บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๕
หมวดนี้มี

๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓.เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕. ชีวกสูตร
๖.อุปาลิวาทสูตร
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร
๑๑.จูฬราหุโลวาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร

๑๓.จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔. มหามาลุงกโย
วาทสูตร
๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗. จาตุมสูตร
๑๘. นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
โคตตสูตร
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร
๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุ
ทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐. เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓.มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗.ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔.โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓. เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕.ชีวกสูตร

 

หน้าที่ ๒
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร

..ธรรมะที่ไม่ผิด
ข้อ ๑ - ๕
บุคคล ๔ ประเภท
๑๑. จูฬราหุโล
วาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร
๑๓. จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔มหามาลุงก
โยวาทสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗.จาตุมสูตร
๑๘.นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร

ข้อปฏิบัติสำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑.จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๒๓.มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐.เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓. มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗. ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร

 

หน้าที่ ๕
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑.พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔. โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๒

๗ . กุกกุโรวาทสูตร
สูตรว่าด้วยโอวาทแก่ผู้ทำตัวดั่งสุนัข

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะชื่อลิททวสนะ ในแคว้นโกลิยะ . ปุณณะบุตรแห่งโกลิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งโค.  กับชีเปลือย ชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติดั่งสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกล่าวปราศรัยเสร็จแล้ว ปุณณะโกลิยะบุตรก็ทูลถามถึงชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข ว่ามีคติเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่าถามเลย แต่ก็ถามย้ำถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสตอบว่า ถ้าประพฤติเคยชินอย่างสุนัข ตายไปก็จะเกิดเป็นสุนัข แต่ถ้าประพฤติด้วยความคิดว่า จะเป็นเทวดาด้วยศีล ด้วยวัตรอย่างนี้ก็นับว่ามีความเห็นผิด ซึ่งจะมีคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน . พระดำรัสตอบนี้ ทำให้ชีเปลือยชื่อเสนิยะร้องไห้.

   ๒. ชีเปลือยชื่อเสนิยะ จึงทูลถามถึงปุณณะโกลิยบุตร ผู้ประพฤติดั่งโคบ้างว่า จะมีคติเป็นอย่างไร ก็ตรัสตอบทำนองเดียวกับเรื่องสุนัข ซึ่งทำให้ปุณณะโกลิยบุตรร้องไห้เช่นเดียวกัน.

    ๓. ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย. จึงตรัสแสดงกรรม ๔ อย่าง คือ     ๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียน , ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน , ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก     ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕    ๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใน ) โลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไปดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ.  บางเหล่า     ๔ . กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา. เพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็นเจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจำทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป).

    ๔. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ปุณณะโกลิยบุตรกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและขอบวช เมื่อทราบว่าผู้เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัยจะต้องอบรมก่อน ๔ เดือน ก็มีศรัทธาจะขออบรมถึง ๔ ปี. เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

   

๘ . อภยราชกุมารสูตร
สูตรว่าด้วยอภยราชกุมาร

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . อภยราชกุมาร.  ไปหานิครนถนาฏบุตร ก็ได้รับชักชวนเสี้ยมสอนให้ไปยกวาทะพระผู้มีพระภาคเกี่ยวกับการกล่าววาจา ซึ่งนิครนถนาฏบุตรกล่าวว่า ถ้าถามปัญหา ๒ เงื่อนอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกคล้ายมีกระจับเหล็กติดอยู่ในคอฉะนั้น . คือถามว่า พระตถาคตกล่าววาจาที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่. ถ้าตอบว่า กล่าว ก็จะย้อนได้ว่า ท่านกับบุถุชนจะต่างกันอย่างไรกัน เพราะแม้บุถุชนก็กล่าววาจาเช่นนั้น. ถ้าตอบว่า ไม่กล่าว ก็จะย้อนได้ว่า เหตุไฉนจึงว่ากล่าวพระเทวทัตอย่างรุนแรง จนพระเทวทัตโกรธไม่พอใจ.

   ๒. อภยราชกุมารไปเฝ้าพระผู้มีพระภสค มองดูดวงอาทิตย์เห็นยังไม่ใช่กาลอันสมควรที่จะยกวาทะจึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น โดยมีพระองค์เองเป็นที่ ๔ ( คือมีภิกษุอื่นด้วยอีก ๓ รูป ). เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ และเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว อภยราชกุมารก็กราบทูลถามขึ้นว่า พระตถาคตตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่. ตรัสตอบว่า ในข้อนี้ มิใช่ปัญหาที่พึงตอบโดยแง่เดียว. ( คือตรัสทั้งสองอย่างโดยควรแก่เหตุ).

   ๓. พอตรัสตอบเท่านี้ อภยราชกุมารก็กราบทูลว่า ในข้อนี้ พวกนิครนถ์ฉิบหายแล้ว พร้อมทั้งเล่าความจริงที่นิครถนาฏบุตรสอนให้มาไต่ถามทุกประการ. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า เด็กที่อมเอาไม้หรือกระเบื้องเข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของท่านหรือแม่นม ท่านจะทำอย่างไร. กราบทูลตอบว่า ถ้านำออกในเบื้องแรกไม่ได้ ก็ต้องประคองจับศีรษะด้วยมือซ้าย งอนิ้วนำของออกมาด้วยมือขวา แม้จะพร้อมกับโลหิตด้วย เพราะมีความอนุเคราะห์ในเด็ก . พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทราบว่าวาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ก็ไม่กล่าววาจานั้น. คำใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น. คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาตคย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น. คำใดจริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ทั้งนี้เพราะตถาคตมีความอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งหลาย.

   ๔. อภยราชกุมารกลาบทูลถามว่า มีผู้แต่งปัญหามาทูลถาม พระผู้มีพระภาคจะต้องทรงคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตโดยฐานะทีเดียว. ตรัสย้อนถามว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถใช่หรือไม่ กราบทูลว่า ฉลาดในส่วนประกอบของรถ. ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อมีผู้มาถามว่า นี้เป็นส่วนประกอบน้อยใหญ่อะไรของรถ ท่านจะต้องคิดก่อนหรือไม่ว่า ถ้าเขาถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ หรือว่าเรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่านโดยฐานะทีเดียว. กราบทูลตอบว่า ข้าพระองค์เป็นช่างทำรถ รู้เจนจบในส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถ เรื่องนั้นแจ่มแจ้งแก่พระองค์โดยฐานะทีเดียว. จึงตรัสว่า แม้พระองค์ก็ฉันนั้น ทรงรู้แจ้งแทงตลอดธรรมธาตุแล้ว เรื่องนั้นจึงแจ่มแจ้งแก่พระองค์โดยฐานะทีเดียว.

   อภยราชกุมารกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ.

   

๙ . พหุเวทนิยสูตร
สูตรว่าด้วยเวทนามากอย่าง

    ๑ .พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะ กับพระอุทายี กล่าวไม่ตรงกันในข้อว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้กี่อย่าง พระอุทายีว่า     มี ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะกว่าวว่า มี     ๒ อย่าง คือ สุข กับทุกข์ ส่วนไม่ทุกข์ไม่สุข พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขปราณีต ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะตกลงกันได้ . พระอานนท์ได้ฟังข้อสนทนาของทั้งสองฝ่าย จึงนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค.

   ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีปริยายที่ต่างฝ่าย ต่างไม่อนุโมทนา แล้วตรัสว่า เวทนา ๒ ก็ทรงแสดงไว้โดยปริยาย    เวทนา ๓,    เวทนา ๔,     เวทนา ๕,     เวทนา ๖,     เวทนา ๑๘,     เวทนา ๓๖,     เวทนา ๑๐๘     ก็ทรงแสดงไว้โดยปริยาย..  ธรรมะที่ทรงแสดงไว้โดยปริยาย ( เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง) มีอยู่อย่างนี้ ผู้มี่ไม่ยินยอมรับรองคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกันในธรรมะที่ทรงแสดงแล้วโดยปริยาย ก็หวังได้ว่าจะบาดหมางทะเลาะวิวาทกันทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็พร้อมเพรียงไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำท่า ( เข้ากันได้ ) มองกันและกันด้วยดวงตาที่แสดงความรัก.

   ๓. ครั้นแล้วตรัสถึงความสุขที่เป็นขั้น ๆ ๑๐     อย่างที่ประณีตขึ้นไปกว่ากันโดยลำดับ เริ่มแต่กามคุณ ๕ จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ.  (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา).

   

๑๐ . อปัณณกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะที่ไม่ผิด

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อ   “สาลา ”   ( ในสาเลยยกสูตรที่ ๔๑   มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ที่ย่อไว้แล้วที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๕ ว่าชื่อ “สาลา” ณ ที่นั้น ได้ตรัสถามพราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านสาลาว่า ท่านมีศาสดาใด ๆ ที่น่าพอใจ ที่ท่านได้ศรัทธามีอาการ ( อันดี ) บ้างหรือไม่.   เมื่อเขาตอบว่า   ไม่มี   จึงตรัสว่า เมื่อพวกท่านไม่ได้ศาสดาที่น่าพอใจ ก็จงสมาทานประพฤติธรรมะที่ไม่ผิด ธรรมะที่ไม่ผิด ที่สมบูรณ์แล้ว สมาทานแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่าน.

 

ธรรมะที่ไม่ผิดข้อแรก

    ๒. ตรั้นแล้วตรัสขยายความเรื่องธรรมะที่ไม่ผิดต่อไป . ทรงแสดงถึงสมณพราหมณ์ที่เห็นว่า   “ ไม่มี ”   ( นัตถิกทิฏฐิ ) เช่น ไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่ว กับสมณพราหมณ์ที่เห็นเป็นปฏิปักษ์กัน คือเห็นว่า   “ มี ”   พวกที่เห็นว่า   “ไม่มี ”   หวังได้ว่าจะเพิกถอนสุจริตทางกาย วาจา ใจ, สมาทาน ประพฤติทุจจริตทางกาย   วาจา   ใจ   เพราะไม่เห็นของอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ของกุศลกรรม. ความเห็น ความดำริ และคำพูดถึงโลกหน้า ซึ่งมีอยู่ว่า   “ ไม่มี ”   ดังนี้ ย่อมเป็นความเห็นผิด ความดำริผิด และคำพูดผิด เขาย่อมกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ผู้รู้จักโลกหน้า ย่อมทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโลกหน้าไม่มี อันเป็นการบัญญัติต่อสัทธรรมและยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนั้น เดิมมีศีลดีก็ละเสีย,   ตั้งความเป็นผู้ทุศีล,   มีความเห็นผิด,   ความดำริผิด ,  คำพูดผิด,   มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยเจ้า มีการบัญญัติอสัทธรรม มีการยกตนข่มผู้อื่น ฉะนี้ อกุศลธรรมจึงชื่อว่าเกิดมีขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย. ในข้อนั้นวิญญูชนพิจารณาเห็นว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี คนคนนี้ตายแล้วจักทำตนให้ปลอดภัยได้ แต่ถ้าโลกหน้ามี ก็จักเข้าถึงอบาย     ทุคคติ     วินิบาต    นรก. แม้แต่สมณพราหมณ์จะกล่าวไว้ว่า โลกหน้ามี   ถ้อยคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ จงยกไว้ แต่คนนั้นก็ถือเอาโทษ.  ทั้งสองฝ่าย คือถูกติเตียนในปัจจุบัน และตายไปก็จักเข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินิบาต   นรก. คนคนนั้นชื่อว่าถือผิดสมาทานผิดซึ่งอปัณณกธรรม ( ธรรมะที่ไม่ผิด) แผ่ไปแต่ความเห็นแง่เดียวของตน เว้นฐานะอันเป็นกุศล. ส่วนผู้เห็นว่า   “ มี ”   ( ซึ่งเป็นทางตรงกันข้าม) ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งอปัณณกธรรม แผ่ไปซึ่งส่วนทั้งสอง ( ทั้งวาทะของตนและวาทะของคนอื่น ) เว้นฐานะอันเป็นอกุศล.

 

ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๒

   ๓. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ทำไม่เป็นอันทำ ( อกิริยทิฏฐิ ) เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ก็ไม่เป็นอันฆ่า ไม่เป็นอันลัก ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิด ส่วนที่เห็นว่า ทำเป็นอันทำ ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯลฯ.

 

ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๓

   ๔. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีเหตุปัจจัยแห่งความเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของสัตว์ทั้งหลาย ( อเหตุทิฏฐิ ) สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ( เอง ) โดยไม่มีเหตุปัจจัย ชื่อว่าเป็นฝ่ายถือผิดส่วนที่เห็นว่ามีเหตุปัจจัย ชื่อว่าถือถูก สมาทานถูกซึ่งอปัณณกธรรม ฯ ล ฯ.

 

ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๔

   ๕. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีพรหมโลกที่ไม่มีรูปด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่า มีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับรูปทั้งหลาย ( เป็นฝ่ายไม่ผิด ).

 

ธรรมะที่ไม่ผิดข้อที่ ๕

   ๖. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความดับภพไม่มีด้วยประการทั้งปวง แต่บางพวกกล่าวว่ามีด้วยประการทั้งปวง พวกที่เห็นว่ามี ย่อมปฎิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับภพ ( ความมีความเป็น ) ทั้งหลาย.

 

บุคคล ๔ ประเภท

   ๗. ครั้นแล้วตรัสแจกบุคคล ๔ ประเภท    ๑. ทำตนให้เดือดร้อน    ๒. ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน    ๓. ทำตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน    ๔. ไม่ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อนพร้อมทั้งคำอธิบาย ( ดั่งที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในภาคหลังของกันทรกสูตรที่ ๑ แห่งพระไตรปิฎก    เล่มที่ ๑๓ ซึ่งกำลังย่ออยู่นี้ ).

    เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณคฤหบดีชาวบ้านสาลากราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

 

จบคหปติวรรคที่ ๑ ขึ้นภิกขุวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สูตร

   

๑๑ . จูฬราหูโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรเล็ก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. ในเวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังสวนมะม่วงหนุ่ม ซึ่งพระราหุลอาศัยอยู่. พระราหุลเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ก็ปูอาสนะตั้งน้ำล้างพระบาทไว้. พระผู้มีพระภาคประทับบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ล้างพระบาท เหลือน้ำไว้หน่อยหนึ่งในภาชนะน้ำ. ครั้นแล้วตรัสเปรียบว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้งปดทั้ง ๆ รู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้น ย่อมเป็นของน้อยเหมือนน้ำที่มีอยู่ในภาชนะน้ำ. ทรงเทน้ำที่เหลืออยู่ทิ้งแล้วตรัสเปรียบว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้ง ๆ รู้ ความเป็นสมณะของผู้นั้น ชื่อว่าเป็นสมณะของผู้นั้น ชื่อว่าเป็นอันคว่ำเสียแล้ว.

    ๒ . ตรัสว่า ผู้ใดไม่มีความละอายในการพูดปดทั้ง ๆ รู้ พระองค์ย่อมไม่ตรัสว่า จะมีบาปกรรมอะไรที่ผู้นั้นจะพึงทำไม่ได้ ( คือทำความชั่วได้ทุกชนิด ) เปรียบเหมือนช้างสงความของพระราชาที่ใช้อวัยวะทุกส่วนในการรบ เว้นแต่งวง ก็ยังไม่ชื่อสละชีวิตเพื่อพระราชา แต่ถ้าใช้งวงด้วย ก็ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อพระราชาจึงไม่มีอะไรที่ช้างจะทำเพื่อพระราชาไม่ได้ ครั้นแล้วได้ตรัสสอนให้สำหนียกว่า จะไม่พูดปดแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น.

    ๓ . ตรัสถามว่า แว่นมีไว้ทำอะไร พระราหุลกราบทูลว่า มีไว้ส่องดู. จึงตรัสสอนว่า การกระทำทางกาย, วาจา, ใจ ก็พึงพิจารณาแล้วด้วยดี จึงค่อยทำฉันนั้น. ครั้นแล้วตรัสอธิบายถึงการพิจารณาการกระทำทางกาย, วาจา, ใจ ในทางที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น. แล้วตรัสว่า สมณพราหมณ์ในอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ที่ชำระการกระทำทางกาย, วาจา , ใจให้บริสุทธิ์ ก็พิจารณาแล้วด้วยดี จึงชำระให้บริสุทธิ์, แล้วตรัสสอนให้สำเหนียกว่า จักพิจารณาด้วยดี ชำระการกระทำทางกาย, วาจา, ใจให้บริสุทธิ์.

   

๑๒ . มหาราหุโลวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรใหญ่

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระราหุลในระหว่างที่ท่านตามเสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้าว่า พึงพิจารณาเห็นรูปทุกชนิด ทั้งอดีต  อนาคต   ปัจจุบัน,   ภายใน   ภายนอก,   หยาบละเอียด,   เลว  ดี,   ไกล   ใกล้   ว่ารูปทั้งหมดนั้น มิใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. พระราหุลกลับจากที่นั้น นั่งคู้บัลลงก์ ( ขัดสมาธิ ) ณ โคนไม้ตันหนึ่ง ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า พระสารีบุตรเห็นเข้าจึงสอนให้เจริญอานาปาปานสติ ( สติกำหนดลมมหายใจเข้าออก). ในเวลาเย็นพระราหุลออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงวิธีเจริญอานาปานสติที่จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

   ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องรูปภายใน ( ร่างกาย ) ที่แข้นแข็ง   มีผม  ขน เป็นต้น ที่เรียกว่าธาติดินภายใน ตลอดจนธาตุน้ำ, ไฟ, ลม , อากาศ ทั้งภายนอกภายใน ให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายธาตุเหล่านั้น ทำจิตให้คลายกำหนด ( หรือความติดใจ ) ในธาตุเหล่านั้น

   ๓. ครั้นแล้วตรัสสอนให้เจริญภาวนา ( อบรมจิต ) เสมอด้วยธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งผัสสะที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจเกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ได้ โดยชี้ให้เห็นว่า ธาตุเหล่านั้นย่อมไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น เบื่อหน่าย เกลียดชังสิ่งสะอาดหรือสกปรกที่ทิ้งลงไปใส่หรือที่ธาตุเหล่านั้นฝ่านไป.

   ๔. ตรัสสอนให้เจริญเมตตาภาวนา ( ไมตรีจิต คิดจะให้เป็นสุข ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ได้ , กรุณาภาวนา ( เอ็นดู คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละวิเหสา ( การคิดเบียดเบียน ) ได้ , มุทิตาภาวนา ( พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละอรติ ( ความไม่ยินดีหรือริษยา ) ได้, อุเบกขาภาวนา ( วางใจเป็นกลาง ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละปฎิฆะ ( ความขัดใจ ) ได้, .  อสุภภวานา เห็นความไม่งาม ) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) ได้, อนิจจสัญญาภาวนา ( กำหนดหมายสิ่งที่ไม่เที่ยง ) ซึ่งเป็นเหตุให้ละละอัสมิมานะ ( ความถือตัวถือตนได้).

   ๕. ครั้นแล้วตรัสสอนวิธีเจริญสติกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีเหตุผลมาก มีอานิสงส์มาก ( แบบเดียวกับที่ตรัสไว้ในอานาปานบรรพ คือหมวดว่าด้วยลมหายใจเข้าออกในมหาสติปัฎฐาน ที่ย่อมาแล้วในพระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔

   

๑๓ . จูฬมาลุงกโยวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระมาลุงกยะ สูตรเล็ก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระมาลุงกยบุตรคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตอบปัญกาเรื่องทิฏฐิ ( ๑๐ ประการ ) มีเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น (ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๔ ข้อซักถามเพิ่มเติม หมายเลข ๖ นั้น เราไม่พอใจเลย ถ้าทรงตอบปัญหา เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าไม่ทรงตอบ เราจะสึก. เธอจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคตามที่คิดนั้น.

   ๒. ตรัสถามว่า พระองค์เคยทรงชวนให้เธอมาบวชเพื่อจะตอบปัญหานี้หรือ เธอเข้ามาบวช ก็พูดว่าจะบวชเพื่อให้เราตอบปัญหานี้หรือ. เมื่อเธอตอบว่า เปล่าทั้งสองประการ จึงตรัสว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวว่ามุ่งตอบปัญหานี้ เธอจะมาบอกคืนเอาแก่ใครเล่า. ผู้ใดกล่าวว่า จักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเราไม่ตอบปัญหาเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น เราก็ไม่ตอบปัญหานั้น ผู้นั้นก็คงจะตายเปล่า.

   ๓. ครั้นแล้วตรัสเปรียบเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหาหมอผ่าตัดลูกศรมาก็ไม่ยอมให้ผ่าเอาลูกศรออก จนกว่าจะรู้ว่าผู้ยิงเป็นใคร ( กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ) ชื่อไร โคตรไร สูงต่ำ หรือดำขาวอย่างไร อยู่บ้านไหน เมืองไหน ธนูที่ใช้ยิงนั้น เป็นธนูแล่ง ( หน้าไม้ ) หรือเกาทัณฑ์ ( ไม่ใช้แล่ง ) และรายละเอียดอื่น ๆ อีกยึดยาว ซึ่งก็คงจะตายเปล่า.

   ๔. ครั้นตรัสถามว่า เมื่อมีความเห็นว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น จะชื่อว่ามีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ กราบทูลว่า ไม่มี ตรัสต่อไปว่า เมื่อมีความเห็นว่าสัตว์ตายแล้วมีหรือไม่มี หรือมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ดังนี้ ก็ยังคงมีความเกิด ความแก่ ความตาย มีความเศร้าโลกพิไรรำพัน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ซึ่งเราบัญญัติให้ทำลายเสียในปัจจุบัน.

   ๕. ตรัสสรุปให้ทรงจำไว้ถึงสิ่งที่ไม่ทรงตอบและทรงตอบ (พยาการณ์ ) แล้วตรัสชี้ไปถึงทิฏฐิ ( ๑๐ ประการ) มีเรื่องโลกเที่ยง เป็นต้น ว่าไม่ทรงตอบ เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ส่วนเรื่องที่ทรงตอบ คืออริยสัจจ์ ๔ เพราะมีประโยชน์ เป็นไปเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

   

๑๔ . มหามาลุงกโยวาทสูตร
สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระมาลุงกยะ สูตรใหญ่

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายทรงจำสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) เบื้องต่ำ ๕ ประการซึ่งทรงแสดงไว้. พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า ท่านทรงจำได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทรงจำได้อย่างไร จึงกราบทูลว่า ได้แก่ ๑. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน ) ๒. วิจิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย ) ๓. สีลัมพตปรามาส ( การลูบคลำศีลแลพรต คือเชื่อว่าจะเกิดผลดีด้วยศีลพรตนั้น ๆ หรือติดลัทธิพิธีโชคลาง) ๔. กามฉันท์ ) ความพอใจในกาม) ๕. พยาบาท ( ความคิดปองร้าย ).

   ๒. ตรัสกับพระมาลุงกยบุตร  ว่า  ท่านทรงจำไว้ว่า เราแสดงแก่ใคร พวกนักบวชลัทธิอื่นจักพูดแข่งดีด้วยการเปรียบเทียบกับเด็กอ่อนมิใช่หรือ เพราะว่าเด็กอ่อนนอนหงาย ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ กายของเตน” ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตนจักเกิดขึ้นได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว) คือความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน ของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. แล้วตรัสแสดงต่อไปอีกเป็นข้อ ๆ เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ ธรรมทั้งหลาย” ความสังสัยในธรรมทั้งหลายจักมีได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือความสงสัยของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ ศีล ” การลูบคลำศีลแลพรตจักมีได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือการลูบคลำศีลพรตของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ กาม ” ความพอใจในกามจักเกิดได้อย่างไร. แต่ว่าอนุสัยคือความพอใจในกามของเด็กย่อมแฝงตัวตามไป. เด็กย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า “ สัตว์ทั้งหลาย ” ความพยาบาทในสัตว์ทั้งหลายจักเกิดได้อย่างไร แต่ว่าอนุสัยคือความพยาบาทของเด็กนั้นย่อมแฝงตัวตามไป.

   ๓. พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงเรื่องสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ภิกษุทั้งหลายจักได้ทรงจำไว้ จึงตรัสอธิบายว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ มิจจิตถูกสัญโญชน์ ๕ รึงรัด ไม่รู้การถอนตัวจากสัญโญชน์ ๕ ตามเป็นจริง สัญโญชน์นั้น ๆ จึงมีกำลัง จัดเป็นสัญโญชน์เบื้องต่ำ . ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ มีจิตไม่ถูกสัญโญชน์ ๕ รึงรัด รู้การถอนตัวจากสัญโญชน์ ๕ ตามเป็นจริง อริยสาวกนั้นจึงละสัญโญชน์ ๕ พร้อมทั้งอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัวตาม) เสียได้.

   ๔. ตรัสว่า มรรคา, ปฎิปทา ที่ทรงแสดงเพื่อละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ บุคคลไม่อาศัยมรรคา, ปฎิปทานั้น จักละสัญโญชน์เหล่านั้นได้ มิใช่ฐานะที่มีได้ เปรียบเหมือนการตัดแก่นไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นโดยไม่ตัดเปลือก ไม่ตัดกระพี้นั้น มิใช่ฐานะที่มีได้ ๑๐   หรือเปรียบเหมือนคนมีกำลังทรามกล่าวว่า จะใช้มือว่ายข้ามแม่น้ำคงคา ซึ่งมีน้ำเต็มฝั่งไปสู่ฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี ก็ไม่พึงทำเช่นนั้นได้ฉันใด เมื่อแสดงธรรมแก่ใคร ๆ เพื่อละ “ กายของตน ” แต่จิตของผู้นั้น ไม่ส่งไปตาม ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่หลุดพ้น ก็พึงเห็นเป็นฉันนั้น ๑๐”   .

   ๕. ตรัสแสดงมรรคา, ปฎิปทา เพื่อละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือการที่ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ ( อันเป็นรูปฌาน ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) กับเข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๓ ( อากิญจัญญายตนะ ) พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, เป็นโรค , เป็นฝี, เป็นลูกศร, เป็นของไม่สบาย, เป็นเครื่องเบียดเบียน, เป็นฝ่ายอื่น, เป็นของทรุดโทรม , เป็นของไม่ใช่ตัวตน เปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ( ขันธ์ ๕ ) น้อมจิตไปเพื่อธาตุอันเป็นอมตะคือนิพพาน. ผู้นั้นตั้งอยู่ในฌานแต่ละข้อนั้นย่อมถึงความสิ้นอาสวะได้ ถ้าละอาสวะไม่ได้ ก็จะได้เป็นพระอนาคามี.

   ๖. พระอานนท์กราบทูลถามว่า มรรคา, ปฎิปทา เพื่อละสัญโญชน์เหล่านั้นก็อย่างเดียวกันเหตุไฉนภิกษุบางรูปจึงเป็นผู้หลุดเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ) บางรูปหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ). ตรัสตอบว่า เพราะอินทรีย์ต่างกัน . ( คำว่า อินทรีย์ หมายถึงธรรมอันเป็นใหญ่ มี ๕ คือ ศรัทธา, ความเพียร, สติ, สมาธิ และปัญญา).


๑. อรรถกถาเล่าว่า เอาเขาโคมาติดศีรษะ เอาหางมาผูก เที่ยวกินหญ้าไปกับโคทั้งหลาย ส่วนที่ว่า ประพฤติวัตดั่งสุนัข คือทำอาการกิริยาทั้งปวงให้เหมือนสุนัข

๒. อรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของมนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภูมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ ได้แก่พวกเวมานิกเปรตที่อยู่วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉานมีช้าง เป็นต้นด้วย

๓. อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาดตั้งแต่บางส่วนจนถึงหมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย)

๔ . อภยราชกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร

๕. ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงแสดงเวทนา ๙ ไว้ด้วยดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔ และเวทนาเหล่านี้ แจกออกเป็นอะไรบ้าง ดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๑ เวทนา ๒ ถึง ๑๐๘

๖. เรื่องนี้แปลไว้แล้วอย่างละเอียดดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ แม้ในที่มาแปลจากเล่ม ๑๘ แต่ข้อความก็ตรงกัน

๗. กลิคฺคาโห ถือเอาโทษหรือถือเอาลูกโทษเป็นสำนวนสกา หมายความว่าแพ้

๘. ในที่นี้แสดงว่า อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ทำให้ละปฎิฆะ ( ความขัดใจ ) แต่ในที่บางแห่ง เช่น ในสังคีติสูตร ( ๑๑/ ๒๖๑ ) แสดงว่า อุเบกขา เจโตวิมุติ เป็นความถอนตัวได้จากราคะ นับเป็นหลักวิชาที่น่าสนใจ

๙. อรรถกถาว่า “ พระมาลุงกยบุตรมีความเห็นผิดว่า บุคคลจะประกอบด้วยกิเลสก็เฉพาะตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นไม่ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลส.” จึงเป็นการเหมาะสมที่ตรัสอธิบายให้เห็นว่าเด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า กิเลสประเภทแฝงตัวยังติดตามอยู่

๑๐. ฐานะที่เป็นไปได้ พึงทราบในทางตรงกันข้ามทั้งสองแห่ง อนึ่ง การตัดเปลือก ตัดกะพี้นั้น อรรถกถาเทียบด้วยสมภะ, วิปัสสนา ส่วนตัดแก่น เทียบด้วยมรรค

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ