บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑.เวชรัญชกัณฑ์

๒.ปฐมปาราชิกกัณฑ์

๓.ทุติยปาราชิกกัณฑ์

๔.ตติยปาราชิกกัณฑ์

๕.จตุตถปาราชิกกัณฑ์

๖.เตรสกัณฑ์
...๑.ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
...๒.ห้ามจับต้องกายหญิง
...๓.ห้ามพูดเกี้ยวหญิง
...๔.ห้ามพูดล่อหญิง..
...๕.ห้ามชักสื่อ
...๖.ห้ามสร้างกุฏิด้วยการขอ
...๗.ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดย..
...๘.ห้ามโจทอาบัติปราชิก..
...๙.ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ
..๑๐.ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน
..๑๑.ห้ามเป็นพรรคพวกของ..
..๑๒.ห้ามประทุษร้ายสกุล..

คฤหัสถ์ ๗ อนิยตกัณฑ์
...๑.นั่งในที่ลับตากับหญิง..
...๒.นั่งในที่ลับหูกับหญิง..

 

๕. จตุตถปาราชิกกัณฑ์
(ว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๔)

              เริ่มเรื่องว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี สมัยนั้นมีภิกษุหลายรูป ที่ชอบพอเป็นมิตรสหายกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา. สมัยนั้น เกิดทุพภิกขภัย ในแคว้นวัชชี (ราชธานี ชื่อกรุงเวสาลี) ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรดี.

              บางรูปเห็นว่า ควรช่วยแนะนำกิจการงานของคฤหัสถ์ บางรูปเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูต (คือนำความข้างนี้ไปบอกข้างนั้น นำความข้างนั้นมาบอกข้างนี้ (คล้ายบุรุษไปรษณีย์) บางรูปเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟังว่า ภิกษุรูปนั้นรูปนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ เป็นต้น จนถึงว่าได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖. เมื่อเห็นว่าวิธีหลังนี้ดี จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง จึงได้รับเลี้ยงดูจากคฤหัสถ์ชาวริมน้ำวัคคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณผ่องใส เอิบอิ่ม. เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเก็บเสนาสนะ เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ กรุงเวสาลี.

              ปรากฏว่าภิกษุที่มาแต่ทิศทางอื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณทราม มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด ส่วนภิกษุที่มาจากฝั่งน้ำวัคคุมุทา กลับอิ่มเอิบ อ้วนพี พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามทุกข์สุข และทรงทราบเรื่องนั้น จึงตรัสติเตียนและตรัสเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรื่องมหาโจร ๕ ประเภท เปรียบเทียบกับภิกษุ คือ

มหาโจร ๕ ประเภท

              ๑. มหาโจรพวกหนึ่งคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะเข้าไปฆ่า, ปล้น, เอาไฟเผาในคามนิคมราชธานี. ต่อมาก็รวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันเข้าไปฆ่าปล้น เอาไฟเผาในคามนิคม ราชธานี เทียบด้วยภิกษุบางรูปคิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะจาริกไปในคามนิคม ราชธานี ให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค ต่อมาก็รวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพันจากริกไปในคามนิคม ราชธานี มีคฤหัสถ์บรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค. นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๑ (ซึ่งมีความปรารถนาลาภสักการะ แล้วก็ทำอุบายต่าง ๆ จนได้สมประสงค์).

              ๒. ภิกษุชั่วบางรูปเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็โกงเป็นของตนเอง (แสดงว่าตนคิดได้เอง ไม่ได้เรียนหรือศึกษาจากใคร). นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๒.

              ๓. ภิกษุชั่วบางรูปใส่ความเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ด้วยข้อหาว่า ประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมล. นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๓.

              ๔. ภิกษุชั่วบางรูปเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร (ที่ห้ามแจกห้ามแบ่ง) เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์คฤหัสถ์ ประจบคฤหัสถ์ (พราะเห็นแก่ลาภ). นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๔.

              ๕. ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย.

              ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทาด้วยประการต่าง ๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวสารภาพผิดทีหลัง ก็ต้องอาบัติปาราชิก.

อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)

              สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปสำคัญผิดว่าตนได้บรรลุคุณพิเศษ จึงประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ (พยากรณ์อรหัตตผล) สมัยต่อมา จิตของเธอน้อมไปเพื่อราคะ โทสะ โมหะ ก็เกิดความรังเกียจ สงสัยว่า การประกาศตนว่าได้บรรลุคุณวิเศษ ด้วยความสำคัญผิด จะทำให้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม ยกเว้นให้สำหรับภิกษุผู้สำคัญผิดว่าได้บรรลุ.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียดแล้วแสดงอนาบัติ (การไม่ต้องอาบัติ) ๖ ประการ คือ ๑. เพราะสำคัญผิดว่าได้บรรลุ ๒. ภิกษุมิได้มีความประสงค์โอ้อวด (เช่น บอกเล่าแก่เพื่อพรหมจารี) โดยมิได้มีความปราถนาจะได้ลาภ) ๓. ภิกษุเป็นบ้า ๔. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน (เป็นบ้าไปชั่วคราวเพราะเหตุใด ๆ) ๕. ภิกษุมีเวทนากล้า (ไม่รู้สึกตัว) และ ๖. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.

วินีตวัตถุ (เรื่องที่ทรงวินิจฉัยชี้ขาด)

              ต่อจากนั้น แสดงตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยการกระทำของภิกษุที่เนื่องด้วยสิกขาบทนี้ ประมาณ ๗๕ ราย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงไต่สวนเอง ทรงวินิจฉัยชี้ขาดว่า ต้องอาบัติปาราชิกบ้าง ไม่ต้องอาบัติปาราชิกบ้าง ต้องอาบัติถุลลัจจัยบ้าง อาบัติทุกกฏบ้าง ตามควรแก่กรณี.

              (สรุปความว่า อาบัติปาราชิกมี ๔ สิกขาบท ต้องเข้าแล้ว ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ แม้สึกไปแล้ว จะมาบวชใหม่อีก ก็ไม่ได้).


๑. เป็นสมัยเดียวกับที่กล่าวถึงในข้อ ๒ ปฐมปาราชิกกัณฑ์ อันว่าด้วยปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ตอนที่ เล่าเรื่องพระสุทินนะ
๒. เป็นสมัยที่ภิกษุไม่ดีมีขึ้นหลายรูปแล้ว

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ