บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยสังฆกรรม

๒.ว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส

๓.ว่าด้วยการรวบรวม

๔.ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์

 

ขยายความ

๑. กัมมขันธกะ (หมวดว่าด้วยสังฆกรรม)

              ภิกษุ ๒ รูป ชื่อปัณฑุกะ กับ โลหิตกะ ชอบก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ สนับสนุนภิกษุผู้ชอบก่อทะเลาะวิวาท มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ จึงทรงโปรดให้สงฆ์ลงดัชชนียกรรม (การข่มขู่) แก่เธอทั้งสองโดยให้โจทอาบัติ ให้ระลึกว่าได้ทำผิดจริงหรือไม่ แล้วให้ยกอาบัติขึ้นเป็นเหตุ สวดประกาศขอมติสงฆ์ลงดัชชนียกรรมแก่เธอ. (สวดเสนอญัตติ ๑ ครั้ง สวดประกาศย้ำขอมติ ๓ ครั้ง).

              ครั้นแล้วทรงแสดงลักษณะการทำดัชชียกรรม ว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม. การทำที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ทำต่อหน้า, ไม่ซักถาม (คือลงโทษโดยไม่ฟังคำให้การ), ไม่ฟังปฏิญญา (คือการับผิดของจำเลย) ส่วนที่เป็นธรรม คือทำในที่ต่อหน้า มีการซักถาม มีการฟังปฏิญญาของจำเลย เป็นต้น.

ลักษณะของผู้ที่ควรลงตัชชนียกรรม

              ภิกษุที่สงฆ์ปรารถนาจะลงตัชชนียกรรม (ข่มขู่) ก็ลงได้ คือ ๑. เป็นผู้ชอบก่อการทะเลาะวิวาทก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๒. เป็นผู้มากด้วยอาบัติ มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ๓. เป็นผู้คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

              หรือเป็นผู้ ๑. มีศีลวิบัติ คือเสียหายทางศีล ๒. มีอาจารวิบัติ คือเสียหายทางความประพฤติ หรือมารยาท ๓. มีความเห็นวิบัติ

              หรือเป็นผู้ ๑. ติเตียนพระพุทธ ๒. ติเตียนพระธรรม ๓. ติเตียนพระสงฆ์

              หรือภิกษุ ๓ รูป แต่ละรูปทำการที่ผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้น (การลงโทษไม่นิยมให้ทำแก่ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป เพราะจะกลายเป็นสงฆ์ลงโทษสงฆ์ ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้น จะต้องหาทางออกให้สงฆ์ลงโทษแก่บุคคลไม่เกิน ๓ รูป).

การถูกลงโทษเป็นเหตุให้เสียสิทธิต่าง ๆ

              ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม จะต้องประพฤติวัตต์หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถูกตัดสิทธิต่าง ๆ รวม ๑๘ อย่าง คือ ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท (ห้ามเป็นอุปัชฌายะ) ๒. ไม่พึงให้นิสสัย (ห้ามรับบุคคลไว้ในปกครอง) ๓. ไม่พึงมีสามเณรไว้รับใช้ ๔. ไม่พึงรับแต่งตั้งให้สั่งสอนนางภิกษุณี ๕. ได้รับแต่งตั้งแล้วก็ไม่พึงสั่งสอนนางภิกษุณี ๖. ถูกสงฆ์ลงโทษด้วยอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้นซ้ำอีก ๗. ไม่พึงต้องอาบัติประเภทเดียวกันนั้น ๘. ไม่พึงต้องอาบัติที่เลวกว่านั้น ๙. ไม่พึงตำหนิกรรมนั้น ๑๐. ไม่พึงตำหนิสงฆ์ผู้ทำกรรมนั้น ๑๑. ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ภิกษุปกติ ๑๒. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ภิกษุปกติ ๑๓. ไม่พึงไต่สวนภิกษุอื่น ๑๔. ไม่พึงเริ่มตั้งอนุวาทาธิกรณ์ (การโจทอาบัติ). ๑๕. ไม่พึงขอให้ภิกษุอื่นทำโอกาส (เพื่อจะโจทอาบัติ) ๑๖. ไม่พึงโจทอาบัติภิกษุอื่น ๑๗. ไม่พึงทำภิกษุอื่นให้ระลึก (ว่าทำความผิดข้อนั้นข้อนี้หรือไม่) ๑๘. ไม่พึงช่วยภิกษุทั้งหลายให้สู้กันในอธิกรณ์.

การไม่ระงับและระงับโทษ

              ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงดัชชนียกรรม เสียสิทธิต่าง ๆ แล้วฝืนทำในข้อที่ถูกตัดสิทธินั้น ไม่ควรระงับการลงโทษ ต่อเมื่อปฏิบัติตามในการยอมเสียสิทธิต่าง ๆ จึงควรสวดประกาศระงับโทษ.

พระเสยยสกะกับนิยสกรรม (การถอดยศ)

              ภิกษุชื่อเสยยสกะ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ มีมารยาทไม่เรียบร้อย คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร. ภิกษุปกติทั้งหลายก็ยังให้ปริวาส เป็นต้น คือช่วยทำพิธีออกจากบัติสังฆาทิเสสให้เธอ. มีผู้ติเตียนพระผู้มีพระภาคจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงโปรดให้สงฆ์ลงนิยสกรรม (คือการถอดยศหรือตัดสิทธิ) แก่เธอโดยวิธีเดียวกับที่ลงดัชชนียกรรม.

              นอกจากนั้น ทรงแสดงลักษณะการทำนิยสกรรมว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเหมือนตัชชนียกรรม.

              แล้วทรงแสดงลักษณะของภิกษุผู้ควรลงนิยสกรรม เหมือนกับลักษณะของผู้ถูกลงตัชชนียกรรมทุกประการ.

              การเสียสิทธิ การระงับการลงโทษ การไม่ระงับการลงโทษ ก็เป็นแบบเดียวกับดัชชนียกรรม (แต่พึงสังเกตว่า ตัชชนียกรรมเน้นในเรื่องก่อวิวาท แต่นิยสกรรมเน้นในเรื่องต้องอาบัติมาก มีมารยาทไม่ดี และคลุกคลีกับคฤหัสถ์).

การลงโทษขับไล่ (ปัพพาชนียกรรม)

              ภิกษุที่เป็นพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะซึ่งอยู่ ณ ชนบท ชื่อกิฏาคิรี เป็นพระอลัชชีประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร เช่น ปลูกต้นไม้เอง ใช้ให้ปลูกต้นไม้ให้คฤหัสถ์ ร้อยดอกไม้ให้คฤหัสถ์ บริโภคอาหาร ในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมา ทัดทรงดอกไม้ ฟ้อนรำขับร้อง และเล่นซนอื่น ๆ

              พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงส่งพระสาริบุตร พระโมคคัลลานะให้ไปจัดการลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงแนะวิธีทำ วิธีสวดประกาศ มิให้ภิกษุพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ อยู่ในชนบทชื่อกิฏาคิรีต่อไป.

              ทรงแสดงลักษณะการทำปัพพาชนียกรรมว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเหมือนตัชชนียกรรมซึ่งกล่าวมาแล้ว.

              แล้วทรงแสดงลักษณะของภิกษุผู้ควรลงปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) หลายประการ มีทั้งความไม่ดี ไม่งาม แบบที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม และนิยสกรรม มีทั้งความไม่ดีไม่งาม อันเนื่องด้วยความประพฤติ ไม่สมควรทางกายวาจา และการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เป็นต้น.

              การเสียสิทธิของภิกษุผู้ถูกลงปัพพาชนียกรรม คงมี ๑๘ อย่างเช่นเดียวกับตัชชนียกรรม (แต่ที่พิเศษออกไปก็คือ การถูกขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่อยู่ของตน).

              แล้วทรงแสดงลักษณะที่ไม่ควรระงับการลงโทษ และควรระงับการลงโทษเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว.

การลงโทษให้ขอขมาคฤหัสถ์ (ปฏิสารณียกรรม)

              พระสุธัมมะอาศัยอยู่ในวัดของจิตตะคฤหบดี ณ ราวป่าชื่อมัจฉิกา โกรธว่า คฤหบดีนิมนต์พระเถระรูปอื่นไปฉัน โดยไม่บอกเล่า หรือปรึกษาหารือตนก่อน จึงแกล้งพูดให้กระทบถึงการสืบสกุลของคฤหบดี ผู้นั้นในที่ซึ่งพระเถระอื่นอยู่ด้วยว่า ของเคี้ยวของฉันของท่านสมบูรณ์หมด ไม่มีอยู่ก็แต่ขนมคลุกงา (ติลสังคุลิกา) และได้แสดงอาหารอย่างอื่นในทางที่ไม่สมควร.

              พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงแนะให้สงฆ์สวดประกาศลงปฏิสารณียกรรม คือให้ไปขอโทษคฤหัสถ์ที่ตนรุกรานล่วงเกิน.

              แล้วทรงแสดงลักษณะของการทำปฏิสารณียกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม ในทำนองเดียวกับตัชชนียกรรมที่กล่าวมาแล้ว.

              ส่วนลักษณะของภิกษุผู้ควรลงโทษแบบนี้ ท่านแสดงไว้ ๔ หมวด หมวดละ ๕ ข้อ คือ

๑.

              ๑. ขวนขวายเพื่อเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์
              ๒. ขวนขวายเพื่อความเสียหาย (อนัตถะ) แก่คฤหัสถ์
              ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แก่คฤหัสถ์
              ๔. ด่าหรือบริภาษคฤหัสถ์ (บริภาษคือด่าโดยอ้อม)
              ๕. ทำคฤหัสถ์ให้แตกกับคฤหัสถ์.

๒.

              ๑. ติเตียนพระพุทธเจ้าให้คฤหัสถ์ฟัง
              ๒. ติเตียนพระธรรมให้คฤหัสถ์ฟัง
              ๓. ติเตียนพระสงฆ์ให้คฤหัสถ์ฟัง
              ๔. ด่าหรือพูดข่มคฤหัสถ์ด้วยถ้อยคำอันเลว
              ๕. รับปากอันเป็นธรรมแก่คฤหัสถ์ไว้แล้ว ทำให้คลาดเคลื่อน คือไม่ทำตามนั้น.

๓.

              ภิกษุ ๕ รูป แต่ละรูปทำความไม่ดีดั่งที่กล่าวไว้ในหมวด ๑ รูปละอย่าง.

๔.

              ภิกษุ ๕ รูป แต่ละรูปทำความไม่ดีดั่งที่กล่าวไว้ในหมวด ๒ รูปละอย่าง.
              ทั้งสี่หมวด หมวดละ ๕ ข้อนี้ เพียงหมวดใดหมวดหนึ่งที่ภิกษุได้กระทำลงไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะลงโทษ ให้ขอขมาคฤหัสถ์ (ปฏิสารณียกรรม) ก็ทำได้.
              ต่อจากนั้นทรงแสดงการเสียสิทธิ หรือการประพฤติวัตร ๑๘ อย่างเหมือนที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม.
              แล้วทรงแสดงวิธีที่จะปฏิบัติในการขอขมาคฤหัสถ์ ซึ่งจะต้องมีการสวดประกาศสงฆ์ ส่งภิกษุเป็นพูตไปด้วยรูปหนึ่งร่วมกับภิกษุที่ถูกลงโทษ เพื่อช่วยเจรจาให้เขายกโทษให้ เมื่อทำได้ดังนี้ สงฆ์จึงสวดประกาศเพิกถอนการลงโทษนั้น.
              ต่อจากนั้น จึงทรงแสดงลักษณะของภิกษุที่ไม่ควรและควรเพิกถอนการลงโทษแบนี้ ฝ่ายละ ๑๘ ข้อ เช่นเดียวกับตัชชนียกรรม.

พระฉันนะกับการยกเสียจากหมู่ (อุกเขปนียกรรม)

              พระฉันนะต้องอาบัติแล้ว ไม่เห็นอาบัติ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงแนะให้สงฆ์ลงโทษยกเสียจากหมู่ คือไม่คบค้าด้วย ทรงแสดงลักษณะการลงโทษที่ไม่ถูกธรรมและถูกธรรม เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในเรื่องตัชชนียกรรม แต่มีการเน้นว่า การลงโทษยกเสียจากหมู่นี้ เพราะภิกษุไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่เลิกละความเห็นที่ชั่ว. และยังมีความไม่ดีข้ออื่นอีกที่ซ้ำกับตัชชนียกรรม.
              แล้วทรงแสดงการเสียสิทธิ เป็นต้น เหมือนกับที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม. (อนึ่ง พึงสังเกตุว่า คำว่า การเสียสิทธินั้น เป็นการพูดให้เข้าใจง่าย ในภาษาบาลีใช้คำว่า วัตร หรือข้อปฏิบัติ ๑๘ ข้อ).


๑. พระอัสสชิรูปนี้ มิใช่รูปเดียวกับทีเป็นอาจารย์พระสาริบุตร
๒. ต้นสกุลของคฤหบดีผู้นี้ มีอาชีพทำขนมคลุกงาขาย. อนึ่ง คฤหบดีผู้นี้เป็นพระอนาคามี

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ