บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

๕. จัมเปยยขันธกะ (หมวดว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงจัมปา)
การทำกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม

              ภิกษุชื่อกัสสปโคตร เป็นผู้เอื้อเฟื้อดีต่อภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะมาก็ต้อนรับถวายความสะดวกด้วยประการต่าง ๆ ภิกษุที่มาติดใจพักอยู่ด้วย แต่เมื่อพักอยู่นานไป ภิกษุชื่อกัสสปโคตรก็ไม่ขวนขวายอาหารให้ เพราะถือว่ารู้ทำเลบิณฑบาตแล้ว ถ้าขืนขวนขวายมาก ก็จะต้องรบกวนชาวบ้านเป็นการประจำ. ภิกษุอาคันตุกะไม่พอใจ สวดประกาศยกเธอเสียจากหมู่ (ลงอุปเขปนียกรรมอย่างผิด ๆ). เธอจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถาม. พระองค์ตรัสสั่งให้เธอกลับไปอยู่ที่เดิม ทรงชี้แจงว่า ภิกษุที่ลงโทษเธอนั้น ทำไปโดยไม่เป็นธรรม เธอไม่มีอาบัติอะไร. ฝ่ายภิกษุพวกที่ลงโทษ ร้อนตัว จึงมาขอขมาต่อสมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์ประทานอภัยแล้ว จึงทรงแสดงการทำสังฆกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมหลายอย่างหลายประการ พร้อมทั้งทรงกำหนดจำนวนสงฆ์ที่ทำกรรมดังนี้

              ๑. สงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การอุปสมบท, การปวารณา, และสวดถอนจากอาบัติ สังฆาทิเสส. (แสดงว่ากฐินก็ใช้สงฆ์ ๔ รูปได้ แต่อรรถกถาแก้ว่า กฐินต้อง ๕ รูป ซึ่งปรากฏในอรรถกถา เล่ม ๓ เมื่ออรรถกถาแย้งกับบาลี จึงต้องฟังทางบาลี)

              ๒. สงฆ์ ๕ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นไว้แต่การอุปสมบทกุลบุตรในมัธยมประเทศ และการสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส

              ๓. สงฆ์ ๑๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส

              ๔. สงฆ์ ๒๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้

              ๕. สงฆ์เกิน ๒๐ รูปขึ้นไป ทำกรรมทั้งปวงได้

              แต่ทุกข้อนี้ ต้องประชุมพร้อมเพรียงกันโดยธรรม ถูกต้องตามพระวินัย. ครั้นแล้วทรงอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสงฆ์ ๔ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ซึ่งทำกรรมต่าง ๆ กันโดยพิสดาร.

อุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่)

              ครั้นแล้วทรงแสดงหลักการลงอุปเขปนียกรรม คือการสวดประกาศยกเสียจากหมู่ ไม่ให้ใครร่วมกินร่วมนอน หรือคบหาด้วย ว่าจะทำได้ในกรณีที่ไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่สละความเห็นที่ชั่ว. ต่อจากนั้นทรงอธิบายการทำกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมแก่พระอุบาลี.

ตัชชนียกรรม (ข่มขู่)

              ทรงแสดงหลักการลงตัชชนียกรรม คือการสวดประกาศลงโทษเป็นการตำหนิภิกษุผู้ชอบหาเรื่อก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์.

นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ)

              ทรงแสดงหลักการลงนิยสกรรม คือการถอดยศ หรือตัดสิทธิแก่ภิกษุผู้มากด้วยอาบัติ คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในลักษณะที่ไม่สมควร.

ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่)

              ทรงแสดงหลักการลงปัพพาชนียกรรม คือการไล่เสียจากวัดแก่ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ (ยอมตัวให้เขาใช้) มีความประพฤติชั่ว

ปฏิสารณียกรรม (ขอโทษคฤหัสถ์)

              ทรงแสดงหลักการลงปฏิสารณียกรรม คือการให้ไปขอโทษคฤหัสถ์แก่ภิกษุผู้ด่า บริภาษคฤหัสถ์

              ครั้นแล้วทรงแสดงวิธีระงับการลงโทษทั้งห้าประการนั้น (รายการพิสดารเรื่องนี้ ยังจะมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๖ ตอนกัมขันธกะ ว่าด้วยสังฆกรรม เกี่ยวด้วยการลงโทษ).

๖. โกสัมพิขันธกะ (หมวดว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงโกสัมพี)

              เริ่มต้นด้วยเล่าเรื่องภิกษุ ๒ รูป ทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติ แล้วไม่เห็นอาบัติ จีงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแนะนำตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการกายวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน.

              พระผู้มีพระภาคทรงตักเตือนอีก ภิกษุเหล่านั้นก็กลับพูดขอให้พระภาคอย่าทรงเกี่ยวข้อง ขอให้ทรงหาความสุขส่วนพระองค์ไป ตนจะดำเนินการกันเองต่อไป. พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมารแห่งแคว้นโกศล ผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสี ในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติ ไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว (คือไม่ให้ผูกเวร จองเวรไว้นาน) ไม่ให้เห็นแก่สั้น (คือไม่ให้ตัดไมตรี) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตแก่พระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืน พร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย. ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับสัตราอาวุธยังทรงมีขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) ได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยม. แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง จึงเสด็จไปจากที่นั้น สู่พาลกโลณการกคาม, สู่ป่าชื่อปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่าง ๆ ในที่ที่ เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ. ในตอนนี้ได้เล่าเรื่องแทรกว่า มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปฐากดูแลพระผู้มีพระภาค. ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี.

              อุบาสกอุบาสิกาชาวโกสัมพี ไม่พอใจภิกษุแตกกันเหล่านั้น จึงนัดกัน ไม่แสดงความเคารพ ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกผิดชอบ จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถี และยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้น เป็นสังฆสามัคคี เสร็จแล้วให้สวดปาฏิโมกข์.

              อนึ่ง ทรงแสดงเรื่องสังฆสามัคคีย คือความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม โดยแสดงว่า การสามัคคียกันภายหลังที่แตกกันแล้วจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ วินิจฉัยเรื่องราว เข้าหาเรื่องเดิมให้เสร็จสิ้นไป ไม่ใช่ปล่อยคลุม ๆ ไว้แล้วสามัคคีกันอย่างคลุม ๆ.

              (เห็นได้ว่าตอนนี้แสดงเป็นประวัติไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนข้อวินัยเกี่ยวกับสงฆ์แตกกันในตอนนี้ มีซ้ำกับที่จะกล่าวข้างหน้า ในเล่ม ๗ สังฆเภทขันธกะ คือหมวดว่าด้วยสงฆ์แตกกัน).


๑. กรุงจัมปา เป็นนครหลวงของแคว้นอังคะ
๒. กรุงโกสัมพีเป็นนครหลวงของแคว้นวังสะ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ