บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

ขยายความ

๑. จัมมขันธกะ (หมวดว่าด้วยหนัง)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ ทรงเรียกประชุมชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ได้ทรงทราบข่าวว่า บุตรเศรษฐีชื่อ โสณโกฬิวิสะมีขนขึ้นที่พื้นเท้า ก็ทรงใคร่จะได้เห็น จึงตรัสให้ไปเฝ้า ทอดพระเนตรแล้ว ก็ทรงสั่งสอนชาวบ้านเหล่านั้นด้วยเรื่องประโยชน์ปัจจุบันแล้ว ให้บุคคลเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อสดับเรื่องประโยชน์อนาคต.

              พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุบุพพิกถา (ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ คือเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม อานิสงส์ในการออกจากกาม) และอริยสัจจ์ ๔ ประการ. ชาวบ้านเหล่านั้นปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

              ส่วนโสณโกฬิวสะขอบวช เมื่อบวชแล้วมีความเพียรเดินจงกรม (เดินไปมากำหนดข้อฝึกหัดจิตใจ) จนเท้าแตกโลหิตไหล. พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระโสณโกฬิวิสะเมื่อยังไม่บวชเคยดีดพิณ จึงทรงแสดงธรรมให้เดินสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป เหมือนสายพิณที่ขึงแต่พอดี ย่อมดีดดังไพเราะ พระโสณโกฬิวิสะปฏิบัติตามก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

ทรงอนุญาตรองเท้าใบไม้

              พระผู้มีพระภาคทรงเห็นพระโสณโกฬิวิสะ เป็นผู้สุขุมาล (ละเอียดอ่อน) ก็ทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าใบไม้ชั้นเดียว พระโสณะเกี่ยงว่า ถ้าอนุญาตแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม ท่านจึงจะใช้ จึงทรงอนุญาตรองเท้าที่ทำด้วยใบไม้ชั้นเดียว ห้ามใช้ชนิดที่ทำ ๒ - ๓ ชั้นหรือซ้อนหลายชั้น.

ทรงห้ามรองเท้าที่ไม่ควร

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้รองเท้าสีต่าง ๆ มีผู้ติเตียน จึงทรงห้ามใช้. เธอใช้หูรองเท้า (ประกอบรองเท้าคีบ) สีต่าง ๆ มีผู้ติเตียน ก็ทรงห้ามอีก. เธอยักย้ายไปใช้รองเท้าลักษณะต่าง ๆ เช่น รองเท้าปิดส้น. ปิดหลังเท้า และที่สวยงาม ประดับประดาต่าง ๆ ซึ่งเป็นของคฤหัสถ์ใช้กัน ก็ทรงห้ามทั้งหมด. นอกจากนั้น ยังทรงห้ามใช้รองเท้าหนังสัตว์ที่ไม่ควรต่าง ๆ ซึ่งคฤหัสถ์สมัยนั้นใช้กัน เช่น รองเท้าทำด้วยหนังราชสีห์, เสือโคร่ง, อูฐ เป็นต้น

ข้ออนุญาตและข้อห้ามเกี่ยวกับรองเท้า

              ๑. ทรงอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ที่คนอื่นใช้แล้ว ห้ามใช้ที่เป็นของใหม่
              ๒. ถ้าภิกษุผู้เป็นอาจารย์ หรือปูนอาจารย์ เป็นอุปัชฌายะ หรือปูนอุปัชฌายะ ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม ห้ามภิกษุใช้รองเท้า เดินจงกรม
              ๓. ทรงห้ามใช้รองเท้าในวัด ภายหลังทรงอนุญาตให้ใช้ได้ รวมทั้งทรงอนุญาตให้ใช้คบเพลิง, ประทีปและไม้เท้า (เพื่อไม่เหยียบหนาม เหยียบตอ และเพื่อสะดวกในเวลากลางคืน)
              ๔. ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่เจ็บเท้า, เท้าแตก หรือมีโรคที่เท้า ใช้รองเท้าได้
              ๕. จะขึ้นเตียง ขึ้นตั่ง ก็ทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าได้ (เพื่อว่าล้างเท้าใหม่ ๆ น้ำที่ติดเท้าและผงต่าง ๆ จะได้ไม่ทำให้เตียงตั่งเสียหาย)
              ๖. ห้ามใช้รองเท้าไม้ (เพราะมีเสียงดัง)
              ๗. ห้ามใช้รองเท้าทำด้วยใบตาลและไม้ไผ่ (เพราะพระเที่ยวขอให้เขาตัดต้นตาลและต้นไผ่ที่ยังรุ่น)
              ๘. ห้ามใช้รองเท้าหญ้าและรองเท้าใบไม้หลายชนิด ตลอดจนรองเท้าทำด้วยเงินทองเพชรพลอย และโลหะต่าง ๆ (เพราะมัวยุ่งอยู่ด้วยเรื่องรองเท้า ไม่เป็นอันเล่าเรียนหรือประพฤติปฏิบัติ)
              ๙. ทรงอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงติดกับที่ สำหรับใช้ในการถ่ายอุจจาระ, ปัสสาวะ และชำระ.
              ทั้งหมดนี้ ถ้าล่วงละเมิด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ข้อห้ามเกี่ยวกับโคตัวเมีย

              เขานำโคตัวเมียข้ามลำน้ำอจิรวดี ภิกษุฉัพพัคคีย์เที่ยวจับที่เขาบ้าง, หูบ้าง, คอบ้าง, หางบ้าง, ขึ้นขี่หลังบ้าง, ถูกต้ององคชาตด้วยจิตกำหนัดบ้าง, จับลูกโคกดน้ำให้ตายบ้าง มีผู้ติเตียนอื้อฉาว. จึงทรงห้ามทำเช่นนั้น ถ้าขืนทำ ให้ปรับอาบัติตามควรแก่กรณี (มีสิกขาบทในที่อื่นห้ามเป็นข้อ ๆ อยู่แล้ว การห้ามในที่นี้จึงไม่ระบุอาบัติไว้).

ข้อห้ามเกี่ยวกับยาน

              ทรงห้ามไปด้วยยาน เว้นแต่จะไม่สบาย ทรงอนุญาตที่มีผู้ชายลาก ทรงอนุญาตคานหามมีตั่งนั่ง และแปลผ้าที่เขาผูกติดกับไม้คาน (ในเรื่องนี้ เป็นการห้ามตามความรังเกียจของประเทศ คือคนในสมัยนั้นเห็นพระนั่งยานก็พากันค่อนขอดติเตียน จึงทรงห้ามเพื่อตัดปัญหา แต่ก็ทรงอนุญาตเมื่อมีเหตุผลสมควร ส่วนการอนุญาตคานหาม เปลหาม ก็เพื่อสะดวกในยามเจ็บไข้).

ข้อห้ามเกี่ยวกับที่นั่งที่นอน

              ทรงห้ามที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ที่มีลักษณะวิจิตรงดงาม เป็นของใช้คฤหัสถ์ และห้ามใช้หนังสัตว์ขนาดใหญ่ ๆ (สำหรับปูนั่งหรือนอน) เช่น คฤหัสถ์. ภายหลังมีภิกษุต้องการใช้หนังโค และมีผู้ฆ่าโค นำหนังมาถวาย จึงทรงห้ามใช้หนังสัตว์ทุกชนิด เว้นไว้แต่นั่งบนของที่คฤหัสถ์เขามีไว้ใช้ แต่ไม่ให้นอนบนนั้น. (วินัยข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้พระมีเครื่องนั่งนอนหรูหราแบบคฤหัสถ์ แต่ในกรณีที่เขานิมนต์ให้นั่งบนที่นั่งของเขาที่มีอยู่โดยปกติ ก็ทรงอนุญาต). นอกจากนั้น ทรงอนุญาตให้ใช้หนังสัตว์ที่เขาทำเป็นเชือกผูก.

ห้ามสรวมรองเท้าเข้าบ้าน

              ทรงห้ามสรวมรองเท้าเข้าบ้าน เว้นแต่ป่วยไข้. (ทั้งนี้เพราะมนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้ทำเช่นนั้น. เห็นได้ว่าบัญญัตินี้ อนุโลมตามความนิยมหรือไม่นิยมของกลุ่มชน).

พระโสณกุฏิกัณณะ

              โสณกุฏิกัณณะอุบาสก ใคร่จะบวช จึงไปหาพระมหากัจจานะ ขอให้ช่วยสงเคราะห์บวชให้. ท่านเห็นว่าลำบากที่จะประพฤติปฏิบัติจึงห้ามไว้ ครั้งที่สองเมื่อขอบวชอีกและเห็นว่าตั้งใจแน่วแน่ จึงบวชเป็นสามเณรให้ และกว่าจะหาภิกษุประชมครบ ๑๐ รูป เพื่อบวชเป็นภิกษุให้ก็ลำบากยิ่งนัก เพราะในชนบทกันดารเช่นนั้นมีภิกษุน้อย. พระโสณกุฏิกัณณะบวชแล้ว มาเฝ้าพระพุทธเจ้า นำคำขอร้องของพระมหากัจจานเถระผู้เป็นอุปัชฌายะมากราบทูลหลายข้อ เกี่ยวด้วยการผ่อนผันพระวินัยบางประการสำหรับเขตกันดาร.

ข้ออนุญาตสำหรับชนบทชายแดน

              ๑. ทรงอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรในชนบทชายแดน (ปัจจันตชนบท) ทั้งปวง ด้วยภิกษุเป็นคณะเพียง ๕ รูป (ปกติให้ใช้ ๑๐ รูป)

              ๒. ทรงกำหนดชนบทภาคกลาง (มัชฌิมชนบท) ดังนี้คือ
              ทิศตะวันออก ภายในแต่มหาสาลนครเข้ามา
              ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในแต่แม่น้ำสัลลวตีเข้ามา
              ทิศใต้ ภายในแต่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อถูนะเข้ามา
              ทิศเหนือ ภายในแต่ภูเขาอุสีรธชะเข้ามา
              ทั้งหมดนี้ร่วมในมัชฌิมชนบท พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท ทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๕ รูป บวชกุลบุตรได้.

              ๓. ทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าหลายชั้นได้ (เพราะแผ่นดินขรุขระเป็นระแหง)

              ๔. ทรงอนุญาตให้อาบน้ำได้ประจำ (ดูสิกขาบทที่ ๗ สุราปานวรรค)

              ๕. ทรงอนุญาตให้ใช้หนังแกะ หนังแพะ หนังเนื้อ เป็นเครื่องลาดได้ ตามที่มีใช้กันอยู่ในเขตนั้น

              ๖. ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่นอกสีมารับจีวรที่เขาถวายได้ โดยยังไม่ต้องนับวัน ตราบเวลาที่ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุ (เพราะมีข้อห้ามมิให้ภิกษุเก็บจีวรที่เกินกว่า ๓ ผืน ซึ่งเกินจำเป็นสำหรับใช้ประจำไว้เกิน ๑๐ วัน ต้องวิกัป คือทำให้เป็นสองเจ้าของ จึงเก็บไว้ได้ และถ้าจีวรประจำไม่มีก็ต้องอธิษฐานจีวรใหม่เป็นจีวรประจำ).


๑. ท่านผู้อ่านโปรดทราบว่า ข้อห้ามเหล่านี้หรือในวินัยโดยมาก ต้องมีใครทำอะไรที่เป็นต้นบัญญัติแล้วไม่ดี ไม่งาม มีผู้ติเตียน จึงทรงห้ามเป็นคราว ๆ ไป คือห้ามตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่ทรงคิดห้ามเอง โดยไม่มีเหตุเกิดขึ้น
๒. เรื่องของท่านผู้นี้ มีกล่าวไว้บ้าง แต่ในที่นั้นนำมาเล่าจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ