บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑.เวชรัญชกัณฑ์

๒.ปฐมปาราชิกกัณฑ์

๓.ทุติยปาราชิกกัณฑ์

๔.ตติยปาราชิกกัณฑ์

๕.จตุตถปาราชิกกัณฑ์

๖.เตรสกัณฑ์
...๑.ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
...๒.ห้ามจับต้องกายหญิง
...๓.ห้ามพูดเกี้ยวหญิง
...๔.ห้ามพูดล่อหญิง..
...๕.ห้ามชักสื่อ
...๖.ห้ามสร้างกุฏิด้วยการขอ
...๗.ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดย..
...๘.ห้ามโจทอาบัติปราชิก..
...๙.ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ
..๑๐.ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน
..๑๑.ห้ามเป็นพรรคพวกของ..
..๑๒.ห้ามประทุษร้ายสกุล..

คฤหัสถ์ ๗ อนิยตกัณฑ์
...๑.นั่งในที่ลับตากับหญิง..
...๒.นั่งในที่ลับหูกับหญิง..

 

๒. ปฐมปาราชิกกัณฑ์
(ว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๑)

              สมัยนั้นมีหมู่บ้านนามว่ากลันทะ ตั้งอยู่ไม่ไกลเมืองเวสาลี มีบุตรเศรษฐีผู้เป็นบุตรชาวกลันทะ นามว่าสุทินนะ, สุทินนะ (ผู้มีคำต่อท้ายชื่อว่าบุตรชาวกลันทะ) พร้อมด้วยสหายไปสู่กรุงเวสาลี เห็นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม จึงแวะเข้าไปสดับธรรมะ มีความเลื่อมใสใคร่จะออกบวช จึงกราบทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา แต่พระศาสดายังไม่ประทานอนุญาตให้บวช เพราะมารดาบิดายังไม่อนุญาต. สุทินนะจึงกลับไปขออนุญาตท่านมารดาบิดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดิม สุทินนะจึงนอนลงกับพื้น อดอาหารถึง ๗ วัน มารดาบิดาอ้อนวอนให้ล้มความตั้งใจ ก็ไม่ยอม พวกเพื่อน ๆ มาอ้อนวอน ก็ไม่ยอม ในที่สุด พวกเพื่อน ๆ อ้อนวอนให้มารดาบิดาของสุทินนะอนุญาต ก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ออกบวช ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดอยู่ทางวัชชีคาม.

              ครั้งนั้น แคว้นวัชชี (ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี) เกิดทุพภิกขภัย พระสุทินนะมีญาติเป็นคนมั่งคั่งมาก เมื่อเดินทางไปถึงกรุงเวสาลี ญาติ ๆ ทราบข่าวก็นำอาหารมาถวายเหลือเฟือ พระสุทินนะก็ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายอีกต่อหนึ่งแล้วเดินทางไปกลันทคาม (ตำบลบ้านเดิมของตน). ความทราบถึงมารดา บิดา, บิดาจึงนิมนต์ไปฉัน มารดาก็นำทรัพย์สมบัติมาล่อเพื่อให้สึก พระสุทินนะไม่ยอมจึงไม่สำเร็จ. ต่อมามารดาพระสุทินนะรอจนภริยาของพระสุทินนะ (ตั้งแต่ในสมัยยังไม่ได้บวช) มีระดู ได้กำหนดจะมีบุตรได้ จึงพานางไปหาพระสุทินนะที่ป่ามหาวัน ชวนให้สึกอีก พระสุทินนะไม่ยอม จึงกล่าวว่า ถ้าไม่สึกก็ขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล. ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินนะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พอทำได้ เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล จึงเสพเมถุนด้วยภริยาของตน ซึ่งต่อมานางตั้งครรภ์และคลอดบุตร. บุตรของพระสุทินนะจึงได้นามว่าเจ้าพืช. ภริยาของพระสุทินนะ ก็ได้นามว่ามารดาของเจ้าพืช. ต่อมาทั้งมารดาและบุตรออกบวชได้สำเร็จอรหัตตผลทั้งสองคน.

              กล่าวถึงพระสุทินนะเกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม ภิกษุทั้งหลายถามทราบความ จึงพากันติเตียน และนำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนเรื่องนั้น ทรงติเตียนแล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

              ต่อมามีภิกษุวัชชีบุตร ชาวกรุงเวสาลี เข้าใจว่าห้ามเฉพาะเสพเมถุนกับมนุษย์ จึงเสพเมถุนด้วยนางลิง ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติเพื่อเติมให้ชัดขึ้นว่า ห้ามแม้ในสัตว์ดิรัจฉาน.

              ภิกษุเสพเมถุนขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว ภายหลังขอเข้าอุปสมบทอีก พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติมิให้อุปสมบทแก่ผู้เช่นนั้น.

              ต่อจากนั้น มีคำอธิบายตัวสิกขาบทอย่างละเอียดทุก ๆ คำ พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างประกอบ.

              ภิกษุ ๕ ประเภท ไม่ต้องอาบัติ คือ ๑. ภิกษุผู้ไม่รู้ตัว (หรือถูกบังคับแต่ไม่ยินดี) ๒. ภิกษุผู้เป็นบ้า ๓. ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน (หมายถึงเป็นบ้าไปชั่วขณะด้วยเหตุอื่น ไม่ใช่บ้าโดยปกติ อรรถกถาแก้ว่า ผีเข้า ในสมัยนี้เทียบด้วยเป็นบ้าเพราะฤทธิ์ยาบางชนิด) ๔. ภิกษุผู้มีเวทนากล้า ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง ๕. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

              ต่อจากนั้น มีการแสดงตัวอย่างที่ภิกษุทำไปเกี่ยวกับสิกขาบทนี้ ในลักษณะต่าง ๆ กัน และพระผู้มีพระภาคทรงวินิจฉัย ไต่สวน และชี้ขาดว่า ต้องอาบัติบ้าง ไม่ต้องอาบัติบ้าง ตามเงื่อนไขทางพระวินัยทั้งหมดมีประมาณ ๗๒ เรื่อง.


๑. พระสุทินนะไม่ต้องอาบัติ เพราะเป็นต้นบัญญัติ ไม่มีการปรับอาบัติย้อนหลัง

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ