต) เป็นไฉน? รูป นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่ประกอบกับจิต. จิตไม่ควรกล่าว ทั้งว่าประกอบกับจิต ทั้งว่าไม่ประกอบกับจิต.

๓๔/๓๖๗

๙๐. ธรรมที่ระคนและไม่ระคนกับจิต

              ธรรมที่ระคนกับจิต (จิตตสังสัฏฐะ) เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์. ธรรมเหล่านี้ ระคนกับจิต.

              ธรรที่ไม่ระคนกับจิต (จตตวิสังสัฏฐะ) เป็นไฉน? รูป นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่ระคนกับจิต. จิตไม่ควรกล่าว ทั้งว่าระคนกับจิต ทั้งว่าไม่ระคนกับจิต.

๓๔/๓๖๗

๙๑. ธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐานและไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน

              ธรรมที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเป็นไฉน? เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์. กายวิญญัติ (ความไหวกาย) วจีวิญญัติ (ความไหวหรือการเปล่งวาจา). รูปอย่างอื่น ซึ่งเกิดจากจิต ซึ่งมีจิตเป็นเหตุ มีจิตเป็นสมุฏฐาน, อายตนะ คือรูป. อายตนะคือเสียง. อายตนะคือกลิ่น. อายตนะคือรส. อายตนะคือโผฏฐัพพะ, ธาตุอากาศ, ธาตุน้ำ, ความเบาแห่งรูป, ความอ่อนสลวยแห่งรูป, ความควรแก่การงานแห่งรูป, ความเติบโตแห่งรูป, ความสืบต่อแห่งรูป, อาหารที่เป็นคำ ๆ๑๐ (อาหารธรรมดาของกาย) ธรรมเหล่านี้ มีจิตเป็นสมุฏฐาน.

              ธรรมที่ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน (โน จิตตสมุฏฐาน)เป็นไฉน? จิต, รูปที่เหลือ (จากที่กล่าวไว้ข้างต้น คือรูปที่มิได้เกิดจากจิต), นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน.

๓๔/๓๖๗

๙๒. ธรรมที่เกิดพร้อมกับจิตและไม่เกิดพร้อมกับจิต

              ธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต (จิตตสหภู) เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ. ธรรมเหล่านี้ เกิดพร้อมกับจิต.

              ธรรมที่ไม่เกิดพร้อมกับจิต (โน จิตตสหภู) เป็นไฉน? จิต (หมายถึงจิตดวงอื่น), รูปที่เหลือ (คือที่มิใช่เกิดจากจิต), นิพพาน, ธรรมเหล่านี้ ไม่เกิดพร้อมกับจิต.

๓๔/๓๖๘

๙๓. ธรรมที่หมุนเวียนไปตามจิตและไม่หมุนเวียนไปตามจิต

              ธรรมที่หมุนเวียนไปตามจิต(จิตตานุปริวัตตี) เป็นไฉน? เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, กายวิญญัติ, วจีวิญญัติ. ธรรมเหล่านี้ หมุนเวียนไปตามจิต.

              ธรรมที่ไม่หมุนเวียนไปตามจิต (โน จิตตานุปริวัตตี) เป็นไฉน? จิต, รูปที่เหลือ (คือที่มิใช่เกิดจากจิต), นิพพาน. ธรรมเหล่านี้ ไม่หมุนเวียนไปตามจิต.

๓๔/๓๖๘

๙๔. ธรรมที่เป็นไปในภายในและภายนอก๑๑

              ธรรมที่เป็นไปในภายในเป็นไฉน? จักขายตนะ (ที่ต่อคือตา), โสตายนตะ (ที่ต่อคือหู), ฆานาจนนะ (ที่ต่อคือจมูก), ชิวหายตนะ(ที่ต่อคือลิ้น), กายายตนะ (ที่ต่อคือกาย), มนายตนะ (ที่ต่อคือใจ), ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในภายใน.

              ธรรมที่เป็นไปในภายนอกเป็นไฉน? รูปายตนะ (อายตนะ หรือที่ต่อคือรูป), สัททายตนะ (ที่ต่อคือเสียง), คันธายตนะ (ที่ต่อคือกลิ่น) รสายตนะ (ที่ต่อคือรส). โผฏฐัพพายตนะ (ที่ต่อคือโผฏฐัพพะ), ธัมมาจนะ (ที่ต่อคือธรรม). ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในภายนอก.

๓๔/๓๖๙

๙๕. ธรรมที่เป็นกุศล

              ธรรมที่เป็นกุศลเป็นไฉน? รากเหง้าของกุศล ๓ อย่าง คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ๑๒ ความไม่หลง, กองแห่งเวทนา กองแห่งสัญญา กองแห่งสังขาร กองแห่งวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของกุศล.

๙๖. ธรรมที่เป็นอกุศล

              ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นไฉน? รากเหง้าของอกุศล ๓ อย่าง คือความโลภ ความโกรธ๑๓ ความหลงและกิเลส ที่มีเนื้อความเป็นอันเดียวกับรากเหง้าของอกุศลนั้น, กองเวทนา, กองสัญญา, กองสังขาร, กองวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของอกุศลนั้น, การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เกิดขึ้นจากรากเหง้าของอกุศลนั้น. ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล.

๙๗. ธรรมที่เป็นอัพยากฤต๑๔

              ธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นไฉน? วิบาก(ผล) ของธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตตระ, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, และธรรมเหล่าใดที่เป็ฯกิริยา ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากของกรรม, รูปทุกชนิด และธาตุที่เป็นอสังขตะ(ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง). ธรรมเหล่านี้ เป็นอัพยากฤต.

๓๔/๒๕๙

๙๘. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า

              "ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามไป เพราะเหตุนั้น เหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโคฉะนั้น."

              "ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามไป เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาตามตัวฉะนั้น."

๒๕/๑๕

๙๙. เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

              "ผู้ผูกเวรว่า เขาด่าเรา เขาทำร้ายเรา เขาชนะเรา เขาลักของของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมไม่ระงับ."

              "ผู้ไม่ผูกเวรว่า เขาด่าเรา เขาทำร้ายเรา เขาชนะเรา เขาลักของของเราไป เวรของผู้นั้นย่อมระงับ."

              "เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรเลยในกาลไหน ๆ แต่ระงับด้วยการไม่จองเวรต่างหาก ธรรมนี้ เป็นของเก่า."

              "คนอื่นย่อมไม่รู้ด้วยหรอกว่า พวกเราย่อมย่อยยับกันลงไปในการจองเวรกันนี้เอง. ในคนหล่านั้น ผู้ใดรู้ได้ แต่นั้น ความหมายมั่น จองเวรของเขาย่อมระงับไป."

๒๕/๑๕


๑. ความก้าวล่วง คือประพฤติผิด หรือล่วงละเมิดข้อห้าม หรือศีลธรรม
๒. คือสัตว์ที่เกิดก็เติบโตขึ้นทันที เช่น เทพ และสัตว์นรก
๓. คำว่า สัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ตรงกันข้ามกับความวิบัติหรือความบกพร่องวิปริต
๔. ภูมิ ๔ คือ กามาวจรภูมิ (ภูมิที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม) รูปาวจรภูมิ (ภูมิที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือรูปฌาน) อรูปาวจรภูมิ (ภูมิที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรืออรูปฌาน) โลกุตตรภูมิ (ภูมิที่ข้ามพ้นจากโลก)
๕. วิบาก คือจิตที่เป็นผลมาจากเหตุในกาลก่อน. โดยอธิบายว่า จิตมี ๔ ชนิด คือที่เป็นกุศล (ฝ่ายดี), เป็นอกุศล (ฝ่ายชั่ว), วิบาก (ฝ่ายผล), กริยา (ฝ่ายอาการ).
๖. กิริยาอัพยากฤติในภูมิ ๓ คือเว้นโลกุตตรภูมิ
๗. เวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข, สัญญา คือความจำได้ เช่น จำสี จำเสียง, สังขาร คือความคิด หรือเจตนาที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง
๘. อายตนะ แปลว่า ที่ต่อ มี ๒ ประเภท คือที่ต่อภายใน ได้แก่ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, กับที่ต่อภายนอก ได้แก่รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมที่คู่กับที่ต่อภายในเป็นคู่ ๆ
๙. โผฏฐัพพะ สิ่งที่มาถูกต้องกาย
๑๐. กวฬิงการาหาร อาหารที่ทำให้เป็นคำ ๆ หมายถึงอาหารที่กินได้ ยังมีอาหารประเภทอื่นอีก เช่น ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความจงใจ หรือตั้งใจ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
๑๑. ในภาษาศาสนา ชี้ไปถึงอาตนะภายใน อาตนะภายนอก ซึ่งคู่กัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน. รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ เป็นอายตนะภายนอก คำว่า โผฏฐัพพะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องได้ ธรรมะ หมายถึงเรื่องที่รู้ได้ด้วยใจ
๑๒. แปลเอาความจากคำบาลีว่า อโทสะ
๑๓. แปลเอาความจากคำบาลีว่า โทสะ แท้จริง คำว่า โกธะ(ความโกรธ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) บางคราวก็แสดงไว้เป็นคำใช้แทนกัน บางคำก็แสดงว่าต่างกัน โดยอธิบายว่า ความคิดประทุษร้าย (โทสะ) มีความโกรธ (โกธะ) เป็นสมุฏฐาน. แต่แปลจับใจความในที่นี้ใช้แทนกัน เพื่อให้สั้น ๆ ในภาษาไทย
๑๔. อัพยากฤต คือที่พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ ว่าดี หรือชั่ว ได้แก่เป็นกลาง ๆ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฏก   พระสุตตันตปิฏก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฏก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ