บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

๒. เภสัชชขันธกะ (หมวดว่าด้วยยา)
ทรงอนุญาตเภสัช ๕ และอื่น ๆ

              ๑. ภิกษุหลายรูปอาพาธ ดื่มข้าวยาคู หรือฉันอาหารก็อาเจียนออก (เพราะอาหารไม่ย่อย) จึงซูบผอม พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้ฉันได้ทั้งในกาล (ก่อนเที่ยง) และในวิกาล (เที่ยงแล้วไป)

              ๒. ทรงอนุญาตเปลวสัตว์หลายอย่าง ให้เคี้ยวบริโภคเป็นเภสัชได้เฉพาะในกาล

              ๓. ทรงอนุญาตให้ฉันมูลเภสัช (ยาที่เป็นหัวหรือเหง้าไม้) เช่น ขมิ้น ขิง เป็นต้น ได้ตลอด ไม่กำหนดกาล แต่ต้องมีเหตุสมควร ถ้าไม่มีเหตุสมควร ต้องอาบัติทุกกฏ สำหรับภิกษุผู้อาพาธ ทรงอนุญาตให้ใช้หินบดบดได้

              ๔. ทรงอนุญาตให้ฉันกสาวเภสัช (ยาที่เป็นน้ำฝาดจากต้นไม้) ได้ตลอดชีวิต ในเมื่อมีเหตุสมควร

              ๕. ทรงอนุญาตให้ฉันปัณณเภสัช (ใบไม้ที่เป็นยา) ได้ตลอดชีวิต ในเมื่อมีเหตุสมควร

              ๖. ทรงอนุญาตให้ฉันผลเภสัช (ผลไม้ที่เป็นยา) เช่น ดีปลี สมอ มะขามป้อม ได้ตลอดชีวติ

              ๗. ทรงอนุญาตให้ฉันชตุเภสัช (ยางไม้ที่เป็นยา) เช่น มหาหิงคุ์ ได้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุสมควร

              ๘. ทรงอนุญาตโลณเภสัช (เกลือที่เป็นยา) เช่น เกลือสมุทร เกลือสินเธาว์ ได้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุสมควร

              ๙. ทรงอนุญาตให้ใช้ยาผง ในเมื่อเป็นแผลพุพอง หรือกลิ่นตัวแรง เพื่อมิให้แผลติดจีวร สำหรับภิกษุผู้ไม่อาพาธ ทรงอนุญาตให้ใช้มูลโค (แห้ง) ดิน (แห้ง) และกากเครื่องย้อม ทรงอนุญาตครก สาก และแล่ง(สำหรับร่อนยาผง) เพื่อการนี้

              ๑๐. ทรงอนุญาตเนื้อสัตว์ดิบ โลหิตดิบ ในเมื่ออาพาธ เนื่องด้วยอมนุษย์

              ๑๑. ทรงอนุญาตยาตา และกลักยาตา สำหรับภิกษุผู้อาพาธเป็นโรคตา แต่ห้ามมิให้ใช้กลักยาตา ที่ทำด้วยเงินทองแบบของคฤหัสถ์ กับทรงอนุญาตฝาปิดกลักยาตา และให้ใช้ด้ายพันกันฝาตก กับทรงอนุญาตให้ใช้ไม้ป้ายยาตาและถุงใส่ไม้ป้ายยาตา รวมทั้งสายสำหรับสะพายคล้องบ่า

              ๑๒. ทรงอนุญาตให้ทาน้ำมันที่ศีรษะ เมื่อเป็นโรคร้อนศีรษะ และอนุญาตให้นัตถุ์ยา และกล้องยานัตถุ์ แต่กล้องยานัตถุ์ ห้ามใช้ที่ทำด้วยทองเงินหรืองดงามแบบของคฤหัสถ์, ทรงอนุญาตกล้องยานัตถุ์ที่มีหลอดคู่. ทรงอนุญาตให้สูดควัน (ของยา) ทางจมูก, ทรงอนุญาตกล้องยาสูบ (ที่ใช้รักษาโรค) แต่ไม่ให้ใช้กล้องที่ทำด้วยทองเงินหรืองดงามแบบคฤหัสถ์, ทรงอนุญาตให้มีเครื่องปิดกล้องยาสูบ (เพื่อกันสัตว์เข้าไปข้างใน), ทรงอนุญาตถุงใส่กล้องยาสูลและถุงคู่ รวมทั้งสายสำหรับสะพายคล้องบ่า

              ๑๓. ทรงอนุญาตให้เคี่ยวน้ำมัน (ทำยา) และทรงอนุญาตให้เติมน้ำเมาลงในน้ำมันที่จะทำยาได้ โดยมีเงื่อนไขว่า น้ำเมาที่ใส่นั้น สีกลิ่นรสไม่ปรากฏ. ทรงอนุญาตภาชนะสำหรับใส่น้ำมันที่ทำด้วยโลหะ, หรือผลไม้. ทรงอนุญาตการทำให้เหงื่อออก ตั้งแต่อย่างธรรมดาถึงอย่างเข้ากระโจม โดยมีถาดน้ำร้อนอยู่ในนั้น

              ๑๔. ทรงอนุญาตให้นำเลือดออกด้วยใช้เขาควายดูด. (คือการกอก ได้แก่เจาะเลือดออกเล็กน้อย แล้วใช้เขาควายกดลงไปให้ดูดเลือดออก ในอรรถกถาไม่ได้บอกว่าต้องจุดไฟด้วยหรือไม่ ตามธรรมดาการทำเช่นนี้ต้องจุดไฟที่เศษกระดาษหรือเชือ้ไฟอื่น ๆ เพื่อไล่อากาศ เขาควายจึงมีแรงดูด)

              ๑๕. ทรงอนุญาตยาทาเท้า เมื่อเท้าแตก และอนุญาตให้ปรุงยาทาเท้าได้

              ๑๖. ทรงอนุญาตการผ่าฝี และอนุญาตกระบวนการทั้งปวงที่เนื่องด้วยแผลผ่าตัดนั้น

              ๑๗. ทรงอนุญาตยา ๔ ชนิด ในขณะถูกงูกัด คือ มูตร (ปัสสาวะ) คูถ (อุจจาระ) ขี้เถ้าและดินในขณะรีบด่วนเช่นนั้น ถ้าไม่มีคนทำให้ ให้ถือเอาเองแล้วฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ (ยาชนิดนี้จะเพื่อให้อาเจียนหรืออย่างไร ไม่มีบอกไว้)

              ๑๘. ทรงอนุญาตยาและอาหารอ่อนบางอย่างตามควรแก่โรคและความต้องการที่จำเป็น เช่น น้ำด่างจากขี้เถ้าของข้าสุกเผา แก้โรคท้องอืด สมอดองน้ำมูตรโค แก้โรคผอมเหลือง, การทาตัวด้วยของหอม แก้โรคผิวหนัง. น้ำข้าวใส, น้ำถั่วต้มที่ไม่ข้น, น้ำถั่วต้มที่ข้นเล็กน้อย, น้ำเนื้อต้ม (เป็นการผ่อนผันให้เหมาะแก่อาพาธ).

ทรงห้ามเก็บเภสัช ๕ ไว้เกิน ๗ วัน

              มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสพระปิลินทวัจฉะ ในฐานะมีอำนาจจิตสูง ใช้อำนาจจิตได้หลายอย่าง พากันถวายเภสัช ๕ คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย เป็นอันมาก ท่านก็แบ่งถวายภิกษุผู้เป็นบริษัทของท่าน ภิกษุเหล่านั้นเก็บของเหล่านี้ใส่ผ้ากรองบ้าง ใส่ถุงบ้าง แขวนไว้บ้าง พาดที่หน้าต่างบ้าง มีหนูรบกวนมาก เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติว่า ภิกษุรับเภสัช ๕ แล้ว จะเก็บไว้บริโภคได้ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าล่วงกำหนดนั้นไป ให้ปรับอาบัติตามควร (คืออาบัติปาจิตตีย์ ส่วนอาหารห้ามเก็บไว้ค้างคืนเพื่อจะฉันแพ้เพียงคืนเดียว).

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ