บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

ทรงถอนข้ออนุญาตสำหรับยามข้าวยาก

              ต่อมากรุงไพศาลีสมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงถอนข้ออนุญาตที่ประทานไว้ในสมัยข้าวยาก เป็นอันกลับห้ามต่อไป คือ

              ห้ามเก็บอาหารค้างคืนในที่อยู่, ห้ามหุงต้มในที่อยู่, ห้ามหุงต้มด้วยตนเอง, ห้ามฉันผลไม้ที่เก็บมาเอง โดยหาคนประเคนทีหลัง ๔ ข้อนี้ ปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด. ห้ามฉันอาหารจนไม่รับของที่เขาจะถวายเพิ่มแล้ว กลับฉันของที่เขานำมาถวายจากบ้านเจ้าภาพอีก, หรือฉันอาหารที่รับประเคนไว้ก่อนเวลาอาหาร หรือฉันอาหารที่เกิดในป่า ในสระน้ำ เช่น ผลไม้ เหง้าบัว ให้ปรับอาบัติแก่ผู้บริโภคตามควรแก่กรณี (อาบัติปาจิตตีย์).

ทรงอนุญาตที่เก็บอาหาร

              มีผู้นำของที่เป็นอาหาร เช่น เกลือ, น้ำมัน, ข้าวสาร, ของเคี้ยว (ผลไม้) มาถวาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตกัปปิยภูมิ คือที่เก็บของที่สมควร โดยให้สวดประกาศเป็นการสงฆ์ โดยทรงระบุกัปปิยภูมิ ๔ ชนิด คือ ๑. อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ประกาศให้ได้ยินกัน ๒. โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิที่ไม่มีที่ล้อม ๓. คหปติกา กัปปิยภูมิที่คฤหบดีถวาย และ ๔. สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ คือสวดประกาศเป็นการสงฆ์.

ทรงแสดงธรรมโปรดเมณฑกคฤหบดี

              พระผู้มีพระภาคเสด็จจากกรุงไพศาลี ไปยังภัททิยนคร ประทับ ณ ชาติยาวัน. ณ ที่นั้น เมณฑกคฤหบดี (ผู้เป็นเศรษฐี) ได้ไปเฝ้า ได้สดับพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็นิมนต์ฉันในวันรุ่งขึ้น. เมื่อฉันเสร็จแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโปรดครอบครัว พร้อมทั้งทาสของเมณฑกคฤหบดีให้ได้ดวงตาเห็นธรรม. ทุกคนปฏิญญาตนเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

ทรงอนุญาตตามที่เมณฑกคฤหบดีขอร้อง

              เมณฑกคฤหบดีทราบว่าพระผู้มีพระภาคจะเสด็จเดินทางไกลไปอังคุตตราปะ จึงกราบทูลขอร้องให้ทรงอนุญาตเสบียง จึงทรงอนุญาต ดังต่อไปนี้

              ๑. ทรงอนุญาตของ ๕ อย่างที่เกิดจากโค (ปัญจโครส) คือนมสด, นมส้ม, เปรียง, เนยข้น, เนยใส.

              ๒. ทรงอนุญาตให้แสวงหาเสบียงทางได้ คือ ข้าวสาร, ถั่วเขียว, ถั่วราชมาส, เกลือ, งบน้ำอ้อย, น้ำมัน, เนยใส ตามความต้องการ

              ๓. เมื่อมีคนมอบเงินทองแก่กัปปิยการก ทรงอนุญาตให้ยินดีเฉพาะของที่ควร ซึ่งจะได้มาจากเงินทองนั้น แต่ไม่ทรงอนุญาตให้ยินดีตัวเงินทอง หรือให้แสวงหาเงินทองเลย.

ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม ๘ อย่าง)

              ณ ตำบลอาปณะ ทรงปรารภคำขอของเกณิยะ ชฏิลผู้ปรุงน้ำปานะ (น้ำดื่มจากผลไม้) มาถวาย จึงทรงอนุญาตน้ำปานะ ๘ อย่าง คือ ๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๕. น้ำมะทราง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗. น้ำเหง้าอุบล ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่.

              ทรงอนุญาตน้ำจากผลไม้ทุกชนิด เว้นแต่ประเภทข้าว ทรงอนุญาตน้ำจากใบไม้ทุกชนิด เว้นแต่รสแห่งผักที่ต้มแล้ว ทรงอนุญาตน้ำจากดอกไม้ทุกชนิด เว้นแต่น้ำดอกมะทราง (มธุกปุปผรส) และทรงอนุญาตน้ำจากต้นอ้อย (ให้ดื่มหลังเที่ยงได้).

ทรงอนุญาตผักและของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง

              ณ เมืองกุสินารา ทรงปรารภคำขอของมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะ ผู้เคยเป็นสหายของพระอานนท์ ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันผักและของขบเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งทุกชนิด (เฉพาะก่อนเที่ยง).

ทรงห้ามและทรงอนุญาตอื่นอีก

              ณ ตำบลอาตุมา ทรงปรารภการกระทำของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ผู้เคยเป็นช่างตัดผม จึงทรงห้าม มิให้ชักชวนบุคคลไปในทางไม่สมควร กับห้ามมิให้ภิกษุผู้เคยเป็นช่างตัดผมใช้เครื่องมีดโกน. ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

              ณ กรุงสาวัตถี ทรงอนุญาตของเคี้ยวประเภทผลไม้ทุกชนิด ให้ฉันได้.

              พืชของสงฆ์ ปลูกในที่ของบุคคล ให้แบ่งส่วนแล้วบริโภคได้ (อรรถกถาว่าให้แบ่งให้ ๑ ใน ๑๐).

ทรงแนะข้อตัดสิน

              ทรงแนะว่า สิ่งที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งไม่ควร ค้านกับสิ่งที่ควร ก็นับว่าไม่ควร สิ่งที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ค้านกับสิ่งที่ไม่ควร ก็นับว่าควร สิ่งที่มิได้ทรงอนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควรค้านกับสิ่งที่ควร ก็นับว่าไม่ควร สิ่งที่มิได้ทรงอนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควร ค้านกับสิ่งที่ไม่ควร ก็นับว่าควร.

              อนึ่ง ทรงชี้ขาดเรื่องกาลิก (คือของฉันที่อนุญาตไว้ตามกำหนดกาลเวลา) รวม ๔ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก ของที่ให้ฉันได้เช้าชั่วเที่ยง ๒. ยามกาลิก ของที่ให้ฉันได้ไม่ข้ามคืน ๓. สัตตาหกาลิก ของที่ให้ฉันได้ไม่เกิน ๗ วัน และ ๔. ยาวชีวิก ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตลอดชีวิต. ของเหล่านี้ เมื่อผสมกัน ให้นับตามอายุของที่มีเวลาน้อย. (เช่น เอาน้ำตาลซึ่งฉันได้ภายใน ๗ วัน มาผสมกับข้าวสุก ก็ฉันได้เพียงเช้าชั่วเที่ยง).


๑. แปลคำว่า ตกฺก ตามที่ไทยเราเคยแปลกันเช่นนั้น แต่เท่าที่สอบสวนแล้ว ตรงที่แปลว่า นมส้ม ควรแปลว่า นมข้น (curds) ตรงคำว่า เปรียง ควรแปลว่า นมส้ม (buttermilk)
๒. น้ำดื่มทำจากผลไม้ ๘ อย่างนี้ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นของเย็น หรือตากแดดใช้ได้ แต่จะทำให้สุกด้วยไฟ ฉันเวลาวิกาลไม่ได้ ชะรอยจะกลายเป็นเหมือนแป้งเปียกซึ่งใกล้ไปในทางเป็นอาหารมากขึ้น

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ