บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ว่าด้วยหนัง

๒.ว่าด้วยยา
...ของฉันบางอย่าง
...ถอนข้ออนุญาต

๓.ว่าด้วยกฐิน

๔.ว่าด้วยจีวร

๔.ว่าด้วยเหตุการณ์

 

๓. กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน)

              ภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป ซึ่งเป็นผู้ถือการอยู่ป่า, การเที่ยวบิณฑบาต, นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ผ้าเก็บตกมาปะติดปะต่อทำเป็นจีวร) และใช้จีวร ๓ ผืน (ไม่เกินกว่านั้น) เป็นวัตร เดินทางจะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค มาถึงเมืองสาเกต ถึงวันเข้าพรรษา ต้องจำใจจำพรรษาอยู่ในเมืองสาเกตุ มีความระลึกถึงสมเด็จพระบรมศาสดา ออกพรรษาแล้วจึงมาเฝ้าทั้งที่จีวรเปียกน้ำฝน และต้องเดินทางลุยน้ำลุยโคลน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้วกราลกฐินได้. (กราลกฐิน คือลาดไม้สะดึงหรือไม้แบบ ลงไปเอาผ้าทาบ ตัดผ้าตามไม้แบบนั้น แล้วช่วยกันทำจีวรแจกแก่ภิกษุผู้สมควร).

อานิสงส์ ๕ ของภิกษุผู้ได้กราลกฐิน

              ทรงแสดงอานิสงส์ ๕ สำหรับภิกษุผู้ได้กราลกฐิน คือ ๑. ไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุอื่น ตามความในสิกขากบทที่ ๖ อเจลกวรรค ปาจิตตียกัณฑ์ ๒. ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ ตามสิกขาบทที่ ๒ จีวรวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์ ๓. ฉันอาหารรวมกลุ่มกันได้ ตามสิกขาบทที่ ๒ โภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ ๔. เก็บจีวรไว้ได้หลายตัวตามต้องการโดยไม่ต้องวิกัป (คือทำให้เป็นสองเจ้าของ) ตามสิกขาบทที่ ๔ จีวรวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์ และ ๕. ผ้าที่เกิดขึ้นในวัดนั้นเป็นของเธอ (คือเธอมีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง ภิกษุเขตอื่นมาก็ไม่มีสิทธิ).

ทรงให้สวดประกาศกฐิน

              ทรงอนุญาตให้สวดประกาศมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นการสงฆ์ โดยตั้งญัตติ ๑ ครั้ง สวดประกาศขอความเห็นชอบ ๑ ครั้ง (รวมเรียกว่าญัตติทุติยกรรม).

ทรงแสดงเรื่องกฐินเป็นอันกราลและไม่เป็นอันกราล

              ทรงแสดงว่ากฐินไม่เป็นอันกราลด้วยเพียงสักว่า ขีด, ประมาณ, ซักผ้า, กะผ้า, ตัดผ้า, เย็บเนา, เย็บล้มตะเข็บ เป็นต้น รวมทั้งไม่เป็นอันกราลด้วยผ้าที่ทำนิมิต (พูดให้เขาใช้ผ้านั้น ๆ เป็นผ้ากฐิน) และด้วยผ้าที่เลียบเคียงให้เขาถวายเป็นผ้ากฐิน.

              แล้วทรงแสดงว่ากฐินเป็นอันกราลด้วยผ้าใหม่, ผ้าเทียมใหม่, ผ้าเก่า เป็นต้น รวมทั้งการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยอีกหลายประการ.

ข้อกำหนดในการเดาะกฐิน

              ทรงแสดงมาติกา คือแม่บทหรือข้อกำหนดในการเดาะกฐิน (คือเลิกหรือรื้อไม้สะดึงออกได้) รวม ๘ ประการ คือ ๑. เดินทางไปที่อื่นไม่คิดจะกลับมา ๒. ทำจีวรเสร็จแล้ว ๓. ตั้งใจเลิกเรื่องการทำจีวร ๔. จีวรที่กำลังทำอยู่ ทำเสียหรือหายเสีย ๕. ด้วยได้ยินข่าว คือเธอจากไปด้วยคิดจะกลับมาอีก แต่ได้ยินข่าวว่าในวัดที่เธออยู่เขาเลิกทำกันแล้ว ๖. ด้วยหมดหวัง คือหวังว่าจะได้จีวร แต่ก็ไม่สมหวัง ๗. อยู่นอกเขตสีมา คือคิดจะกลับมาที่วัดนั้น จนหมดสมัยของกฐิน และ ๘. เลิกกฐินพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย คือเมื่อพ้นกำหนดก็เป็นอันเลิกกฐินร่วมกัน. (ต่อจากนี้เป็นคำอธิบายมาติกาทั้งแปดโดยพิสดาร). ในตอนท้ายได้สรุปเกี่ยวด้วยปลิโพธ (ความหมายใจหรือห่วงใย) ๒ ประการ คืออาวาสปลิโพธ ความห่วงใยด้วยวัด (คือตั้งใจจะกลับมาที่วัด) กับจีวรปลิโพธ ความห่วงใยด้วยจีวร (คือหมายใจจะทำจีวรภายในกำหนด) ถ้าหมดปลิโพธ ก็เป็นอันเลิกกฐิน.


๑. มีเหตุเกิดขึ้นบ่อย ๆ ภิกษุผู้ไม่รู้วินัยข้อนี้ ชักชวนชาวบ้าน หรือพูดเลียบเคียงให้เขาทอดกฐินในวัดของตน กฐินนั้นก็ไม่เป็นกฐิน คือเป็นโมฆะ ไม่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ถวายผู้รับ ข้อนี้ควรช่วยกันรับรู้ไว้ด้วย

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ