บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๕
หมวดนี้มี

๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓.เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕. ชีวกสูตร
๖.อุปาลิวาทสูตร
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร
๑๑.จูฬราหุโลวาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร

๑๓.จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔. มหามาลุงกโย
วาทสูตร
๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗. จาตุมสูตร
๑๘. นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
โคตตสูตร
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร
๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุ
ทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐. เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓.มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗.ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔.โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓. เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕.ชีวกสูตร

 

หน้าที่ ๒
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร

..ธรรมะที่ไม่ผิด
ข้อ ๑ - ๕
บุคคล ๔ ประเภท
๑๑. จูฬราหุโล
วาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร
๑๓. จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔มหามาลุงก
โยวาทสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗.จาตุมสูตร
๑๘.นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร

ข้อปฏิบัติสำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑.จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๒๓.มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐.เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓. มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗. ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร

 

หน้าที่ ๕
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑.พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔. โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๕

๔๐. กัณณกัตถลสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในป่าเนื้อชื่อกัณณกัตถล

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าเนื้อ ( ป่าเป็นให้อภัยแก่เนื้อ ) ชื่อกัณณกัตถละ ใกล้นครอุทัญญา. พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เสด็จไปถึงพระนครนั้นโดยลำดับ ทรงทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงส่งราชบุรุษไปกราบทูลว่า จะเสด็จไปเฝ้าหลังเสวยแล้ว. พระนางโสมาและพระนางสกุลาซึ่งเป็นพระภคิณี จึงกราบทูลขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและทูลถามถึงความสุขแทนพระนางด้วย. พระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้ากราบทูลข้อที่พระนางทั้งสองสั่งให้กราบทูล. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า สองพระนางหาทูตอื่นไม่ได้หรือ. ตรัสตอบว่า พระนางทั้งสองเห็นว่าหม่อมฉันจะมาเฝ้าจึงฝากกราบทูล. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสประทานพรให้พระนางทั้งสองมีความสุข.

   ๒. พระเจ้าปเสนทิได้กราบทูลถามถึงเรื่อง ๔ เรื่อง คือ  ๑. เรื่องความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง ( สัพพัญญุตา )   ๒. เรื่องวรรณะ ๔ ๓. เรื่องอธิเทพ ๔. เรื่องอธิพรหม.  ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบ และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงแสดงความพอพระทัยชื่นชม.

    ๓. ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีสมณะ หรือพราหมณ์ที่รู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างคราวเดียวกัน. ในเรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างกับของวรรณะทั้งสี่   ตรัสตอบว่า ถือกันว่า   วรรณะ   กษัตริย์   และพราหมณ์   เป็นเลิศทางการอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม ( การปฏิบัติชอบโดยอาศัยไมตรี ) แต่ในทางปฏิบัติ ( องค์หรือคุณธรรมอันเป็นประธาน ๕ อย่าง เช่นเดียวกับที่ตรัสไว้ในโพธิราชกุมารสูตร ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๕ ) หน้า ๔    วรรณะทั้งสี่มีคุณธรรมเหล่านี้ย่อมได้ผลเสมอกัน ทรงเปรียบด้วยไฟ แม้เกิดจากไม้ต่างชนิด แต่เปลวไฟ   สีไฟ   แสงไฟ   ย่อมไม่ต่างกัน.   ในเรื่องที่เกี่ยวกับ เทวดา   ตรัสว่า เทวดาที่มีความคิดเบียดเบียน ย่อมมาสู่โลกนี้อีก ส่วนที่ไม่มีความคิดเบียดเบียน ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีก ( ตอนนี้วิฑูฑภะผู้เป็นเสนาบดี ได้ถามสอดขึ้นว่า เทวดาที่มีความคิดเบียดเบียนที่มีสู่โลกนี้ จะทำให้เทวดาที่ไม่คิดเบียดเบียนเคลื่อนจากฐานะ ( จุติ ) หรือขับไล่ไปได้หรือไม่ พระอานนท์.  ก็ตอบโดยอุปมาอุปไมยให้เห็นว่าจะขับไล่ หรือทำให้จุติไม่ได้ แม้แต่ในโลกนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงครอบครองราชสมบัติในเขตใด ก็ทรงมีอำนาจเฉพาะในเขตนั้น ) ในเรื่องที่เกี่ยวกับพรหม ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๔ ) หน้า ๕    ก็ตรัสทำนองเดียวกับเรื่องเทวดา.

   

จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ชื่อพราหมณวรรค
ว่าด้วยพราหมณ์ มี ๑๐ สูตร

   

๔๑. พรหมายุสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อพรหมายุ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นวิเทหะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. พรหมายุพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้เฒ่า เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ เชี่ยวชาญไตรเวท รู้จักศาสตร์ ว่าด้วยคดีโลกและมหาปุริสลักษณะได้ยินกิตติศัพย์เดี่ยวกับพระผู้มีพระภาค จึงใช้อุตตรมาณพ ( ผู้เป็นศิษย์ ) ให้ไปติดตามดูมหาปุริสลักษณะ เมื่ออุตตรมาณพได้ไปสังเกตเห็นเป็นส่วนมาก บางส่วนที่เห็นยาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงอิทธาภิสังขาร ( แสดงโดยฤทธ์ ) ให้เห็น และบางข้อก็ไม่ต้องแสดงฤทธิ์ เพียงแต่เปิดโอกาสให้เห็นอย่างธรรมดา นอกจากนั้นอุตตรมาณพยังติดตามดูความเป็นไปของพระผู้มีพระภาคทุกอริยาบทตลอดเวลา ๗ เดือน แล้วไปแจ้งให้พรหมายุพราหมณ์ทราบถึงลักษณะ ๓๒ ประการ และความเป็นไปแห่งอริยาบททั้งปวง.

   ๒. พรหมายุมาณพก็ลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปยังทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานนอบน้อมพระผู้มีพระภาค  ( นโม ตสฺส ฯลฯ ๓ ครั้ง )   แล้วได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงป่ามะม่วงของพระเจ้ามฆเทพ เมื่อไปถึงแล้วได้ใช้อุตตรมาณพเข้าไปกราบทูลก่อน ( ด้วยถือว่าเป็นมารยาทที่จะเข้าไปเฝ้าต่อเมื่อได้รับอนุญาตหรือเชื้อเชิญ ) เมื่อมาณพไปเฝ้ากราบทูล และพระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาสแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ เมื่อได้เห็นครบทั้งสามสิบสองประการแล้ว จึงทูลถามปัญหา.

   ๓. ปัญหาที่ทูลถามนั้นเกี่ยวกับคุณธรรมของพราหมณ์ผู้รู้เวท , ผู้มีไตรวิชชา , ผู้มีความสวัสดี , ผู้เป็นพระอรหันต์ , เป็นเกวลี ( ผู้มีความบริบูรณ์สิ้นเชิง ), ผู้เป็นมุนี, ผู้เป็นพุทธะ . พระผู้มีพระภาคตรัสตอบแสดงคุณธรรมเหล่านั้นแล้ว พรหมายุพราหมณ์ก็หมอบแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า เอาปากจุมพิตพระบาท เอามือนวดฟั้นพระบาท ประกาศนามของตน.

   ๔. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปพพิกถา ( ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ) และเรื่องอริยสัจจ์ ๔ พรหมายุพราหมณ์ได้บรรลุธรรมะแล้ว จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันในวันรุ่งขึ้น เมื่อเสด็จไปฉันแล้วพักอยู่ในแคว้นวิเทหะนั้นอีก ๗ วัน ก็เสด็จจากไป. ต่อมาไม่ช้าพรหมายุก็ถึงแก่กรรม. เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามถึงคติ จึงตรัสตอบว่า เป็นอนาคามีบุคคล ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก.

   

๔๒. เสลสูตร
สูตรว่าด้วยเสลพราหมณ์

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะประทับ ณ นิคมชื่ออาปณะแห่งแคว้นนั้น เกณิยชฏิล ( นักบวชเกล้าผมเป็นเซิงชื่อเกณิยะ ) ได้สดับกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคก็ไปเฝ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใส จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน. พระผู้มีพระภาคทรงเตือนว่า ภิกษุสงฆ์มีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป ถึง ๒ ครั้ง เกณิยชฏิลก็ยังคงยืนยันตามเดิม.  พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

   ๒. เกณียชฏิลเตรียมบอกญาติมิตรให้ไปช่วยงาน ต่างก็ช่วยเหลือเป็นอันดี ครั้งนั้นพราหมณ์ชื่อเสละ ผู้เชี่ยวชาญในพระเวท เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่มาณพ ๓๐๐ คนในอาปณนิคม ทราบจากเกณิยชฏิลถึงพระพุทธเจ้าก็เลื่อมใส พาหมู่มาณพไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พิจารณาดูพระพุทธลักษณะเห็นต้องตามมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แล้วได้กราบทูลโต้ตอบกับพระผู้มีพระภาคโดยทูลเชิญให้เสวยราชย์ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์เป็นราชาในทางธรรม ทรงหมุนล้อรถไปโดยธรรม เป็นล้อที่ใครจะให้หมุนกลับ ( ปฏิวัติ ) ไม่ได้. ทูลถามถึงแม่ทัพธรรม ทรงชี้ไปที่พระสารีบุตร และได้ทรงแสดงธรรมสอนใจเรื่องอื่นอีกเสลพราหมณ์ พร้อมทั้งบริษัทก็ได้บรรพชาอุปสมบท.

    ๓. เกณิยชฏิลก็นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน ทรงอนุโมทนาปรารภเรื่องการบูชาไฟว่าเป็นประธานของยัญ ( ตามแบบของพราหมณ์ ) สาวิตติฉันท์เป็นประธานของฉันท์ เป็นต้น พระสงฆ์เป็นประธานของผู้บูชายัญผู้หวังบุญ . ส่วนพระเสละพร้อมด้วยบริษัทบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

   

๔๓. อัสสลายนสูตร
สูตรว่าด้วยมาณพชื่ออัสสลายนะ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ครั้งนั้นพวกพราหมณ์ชาวแว่นแคว้นต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ มาพักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ต่างปรึกษากันว่า พระสมณโคดมบัญญัติความบริสุทธิ์ทั้งสี่วรรณะ ( ไม่กดพวกวรรณะต่ำ ) ใครหนอจะสามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ . ครั้งนั้นมาณพหนุ่มอายุ ๑๖ ชื่ออัสสลายนะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญไตรเวท พร้อมด้วยคัมภีร์ประกอบ พักอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น. พวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงไปหามาณพนั้น ขอให้ไปโต้ตอบ. มาณพไม่ยอม อ้างว่าพระสมณะโคดมเป็นธรรมวาที ( ผู้กล่าวธรรม ) . พวกพราหมณ์ก็แค่นไค้จนถึง ๓ ครั้ง และในท้ายแห่งครั้งที่ ๓ ได้กล่าวว่าอย่าแพ้ทั้งที่ยังไม่ทันได้รบ. มาณพก็ยืนยันตามเดิมว่า ไม่สามารถโต้ตอบกับพระสมณโคดม แต่จะไปตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์.

    ๒. มาณพจึงไปพร้อมด้วยพราหมณ์คณะใหญ่ เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วจึงถามพระมติว่า จะทรงคิดเห็นอย่างไร ในข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐ เป็นฝ่ายขาว บริสุทธิ์ ส่วนวรรณะอื่นตรงกันข้าม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ อ้างว่าพราหมณ์เกิดจากองค์กำเนิดของนางพราหมณ์ จะว่าเกิดจากปากพรหมเป็นผู้ประเสริฐได้อย่างไร. แล้วได้ตรัสถึงประเพณีในแคว้นโยนกกับกัมโพช และชนบทชายแดนอื่น ๆ ที่มีคนเพียง ๒ วรรณะ คืออัยยะ ( นาย ) กับทาส คนเป็นนายแล้วเป็นทาสก็ได้ คนเป็นทาสแล้วเป็นนายก็ได้. ในกรณีเช่นนี้ พวกพราหมณ์จะเอากำลัง เอาความสะดวกใจอะไรมาอ้างในข้อที่ว่า พราหมณ์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นต้น แต่มาณพก็ยังยืนยันถ้อยคำตามเดิมว่า แม้เช่นนั้นพวกพราหมณ์ก็ยังถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐ.

    ๓. ตรัสถามว่า ผู้ประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตนรก เพียงวรรณะใดวรรณะหนึ่ง เช่น กษัตริย์ ส่วนวรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า. ตรัสถามทำนองเดียวกัน ในทางทำดีว่า วรรณใดวรรณหนึ่งเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ วรรณะอื่นไม่เป็นเช่นนั้นหรือ ทูลตอบว่า เปล่า. จึงตรัสสรุปทั้งสองตอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริญสุดได้อย่างไร ( เมื่อไม่มีอะไรพิเศษ คงได้รับผลเท่าเทียมกับวรรณะอื่น ) แต่อัสสลายนมาณพก็ยังคงยืนกรานว่า พวกหพราหมณ์กล่าวว่า พราหมณ์วรรณะประเสริฐ.

    ๔. ตรัสถามว่า วรรณะใดวรรณะหนึ่งเท่านั้นหรือจึงควรเจริญพรหมวิหาร ๔, ควรถือด้ายถูตัวไปอาบน้ำลอยธุลีลอง , ควรสีไฟให้ติดได้มีเปลวไฟ , มีสี, มีแสง ก็ตอบว่า ทำได้ด้วยกัน จึงตรัสสรุปทั้งสามตอนนี้อีกให้เห็นว่า จะกล่าวว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุดได้อย่างไร แต่มาณพก็ยังยืนยันตามเดิม.

   ๕. ตรัสถามว่า ชายหนุ่มที่เป็นกษัตริย์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นพราหมณ์ หรือชายหนุ่มที่เป็นพราหมณ์อยู่ร่วมกับหญิงสาวที่เป็นกษัตริย์ มีบุตรออกมา จะเรียกกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์ก็ได้ ใช่หรือไม่. ทูลรับรอง. ( แสดงว่าพราหมณ์ไม่ประเสริฐจริง).

   ๖. ตรัสถามว่า แม่ม้ากับพ่อฬาอยู่ร่วมกันเกิดลูกขึ้น เรียกว่าม้าก็ได้ ฬาก็ได้ ใช่หรือไม่ ทูลตอบว่า ลูกที่เกิดแต่สัตว์ทั้งสองนั้น เป็นม้าอัสดร ตนเห็นความต่างกันในข้อนี้ แต่ไม่เห็นความต่างกันแห่งบุคคลในรายก่อน ( ข้อ ๕ ).

    ๗. ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด อีกคนหนึ่งมิใช่ผู้สาธยายมนต์ มิใช่ผู้ได้รับการฝึกหัด พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อนในพิธีสารท ( อุทิศให้ผู้ตาย ), ในอาหารบรรณาการ, ในยัญญพิธีและในของต้อนรับ ทูลตอบว่า เชิญให้ผู้สาธยายมนต์ผู้ได้รับการฝึกหัดให้บริโภคก่อน เพราะของที่ให้ในผู้ไม่สาธยายมนต์ ผู้มิได้รับการฝึกหัด จะมีผลมากได้อย่างไร.

    ๘. ตรัสถามว่า มาณพสองคนเป็นพี่น้องร่วมอุทร คนหนึ่งสาธยายมนต์ได้ ได้รับการฝึกหัด แต่เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม อีกคนหนึ่งไม่สาธยายมนต์ ไม่ได้รับการฝึกหัด แต่มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกพราหมณ์จะเชิญให้คนไหนบริโภคก่อน. ทูลตอบว่า เชิญผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมให้บริโภคก่อน เพราะของที่ผู้ทุศีลมีบาปธรรม จะมีผลมากได้อย่างไร.

    ๙. ตรัสสรุปว่า ครั้งแรกท่านกล่าวถึงชาติ ( ว่าสำคัญ ) ครั้นแล้วกล่าวถึงมนต์ ( ว่าสำคัญ) ครั้นแล้วก็ยกมนต์นั้นเสีย กล่าวถึงความบริสุทธิ์ที่มีในวรรณะทั้งสี่ตามที่เราบัญญัติไว้. ( แสดงว่าทรงยกเหตุผลต้อนให้มาณพยอมแสดงว่า ชาติไม่สำคัญเท่ามนต์ มนต์ไม่สำคัญเท่าความประพฤติ เป็นการจำนนต่อเหตุผลอย่างสมบูรณ์ ) อัสสลายนมาณพก็นิ่งเก้อเขิล ก้มหน้า.

   ๑๐. จึงตรัสเล่าเรื่องอสตะ เทวลฤษี ไปปราบพราหมณฤษี ๗ ตน ผู้มีความเห็นผิดในเรื่องวรรณะพราหมณ์ว่าประเสริฐสุด ด้วยการแสดงเหตุผล จนฤษีทั้งเจ็ดนั้นยอมจำนน. ( เป็นการยกประวัติศาสตร์มาสอนว่า ในครั้งโบราณก็มีผู้ปราบคนเห็นผิดเรื่องชาติวรรณะมาแล้ว)

   เมื่อจบพระธรรมเทศนา อัสสลายนมาณพกราบทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๔๔. โฆฏมุขสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโฆฏมุขะ

    ๑ . ท่านพระอุเทนะอยู่ในป่ามะม่วงชื่อเขมิยะ ใกล้กรุงพาราณสี. โฆฏมุขพราหมณ์มีธุระไปสู่กรุงสาวัตถี ไปพบพระอุเทนะที่ป่ามะม่วงนั้น จึงสนทนาด้วย โดยแสดงความคิดเห็นว่า การบวชที่เป็นธรรมไม่มี. พระอุเทนะจึงเข้าไปสู่วิหาร และพราหมณ์ก็ตามเข้าไปสนทนากันในวิหาร พราหมณ์ได้พูดย้ำความคิดเห็นเดิมอีก. พระอุเทนะตกลงกับพราหมณ์ว่า ถ้ายอมรับในข้อที่ควรยอมรับ ถ้าคัดค้านในข้อที่ควรคัดค้านก็จะสนทนากันได้ พราหมณ์ยอมรับข้อเสนอนั้น.

   ๒. พระอุเทนะจึงกล่าวว่า มีบุคคล ๔ ประเภท คือ  ๑. ทำตนให้เดือดร้อน   ๒. ทำคนอื่นให้เดือดร้อน   ๓. ทำตนให้เดือดร้อนด้วย ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย   ๔. ไม่ทำตัวเองให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นผู้ดับเย็น อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ในบุคคล ๔ ประเภทนี้ ประเภทไหนเป็นที่พอใจของพราหมณ์. พราหมณ์ตอบว่า ตนไม่พอใจ ๓ ประเภทแรก พอใจประเภทหลัง.

   ๓. พระอุเทนะถามว่า มีบริษัท ๒ ประเภท คือพวกหนึ่งกำหนัดยินดีในทรัพย์สินสิ่งต่าง ๆ อีกพวกหนึ่งไม่กำหนัดยินดี ออกบวช ในบริษัท ๒ ประเภทนี้ พราหมณ์เห็นว่าคนที่ไม่เบียดเบียนตน ทั้งไม่เบียดเบียนคนอื่น มีอยู่มากบริษัทประเภทไหน. พราหมณ์ตอบว่า มีมากในประเภทที่ไม่กำหนัดยินดีในทรัพย์สิ้นสิ่งต่าง ๆ. ท่านพระอุเทนะจึงกล่าวชี้ให้เห็นว่า บัดนี้เราก็ได้รู้ถ้อยคำของท่านที่ว่า การบวชที่เป็นธรรมไม่มี ( เมื่อพราหมณ์ยอมรับว่า พวกออกบวช ซึ่งไม่กำหนัดยินดี เป็นพวกไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นโดยมาก ก็เป็นอันชี้อยู่ในตัวว่า การบวชที่เป็นธรรมมีอยู่ ). พราหมณ์ยอมรับว่า การบวชที่เป็นธรรมมีและได้ขอให้แจงประเภทบุคคลทั้งสี่โดยพิศดาร.

   ๔. พระเถระจึงแจกอธิบายทั้งสี่ประเภท ( ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเคยทรงอธิบาย ( พระสุตตันตะ เล่ม ๕ หน้า ๑ ) อันปรากฏในกันทรกสูตรที่ ๑ ที่ย่อไว้แล้วข้างต้น). หมายเลข ๓

   ๕. โฆฏมุขพราหมณ์แสดงความเลื่อมใส สรรเสริญภาษิตของท่านพระอุเทนะ ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระอุเทนะ กับพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระเถระห้ามไว้ ขอให้ถึงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด. พราหมณ์จึงถามถึงพระพุทธเจ้า เมื่อทราบว่าปรินิพพานแล้ว จึงกล่าวว่าถ้ายังทรงพระชนม์อยู่ แม้จะต้องเดินทางตั้งร้อยโยชน์ก็จะไปเฝ้า แต่เมื่อปรินิพพานแล้ว จึงขอถึงพระสมณโคดมและพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระอุเทนะจงทรงจำว่าตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมกับได้แสดงความจำนงขอถวายภิกษาเป็นนิตย์ ( ถวายอาหารประจำ ) แด่พระเถระ. พระเถระถามว่า พระราชาแคว้นอังคะทรงถวายนิจจภิกขา .  ทุก ๆ วันอย่างไร ? พราหมณ์จตอบว่า ถวายวันละ ๕๐๐ กหาปณะ. พระเถระตอบว่า การรับเงินทองไม่ควรแก่ท่าน พราหมณ์จึงเปลี่ยนเป็นจะสร้างวิหารถวายท่าน ท่านจึงแนะให้สร้างอุปฐานศาลา ( โรงฉัน ) สำหรับสงฆ์ ในกรุงปาฏลิบุตร ซึ่งพราหมณ์ก็ได้ปฏิบัติตามด้วยความเลื่อมใสยิ่ง.

   

๔๕. จังกีสูตร
สูตรว่าด้วยจังกีพราหมณ์

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ประทับ ณ ป่าไม้สาละ อันเป็นที่ทำพลีกรรมแด่เทพ ด้านเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์นั้น. สมัยนั้นจังกีพราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อโอปาสาทะ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้ครอบครอง จังกีพราหมณ์เห็นพราหมณคฤหบดีเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเป็นกลุ่ม ๆ ถามทราบความก็จะไปบ้าง แต่ก็ถูกพราหมณ์ชาวต่างถิ่นที่ไปในที่นั้นคัดค้าน จังกีพราหมณ์ก็โต้ตอบ ( เช่นเดียวกับโสณทัณฑพราหมณ์ ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๑ หน้า ๒ เรื่องโสณทัณฑสูตร ในที่สุดได้ไปเฝ้า. ในที่เฝ้านั้นมีมาณพหนุ่มคนหนึ่งอายุ ๑๖ ปี ชื่อกาปทิกะ เป็นผู้เชี่ยวชาญในเวททั้งสาม พร้อมทั้งคัมภีร์ประกอบ พูดสอดแทรกการสนทนาระหว่างพระผู้มีพระภาคกับพราหมณ์ผู้ใหญ่ เมื่อตรัสให้รอก่อน ก็หาทางไล่เลียง ( เป็นการลองดีเพื่อให้จำนน).

   ๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส จึงทูลถามปัญหาเป็นข้อ ๆ คือ     ๑. พวกพราหมณ์เชื่อถือบทแห่งมนต์ โดยอ้างตำราว่า นี้เป็นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ จะทรงเห็นอย่างไร     ๒. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการรักษาสัจจะ    ๓. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการตรัสรู้สัจจะ    ๔. ด้วยเหตุเพียงเท่าไรชื่อว่ามีการบรรลุสัจจะ.

   ๓. ในข้อ ๑  ตรัสย้อนถามให้ยอมรับว่าไม่มีใครในพวกพราหมณ์และครูบาอาจารย์ของพราหมณ์ที่ยืนยันว่าตนรู้ความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด มีธรรม ๕ อย่าง คือความเชื่อ, ความพอใจ, การฟังสืบ ๆ มา, การตรึกตามอาการ , ความชอบใจเพราะตรงกับความเห็นของตน ธรรมเหล่านี้มีผล ๒ ประการ คือสิ่งที่เชื่อ เป็นต้นนั้น อาจไม่จริงก็ได้ อาจจริงก็ได้. จึงไม่ควรยึดตามความเชื่อ เป็นต้นว่านี้แลจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ( ข้อนี้ไม่เชิงปฏิเสธศรัทธาหรือความเชื่อ แต่นิยมให้รู้แจ้งประจักษ์มากกว่าใช้หลักเพียงเชื่อผู้อื่น หรือชอบใจว่าถูกกับความเห็นของตน เป็นต้น).
  ในข้อ ๒ เรื่องการรักษาสัจจะ ตรัสว่าให้รักษาสัจจะ   โดยยอมรับว่ามีความเชื่ออย่างนี้ มีความพอใจอย่างนี้ เป็นต้น อย่าเพิ่งปลงใจว่า อันนี้จริงอย่างอื่นเป็นโมฆะ
  ในข้อ ๓ เรื่องการตรัสรู้สัจจะ   ทรงแสดงถึงการรู้เท่าทันธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภความคิดประทุษร้ายและความหลง สดับฟังธรรมะ ทรงจำไว้ได้ มีความอุตสาหะ ตั้งความเพียรตรัสรู้ “ ปรมัตถสัจจะ ” ( ความจริงโดยปรมัตถ์ คือจริงแท้ ไม่ใช่จริงเพียงสมมุติ ) ด้วยปัญญา.
  ในข้อ ๔ เรื่องการบรรลุความจริง   ทรงแสดงถึงการส้องเสพ ทำให้มากซึ่งธรรมะ ( ที่ได้สดับ ได้ทรงจำไว้ได้เหล่านั้น). และได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นอุปการะแก่การบรรลุสัจจะ มีความเพียร , การชั่ง หรือไตร่ตรอง เป็นต้น ตามที่มาณพทูลถาม.

   ๔. มาณพทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา ยอมรับว่าเคยนึกดูหมิ่นสมณะมาก่อน แต่พระผู้มีพระภาคทำให้เกิดความรักความเคารพในสมณะ แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรระตลอดชีวิต.

   

๔๖. เอสุการีสูตร
สูตรว่าด้วยเอสุการีพราหมณ์

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม เอสุการีพราหมณ์บัญญัติการบำเรอ ๔ ประการ คือ     ๑ . วรรณะทั้งสี่ควรบำเรอพราหมณ์     ๒. กษัตริย์, แพศย์ , ศูทร ควรบำเรอกษัตริย์     ๓. แพศย์, ศูทร ควรบำเรอแพศย์ .     ๔. ศูทรเท่านั้นควรบำเรอศูทร ( สูงกว่าบำเรอพวกต่ำกว่าไม่ได้) ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสว่าอย่างไร. ตรัสถามว่า ทั่วโลกยอมรับรองข้อบัญญัตินี้ของพราหมณ์หรือไม่. ทูลตอบว่า ไม่รับรอง. จึงตรัสว่า พวกพราหมณ์บัญญัติเอาเอง เหมือนบังคับคนไม่กินเนื้อให้กินเนื้อแล้วยังเรียกร้องเอามูลค่า ( ของเนื้อ ) อีกด้วย.

    ๒. ตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่าควรบำเรอทุกอย่าง แต่ก็ไม่ทรงกล่าวว่าไม่ควรบำเรอทุกอย่าง เมื่อบำเรอแล้วเกิดความชั่วไม่เกิดความดีงามก็ไม่ควรบำเรอ เมื่อบำเรอแล้วความดีงามไม่เกิดวามชั่วก็ควรบำเรอ.

   ๓. ตรัสว่า ไม่ทรงกล่าวว่าความเป็นผู้มีตระกูลสูง ความเป็นผู้มีวรรณะโอฬาร หรือความเป็นผู้มีทรัพย์มาก ว่าดีหรือเลว เพราะคนที่มีสกุลสูง , มีวรรณะโอฬาร ( คือวรรณะทั้งสาม ยกเว้นศูทร ) และคนที่มีทรัพย์มาก อาจทำได้ทั้งความชั่วความดี ( ความชั่วความดีจึงอยู่ที่การกระทำ ไม่ใช่อยู่ที่สกุลสูง เป็นต้น).

    ๔. เอสุการีพราหมณ์ทูลถามถึงการที่พวกพราหมณ์บัญญัติทรัพย์ ๔ ประการ คือ     ๑. ทรัพย์ที่ดีของพราหมณ์คือการเที่ยวภิกขาจาร .  ( เที่ยวขออาหาร )     ๒. ทรัพย์ที่ดีของกษัตริย์คือธนู และกระบอกลูกธนู     ๓. ทรัพย์ที่ดีของแพศย์คือกสิกรรม และโครักขกรรม ( การเลี้ยงโครีดนม)     ๔. ทรัพย์ที่ดีของศูทรคือการเกี่ยวหญ้า การหาบหาม แต่วรรณะทั้งสี่นั้นก็ดูหมิ่นทรัพย์ที่ดี ไปทำกิจอันไม่สมควร ( คือประกอบอาชีพอื่นนอกจากอาชีพเดิมประจำวรรณะ ) ในข้อนี้พระสมณโคดมตรัสว่าอย่างไร. ตรัสว่า เป็นการบัญญัติเอาเองแบบเรื่องการบำเรอ. แล้วตรัสว่า ทรงบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ที่ดีของคน. คนที่จะเรียกว่า   กษัตริย์   พรหามณ์   แพศย์   ศูทร   ก็เพราะเกิดขึ้นในสกุลนั้น ๆ.

    ๕. แล้วทรงแสดงว่า บุคคลทุกวรรณะออกบวช ทำตามพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เว้นความชั่ว ก็ย่อมได้บรรลุธรรมะที่ถูกต้องเสมอกัน และเมื่อตรัสถามพราหมณ์ก็ยอมรับว่า วรรณะทั้งสี่สามารถเจริญเมตตาจิตไปในถิ่นที่นั้น ๆ ได้เหมือนกัน อาจถือด้ายถูตัวไปสนานกายได้เท่ากัน อาจก่อไฟให้ติดได้เหมือนกัน

    เอสุการีพราหมณ์ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๔๗. ธนัญชานิสูตร
สูตรว่าด้วยธนัญชานิพราหมณ์

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นท่านพระสารีบุตรจาริกไปในชนบท “ ทักขิณาคิริ ” ( ภูเขาภาคใต้ ) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. มีภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในกรุงราชคฤห์แล้วเดินทางไปทักขิณาคิริชนบท เข้าไปหาพระสารีบุตรสนทนากัน พระสารีบุตรถามถึงธนัญชานิพราหมณ์ ก็เล่าให้ฟัง ว่าเป็นผู้ประมาท อาศัยพระราชา “ ปล้น” พราหมณ์คฤหบดี , อาศัยพราหมณคฤหบดี “ ปล้น” พระราชา เป็นต้น . เมื่อพระสารีบุตรไปสู่กรุงราชคฤห์ได้พบกับธนัญชานิพราหมณ์ ก็ไต่ถามว่า ยังไม่ประมาทอยู่หรือ. พราหมณ์ตอบว่า จะไม่ประมาทได้ได้อย่างไร เพราะตนมีภาระจะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภริยาและบ่าวไพร่ เป็นต้น.

   ๒. พระสารีบุตรจึงถามว่า ผู้ประะพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา เป็นต้น นายนิรยบาลจะยอมให้แก้ตัวอย่างนั้นหรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้. ถามว่า ผู้ประพฤติไม่เป็นธรรม ประพฤติผิดกับผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิด เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ใครจะดีกว่าใคร. ธนัญชานิพราหมณ์ยอมรับว่า ผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติไม่ผิดดีกว่า. พระสารีบุตรจึงกล่าวสรุปว่า ยังมีการงานที่ถูกต้องตามธรรมะอย่างอื่นที่จะพึงกระทำกะณียกิจแก่มารดาบิดา เป็นต้นโดยไม่ต้องทำบาป และได้บำเพ็ญปฏิปทาอันเป็นบุญด้วย.

   ๓. ต่อมาธนัญชานิพราหมณ์เจ็บหนัก จึงใช้คนไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค และกราบเรียนพระสารีบุตรและอาราธนาพระสารีบุตรไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่ออนุเคราะห์ พระสารีบุตรก็ถามพราหมณ์ว่า นรก กับกำเนิดดิรัจฉานอันไหนจะดีกว่ากัน. พราหมณ์ตอบว่า กำเนิดดิรัจฉานดีกว่า. จึงถามเปรียบเทียบเรื่อยไปจากต่ำจนถึงสูง คือเปรตวิสัย, มนุษย์ , เทพชั้นจาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามะ, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีและพรหมโลก เมื่อเห็นว่าพวกพราหมณ์มีจิตน้อมไปเพื่อพรหมโลก จึงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อไปเกิดในพรหมโลกให้ธนัญชานิพราหมณ์ฟัง คือการเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ.

   ๔. ธนันญชานิพราหมณ์สั่งฝากพระสารีบุตรกราบพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วย เมื่อพระสารีบุตรกลับไม่นานก็ถึงแก่กรรม แล้วไปเกิดในพรหมโลก. เมื่อพระสารีบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเมื่อตรัสถามว่า เมื่อยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไป เหตุไฉนจึงแนะธนัญชานิพราหมณ์ให้ตั้งอยู่ในพรหมโลกอันต่ำทรามแล้วหลีกไปเสีย. พระสารีบุตรกราบทูลว่า เพราะท่านคิดว่า พวกพราหมณ์น้อมจิตไปเพื่อพรหมโลก ( โดยมาก ). พระผู้มีพพระภาคจึงตรัสว่า ธนัญชานิพราหมณ์ถึงแก่กรรมไปเกิดในพรหมโลกแล้ว.

   

๔๘. วาเสฏฐสูตร
สูตรว่าด้วยวาเสฏฐมาณพ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละ สมัยนั้นพราหมณมหาศาล ( ผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก ) ที่มีชื่อเสียง เช่น จังกีพราหมณ์ เป็นต้น ก็อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่ออิจฉานังคละมาณพ ๒ คน คือวาเสฏฐะ กับภารทวาชะสนทนากันว่า บุคคลจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร. ภารทวาชะกล่าวว่า ผู้เกิดจากมารดาบิดา เป็นพราหมณ์สืบต่อมา ๗ ชั่วอายุคน ไม่มีใครคัดค้านได้ ( ในเรื่องวงศ์สกุล ) จึงเป็นพราหมณ์ได้. แต่วาเสฏฐมาณพค้านว่า ต้องมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร จึงเป็นพราหมณ์ได้. ทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตกลงกันว่าจะไปทูลถามพระผู้มีพระภาค.

   ๒. เมื่อไปทูลถาม จึงกล่าวเป็นคาถา ( คำกวี) ใจความว่า จะเป็นพราหมณ์ได้ เพราะชาติ หรือเพราะการกระทำ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นคาถาเช่นเดียวกัน โดยใจความว่า เป็นพราหมณ์ มิใช่เพราะชาติแต่เพราะการกระทำที่ดีงามต่าง ๆ . เมื่อจบธรรมเศนา มาทั้งสองทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๔๙. สุภสูตร
สูตรว่าด้วยสุภมาณพบุตรโตเทยยพราหมณ์

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นสุภมาณพบุตรโตเทยยพราหมณ์ มีธุระบางอย่างไปพักในกรุงสาวัตถี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม จึงไปเฝ้า ทูลถามว่า พวกพราหมณ์กล่าวว่า คฤหัสถ์จึงได้บรรลุญายธรรม ( ธรรมที่ถูกต้อง ) อันเป็นกุศล ส่วนบรรพชิตมิได้บรรลุดังนี้ .    พระสมณโคดมตรัสในเรื่องนี้อย่างไร. ตรัสตอบว่า พระองค์เป็น “ วิภชวาทะ ” ( ผู้กล่าวจำแนกตามเหตุผล) มิใช่ “เอกังสวทะ” ( ผู้พูดในแง่เดียว ) ในเรื่องนี้. แล้วตรัสว่า พระองค์ไม่ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติผิดคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้าปฏิบัติผิด ก็ไม่ได้บรรลุญายธรรม ( ธรรมที่ถูกต้อง ) อันเป็นกุศล เพราะเหตุมีความปฏิบัติผิดเป็นมูล. พระองค์ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติชอบ. คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้าปฏิบัติชอบก็ได้บรรลุญายธรรมอันเป็นกุศล เพราะเหตุมีการปฏิบัติชอบเป็นมูล.

   ๒. มาณพทูลถามอีกว่า พวกพราหมณ์เขากล่าวว่า การงานในการครองเรือนเป็นงานใหญ่ มีการริเริ่มมาก มีผลมาก แต่การงานในการบวชเป็นการงานน้อย มีการริเริ่มน้อย มีผลน้อย จะตรัสในข้อนี้อย่างไร. ตรัสตอบว่า แม้ในข้อนี้ก็ทรงกล่าวจำแนก ไม่กล่าวยืนยันลงไปอย่างเดียว. แล้วทรงแสดงว่า การงานที่ใหญ่แต่มีผลน้อยก็มี ทั้งสองอย่างนี้ทรงชี้ไปที่การทำนา และตรัสต่อไปว่า การงานที่น้อย มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มี ทั้งสองอย่างนี้ชี้ไปที่การค้า แล้วตรัสว่า การครองเรือนเป็นงานใหญ่ มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มี การงานในการบวชเป็นงานน้อย มีผลน้อยก็มี มีผลมากก็มีเปรียบเหมือนการทำนาและการค้านั้น.

   ๓. แล้วมาณพได้ทูลอีกถึงข้อที่พวกพราหมณ์บัญญัติธรรม ๕ อย่าง เพื่อบำเพ็ญ เพื่อบรรลุกุศลคือสัจจะ, ตบะ ( ความเพียร ), พรหมจรรย์ ( ไม่เสพกาม ), อัชเฌนะ ( การสาธยายมนต์ ), จาคะ ( การสละ ). ตรัสถามว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้น พร้อมทั้งครูบาอาจารย์ เคยมีสักคนหนึ่งหรือไม่ที่กล่าวว่าได้รู้แจ้งเห็นจริงเหมือนคนแห่งธรรมะทั้งห้านั้นด้วยตนเองด้วยปัญญาอันยิ่ง. เมื่อมาณพทูลตอบว่า ไม่มีใคร ก็ตรัสเปรียบเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ซึ่งทำให้มาณพโกรธเคือง ถึงกับใช้ถ้อยคำรุนแรง อ้างพราหมณ์มีชื่อต่าง ๆ มาข่ม เช่น โปกขรสาติพราหมณ์ เป็นต้น.

   ๔. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสชี้ให้เห็นว่า พราหมณ์เหล่านั้นพูดด้วยพิจารณาบ้าง ไม่พิจารณาบ้างมีประโยชน์บ้าง ไม่มีประโยชน์บ้าง เป็นต้น ตามที่มาณะรับรอง ยังมีนีวรณ์ ๕ ( กิเลสอันกั้นจิต) ยังติดกามคุณ ๕ ( มีรูป เสียง เป็นต้น ) แล้วทรงย้อนถามถึงคุณธรรม ๕ ประการที่พรหามณ์บัญญัตินั้นว่ามีในคฤหัสถ์มากหรือมีในบรรพชิตมาก ซึ่งมาณพได้ยอมรับว่ามีในบรรพชิตมาก มีในคฤหัสถ์น้อย ( เริ่มแย้งกับข้อกล่าวในตอนแรกที่ว่า งานคฤหัสถ์เป็นงานใหญ่ มีผลมาก).

   ๕. แล้วตรัสแสดงว่า ธรรม ๕ อย่างนั้น เป็นเพียงบริขาร ( เครื่องใช้ ) ของจิต จิตจึงสำคัญกว่า ทรงสอนให้เจริญจิตที่ไม่มีเวร ไม่มีความคิดเบียดเบียน เมื่อมาณพขอให้ทรงแสดงทางที่จะไปอยู่ร่วมกับพรหม ก็ตรัสแสดงการแผ่พรหมวิหารจิต ( มีเมตตา เป็นต้น)

   ๖. สุภมาณพทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เมื่อเดินทางกลับได้พบชาณุสโสณิพราหมณ์และเล่าให้ฟังถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงยุบธรรมะ ๕ อย่างมาไว้ที่จิตเป็นบริขารของจิต อันไม่มีเวร ไม่คิดเบียดเบียน ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็ลงจากรถเทียมด้วยม้าขาว ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปยังทิศทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานว่า เป็นลาภของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่มีพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในแคว้น.

   

๕๐. สคารวสูตร
สูตรว่าด้วยสคารวมาณพ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. สมัยนั้นนางพราหมณีมีนามว่า ธนัญชานี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่อปัจจลกัปปะ นางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อพลาดล้ม ก็เปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า   มโน ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺมพุทฺธสฺส.   สมัยนั้น สคารวมาณพซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเวททั้งสามได้ฟังว่า นางพราหมณี ธนัญชานี กล่าวถ้อยคำอย่างนั้น ก็กล่าวว่า นางพราหมณี ธนัญชานีเป็นผู้ตกต่ำล่มจม ทั้ง ๆ ที่มีพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ก็ยังกล่าวคุณของสมณะศีรษะโล้น. นางตอบว่า ถ้าท่านรู้ถึงศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาค ก็จะไม่สำคัญเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรด่าควรบริภาษเลย. มาณพจึงสั่งว่า ถ้าสมณะมาหมู่บ้านนี้ ก็พึงบอกแก่ข้าพเจ้า. นางพราหมณีก็รับคำ.

   ๒. ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล ทรงแวะพัก ณ หมู่บ้านชื่อปัจจกัปปะประทับ ณ ป่ามะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ นางธนัญชานีพราหมณีจึงไปแจ้งให้สคารวมาณพทราบ. สคารวมาณพได้ทราบก็ไปเฝ้าทูลถามว่า พระโคดมเป็นพวกไหนของสมณพราหมณ์ ที่ปฏิญญาถึงเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ว่าตนรู้แจ้งในปัจจุบัน อยู่จบพรหมจรรย์ บรรลุถึงความเป็นผู้ถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีต่าง ๆ กัน คือที่เป็นพวกฟังสืบ ๆ กันมาก็มี เช่น พวกพราหมณ์ที่รู้วิชา ๓ ( รู้ไตรเวท), ที่ปฏิญญาถึงเบื้องแห่งพรหมจรรย์ ด้วยเหตุสักว่า ควาวมเชื่อก็มี เช่น พวกนักเดา นักคิดพิจารณา , ที่รู้แจ้งธรรมด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนก็มี พระองค์อยู่ในพวกหลังนี้.

   ๓. ครั้นแล้วตรัสเล่าพระดำริตั้งแต่ยังมิได้เสด็จออกผนวช เห็นโทษของการครองเรือน แล้วเสด็จออกผนวชจนถึงทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา แล้วทรงเลิกทุกกรกิริยาจนได้บำเพ็ญฌานและได้วิชชา ๓ ใน ๓ ยามแห่งราตรี ( ดูที่พระสัตตันตะ เล่ม ๔ หน้า ๔ ) ข้อความพิสดารเช่นเดียวกับในมหาสัจจกสูตร

   ๔. มาณพได้ทูลได้ทูลถามถึงเรื่องเทวดาอีกเล็กน้อย เมื่อตรัสตอบแล้ว ก็ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

จบวรรคที่ ๕ และจบความย่อแห่งพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๓

๑. ในเรื่องใช้คำว่า เทพ ว่าพรหมธรรมดา ในตอนสรุปใช้คำว่า อธิเทพ อธิพรหม คำว่า อธิ แปลได้ว่า ใหญ่ , หรือยิ่ง

๒. พระอานนท์เห็นวิฑูฑภเสนาบดี ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิสอดถาม จึงตอบสอดบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องของลูกควรจะพูด. พระะเจ้าปเสนทิยังไม่รู้จัก ถึงกับทูลถามชื่อต่อพระผู้มีพระภาค และตรัสชมเชยตอบพระอานนท์

๓ การเลี้ยงพระแบบอินเดีย แม้พระมาก ก็ไม่ต้องเตรียมภาชนะสำหรับพระเลย เพราะมีอะไรกี่อย่างก็ใส่ลงไปในบาตทั้งหมด พระคงฉันในบาตรทั้งของคาวหวาน ที่ต้องเตรียมก็มีบ้าง เช่น ภาชนะอาหาร , เตาหุงหาอาหาร ภาชนะใส่น้ำ, การปูอาสนะ, การเตรียมฟืนทำเชื่อไฟ

๔. เข้าลักษณะถวายนิตยภัตต์ และพึงเห็นเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกที่ใช้คำว่า นิจจภิกขา แทนคำว่าเงินประจำ

๕. เมื่อยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง เพียงแต่มีความเชื่อ ก็ควรพูดเพียงว่า มีความเชื่ออย่างนี้ อย่าเพิ่งยืนยันเด็ดขาดลงไปว่า นี่จริง อย่างอื่นไม่จริง เป็นการสอนเรื่องความเชื่ออย่างดียิ่ง

๖. อรรถกถาอธิบายว่า พราหมณ์แม้มีทรัพย์นับจำนวนโกฏิ ก็ควรเที่ยวขออาหารบริโภค

๗. พวกพราหมณ์รังเกียจบรรพชิตที่โกนศีรษะ มักให้ร้ายต่าง ๆ ถือว่าเป็นชาติต่ำเลวทราม เกิดจากเท้าของพระพรหม

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ