บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๑๘
๑. วิมานวัตถุ
๒. เปตวัตถุ
๓. เถรคาถา
๔. เถรีคาถา

 

เล่มที่ ๒๖ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๘)
วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา.


      พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ นี้ มีเรื่องใหญ่ แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑. วิมานวัตถุ เรื่องวิมานแสดงว่า ใครทำความดีอย่างไร ทำให้ได้วิมานอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตร เทพธิดา ถึงอดีตกรรมที่ส่งผลให้ได้ เกิดในวิมานนั้น ๆ มีคำตอบของผู้ถูกถามเป็นราย ๆ ไป รวม ๘๕ ราย. ๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต คือผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้รับทุกข์ ทรมานในสภาพของเปรต มีลักษณะต่าง ๆกัน ๕๑ เรื่อง ๓. เณรคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถระต่าง ๆ รวม ๒๖๔ รูป. ๔. เถรีคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถรี ( นางภิกษุณีผู้เป็นเถรี ) รวม ๗๓ รูป.

๑. วิมานวัตถุ เรื่องการได้วิมาน

    เรื่องถามตอบระหว่างพระมหาโมคคัลลานเถระ กับเทพบุตร เทพธิดา ผู้ได้วิมานต่าง ๆ กันนั้น แม้จะปรากฏว่ามี มากราย แต่ก็พอจะสรูปได้ว่า เป็นคำตอบแสดงผลดีของการทำความดี เช่น การทำอัญชลีกรรมต่อท่านผู้มีศีลบ้าง, การถวายทานบ้าง, การ รักษาศีลบ้าง, การให้น้ำดื่มบ้าง, การจุดไฟเพื่อประโยชน์แก่คนไปมาในที่มืดบ้าง, การฟังธรรมบ้าง, การรักษาอุโบสถบ้าง, การตั้งอยู่ใน คุณธรรม เช่น ไม่โกรธบ้าง.

    มีข้อสังเกตก็คือ มิใช่แต่พระมหาโมคคัลลานะถามอย่างเดียว บางครั้งเทพบุตรนั้นก็มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูล เล่าความในอดีตก็มี.

๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต

    ในเรื่องเปตวัตถุ หรือเรื่องของเปรตนี้ บางตอนก็เป็นคำสอนปรารภผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยให้คติว่าควรทำบุญอุทิศไป ให้เปรตเหล่านั้น ( คำว่า เปรต แปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วทั่ว ๆ ไป กับอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงผู้เกิดในสภาพที่ได้รับความทุกข์ทรมานที่เรียก กันว่าเปรต ), บางครั้งพระเถระบางรูปไปพบเปรตอยู่ในลักษณะงดงามดีทุกอย่าง แต่ปากที่หนอนไต่ มีกลิ่นเหม็น เมื่อไต่ถามเปรตนั้นก็เล่าว่า ตนเคยเป็นสมณะพูดชั่วไม่สำรวมปาก แต่มีความเพียรดี จึงมีผลเป็นอย่างนี้, เปรตบางตนกินอุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง ( กินอะไรเข้าไป พอถึงปากก็กลายเป็นของโสโครกเหล่านั้น ) เป็นผลของการที่ด่าสมณพราหมณ์ เมื่อสามีเคยให้ทาน แต่ตนไม่เห็นด้วย คำด่านั้นว่า เจ้าจงกิน ของไม่สะอาด คืออุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง เป็นต้น.

๓. เถรคาถา ภาษิตของพระเถระ

    ได้กล่าวแล้วว่า เถรคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถระต่าง ๆ ถึง ๒๖๔ รูป ในที่นี้จักนำมากล่าวเป็น ตัวอย่าง ๑๐ รูป คือ :-

๑. ภาษิตของพระสุภูติเถระ

    " เรามุงกระท่อมแล้ว ไม่มีลมพัดผ่านเป็นสุข ( มีความหมายว่า ป้องกันจิตใจมิให้กิเลสรั่วรดได้ ), ฝนจงตกตามสบาย เถิด. จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้ว เราอยู่อย่างมีความเพียร. ฝนจงตกเถิด. "

๒. ภาษิตของมหาโกฏฐิตเถระ

    " ผู้สงบระงับ, ยินดี ( ในธรรม ), พูดเป็นคติ, ไม่ฟุ้งสร้าน ย่อมกำจัดบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมพัด ทำให้ใบไม้ร่วง ฉะนั้น. "

๓. ภาษิตของพระอชิตเถระ

    " เราไม่ความกลัวในความตาย, ไม่มีความใคร่ในชีวิต, เราจักมีสติสัมปชัญญะ ทอดทิ้งกายของตนไป ( ตายอย่างมี ความรู้เท่าและมีสติ. "

๔. ภาษิตของพระโสปากเถระ

    " บุคคลพึงเป็นผู้ฉลาดในบุตรซึ่งเป็นที่รักคนเดียวฉันใด ก็พึงเป็นผู้ฉลาดในสัตว์มีชีวิตทั้งปวงฉันนั้นเถิด. ( พึงมีความรู้สึกในผู้อื่นเหมือนบุตรที่รักคนเดียวของตน จะได้ไม่คิดเบียดเบียน และจะได้เห็นอกเห็นใจ ). "

๕. ภาษิตของพระปุณณเถระ

    " ศีลเป็นสิ่งเลิศในโลกนี้, แต่ผู้มีปัญญา นับเป็นผู้สูงสุด, บุคคลย่อมชนะทั้งในมนุษย์และในเทพทั้งหลาย เพราะศีล และปัญญา. "

๖. ภาษิตของพระนีตเถระ

    " หลับตลอดคืน, ยินดีในความคลุกคลีด้วยหมู่ตลอดวัน, ผู้มีปัญญาทรามจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เมื่อไหร่กัน. "

๗. ภาษิตของพระอุตตรเถระ

    " ภพ ( ความมีความเป็น ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี, แม้สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงก็ ไม่มี, ขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้นและเคลื่อน ( แปรปรวน ) ในกาลต่อ ๆ ไป ; เรารู้โทษนี้แล้ว จึงไม่ต้องการภพ แล่นออกจากกามทั้งหลาย บรรลุ ความสิ้นไปแห่งอาสวะ. "

๘. ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ

    " เราละนีวรณ์ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ๕ ประการแล้ว เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่ง จากกิเลสเครื่อง ผูกมัด จึงจับแว่นธรรมคือญาณทัสสนะของตนส่องดูกายนี้หมดทั้งภายนอกภายใน. กายก็ปรากฏว่างเปล่าทั้งภายในภายนอก. "

๙. ภาษิตของพระหาริตเถระ

    " ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมถูกกำจัดจากฐานะอันเป็นสุข และย่อมเดือดร้อนในภาย หลัง. พึงพูดสิ่งที่ทำได้ ไม่พึงพูดสิ่งที่ทำไม่ได้. บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด. พระนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ไม่มี ความเศร้าโศก ไม่มีธุลี ปลอดโปร่ง ไม่มีความทุกข์ เป็นสุขดีหนอ. "

๑๐. ภาษิตของพระนทีกัสสปเถระ

    " พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่แม่น้ำเนรัญชราเพื่อประโยชน์แก่เรา, เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเปลื้องความเห็นผิด ได้. เราได้บูชายัญทั้งสูงทั้งต่ำและบูชาไฟ เป็บนบุถุชนผู้เหมือนมืดบอด สำคัญว่านั่นเป็นความบริสุทธิ์. เราวิ่งไปตามความยึดถือทิฏฐิ หลงไป เพราะความยึดถือ สำคัญความไม่บริสุทธิ์ว่าเป็นความบริสุทธิ์ จึงเป็นคนบอดคนเขลา. เราละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว ทำลายภพทั้งปวงได้แล้ว. เรา บูชาไฟที่ควรแก่ทักษิณา ( บูชาบุคคลผู้มีคุณธรรม ) นมัสการพระตถาคต. เราละความหลงทั้งปวงแล้วทำลายภวตัณหา ( ความทะยานอยากใน ภพ ) ได้แล้ว สิ้นความเวียนเกิดแล้ว ไม่มีการเกิดอีก. "

๔. เถรีคาถา ภาษิตของพระเถรี

    ได้กล่าวแล้วว่า เถรีคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถรี คือนางภิกษุณีต่าง ๆ จำนวน ๗๓ รูป ในที่นี้ จักนำมากล่าวเป็นตัวอย่าง ๑๐ รูปเช่นกัน :-

๑. ภาษิตของพระนางปุณณาเถรี

    " ดูก่อนปุณณา  ! เธอจงเต็มไปด้วยธรรมทั้งหลาย เหมือนดวงจันทร์วัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ จงทำลายกองแห่งความมืดด้วยปัญญาอันบริบูรณ์. "

๒. ภาษิตของพระนางติสสาเถรี

    " ดูก่อนติสสา ! เธอจงศึกษาตามข้อที่ควรศึกษา กิเลสเครื่องผูกมัดอย่าก้าวล่วง ( เอาชนะ ) เธอได้ เธอจงเปลื้องตน จากเครื่องผูกมัดทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) เที่ยวไปในโลก. "

๓. ภาษิตของพระนางมิตตาเถรี

    " เธอบวชด้วยศรัทธาแล้ว พึงยินดีในมิตรว่าเป็นมิตร จงเจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากเครื่อง ผูกมัด. "

๔. ภาษิตของพระนางอุปสมาเถรี

    " ดูก่อนอุปสมา ! เธอจงข้ามโอฆะอันเป็นที่ตั้งแห่งมาร อันข้ามได้โดยยาก จงชนะมารพร้อมทั้งเสนา ทรงไว้ซึ่ง ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย ( อย่าเกิดอีก ). "

๕. ภาษิตของพระนางสุมนาเถรี

    " เห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ ก็อย่าให้ความเกิดมาหาอีก คลายความพอใจในภพแล้ว เธอก็จักสงบระงับ เที่ยวไป. "

๖. ภาษิตของพระอุตตราเถรี

    " เราสำรวมกาย วาจา ใจ แล้วถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้ จึงเป็นผู้ดับเย็นแล้ว. "

๗. ภาษิตของพระนางธัมมาเถรี

    " เราเที่ยวบิณฑบาต ถือไม้เท้า มีกำลังน้อย มีตัวสั่นเทา ล้มลงบนดินในที่นั้น เห็นโทษในกายแล้ว จิตของเราก็ หลุกพ้น. "

๘. ภาษิตของพระนางสังฆาเถรี

    " เราละเรือนบวชแล้ว ละบุตร และสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ละราคะ โทสะ หน่ายอวิชชาแล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้ง รากเสียได้ จึงเป็นผู้สงบระงับดับเย็น. "

๙. ภาษิตของพระนางอภยมาตาเถรี

    " แน่ะแม่ ! เธอจงพิจารณาดูกายนี้ อันไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่กระหม่อมผมลง ไป. เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ก็จะถอนความกำหนัดยินดีทั้งปวง ถอนความเร่าร้อนได้ ก็จะเป็นผู้ดับเย็น. "

๑๐. ภาษิตของพระนางนันทิกาเถรี

    " เราออกจากที่พักกลางวันบนเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นช้างข้ามขึ้นจากน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำ ชาย ( คนหนึ่ง ) ถือขอ พูดว่า ส่งเท้ามา ช้างก็เหยียดเท้าให้ เขาก็ขึ้นสู่ช้าง ครั้นเห็นสัตว์ที่ยังมิได้ฝึก ถูกฝึกแล้ว ไปสู่อำนาจมนุษย์ได้ จากที่นั้นเราจึงไปสู่ป่าทำจิตให้ตั้งมั่น ( ฝึกตนเองดูบ้าง ). "

     หมายเหตุ : ในเถรีคาถานี้ ภาษิตบางตอนเป็นพระพุทธภาษิตตรัสสอนก็มี เช่น ที่ตรัสสอนพระนางรูปนันทา.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ ขุททกนิบาท

วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา.


    '๑' . เป็นภาษิตสอนใจตนเอง จึงเรียกชื่อตัวเอง. มีหลายรายที่เป็นคำสอนปรารภชื่อแล้วให้มีคุณธรรมสมตามชื่อ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ