บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยสังฆกรรม

๒.ว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส

๓.ว่าด้วยการรวบรวม

๔.ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์

 

๔. สมถขันธกะ (หมวดว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) ทำกรรมประเภทลงโทษแก่ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า (เป็นการทำลับหลัง) คือตัชชนียกรรม (ข่มขู่) บ้าง, นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ) บ้าง, ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) บ้าง, ปฏิสารณียกรรม (ให้ขอขมาคฤหัสถ์) บ้าง, อุกเขปนียกรรม (ยกเสียจากหมู่ไม่ให้ใครคบ) บ้าง. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามทำการลับหลังผู้ถูกลงโทษ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น.

๑. สัมมุขาวินัย (การระงับต่อหน้า)

              ทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคลฝ่ายไม่ดี ๓ ประเภท คือ ๑. บุคคล (คนเดียว) ๒. บุคคลหลายคน ๓. สงฆ์ (๔ รูปขึ้นไป) ที่พูดไม่เป็นธรรม ฝ่ายหนึ่ง กับทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคลฝ่ายดี ๓ ประเภท คือ ๑. บุคคล (คนเดียว) ๒. บุคคลหลายคน ๓. สงฆ์ (๔ รูปขึ้นไป) ที่พูดเป็นธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง.

              ฝ่ายที่พูดไม่เป็นธรรม แม้จะระงับเรื่องที่เกิดขึ้นในที่พร้อมหน้า ก็เรียกว่าสัมมุขาวินัยเทียมและระงับอย่างไม่เป็นธรรม. ฝ่ายที่พูดเป็นธรรม ระงับเรื่องที่เกิดขึ้น เรียกว่าสัมมุขาวินัย และระงับอย่างเป็นธรรม.

พระทัพพมัลลบุตรทำงานให้สงฆ์

              พระทัพพมัลลบุตรได้บรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านปรารถนาจะทำประโยชน์แก่สงฆ์ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอรับทำหน้าที่เป็นผู้จัดเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และแสดงภัตต์ (จัดภิกษุไปฉันในที่นิมนต์). พระผู้มีพระภาคทรงเห็นชอบด้วย จึงตรัสให้เรียกประชุมสงฆ์ ขอมติสวดประกาศแต่งตั้งพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้จัดเสนาสนะ (เสนาสนคาหาปกะ) และผู้แสดงภัตต์ (ภัตตุทเทสกะ) เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเป็นอันประกาศแต่งตั้ง. เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วปรากฏว่าได้จัดเสนาสนะได้ดีและเรียบร้อย ถึงกับมีภิกษุมาแกล้งให้จัดในที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งอยู่ห่างไกลกันทีละหลาย ๆ รูป เพื่อจะดูความสามารถ แต่ท่านก็จัดได้เรียบร้อยอย่างน่าอัศจรรย์.

              ส่วนการจัดแบ่งภิกษุไปรับอาหารก็ทำได้เรียบร้อย แต่มีภิกษุพวกหนึ่งซึ่งเป็นพวกภิกษุเมตติยะ และภุมมชกะไม่พอใจว่าตนไม่ค่อยได้รับอาหารดี ๆ (ความจริง เพราะเป็นผู้บวชใหม่ คนจึงไม่สนใจถวายอาหารดี ๆ เหมือนภิกษุอื่น). ภิกษุพวกนั้นเข้าใจผิดว่า พระทัพพมัลลบุตรกลั่นแกล้งจึงหาเรื่องให้นางเมตติยาภิกษุณีแกล้งใส่ความหาว่าข่มขืนนาง. เมื่อไต่สวนได้ความสัตย์แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงจัดการให้สึกนางเมตติยาภิกษุณี แม้ภิกษุที่ก่อเรื่องจะขอรับผิดแทนว่าตนเป็นผู้ต้นคิด ก็ไม่มีการผ่อนผัน.

๒. สติวินัย (การระงับด้วยยกให้ว่าเป็นผู้มีสติ)

              พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะวิธีระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ ให้สงฆ์สวดประกาศ ให้สติวินัยแก่พระทัพพมัลลบุตร แล้วทรงแสดงเงื่อนไข ๕ ประการ ในการให้สติวินัย คือ ๑. ภิกษุผู้ถูกโจทฟ้อง เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ๒. มีผู้กล่าวฟ้องเธอ ๓. เธอขอสติวินัย ๔. สงฆ์ให้สติวินัยแก่เธอ ๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้โดยธรรม อย่างนี้ จึงเรียกว่าการให้สติวินัยอันเป็นธรรม.

๓. อมูฬหวินัย

              ภิกษุชื่อคุคคะ เป็นบ้า ได้ทำความผิดหลายประการ มีผู้โจทฟ้อง พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะให้ระงับด้วยอมูฬวินัย โดยให้ผู้ถูกฟ้อง (ซึ่งหายแล้ว) ขออมูฬหวินัย และให้สงฆ์สวดประกาศให้อมูฬหวินัย เป็นอันระงับด้วยยกให้เป็นบ้าในขณะทำความผิด. แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าทำความผิดขณะที่รู้สึกตนและไม่เป็นบ้า แต่แก้ตัวว่าไม่รู้สึกตน หรือรู้สึกเหมือนฝัน หรือแก้ตัวอ้างความเป็นบ้าสงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ ดังนี้ เรียกว่าไม่เป็นธรรม ถ้าตรงกันข้าม คือทำไปในขณะเป็นบ้าไม่รู้สึกตัวจริง ๆ การให้อมูฬหวินัยจึงเป็นธรรม.

๔. ปฏิญญาตกรณะ (การระงับด้วยคำสารภาพของผู้ถูกฟ้อง)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ลงกรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยไม่ฟังคำสารภาพของภิกษุเหล่านั้น มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามทำเช่นนั้น ถ้าฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ.

              จึงทรงแสดงวิธีระงับอธิกรณ์ด้วยการรับสารภาพของจำเลยที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม. ที่ไม่เป็นธรรม คือสารภาพผิดจากที่ทำลงไปจริง เช่น ต้องอาบัติหนัก สารภาพว่าต้องอาบัติรองลงมา หรือต้องอาบัติเบา สารภาพว่าต้องอาบัติหนัก. ส่วนที่เป็นธรรม คือต้องอาบัติอะไร ก็สารภาพถูกตรงตามนั้น.

๕. เยภุยยสิกา (การระงับด้วยถือเสียงข้างมาก)

              ภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ด้วยถือเอาเสียงข้ามาก ให้สมมติภิกษุผู้ให้จับสลาก (คำว่า สลาก แปลว่า ซี่ไม้สำหรับใช้ลงคะแนน) ภิกษุผู้ให้จับสลาก จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ไม่ลำเอียงเพราะรัก, เพราะเกลียด, เพราะหลง, เพราะกลัว และรู้ว่าอย่างไรเป็นอันจับ อย่างไม่เป็นอันจับ (คุมการลงคะแนนได้ดี). แล้วให้สวดประกาศแต่งตั้ง ภิกษุผู้ให้จับสลากเป็นการสงฆ์.

              แล้วทรงแสดงการจับสลาก (ลงคะแนน) ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม อย่างละ ๑๐ ประการ คือ ๑. เป็นเรื่องเล็กน้อย ๒. ไม่ลุกลามไปสู่วัดอื่น ๓. ไม่ต้องคิดแล้วคิดเล่า ๔. รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมมีมากกว่า ๕. รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมอาจมีมากกว่า ๖. รู้ว่าสงฆ์จะแตกกัน (ถ้าขืนลงมติ) ๗. รู้ว่าสงฆ์อาจแตกกัน ๘. จับสลากโดยไม่เป็นธรรม ๙. จับสลากเป็นพวก ๆ (ไม่เรียงทีละคน) ๑๐. มิได้จับสลากตามความเห็นของตน อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม. ส่วนที่เป็นธรรมคือที่ตรงกันข้าม.

๖. ตัสสปาปิยสิกา (การระงับด้วยการลงโทษ)

              ภิกษุชื่ออุปวาฬะ ถูกฟ้องด้วยเรื่องต้องอาบัติในที่ประชุมสงฆ์ ปฏิเสธแล้วกลับรับ รับแล้วกลับปฏิเสธ ให้การกลับกลอก กล่าวเท็จทั้ง ๆ รู้. พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงทรงแนะให้สงฆ์ใช้วิธีตัสสปาปิยสิกา คือให้สวดประกาศเป็นการสงฆ์ลงโทษจำเลย (ตามควรแก่อาบัติ).

              ทรงแสดงการทำตัสสปาปิยสิกากรรม ที่เป็นธรรมว่า ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้ไม่มียางอาย ๓. มีผู้โจทฟ้อง ๔. สงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรม (ลงโทษ) แก่เธอ ๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงโท ษโดยธรรม.

              อนึ่ง ทรงแสดงลักษณะการทำกรรมชนิดนี้ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม ตามแบบที่ทรงแสดงไว้ ในเรื่องดัชชนียกรรม, ทรงแสดงลักษณะที่สงฆ์ควรลงโทษชนิดนี้ และการเสียสิทธิของภิกษุผู้ต้องโทษชนิดนี้ เช่นเดียวกับดัชชนียกรรม.

๗. ติณวัตถารกะ (การระงับด้วยให้เลิกแล้วกันไป)

              ภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน และเห็นว่าถ้าขืนทะเลาะวิวาทกันต่อไป เรื่องก็จะลุกลามเลวร้าย ถึงกับแตกแยกกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ ด้วยให้เลิกแล้วกันไป (ติณวัตถารกะ).

              ทรงแสดงวิธีสวดประกาศขอมติในที่ประชุมสงฆ์ให้เป็นอันพ้นอาบัติด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยมีภิกษุรูปหนึ่งแต่ละฝ่ายที่เสนอญัตตินั้นเป็นผู้แสดงแทน เว้นอาบัติหนัก, เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์, เว้นผู้แสดงความเห็นแย้ง, เว้นผู้ไม่ได้ประชุมอยู่ในที่นั้น (คือมีผู้ขาดประชุม).

อธิกรณ์ ๔

              อธิกรณ์มี ๔ คือ ๑. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ เป็นต้น ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ และ ๔. กิจจาธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม.

              ครั้นแล้วทรงแสดงลักษณะของอธิกรณ์แต่ละอย่าง พร้อมทั้งมูลเหตุโดยพิสดาร ในที่สุดตรัสสรุปว่า อธิกรณ์แต่ละอย่างจะระงับได้ด้วยสมถะ (วิธีระงับ) อะไรบ้าง ดังนี้

              ๑. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ย่อมระงับด้วยวิธีระงับ ๒ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับโดยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ (เยภุยยสิกา).

              ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับศีล) อาจารวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ) ทิฏฐิวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น) และอาชีววิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ) ระงับด้วยวิธีระงับ ๔ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับด้วยยกให้ว่ามีสติ (สติวินัย) ๓. ระงับด้วยยกให้ว่าเป็นบ้า (อมูฬหวินัย) ๔. ระงับด้วยการลงโทษ (ตัสสปาปิยสิกา).

              ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติต่าง ๆ ระงับด้วยวิธีระงับ ๓ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับด้วยถือคำสารภาพ (ปฏิญญาตกรณะ) ๓. ระงับด้วยให้เลิกแล้วกัน (ติณวัตถารกะ).

              ๔. กิจาธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม ระงับด้วยวิธีระงับประการเดียว คือระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย).

              ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ชำระเสร็จไปแล้ว และปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุ ผู้ให้ฉันทะแล้วบ่นว่าในภายหลัง (เว้นแต่อธิกรณ์นั้นชำระไม่เป็นธรรม).


๑. อธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องจัดต้องทำ แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง ดังจะกล่าวในหมวดนี้ ซึ่งมีพระพุทธภาษิตอธิบายไว้ด้วย
๒. ดูหน้า ๑๗๔ สิกขาบทที่ ๓ และหน้า ๑๗๗ สิกขาบทที่ ๙

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ