บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑.เวชรัญชกัณฑ์

๒.ปฐมปาราชิกกัณฑ์

๓.ทุติยปาราชิกกัณฑ์

๔.ตติยปาราชิกกัณฑ์

๕.จตุตถปาราชิกกัณฑ์

๖.เตรสกัณฑ์
...๑.ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
...๒.ห้ามจับต้องกายหญิง
...๓.ห้ามพูดเกี้ยวหญิง
...๔.ห้ามพูดล่อหญิง..
...๕.ห้ามชักสื่อ
...๖.ห้ามสร้างกุฏิด้วยการขอ
...๗.ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดย..
...๘.ห้ามโจทอาบัติปราชิก..
...๙.ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ
..๑๐.ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน
..๑๑.ห้ามเป็นพรรคพวกของ..
..๑๒.ห้ามประทุษร้ายสกุล..

คฤหัสถ์ ๗ อนิยตกัณฑ์
...๑.นั่งในที่ลับตากับหญิง..
...๒.นั่งในที่ลับหูกับหญิง..

 

ความย่อแห่งพระไตรปิฎก
              การย่อความแห่งพระไตรปิฎกได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอนติดต่อในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน คือตอนแรกย่อความพอให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกแต่ละเล่ม ตั้งแต่เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๔๕ ว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง เป็นการสำรวจอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งก่อน ในตอนที่ ๒ จึงขยายความให้พิสดารพอที่จะรู้เรื่องพระไตรปิฎก เหมือนกับได้อ่านเอง ตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้าย การย่อความในตอนที่ ๒ นี้ ท่านผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนหนึ่งได้ท่องเที่ยวไปในพระไตรปิฎก เก็บใจความสำคัญได้ตลอด โดยวิธีนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นหน้าตาของพระไตรปิฎกชัดเจนขึ้น. โดยปกติพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มนั้น มากไปสำหรับคนทั่วไป จะอ่านให้จบทุกเล่ม แต่ถ้าเก็บใจความสำคัญมากล่าวไว้ดั่งที่ทำในภาคนี้ ก็จะช่วยให้สะดวกในการอ่าน การถือเอาความยิ่งขึ้น.

              มีข้อที่ขอซ้อมความเข้าใจไว้ในที่นี้ คือ

วินัยปิฎก                   ตั้งแต่เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๘ รวม ๘ เล่ม

สุตตันตปิฎก               ตั้งแต่เล่ม ๙ ถึงเล่ม ๓๓ รวม ๒๕ เล่ม

อภิธัมมปิฎก               ตั้งแต่เล่ม ๓๔ ถึงเล่ม ๔๕ รวม ๑๒ เล่ม

              รวมเป็นเล่มพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม

              ต่อนี้ไป ขอเชิญท่านอ่านความย่อตอนที่ ๑ ต่อไป.

-----------------------------------------------

เล่มที่ ๑ ชื่อมหาวิภังค์ (เป็นวินัยปิฎก)
              ได้กล่าวไว้แล้วในภาค ๑ ว่าด้วยความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ว่าวินัยปิฎกนั้น ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุและภิกษุณี. เมื่อจะกล่าวโดยเรียงลำดับเล่ม วินัยปิฎก ๘ เล่มนั้น เล่ม ๑ เล่ม ๒ มีชื่อว่ามหาวิภังค์ หรือภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยศีล ๒๒๗ ของภิกษุ เล่ม ๓ มีชื่อว่าภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยศีล ๓๑๑ ของนางภิกษุณี เล่ม ๔ เล่ม ๕ มีชื่อว่ามหาวัคค์ แปลว่า วรรคใหญ่ หรือพวกใหญ่ คือว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสงฆ์ ที่เป็นเรื่องสำคัญ ๆ และต้องทำเสมอ เช่น เรื่องจีวร, เรื่องอุโบสถ, ปวารณา, การจำพรรษา. เล่ม ๖ เล่ม ๗ มีชื่อว่า จุลลวัคค์ แปลว่า วรรคเล็ก หรือพวกเล็ก คือว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสงฆ์ที่มีความสำคัญรองลงมา จนถึงเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น เรื่องข้อวัตรต่าง ๆ เรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น ส่วนเล่มสุดท้าย คือเล่มที่ ๘ มีชื่อว่าปริวาร เป็นการรวบรวมความรู้ในวินัยปิฎกทั้งเจ็ดเล่มข้างต้น จัดเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย. สมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ เรียกมหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ รวมกันว่า สุตตวิภังค์.

              เฉพาะเล่ม ๑ มีการแบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ ให้ชื่อว่ากัณฑ์ รวมทั้งสิ้น ๗ กัณฑ์ คือ

              ๑. เวรัญชกัณฑ์ เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชา จนถึงเรื่องพระสาริบุตรของให้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา จนถึงเสด็จออกจากเมืองเวรัญชา ไปยังกรุงพาราณสี (ราชธานีแห่งแคว้นกาสี) และเสด็จถึงกรุงเวสาลี (ราชธานีแห่งแคว้นวัชชี) ในที่สุด.

              ๒. ปฐมปาราชิกกัณฑ์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ คือสิกขาบทที่ห้ามภิกษุเสพเมถุน พร้อมทั้งเรื่องราวที่ทรงแก้ไขเพิ่มเติม วินิจฉัย ไต่สวน และตัดสินเป็นราย ๆ ไป.

              ๓. ทุติยปาราชิกกัณฑ์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ คือสิกขาบทที่ห้ามมิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ตั้งแต่ราคา ๕ มาสกขึ้นไป พร้อมทั้งเรื่องราวที่ทรงแก้ไขเพิ่มเติม วินิจฉัย ไต่สวน และติดสินเป็นราย ๆ ไป.

              ๔. ตติยปาราชิกกัณฑ์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ คือสิกขาบทที่ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์ พร้อมทั้งเรื่องราวที่ทรงแก้ไขเพิ่มเติม วินิจฉัย ไต่สวน และตัดสินเป็นราย ๆ ไป.

              ๕. จตุตถปาราชิกกัณฑ์ ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ ห้ามมิให้ภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน พร้อมทั้งเรื่องราวที่ทรงวินิจฉัย ไต่สวน และตัดสินเป็นราย ๆ ไป.

              ๖. เตรสกัณฑ์ แปลว่า กัณฑ์อันว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ อาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติหนักรองลงมาจากอาบัติปาราชิก เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดไว้ แล้วอยู่มานัตต์อีก ๖ ราตรี เสร็จแล้วจึงประชุมสงฆ์ ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป ทำพิธีสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส. ทั้งสิบสามข้อนี้ ได้มีการบรรยายความเป็นมา ที่เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงแก้ไขเพิ่มเติม วินิจฉัย ไต่สวน และตัดสินเป็นราย ๆ ไป.

              ๗. อนิยตกัณฑ์ แปลว่า กัณฑ์อันว่าด้วยอาบัติซึ่งไม่แน่ว่าจะต้องอาบัติอะไรใน ๒-๓ ประการ สุดแต่กรณีแวดล้อมจะให้ตัดสินว่าต้องอาบัติอะไร อนิยตหรือสิกขาบทที่ว่าด้วยอาบัติอันไม่แน่นี้ มี ๒ สิกขาบท.

              รวมความว่า ใน มหาวิภังค์ หรือวินัยปิฎก เล่ม ๑ นี้ แสดงความเป็นมาแห่งการบัญญัติสิกขาบท ว่าด้วยอาบัติปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ รวมเป็น ๑๙ ข้อ.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ