บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระวินัย

พระวินัยเล่ม ๘
ชื่อปริวาร

พระวินัยเล่ม ๘
๑. มหาวิภังค์
โสฬสมหาวาร
๒. ภิกขุนีวิภังค์
โสฬสมหาวาร
๓. สมุฏฐาน
สีสสังเขป
๔. กติปุจฉาวาร
๕. วีสติวาร
๖. ขันธกปุจฉา
๗. เอกุตตริกะ
๘. อุโปสถาทิ
๙. อัตถวเสปกรณ์
๑๐. คาถาสังคณิกะ
๑๑. อธิกรณเภท
๑๒. อปคคาถาสังคณิกะ
๑๔. จูฬสงความ
๑๕. มหาสงความ
๑๖. กฐินเภท
๑๗. อุปาลิปัญจกะ
๑๘. สมุฏฐาน
๑๙. ทุติคาถา
สังคณิกะ
๒๐ . เสทโมจนคาถา
๒๑. ปัญจวัคค์

 

                    เล่มที่ ๘ ชื่อปริวาร ( เป็นพระวินัยปิฏก)

    พระไตรปิฎกเล่มนี้ ๘ นี้ เป็นเล่มสุดท้ายของวินัยปิฎก และมีข้อความที่พึงนำมาย่อไว้เพียงเล็กน้อยเพราะข้อความในเล่มนี้เป็นการย้อนไปกล่าวถึงพระไตรปิฎก ตั้งแต่เล่มที่ ๑ ถึงเล่มที่ ๗ ที่กล่าวมาแล้วนั้นเอง เป็นแต่การย้อนกล่าวในครั้งนี้ เท่ากับประมวลความสำคัญที่น่ารู้ต่าง ๆ มากล่าว ไว้ มีหัวข้อใหญ่ ๆ อยู่ ๒๑ ข้อด้วยกัน คือ  :-

    ๑. มหาวิภังค์โสฬสมหาวาร    เป็นการย้อนกล่าวถึงศีลของภิกษุ ๒๒๗ ข้อ ทีละข้อ อันปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ และ ๒ ซึ่งมีชื่อว่ามหาวิภังค์ โดยตั้งประเด็นไว้ ๒ ส่วน ส่วนละ ๘ ประเด็น รวมเป็น ๑๖ ประเด็น ( โสฬสมหาวาร). ส่วนแรกกับส่วนหลัง ความจริงก็พ้องกันทั้งแปดประเด็น เป็นแต่ว่าส่วนแรกพิจารณาถึงการทำผิดโดยตรง ส่วนหลังพิจารณาถึงผลอันเนื่องมาจากเหตุ คือการทำความผิด หรือกล่าวตาม ศัพท์ที่ปรากฏก็คือ ส่วนหลังพิจารณาปัจจัย คือการทำความผิดนั้น ๆ เป็นปัจจัยหรือเป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้น. ประเด็น ๘ ประเด็นซึ่งมีอยู่ใน ๒ ส่วนนั้น คือ
    ๑. กัตถปัญญัติติวาร    ประเด็นที่ว่า บัญญัติไว้ ณ ที่ไหนหมายถึงสถานที่ ซึ่งทรงบัญญัติสิกขาบท รวมทั้งบุคคลผู้เป็นต้นเหตุให้บัญญัติสิกขาบท, เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นต้น
   ๒. กตาปัตติวาร    ประเด็นที่ว่า เมื่อทำความผิดนั้น ๆ ลงไปแล้ว จะต้องอาบัติอะไรบ้าง เช่น ภิกษุลักทรัพย์ในกรณีเช่นไร ต้องอาบัติปาราชิก อาบัติถุลลัจจัยและอาบัติทุกกฏ
    ๓. วิปัตติวาร   ประเด็นที่ว่าการทำความผิดนั้น ๆ จะเป็นศีลวิบัติ ความบกพร่องทางศีล หรือาจารวิบัติ ความบกพร่องทางความประพฤติ เป็นต้น
    ๔. สังคหิตวาร    ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้น ๆ สงเคราะห์หรือจัดเข้ากับกองอาบัติอะไร
   ๕. สมุฏฐาน   ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้นเกิดขึ้น หรือมาสมุฏฐานทางกาย, วาจา, หรือใจ
   ๖. อธิกรณวาร    ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้น ๆ เป็นอธิกรณ์ประเภทไหน ใน ๔ ประเภท
   ๗. สมถวาร    ประเด็นที่ว่า การทำความผิดที่เป็นอธิกรณ์นั้น ๆ จะระงับด้วยวิธีระงับ ๗ อย่าง ข้อไหนบ้าง
   ๘. สมุจจยวาร   คือกล่าวซ้ำ ๗ ข้อแรกอีกครั้งหนึ่ง. ในส่วนที่ ๒ อีก ๘ ประเด็น ก็ทำนองเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนหลักการเล็กน้อยว่า เพราะปัจจัยแห่งการทำความผิดนั้นจะมีผลเป็นอย่างไรบ้าง.

    ๒. ภิกขุนีวิภังค์โสฬสมหาวาร   เป็นการย้อนกล่าวถึงศีลของนางภิกษุณีแต่ละข้อ อันปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ซึ่งมีชื่อว่าภิกขุนีวิภังค์ โดยตั้งปนะเด็นไว้เป็น ๒ ส่วน ส่วนละ ๘ ประเด็น เช่นเดียวกับของภิกษุ.

    ๓. สมุฏฐานสีสสังเขป    เป็นการรวบรวมสิกขาบททั้งหมดมากล่าวเฉพาะเรื่องสมุฏฐาน คือทางกาย, ทางวาจา , หรือทางจิต โดยจัดเป็นหมวดหมู่ว่า พวกใดบ้างเกิดจากสมุฏฐาน ๑ หรือสมุฏฐาน ๒ หรือสมุฏฐาน ๓ หรือสมุฏฐานผสมอื่น ๆ ในข้อ ๓ ข้อนั้น.

    ๔. กติปุจฉาวาร    เป็นการตั้งคำถามว่า เรื่องนั้น ๆ ทีเท่าไร เช่น อาบัติมีเท่าไร แล้วตอบเป็นประเด็น ๆ ไป เป็นต้น.

    ๕. วีสติวาร   ( แปลตามศัพท์ว่า ๒๐ วาระ ถอดความว่า ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยไว้ ๑๐ ประเด็น) เป็นการตั้งคำถาม แล้วตอบในเรื่องเกี่ยวกับอาบัติ, ที่เกิดแห่งอาบัติ, อธิกรณ์ , วิธีระงับอธิกรณ์ เป็นต้น รวม ๒๐ ประเด็น.

    ๖. ขันธกปุจฉา   คำถาม คำตอบ เกี่ยวกับขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ ถึงเล่มที่ ๗ คือทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์ รวมทั้งสิ้น ๒๒ หมวด หรือ ๒๒ ขันธกะ ว่าในแต่ละหมวดนั้น ๆ กล่าวถึงอาบัติไว้กี่ประเภท.

    ๗. เอกุตตริกะ   เป็นการชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับพระวินัยด้วยตัวเลข คือ หมวด ๑ มีอะไรบ้างที่เป็นข้อเดียว หมวด ๒ มีอะไรบ้างที่เป็น ๒ ข้อ หมวด ๓ มีอะไรบ้างที่เป็น ๓ ข้อ ดังนี้เรื่อยไปจนถึงหมวด ๑๑ มีอะไรบ้าง ที่เป็น ๑๑ ข้อ เช่น อุโบสถ ๒ คือ ๑๔ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ, ปวารณา ๒ คือ ๑๔ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ , เป็นต้น กรรม ๒ คือ อปโลกนกรรม ( การบอกกล่าว) ญัตติกรรม ( การเสนอญัตติ) เหล่านี้เป็นต้น ก็อยู่ในหมวด ๒ รองเท้า ๑๑ ชนิดที่เป็นของไม่ควรมีอะไรบ้าง บุคคล ๑๑ ประเภทไม่ควรไหว้มีอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ก็อยู่ในหมวด ๑๑.

    ๘. อุโปสถาทิ   ปุจฉาวิสัชชนา คำถาม คำตอบเรื่องอุโบสถ เป็นต้น เช่น ถามว่า อะไรเป็นเบื้องต้นเป็นท่ามกลาง เป็นที่สุดแห่งการทำอุโบสถ แล้วตอบว่า ความสามัคคีเป็นเบื้องต้น การกระทำเป็นท่ามกลาง และการจบเป็นที่สุดแห่งการทำอุโบสถ. ถามว่า อะไรเป็นเบื้องต้น เป็นท่ามกลาง เป็นที่สุดแห่งการบวช ตอบว่า บุคคลเป็นเบื้องตน การเสนอญัตติ ( ขอทาบทามสงฆ์) เป็นท่ามกลาง กัมมวาจา ( การสวดประกาศข้อความตกลงใจ หรือขออนุมัติสงฆ์) เป็นที่สุด.

    ๙. อัตถวเสปกรณ์   กล่าวถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ ๑. เพื่อความดีงามแห่งสงฆ์ ๒ . เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อข่มคนที่เก้อยาก ( หน้าด้าน) ๔. เพื่ออยู่สบายของภิกษุผุ้มีศีลเป็นที่รัก ๕. เพื่อป้องกันอาสวะ ( กิเลสที่หมักหมมในจิต) ปัจจุบัน ๖. เพื่อป้องกันอาสวะในอนาคต ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘ . เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย.

    ๑๐. คาถาสังคณิกะ    หมวดหรือชุมนุมแห่งคาถาคือคำฉันท์ ที่แสดงคำถาม คำตอบของพระอาจารย์ ผู้สังคายนาพระวินัยว่า สิกขาบทเท่าไรที่ยกขึ้นสวด ( ปาฏิโมกข์) และพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ในกี่นคร มีนครอะไรบ้าง และในนครไหนบัญญัติไว้กี่สิกขาบท. ( คำประพันธ์นี้มีประโยชน์ช่วยความจำได้ดียิ่ง. ทั้งส่วนวินัยของภิกษุและภิกษุณี).

    ๑๑. อธิกรณเภท   ว่าด้วยประเภทแห่งอธิกรณ์ การรื้อฟื้นอธิกรณ์ มูลแห่งอธิกรณ์ อาบัติที่เนื่องในอธิกรณ์ทั้งสี่ประเภท วิธีระงับอธิกรณ์ ( ซึ่งเคยกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น เป็นแต่นำจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่).

    ๑๒. อปคคาถาสังคณิกะ    หมวดหรือชุมนุมคาถาหรือบทประพันธ์อื่นอีก เป็นการประพันธ์คำอธิบายเป็นคำฉันท์ เพื่อช่วยความจำ เกี่ยวกับการโจทฟ้อง การถามให้ระลึก เป็นต้น รวมทั้งลักษณะที่จะนับว่าเป็นอลัชชี.

    ๑๓. โจทนากัณฑ์   ว่าด้วยวิธีโจทฟ้องว่าจะทำอย่างไร ภิกษุผู้โจท ผู้ถูกโจทและสงฆ์จะควรทำอย่างไร.

    ๑๔. จูฬสงความ   ว่าด้วยปฎิบัติของภิกษุผู้ถูกฟ้อง เท่ากับเป็นผู้สู่สงความ ความเจียมตนปฏิบัติอย่างไร ตลอดถึงการฟ้อง การวินิจฉัย.

    ๑๕. มหาสงความ    ว่าด้วยข้อปฏิบัติหรือหน้าที่ที่ควรรู้อื่นอีกของภิกษุฟ้อง ซึ่งเท่ากับเป็นผู้เข้าสู่สงคราม มีรายละเอียดมากขึ้นกว่าที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑๔.

    ๑๖. กฐินเภท   ประเภทแห่งกฐิน ใครกราลไม่ได้ ใครกราลได้ กฐินไม่เป็นอันกราลอย่างไร เป็นอันกราลอย่างไร รวมทั้งหัวข้อควรจำต่าง ๆ เกี่ยวกับกฐิน ( ความจริงกล่าวไว้แล้วในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่ม ๔ แต่นำมาตั้งเป็นหมวดเป็นหมู่ให้จำง่ายอีก).

    ๑๗. อุปาลิปัญจกะ    ว่าด้วยคำกราบทูลถามของพระอุบาลี พระดำรัสตอบของพระผู้มีพระภาคซึ้งเป็นข้อกำหนด ๕ ข้อตลอด รวมทั้งสิ้น ๑๔ หมวด หรือ ๑๔ วรรค คือหมวด ๑ ว่าด้วยภิกษุที่ไม่ควรให้นิสสัย คือไม่ควรรับไว้ในปกครอง หมวด ๒ ว่าด้วยภิกษุที่ถูกลงโทษแล้ว ไม่ควรระงับการลงโทษ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่ควรว่าคดีในสงฆ์ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการแสดงความเห็นแย้ง ( ทิฏฐาวิกัมม์) อย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม หมวดที่ ๕ ว่าด้วยภิกษุผู้โจทฟ้องภิกษุอื่น หมวดที่ ๖ ว่าด้วยการประพฤติธุดงค์ ๑๓ ข้อ ( ขัดเกลากิเลส) มีการอยู่ป่า เป็นต้น หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการพูดปด หมวดที่ ๘ ว่าด้วยการให้โอวาทแก่นางภิกษุณี หมวดที่ ๙ ว่าด้วยอุพพาหิกา คือการมอบหมายให้แยกออกไปทำการแทนสงฆ์ หรือการตั้งผู้แทนสงฆ์ไปวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในเมื่อที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะมีเสียงอื้ออึง เป็นต้น ( เทียบด้วยการตั้งกรรมาธการหรืออนุกรรมการ ) ภิกษุผู้ควรได้รับมอบหมายงานนี้ ควรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างมีอะไรบ้าง. หมวดที่ ๑๐ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยสงฆ์แตกกัน ตอนที่ ๑ หมวดที่ ๑๒    ว่าด้วยสงฆ์แตกกัน ตอนที่ ๒ หมวดที่ ๑๓ ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นหรือประจำอยู่ในวัด หมวดที่ ๑๔ ว่าด้วยการกราลกฐิน .

    ๑๘. สมุฏฐาน   ว่าด้วยสมุฏฐานแห่งอาบัติและการออกจากอาบัติ.

    ๑๙. ทุติคาถาสังคณิกะ    หมวดหรือชุมนุมคาถาหรือคำฉันท์ที่ ๒ เป็นการประพันธ์หัวข้อ และคำอธิบายเกี่ยวกับพระวินัย เพื่อจำง่ายอีกหลายอีกประเด็น ยากกว่าที่เคยมีมาแล้วในตอนต้น ( ความจริงน่าจะเรียกว่าตอน ๓ เพราะข้างต้นมี ๒ ตอนอยู่แล้ว ได้แก่หมายเลข ๑๐ กับเลข ๑๒ แต่อาจจะถือว่า ๒ ตอนแรกรวมเป็น ๑ ตอนก็ได้).

    ๒๐ . เสทโมจนคาถา    คาถาเหงื่อแตก คือคำประพันธ์ตั้งปัญหาวินัยให้คิดชนิดยาก ๆ ( แบบกลเถรอดเพล คือคิดไม่ออกจนอดข้าวกลางวัน ) รวม ๔๓ ข้อ และมิได้เฉลยไว้ (คำอธิบายมีอยู่ในอารรถกา).

    ๒๑. ปัญจวัคค์   ว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ รวม ๕ หมวด หรือ ๕ วรรค คือวรรคที่ ๑ ว่าด้วยกรรม คืการทำกรรมของสงฆ์ชนิดต่าง ๆ วรรคที่ ๒ ว่าด้วยความมุ่งหมายในการบัญญัติสิกขาบท วรรคที่ ๓ ว่าด้วยการบัญญัติให้ทำสิ่งนี้ในทางพระวินัย วรรคที่ ๔ ว่าด้วยสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร วรรคที่ ๕ ว่าด้วยการสงเคราะห์หรือการรวม ( SYNTHESIS )   เรื่องต่าง ๆ รวม ๙ ประเภท.

    ( ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระไตรปิฎก เล่ม ๘ อันมีชื่อว่าปริวารนั้น ไม่มีอะไรใหม่ เป็นแต่นำเรื่องที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๗ นั้นเอง มากล่าวใหม่ โดยจัดหมวดหมู่ หรือตั้งประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งให้จำง่ายเข้าใจง่าย ในที่นี้จึงได้ขยายความให้พิสดารอย่างเล่มอื่น ๆ คงย่อรวบรัด พอให้เห็นหมวดหมู่และหน้าตาของพระไตรปิฎกเล่มนี้).

    วินัยปิฎกเริ่มแต่เล่มที่ ๑ ถึงเล่มที่ ๘ จบลงเพียงเท่านี้ ต่อไปเป็นสุตตันตปิฎก ตั้งแต่เล่มที่ ๙ ถึงเล่ม ๓๓ รวม ๒๕ เล่ม.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ