บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

๔. จีวรขันธกะ (หมวดว่าด้วยจีวร)

              คณะผู้มั่งมีชาวกรุงราชคฤห์ไปเที่ยวเมืองไพศาลี เห็นบ้านเมืองเจริญ และมีหญิงนครโสเภณี นามว่า อัมพปาลี เมื่อกลับไปกรุงราชคฤห์ จึงไปแนะนำพระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตให้มีหญิงนครโสเภณีบ้าง เมื่อทรงอนุญาต จึงหาหญิงสาวร่างงามชื่อนางสาลวตีมาเป็นหญิงนครโสเภณีประจำกรุงราชคฤห์. นางตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย จึงให้นำไปทิ้งยังกองขยะ. อภัยราชกุมารไปพบจึงให้รับไปเลี้ยงไว้ในวัง. เด็กนั้นจึงมีชื่อว่า ชีวก (รอดตาย) โกมารภัจจ์ (พระราชกุมารเลี้ยงไว้). เมื่อชีวกโกมารภัจจ์เติบโต จึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ ณ เมืองตักกสิลา อยู่ ๗ ปี เมื่อสำเร็จแล้วในระหว่างเดินทางกลับก็ได้รักษาภริยาเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ด้วยใช้ยาน้ำมันให้นัตถุ์ทางจมูก ได้ลาภสักการะมาก ก็ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่อยู่ของอภัยราชกุมาร

              ต่อมาได้รักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารหายด้วยให้ทายาเพียงครั้งเดียว จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก และประจำพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์.

              ต่อมาได้รักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีผู้หนึ่งแห่งกรุงราชคฤห์ด้วยการผ่าตัด, รักษาโรคลำไส้ใหญ่ของบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งแห่งกรุงพาราณสีด้วยการผ่าตัด, รักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนีด้วยการถวายยาให้ทรงดื่ม ได้ผลดีทุกราย. ครั้งหลังถวายยาถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคโดยไม่ต้องให้เสวย เพียงอบยาใส่ดอกอุบล ๓ กำ แล้วให้ใช้พระหัตถ์ขยี้ทีละกำก็ได้ผลดี. ในที่สุดได้กราบทูลขอร้องต่อพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายรับคฤหบดีจีวรได้ (คือจีวรที่ผู้ศรัทธาถวายให้ใช้ สมัยก่อนอนุญาตแต่จีวรที่เก็บเศษผ้ามาปะติดปะต่อใช้). ทรงปรารภคำขอของหมอชีวก จึงทรงอนุญาตให้รับคฤหบดีจีวรได้ แต่ถ้าใครจะยังถือจะใช้จีวรที่เก็บมาปะติดปะต่อ ที่เรียกบังสุกุลจีวร ก็ให้ถือต่อไปตามอัธยาศัย.

ทรงอนุญาตเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับจีวร

              เมื่อมนุษย์ทั้งหลายทราบว่าทรงอนุญาตให้ถวายจีวรได้ก็พากันนำมาถวายมากหลาย. เมื่อจีวรมีมากก็ทรงอนุญาตให้สวดประกาศแต่งตั้งภิกษุผู้รับจีวร (ในนามของสงฆ์), ภิกษุผู้เก็บจีวร, ภิกษุผู้รักษาเรือนคลัง (สำหรับเก็บจีวร), ภิกษุผู้แจกจีวร และทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุเหล่านั้นด้วย.

ทรงอนุญาตสีย้อมและวิธีการเกี่ยวกับจีวร

              ทรงอนุญาตสีย้อมจีวร ๖ ชนิด คือที่ทำจากรากไม้, ลำต้นไม้, เปลือกไม้, ใบไม้, ดอกไม้และผลไม้ และทรงอนุญาตวิธีการต่าง ๆ ในการย้อม

ทรงอนุญาตวิธีตัดจีวร

              เมื่อเสด็จไปยังทักขิณาคิรี (ภูเขาภาคใต้) ทอดพระเนตรเห็นนาชาวมคธมีขอบคันและกะทงนา จึงตรัสให้พระอานนท์ลองตัดจีวรเป็นรูปนั้นดู. เมื่อพระอานนท์ทำเสร็จ ทรงสรรเสริญว่าฉลาด. ต่อมาทรงอนุญาตจีวร ๓ ผืน (ไตรจีวร) คือผ้าสังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอก) ๒ ชั้น ผ้าห่ม ๑ ชั้น ผ้านุ่ง ๑ ชั้น. แล้วทรงอนุญาตให้เก็บจีวรที่เกินจำนวน ๓ ผืนไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน ถ้าจะเก็บเกินว่านั้นให้วิกัป (คือทำให้เป็นสองเจ้าของ) ต่อมาทรงอนุญาตว่า ถ้าเป็นผ้าเก่าให้ใช้สังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าห่ม ๒ ชั้น (เพื่อไม่ให้เห็นช่องขาดปุปะ)

ทรงอนุญาตคำขอ ๘ ประการของนางวิสาขา

              นางวิสาขาปรารถนาจะถวายความสะดวกแก่พระภิกษุสงฆ์ จึงกราบทูลขอพร ๘ ประการ เพื่อถวายสิ่งต่าง ๆ แก่ภิกษุ อ้างเหตุผลที่เคยประสบมาต่าง ๆ อันควรจะทรงอนุญาต ก็ทรงอนุญาตตามที่ขอร้อง คือ ๑. ผ้าอาบน้ำฝน ๒. อาคันตุกภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้มา) ๓. คมิกภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้ไป) ๔. คลานภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้) ๕. คิลานุปัฏฐากภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลไข้) ๖. ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้ ๗. ข้าวยาคูที่ถวายเป็นประจำ และ ๘. ผ้าอาบน้ำสำหรับนางภิกษุณี.

ทรงอนุญาตผ้าอื่น ๆ

              ต่อมาทรงอนุญาตผ้าปูลาด หรือผ้าปูนอน (เพื่อป้องกันเสนาสนะเปรอะเปื้อน) ทรงอนุญาตผ้าปิดฝี เมื่อเป็นฝีเป็นต่อม, ทรงอนุญาตผ้าเช็ดหน้า และผ้าอื่น ๆ ที่ใช้เป็นบริขาร เช่น ผ้ากรองน้ำ, ถุงใส่ของ, แล้วตรัสสรุปว่า ไตรจีวร ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป, ผ้าอาบน้ำฝนให้อธิษฐานใช้ตลอด ๔ เดือนฤดูฝน ต่อจากนั้นให้วิกัป, ผ้าปูนั่ง, ผ้าปูนอน ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป, ผ้าปิดฝีให้อธิษฐานไว้ใช้ตลอดเวลาที่อาพาธ หายแล้วให้วิกัป, ผ้าเช็ดหน้าและผ้าที่ใช้เป็นบริขารอื่น ๆ ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป.

ทรงอนุญาตและห้ามเกี่ยวกับจีวรอีก

              ต่อมาทรงอนุญาตว่า (ในไตรจีวรนั้น) ให้ใช้ผ้าที่ไม่ต้องตัด (เย็บเป็นกระทง) ได้เพียง ๒ ผืน ต้องเป็นผ้าที่ตัด ๑ ผืน ถ้าจะตัดผ้าไม่พอให้ใช้ผ้าเพลาะ (นำชิ้นผ้าอื่นมาผสม) ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้นุ่งห่มผ้าที่มิได้ตัด (เย็บให้เป็นกะทง) เลย. อนึ่ง ทรงอนุญาตให้ให้ผ้าแก่มารดาบิดาได้ แต่ไม่ให้นำของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตก (คำว่า ทำศรัทธาไทยให้ตก คือเอาของที่เขาถวายไปให้แก่คนอื่นที่เป็นคฤกหัสถ์ และไม่ใช่มารดาบิดา)

              มีปัญหาเรื่องการนำจีวรไปไม่ครบสำรับ จีวรที่เก็บไว้ถูกโจรลักไป จึงทรงกำหนดเงื่อนไขว่าจะเข้าบ้านโดยเก็บจีวรไว้ ไม่นำไปครบสำรับได้ เช่น วิหารมีกลอนป้องกันได้ดี เป็นต้น และมีปัญหาเรื่องมีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ จะแบ่งอย่างไร รวมทั้งปัญหาเรื่องภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่ง แต่ละโมภ ไปรับจีวรในวัดอื่น เป็นส่วนแบ่งหรือทำเป็นว่าอยู่ ๒ แห่ง จะตัดสินอย่างไร.

พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ

              เรื่องตอนนี้ได้นำไปแปลไว้แล้วโดยละเอียดในหน้า ๘๗ และหน้า ๖๒ ที่ว่าด้วยคนไข้ที่ดีและไม่ดี ผู้พยาบาลไข้ที่ดีและไม่ดี. นอกจากนั้นได้ทรงแสดงวิธีสวดประกาศของสงฆ์ เพื่อมอบบริขาร (เครื่องใช้) ของผู้เป็นไข้ที่สิ้นชีวิตแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ แต่ถ้าเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร (คือของใช้ขนาดใหญ่) ห้ามแบ่งและแจกให้เก็บไว้เป็นของสงฆ์.

การเปลือยกายและการใช้ผ้า

              ทรงห้ามเปลือยกายแบบเดียรถีย์ และปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ผู้ล่วงละเมิด. อนึ่ง ทรงห้ามใช้ผ้าคากรอง, เปลือกต้นไม้กรอง, ผลไม้กรอง, ผ้ากัมพล ทำด้วยผมคน, ผ้ากัมพล ทำด้วยขนหางสัตว์ ปีกนกเค้า หรือหนังเสือ, ซึ่งเป็นของพวกเดียรถีย์ ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ผ้าทำด้วยปอ นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ (ความหมายในที่นี้ คือไม่ให้นุ่งห่มเลียนแบบเดียรถีย์).

ทรงห้ามใช้จีวรที่มีสีไม่ควร และห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก

              ทรงห้ามใช้จีวรมีสีไม่สมควรต่าง ๆ คือ เขียวล้วน, เหลืองล้วน, แดงล้วน, เลื่อมล้วน, ดำลัวน, แดงเข้ม, แดงกลาย ๆ (ชมพู). อนึ่ง ทรงห้ามจีวรที่ไม่ตัดชาย, จีวรมีชายยาว, จีวรมีชายเป็นดอกไม้, จีวรมีชายเป็นแผ่น และทรงห้ามใช้เสื้อ หมวก, ผ้าโพก ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ใช้.

ทรงวางหลักเกี่ยวกับจีวรอีก

              เมื่อภิกษุจำพรรษาแล้ว จีวรยังไม่ทันเกิดขึ้น ไปเสีย ภายหลังมีจีวรเกิดขึ้น ถ้ามีผู้รับแทนเธอที่สมควรก็ให้ให้ไป แต่ถ้าเธอสึกเสีย เป็นต้น สงฆ์ย่อมเป็นใหญ่ ถ้าสงฆ์แตกกัน ให้แจกผ้าตามความประสงค์ของผู้ถวายว่าจะถวายแก่ฝ่ายไหน ถ้าเขาไม่เจาะจง ให้แบ่งฝ่ายละเท่ากัน

              อนึ่ง ทรงวางหลักการถือเอาจีวรของภิกษุอื่นด้วยถือวิสสาสะ คือคุ้นเคยกันว่าต้องมีเหตุผลสมควร.

              แล้วทรงแสดงกติกา (ข้อกำหนดหรือแม่บท) ๘ ประการที่จีวรจะเกิดขึ้น คือ ๑. เขาถวายกำหนดเขตภิกษุที่อยู่ในสีมา ๒. เขาถวายกำหนดกติกา ๓. เขาถวายกำหนดเฉพาะเจตหรือวัดที่เขาทำบุญประจำ ๔. เขาถวายแก่สงฆ์ ๕. เขาถวายแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ ภิกษุณี) ๖. เขาถวายแก่สงฆ์ที่จำพรรษาแล้ว ๗. เขาถวายโดยเจาะจง (ให้เกี่ยวเนื่องกับการถวายข้าวยาคู หรืออาหารอื่น ๆ เป็นต้น) ๘. เขาถวายจำเพาะบุคคล (คือแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้).


๑. อธิษฐาน คือตั้งใจเอาไว้ใช้ วิกัป คือทำให้เป็นสองเจ้าของ เมื่อจะใช้ก็ของอนุญาตก่อน
๒. สีเลื่อมนั้น อรรถกถาอธิบายว่า คล้ายฝาง หนึ่ง เนื่องจากทรงห้ามสีเหลืองล้วน พระภิกษุบางรูปจึงนิยมย้อมกรัก คือสีจากแก่นขนุนทับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นสีน้ำฝาดผสม

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ