บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๒๐

ชาดก ภาคที่ ๒
๑. เตมิยชาดก
๒. มหาชนกชาดก
๓. สุวัณณสามชาดก
๔. เนมิราชชาดก
๕. มโหสธชาดก
๖. ภูริทัตตชาดก
๗. จันทกุมารชาดก
๘. นารทชาดก
๙. วิธุรชาดก
๑๐. เวสสันดรชาดก

 

เล่มที่ ๒๘ ชื่อขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๒
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๐)

      ในเล่มที่ในเล่มที่แล้วมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกันถึง ๕๒๕ เรื่อง แต่ในเล่มนี้มีเพียง ๒๒ เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาว ๆ ทั้งนั้น ๑๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ เรื่องละ ๕๐ บท ๓ เรื่อง, ๖๐ บท ๒ เรื่อง, ๗๐ บท ๒ เรื่อง, ๘๐ บท ๕ เรื่อง. ส่วน ๑๐ เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาติ คือเรื่อง ๑๐ ชาติ ซึ่งในที่นี้จะออกนาม พร้อมทั้งกล่าวใจความย่อทั้งสิบเรื่อง ดังต่อไปนี้ :-

๑. เตมิยชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี คือการออกบวชหรือออกจากกาม เล่าเรื่องเตมิยราชกุมารเกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่เห็นราชบุรุษลงโทษโจรตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันบางครั้งเอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ ก็อดกลั้นไว้ ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ ทั้งนี้เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ พระราชาปรึกษาพวกพราหมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำให้นำราชกุมารไปฝังเสีย. พระราชมารดาทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมารครองราชย์สัก ๗ วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ ๗ วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถไปเพื่อจะฝังตามรับสั่งของพระราชา ขณะที่ขุดหลุมอยู่พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถ ตรัสปราศรัยกับนายสารถี แจ้งความจริงใจให้ทราบว่า มีพระประสงค์จะออกบวช สารถีเลื่อมใสในคำสอนขอออกบวชด้วย จึงตรัสสั่งให้นำรถกลับไปคืนก่อน สารถีนำความไปเล่าถวายพระราชมารดา พระราชบิดาให้ทรงทราบ. ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารจึงเสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับมาถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม. พระชนกชนนีพร้อมด้วยบริวารทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตาม. และได้มีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมากสดับพระโอวาทขอออกผนวชตาม.

๒. มหาชนกชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือความพากเพียร ใจความสำคัญ คือพระมหาชนกราชกุมารเดินทางไปกลางทะเล เรือแตก คนทั้งหลายจมน้ำตายบ้าง เป็นเหยื่อของสัตว์น้ำบ้าง แต่ไม่ทรงละความอุสาหะ ทรงว่ายน้ำโดยกำหนดทิศทางแห่งกรุงมิถิลา ในที่สุดก็ได้รอดชีวิตกลับไปถึงกรุงมิถิลาได้ครองราชสมบัติ. ชาดกเรื่องนี้เป็นที่มาแห่งภาษิตที่ว่า เป็นชายควรเพียรร่ำไปอย่าเบื่อหน่าย ( ความเพียร ) เสีย, เราเห็นตัวเองเป็นได้อย่างที่ปรารถนา, ขึ้นจากน้ำมาสู่บกได้.

๓. สุวัณณสามชาดก

     ชาดกเเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี คือการแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดาของตนซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้มีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น หมู่เนื้อก็เดินตามแวดล้อมไปในที่ต่าง ๆ วันหนึ่งถูกพระเจ้ากรุงพาราณสีชื่อปิลยักษ์ยิงเอาด้วยธนู ด้วยเข้าพระทัยผิด ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นมาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปจูงมารดาบิดาของสุวรรณสามมา. มารดาบิดาของสุวรรณสามก็ตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสามขอให้พิษของศรหมดไป สุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติ และได้สอนพระราชา แสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์ ต่อจากนั้นเมื่อพระราชาขอให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง.

๔. เนมิราชชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นคง. มีเรื่องเล่าว่า เนมิราชกุมาร ได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระราชบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดีเป็นที่รักของมหาชน และในที่สุด เมื่อทรงพระชราก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์เคยทรงบำเพ็ญมา.

๕. มโหสธชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้. มีเรื่องเล่าว่า มโหสธบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่น ๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้.

๖. ภูริทัตตชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือการรักษาศีล. มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตตนาคราชไปจำศีลอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำยมุนา. ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ มีใจมั่นต่อศีลของตน ในที่สุดก็ได้อิสรภาพ.

๗. จันทกุมารชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน. มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตาจารย์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร. เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงพระราชสุบิน เห็นดาวดึงสเทวโลก เมื่อตื่นบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ จึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะให้ตัดพระเศียรพระโอรสธิดา เป็นต้นบูชายัญ. พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส ๔ พระองค์ พระราชธิดา ๔ พระองค์ ไปที่พระลานหลวง เพื่อเตรียมประหารบูชายัญ นอกจากนั้นยังสั่งจับพระมเหสี ๔ พระองค์ และคนอื่น ๆอีก เพื่อเตรียมประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่ได้ผล. ร้อนถึงท้าวสักกะ ( พระอินทร์ ) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์. มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์.

๘. นารทชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือการวางเฉย. มีเรื่องเล่าว่า พรหมนารทะช่วยเปลื้องพระเจ้า อังคติราชให้กลับจากความเห็นผิด มามีความเห็นชอบตามเดิม ( ความเห็นผิดนั้น เป็นไปในทางว่าสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตาย เกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิ ).

๙. วิธุรชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญสัจจบารมี คือความสัตย์. มีเรื่องเล่าถึงวิธุรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่งปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้องการ เว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิธุรบัณฑิต พระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิธุรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่าง ๆ แต่ก็ตกลงกันไปไต่ถามให้วิธุรบัณฑิตตัดสิน วิธุรบัณฑิตก็ตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ความจริงยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิธุรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมา. แม้ยักษ์จะหาวิธีทำให้ตายก็ไม่ตาย วิธุรบัณฑิตกลับแสดงสาธุนธรรม ( ธรรมของคนดี ) ให้ยักษ์เลื่อมใสและได้แสดงธรรมแก่พญานาค ในที่สุดก็ได้กลับมาสู่กรุงอินทปัตถ์ มีการฉลองรับขวัญกันเป็นการใหญ่..

๑๐. เวสสันดรชาดก

     ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี คือการบริจาคทาน. มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดี บริจาค ทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไป เพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกไปขอสองกุมารก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัย พระราชบิดาทรงไถ่สองกุมารแล้วเสด็จไปรับกลับกรุง. ( เรื่องนี้แสดงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล).

จบเล่มที่ ๒๘ ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๒


    '๑' . ฉบับพม่าเป็นอุมังคชาดก. อรรถกถาเขียนว่า " มโหสถ " ตลอด

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ