บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยสังฆกรรม

๒.ว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส

๓.ว่าด้วยการรวบรวม

๔.ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์

 

๒. ปริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส)

              (เมื่อมาถึงวินัยกรรมเกี่ยวกับการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งกล่าวไว้ในหมวดนี้ ควรจะได้ทราบความหมายเกี่ยวกับศัพท์ และลำดับการปฏิบัติซึ่งกล่าวถึงในหมวดนี้ก่อน ซึ่งมีดังนี้

              ๑.การอยู่ปริวาส คือการลงโทษให้ต้องอบรมตัวเอง เท่ากำหนดเวลาที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แล้วปิดไว้ ถ้าปิดไว้กี่วันกี่เดือน ก็จะต้องอยู่ปริวาสเท่านั้นวันเท่านั้นเดือน.

              ๒. การชักเข้าหาอาบัติเดิมหรือมูลายปฏิกัสสนา คือในขณะที่อยู่ปริวาสก็ตาม ประพฤติมานัตต์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ก็ตาม เธอไปต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำกับที่ต้องไว้เดิมเข้าอีก ก็จะต้องเริ่มตั้งต้นถูกลงโทษไปใหม่ คือต้องขอกลับเริ่มต้นถูกลงโทษในลำดับแรกอีก.

              ๓. การประพฤติมานัตต์ เมื่ออยู่ปริวาสครบกำหนดที่ปิดไว้แล้ว หรือถ้าไม่ได้ปิดไว้เลย ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส คงประพฤติมานัตต์ทีเดียว การประพฤติมานัตต์ คือการถูกลงโทษให้ต้องประจานความผิดของตนแบบปริวาส แต่มีกำหนด ๖ ราตรี ไม่ว่าจะปิดไว้หรือไม่ปิดอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประพฤติมานัตต์ ๖ ราตรี เหมือนกันหมด.

              ๔. การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสสหรืออัพภาน เมื่อภิกษุถูกลงโทษให้อยู่ปริวาส (ถ้าปิดอาบัติไว้) และให้ประพฤติมานัตต์ถูกต้องแล้ว ก็เป็นผู้ควรแก่การสวดถอนจากอาบัตินั้น การสวดถอนจากอาบัตินี้ เรียกว่าอัพภาน ต้องใช้ภิกษุประชุมกันไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป.

              ในระหว่างที่ถูกลงโทษเหล่านี้ ภิกษุถูกตัดสิทธิมากหลาย ทั้งยังต้องคอยบอกความผิดของตนแก่ภิกษุผู้ผ่านไปมาและบอกในที่ประชุมสงฆ์ เมื่อทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย รวมความว่า เป็นการลงโทษที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษรู้สึกว่าหนักมาก ต้องเกี่ยวข้องกับสงฆ์ส่วนมาก โดยการประจานตัวและการสวดประกาศหลายขั้นหลายตอน).

ตัดสิทธิภิกษุผู้อยู่ปริวาส

              สมัยนั้น ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ยินดีการกราบไหว้ เป็นต้น ของภิกษุปกติ (คือผู้ไม่ต้องอาบัติ) พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงวางข้อกำหนด มิให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสยินดีการกราบไหว้, การนำที่นอนมาให้, การล้างเท้า, การตั้งตั่งรองเท้า, การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า, การรับบาตรจีวร, การถูหลังในเวลาอาบน้ำ. ถ้าขืนยินดีให้ผู้อื่นทำให้แก่ตนเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันปฏิบัติแสดงความเคารพเอื้อเฟื้อต่อกันดังกล่าวข้างต้นได้ตามลำดับพรรษา และทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันทำอุโบสถ, ปวารณา, รับแจกผ้าอาบน้ำฝน, รับโอนอาหาร, รับแจกอาหารได้ตามลำดับพรรษา.

วัตร ๙๔ ข้อของผู้อยู่ปริวาส

              ทรงแสดงวัตร ๙๔ ข้อของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิต่าง ๆ ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ รวมทั้งสิ้น ๙๔ ข้อ (แต่ในที่นี้ จะเก็บใจความมากล่าวพอให้เห็นเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้)

              ๑. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้เป็นเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ก็เป็นอันระงับชั่วคราว เช่น ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย (รับผู้อื่นไว้ในปกครอง) เป็นต้น.

              ๒. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน หรือที่เลวทรามกว่านั้น.

              ๓. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจทท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.

              ๔. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย

              ๕. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง หรือให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูกลงโทษ.

              ๖. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาก็ต้องบอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ เวลาทำปวารณา ถ้าป่วยไข้ต้องส่งทูตไปบอก.

              ๗. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องประจานตัวแก่ใคร ๆ).

              ๘. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นชั่วคราว.

              ๙. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืนเดินในที่ หรือในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.

              ๑๐. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้งไม่ให้ตีเสมอกันและกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).

              ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝ้น การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อมเป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้น มิให้นับเป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษ จะต้องทำใหม่และนับวันใหม่ในการรับโทษแก้ไขตัวเอง.

              ๑๑. ในการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการให้ปริวาส, การชักเข้าหาอาบัติเดิม ซึ่งต้องการสงฆ์ ๔ รูป ห้ามภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมกรรมเป็นองค์ที่ ๔ ถ้ามีภิกษุปกติ ๔ รูป แล้วภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมได้ ไม่เสียกรรม และในการสวดถอนอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุอื่น ซึ่งต้องการสงฆ์ ๒๐ รูป ภิกษุที่ถูกลงโทษจะเข้าร่วมเป็นองค์ที่ ๒๐ ไม่ได้ ต้องมีภิกษุปกติครบ ๒๐ รูป จึงใช้ได้.

              ต่อจากนี้ไป ได้แสดงถึง ภิกษุที่ถูกลงโทษในลำดับต่าง ๆ กันว่า จะต้องประพฤติวัตรเหมือนภิกษุผู้อยู่ปริวาส คือ

              ๑. ภิกษุที่ควรชักเข้าอาบัติเดิม (เพราะต้องอาบัติทำนองเดียวกันเข้าอีก ในระหว่างประพฤติตนเพื่ออกจากอาบัตินั้น).

              ๒. ภิกษุผู้ควรแก่มานัตต์ (พราะอยู่ปริวาสเสร็จแล้วหรือเพราะไม่ได้ปิดอาบัติไว้).

              ๓. ภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์ (คือกำลังประพฤติมานัตต์อยู่).

              ๔. ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน คือควรจะสวดถอนจากอาบัติได้แล้ว (เพราะอยู่ปริวาส และประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว).

การเสียราตรี (รัตติเฉท)

              พระอุบาลีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องการเสียราตรี (รัตติเฉท) ของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตต์แล้วล่วงละเมิดข้อห้ามว่าจะมีต่างกันอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า การเสียราตรีของภิกษุผู้อยู่ปริวาส มีเพราะเหตุอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑. อยู่รวมในชายคาเดียวกับภิกษุอื่น ๒. อยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุ ๓. ไม่บอกหรือประจานตัวเองเกี่ยวกับอาบัตินั้นแก่ภิกษุ หรือแก่สงฆ์ แล้วแต่กรณี. ส่วนการเสียราตรีของภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์มี ๔ อย่าง คือ ๓ ข้อแรกเหมือนกับของภิกษุผู้อยู่ปริวาส เฉพาะในข้อ๔ คือประพฤติมานัตต์ในสงฆ์ที่ไม่เต็มคณะ (คือระหว่างประพฤติมานัตต์ สงฆ์ในวัดนั้นลดจำนวนลงน้อยกว่า ๔ ไม่ได้).

การเก็บปริวาสและเก็บมานัตต์

              ในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น อันทำให้ไม่สามารถอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ได้สะดวก เช่น สงฆ์มาประชุมกันมากมาย จะเที่ยวบอกประจานตัวเองให้หมดสิ้นทั่วถึงไม่ไหว ก็ทรงอนุญาตให้เก็บปริวาส หรือมานัตต์ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว จึงสมาทาน คือถือการอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ต่อไปใหม่.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ