บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 13

หน้า ๑ ปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑

๑. ตรัสเรื่องเวียนว่ายฯลฯ
๒. ภิกษุเดิน, ยืน, นั่ง, นอน
๓. ทรงพิจราณาไม่เห็น
ใครยิ่งกว่าพระองค์
๔. ทรงแสดงจักร ๔
๕. เจริญสมาธิ ๔ อย่าง

หน้า ๒ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ ๑. ทรงแสดงความ
ไหลมาแห่งบุญ,
แห่งกุศล
๒. ตรัสแก่อนาถ
ปิณฑิกคฤหบดี
๓.ข้อปฏิบัติ
ทำอาสวะให้สิ้น ๔.
๔. ความชั่ว
ความดีฝ่ายละ ๔
๕. อสูร ๔ ประเภท

หน้า ๓ ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓ ๑. เรื่องฝน ๔ อย่าง
๒. ตรัสถามสารถีฝึกม้า
๓. เรื่องภัย ๔ อย่าง
๔. บุคคล ๔ประเภท
๙. แสงสว่าง ๔ อย่าง

หน้า ๔ จตุตถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔ ๑. ทรงแสดงอินทรีย์ ๔
๒. ปฏิปทา ๔ อย่าง
๓. กาย วาจา ใจ
๔. นักรบประ
กอบด้วยองค์ ๔
๕. อานิสงส์ ๔ ประการ

หน้า ๕ หมวดนอกจาก ๕๐ ๑. ทรงแสดง คนชั่ว และคนดี
๒. คนที่ประ
ทุษร้ายบริษัท
๓. วจีทุจจริต ๔
๔. กรรม ๔ อย่าง
๕. ตรัสกะพระอานนท์ว่า
๖. ธรรม ๔ อย่าง
๗. ผู้ประกอบ

หมวดพระสูตรนอก ๕๐

 

เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๕ จบเล่ม
หมวดนอกจาก ๕๐

      (หมวดนี้ เรียกว่าปัณณาสกสังคหิตวรรค คือวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ จัด เป็นหมวดพิเศษ แบ่งเป็นหมวดย่อยหรือวรรค ๗ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นกัน คือวรรคที่ ๑ ชื่ออสัปปุริสวรรค ว่าด้วยคนชั่ว. วรรคที่ ๒ ชื่อโสภนวรรค ว่าด้วยคนดีงาม. วรรคที่ ๓ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยความประพฤติชั่ว. วรรคที่ ๔ ชื่อกัมมวรรค ว่าด้วยกรรมคือการกระทำ. วรรคที่ ๕ ชื่ออาปัตติภยวรรค ว่าภัยคือสิ่งที่น่ากลัวแห่งอาบัติ. วรรคที่ ๖ ชื่อ อภิญญาวรรค ว่าด้วยความรู้แจ้ง. วรรคที่ ๗ ชื่อกัมมปถวรรค ว่าด้วยกรรมบถ คือทางแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ).

๑. ทรงแสดง คนชั่ว ( อสัปปุริสะ ) และคนดี ( สัปปุริสะ )

ด้วยเรื่องละเมิดศีล ๕ ชักชวนเพื่อละเมิดศีล ๕ หรือตั้งอยู่ในศีล ๕ ชักชวนเพื่อตั้งอยู่ในศีล ๕ รวมทั้งธรรมะฝ่ายชั่วฝ่ายดีอื่น ๆ.

๒. ทรงแสดง คนที่ประทุษร้ายบริษัท เพราะทุศีล มีบาปกรรม

คนที่ทำบริษัทให้งาม เพราะมีศีล มีกัลยาณธรรม และ

ทรงแสดงความชั่วความดีอื่น ๆ ที่ทำให้ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เหมือน ถูกนำไปวางไว้.

๓. ทรงแสดง วจีทุจจริต ๔

คือพูดเท็จ, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ

แล้วทรงแสดงคนพาลและบัณฑิต ผู้ประกอบด้วยความชั่ว ความดีต่าง ๆ ในที่สุด

ทรงแสดงกวี ๔ ประเภท คือจินตากวี ( กวีทางความคิด ), สุตกวิ ( กวีทางสดับฟัง ), อัตถกวิ ( กวีทางเนื้อความ ) และปฏิภาณกวิ ( กวีทางปัญญา หรือ ญาณ ).

๔. ทรง แสดงกรรม ๔ อย่าง

คือกรรมดำมีวิบาก (ผล ) ดำ, กรรมขาวมีวิบากขาว, กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว, กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว .

ทรงแสดงว่า สมณะที่ ๑ ได้แก่พระโสดาบัน, สมณะที่ ๒ ได้แก่พระ สกทาคามี, สมณะที่ ๓ ได้แก่พระอนาคามี, สมณะที่ ๔ ได้แก่พระอรหันต์ มีเฉพาะในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น.

แล้วทรงแสดงว่า เพราะอาศัยคนดี จึงหวังอานิสงส์ ( ผล ) ได้ ๔ ประการ คือเจริญด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา,วิมุติ ( ความหลุดพ้น ) .

๕. ตรัสกะพระ อานนท์ว่า

ภิกษุชั่วเห็นประโยชน์ ๔ ประการ จึงพอใจด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน คือถ้าภิกษุพร้อมเพรียงกันก็จะกำจัด เราผู้ทุศีล, ผู้มีความเห็นผิด, ผู้เลี้ยงชีวิตผิด, ผู้อยากได้ลาภ แต่แตกกันก็จะกำจัดเราไม่ได้.

แล้วทรงแสดงภัยแห่งอาบัติ และอานิสงส์แห่งการศึกษา. ทรงแสดงการนอน ๔ อย่าง คือ ๑. การนอนของเปรต ( นอนหงาย ) ๒. การนอนของผู้บริโภคกาม ( ตะแคงซ้าย ) ๓. การนอนของ ราชสีห์ ( ตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า เอาหางสอดไว้ในระหว่างเท้า ) ๔. การนอนของพระตถาคต ( เข้าฌานที่ ๔ )

ทรงแสดงบุคคลผู้ควรแก่สตูป ๔ ( ดูมหาปรินิพพานสูตรผู้ควรแห่งสตูป ทรงแสดงถึงบุคคลผู้เป็นถูปารหะ ( ผู้ควรแก่สตูป ) ๔ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ์ ).

ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา คือ ๑. คบคนดี ๒. ฟังธรรมของท่าน ๓. ไตร่ตรองโดยแยบคาย ๔. ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม.

ทรงแสดงธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะแก่มนุษย์ ( เหมือนกับธรรมที่ ให้เจริญด้วยปัญญา ).

ทรงแสดงโวหารคือคำพูดที่ไม่ประเสริฐและประเสริฐ ฝ่ายละ ๔ อย่าง คือพูดว่า ได้เห็น ได้ฟัง. ได้ทราบ, ได้รู้, ในสิ่งที่มิได้เห็น, มิได้ฟัง, มิได้ทราบ, มิได้รู้ ; หรือพูดว่า ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้ทราบ, ไม่ได้รู้, ในสิ่งที่ได้เห็น, ได้ฟัง, ได้ทราบ. ได้รู้ นี้เป็นฝ่ายไม่ประเสริฐ ก็คือตรงกันข้าม ได้แก่พูดตามเป็นจริง .

๖. ทรงแสดง ธรรม ๔ อย่าง

คือที่ควรกำหนดรู้ด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่ขันธ์ ๕ ที่บุคคลยึดถือ, ที่ควรละด้วยความรู้ยิ่ง ได้แก่อวิชชา ( ความไม่รู้ ) กับภวตัณหา ( ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ), ที่ควรเจริญได้แก่สมถะ ( ความสงบใจ ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ), ที่ควร ทำให้แจ้ง ได้แก่วิชชา (ความรู้ ) และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ).

ทรงแสดงการแสวงหาอันไม่ประเสริฐ และประเสริฐฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการแสวงหาสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความเศร้าหมองเป็นธรรมดา, ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม.

ทรงแสดงเรื่องของการสงเคราะห์ ( สังคหวัตถุ ) ๔ อย่าง คือการให้, การพูดไพเราะ, การบำเพ็ญประโยชน์, การวางต่ำสม่ำเสมอ.

ทรงแสดงความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่าง คือเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ๔ แก่พระมาลุงกยบุตร.

ทรงแสดงว่า ตระกูลอันถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์ จะตั้งอยู่ไม่ได้นานด้วยฐานะ ๔ คือไม่แสวงหาของที่หาย, ไม่ซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุด, ใช้จ่าย ( ดื่มกิน ) ไม่มีประมาณ, ตั้งหญิงหรือชายผู้ทุศีล ให้เป็นใหญ่. ส่วนที่จะตั้งอยู่ได้นาน คือตรงกันข้าม .

ทรงแสดงเรื่องม้าอาชานัย ๔ ประเภท เปรียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ ( เหมือนที่กล่าวมาแล้วในหมวดที่ ๓ว่า( ทรงแสดงม้าอาชาไนยที่ดี ๔ ประเภท คือ ๑. เห็นเงา ปฏักก็สำนึกตน ๒. ถูกปฏักแทงถึงขุมขนจึงสำนึกตน ๓. ถูกปฏักแทงถึงหลังจึงสำนึกตน ๔. ถูกปฏักแทงถึงกระดูกจึงสำนึกตน. เทียบด้วยบุรุษอาชาไนย ๔ ประเภท คือ ๑. เพียงได้ฟังข่าวว่าคนอื่นมีทุกข์หรือตาย ก็เกิดความสังเวช ตั้งความเพียร ทำให้แจ้ง สัจจธรรมอันยิ่ง ๒. ต้องเห็นเองจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๓. ต้องเป็นญาติสายโลหิตของตน มีทุกข์หรือตาย จึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความเพียร เป็นต้น ๔. ต้องตัวเองได้รับทุกขเวทนากล้าแข็งเจ็บปวดจึงเกิดความสังเวช แล้วตั้งความ เพียร เป็นต้น .) เป็นแต่เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เทียบด้วยปรารภความเพียร ).

ทรงแสดงกำลัง ๔ ได้แก่กำลังคือความเพียร, สติ ( ความระลึกได้ ), สมาธิ, ปัญญา.

ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ไม่ควรอยู่ป่า คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม, ในการปองร้าย, ในการเบียดเบียน, เป็นผู้มีปัญญาทราม. ถ้าตรงกันข้ามก็ควรอยู่ป่า .

ทรงแสดงคนพาลและบัณฑิตประกอบด้วยกรรมฝ่ายละ ๔ อย่าง คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ และความเห็นอันมีโทษหรือไม่มีโทษ.

๗. ทรงแสดงว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง

จะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำไปวางไว้คือ ๑. ประพฤติชั่ว ( กายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ มโนทุจจริต ๓ รวมเป็นอกุศลกรรมบท๑๐ ) ด้วยตนเอง, ๒. ชักชวนผู้อื่นเพื่อประพฤติชั่ว ๓. ยินดีในความชั่ว ๔. พรรณนาคุณของคนชั่ว. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

หมวดพระสูตรนอก ๕๐

      (หมวดนี้ มีข้อความสั้นที่สุด คือตรัสสอนให้เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง, สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ อย่าง, อิทธิบาท ( ธรรมอันให้ถึงความสำเร็จ ) ๔ อย่าง, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อกำหนดรู้, เพื่อความสิ้นไป, เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ อย่าง มีราคะ เป็นต้น ( แสดงอุปกิเลส ( ครื่องเศร้าหมองจิต ) ๑๖ ประการ คือ ๑. โลภ ๒. พยาบาท ๓. โกรธ ๔. ผูกโกรธ ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน ๖. ตีเสมอ ๗. ริษยา ๘. ตระหนี่ ๙. มายา ๑๐. โอ้อวด ๑๑. กระด้าง ๑๒. แข่งดี ๑๓ ถือตัว ๑๔. ดูหมิ่น ๑๕. มัวเมา ๑๖. ประมาท . ภิกษุผู้รู้ความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ อย่างเหล่านี้ ( แต่ละอย่าง ) เสียได้. เมื่อละได้แล้ว ก็มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะละกิเลส ที่พึงละด้วยมรรคเบื้องต่ำได้ ( โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค ) จึงได้ความรู้อรรถ รู้ธรรมว่า ตนมีความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. ได้ความปราโมทย์อัยประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น. ภิกษุมีศีล มีธรรม มีปัญญาอย่างนี้ ฉันบิณฑบาตข้าวสาลีมีแกงและกับมากมาย ก็ไม่มีอันตราย เป็นผู้เปรียบเหมือนผ้า อันบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์ .)แต่ในที่นั้นใช้คำว่า โลภะ แทนราคะ.

จบเล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต


    '๑' . ๗.กุกกุโรวาทสูตร สูตรว่าด้วยโอวาทแก่ผู้ทำตัวดั่งสุนัข
๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะชื่อหลิททวสนะ ในแคว้นโกลิยะ. ปุณณะบุตรแห่งโกลิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งโค ( อรรถกถาเล่าว่า เอาเขาโคมาติดศีรษะ เอาหางมาผูก เที่ยวกินหญ้าไปกับโคทั้งหลาย ส่วนที่ว่า ประพฤติวัตรดั่งสุนัข คือทำอาการกริยาทั้ง ปวงให้เหมือนสุนัข ) กับชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวปราศรัยเสร็จ ปุณณะ โกลิยบุตรก็ทูลถามถึงชีเปลือยชื่อเสนิยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งสุนัข ว่าจะมีคติเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคทรงห้ามว่า อย่าถาม เลย แต่ก็ถามย้ำถึง ๓ ครั้ง จึงตรัสตอบว่า ถ้าประพฤติเคยชินอย่างสุนัข ตายไปก็จะเกิดเป็นสุนัข แต่ถ้าประพฤติด้วยความคิดว่า จะเป็นเทวดาด้วยศีล ด้วยวัตรอย่างนี้ก็นับว่ามีความเห็นผิด ซึ่งจะมีคติ ๒ อย่าง คือนรก หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. พระดำรัส ตอบนี้ ทำให้ชีเปลือยชื่อเสนิยะร้องให้.

๒. ชีเปลือยชื่อเสนิยะ จึงทูลถามถึงปุณณะโกลิบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโคบ้างว่า จะมีคติ เป็นอย่างไร ก็ตรัสตอบทำนองเดียวกับเรื่องสุนัข ซึ่งทำให้ปุณณะโกลิยบุตรร้องให้เช่นเดียวกัน. ๓. ปุณณะโกลิยบุตรจึงทูลขอให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อตนและเสนิยะ จะได้ละการประพฤติวัตรดั่งนั้นเสีย จึงตรัสแสดงธรรม ๔ อย่าง คือ ๑. กรรมดำ มีวิบากดำ คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันประกอบด้วยการเบียดเบียน จึงเข้าถึง ( เกิดใน โลกที่มีการเบียด เบียน, ได้รับสัมผัสที่มีการเบียดเบียน, ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นสัตว์ที่เกิดในนรก ๒. กรรมขาว มีวิบากขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจอันไม่มีการเบียดเบียน ได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่ไม่มีการเบียดเบียน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นเทพชั้นสุภภิณหะ ( พรหมมีรูปชั้นที่ ๙ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น )

๓. กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว คือบางคนปรุงแต่งความคิดหรือเจตนาทางกายวาจาใจที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการ เบียดเบียนบ้าง จึงเข้าถึง ( เกิดใหม่ ) ในโลกที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง ได้รับสัมผัสอันมีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มี การเบียดเบียนบ้าง ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียนบ้าง ไม่มีการเบียดเบียนบ้าง อันมีทั้งสุขทั้งทุกข์คละกันไป ดังเช่นมนุษย์บางเหล่า เทพบางเหล่า วินิปาติกะ ( อรรกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฏกตอนนี้ ขยายความว่า ความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวของ มนุษย์ย่อมปรากฏ ส่วนของเทวดา ได้แก่ภุมมเทวดา คือเทพที่อยู่บนพื้นดิน และของพวกวินิปาติกะ ได้แก่พวกเวมานิกเปรตที่อยู่ วิมาน มีความสุขและความทุกข์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ย่อมเป็นไปในสัตว์ดิรัจฉาน มีช้าง เป็นต้นด้วย ) บางเหล่า

๔. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือเจตนาเพื่อละกรรมดำซึ่งมีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาวซึ่งมีวิบากขาว เจตนา (อรรถกถาอธิบายว่า มัคคเจตนา เจตนาที่เป็นไปในมรรค ( คำว่า มรรค หมายถึงปัญญาอันตัดกิเลสได้เด็ดขาด ตั้งแต่บางส่วนจนถึง หมดสิ้น ข้อไหนละได้แล้วไม่ต้องละใหม่อีก เป็นอันละได้เด็ดขาดไปเลย ) เพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว ซึ่งมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ( เป็น เจตนาที่ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ปรารถนาจะทำกรรมใด ๆ อีกต่อไป ).

๔. เมื่อจบพระธรรมเทศนา ปุณณะโกลิยบุตรกราบ ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนชีเปลือยชื่อเสนิยะกราบทูลสรรเสริญ พระธรรมเทศนาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะและขอบวช เมื่อทราบว่าผู้เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัยจะต้อง อบรมก่อน ๔ เดือน ก็มีศรัทธาจะขออบรมถึง ๔ ปี. เมื่อบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ