บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยสังฆกรรม

๒.ว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส

๓.ว่าด้วยการรวบรวม

๔.ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์

 

เล่มที่ ๖ ชื่อจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) เป็นวินัยปิฎก

              ได้กล่าวแล้วว่า มหาวัคค์ (วรรคใหญ่) ซึ่งเป็นวินัยปิฎกนั้น ได้แก่พระไตรปิฎก เล่ม ๔ และ เล่ม ๕ ซึ่งได้ย่อความมาแล้ว. ในเล่ม ๔ มี ๔ ข้นธกะ หรือ ๔ หมวด ในเล่ม ๕ มี ๖ ขันธกะ หรือ ๖ หมวด รวมมหาวัคค์มี ๑๐ ขันธกะ. บัดนี้มาถึงย่อความแห่งจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) จึงควรทราบว่า จุลลวัคค์ ได้แก่พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ และเล่มที่ ๗ ซึ่งยังเป็นวินัยปิฎก. เล่มที่ ๖ มี ๔ ขันธกะ เล่มที่ ๗ มี ๘ ขันธกะ ทั้งสองเล่มจึงมี ๑๒ ขันธกะ (รวมทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์มี ๒๒ ขันธกะ หรือ ๒๒ หมวด).

              เฉพาะเล่มที่ ๖ นี้ ที่ว่ามี ๔ ขันธกะ นั้น ดังนี้

              ๑. กัมมขันธกะ (หมวดว่าด้วยสังฆกรรม) ในหมวดนี้ได้นำเรื่องวิธีลงโทษ ซึ่งเคยกล่าวไว้แล้วในเล่ม ๕ มาขยายความเป็นข้อ ๆ คือ ดัชชนียกรรม (ข่มขู่) นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ) ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) ปฏิสารณียกรรม (ขอขมาคฤหัสถ์) และอุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่) พร้อมด้วยวิธีระงับการลงโทษนั้น ๆ

              ๒. ปาริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส) กล่าวถึง วัตรหรือข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ปริวาส รวม ๙๔ ข้อ และกระบวนการอันเกี่ยวกับการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ข้อกำหนดในการอยู่ปริวาส การชักเข้าหาอาบัติเดิม การประพฤติมานัตต์ และการสวดถอนจากอาบัติ

              ๓. สมุจจยขันธกะ (หมวดว่าด้วยการรวบรวม คือประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับการออกาจากอาบัติสังฆาทิเสส ที่เหลือจากปริวาสิกขันธกะ) มีเรื่องการขอมานัตต์ การให้มานัตต์ การขออัพภาน (สวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส) เป็นต้น

              ๔. สมถขันธกะ (หมวดว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์) วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ อย่างมีอะไรบ้าง ได้กล่าวไว้แล้วในท้ายพระไตรปิฎก เล่ม ๒ ตอนนี้เป็นการอธิบายโดยละเอียดทั้งเจ็ดข้อ คือ ๑. สัมมุขาวินัย การระงับแบบพร้อมหน้า ๒. สติวินัย การระงับด้วยยกให้พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติ ๓. อมูฬหวินัย การระงับด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า ๔. ปฏิญญาตกรณะ การระงับด้วยถือตามคำรับของจำเลย ๕. เยภุยยสิกา การระงับด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ๖. ตัสสปาปิยสิกา การะงับด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด ๗. ติณวัตถารกะ การระงับด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ