บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑.เวชรัญชกัณฑ์

๒.ปฐมปาราชิกกัณฑ์

๓.ทุติยปาราชิกกัณฑ์

๔.ตติยปาราชิกกัณฑ์

๕.จตุตถปาราชิกกัณฑ์

๖.เตรสกัณฑ์
...๑.ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน
...๒.ห้ามจับต้องกายหญิง
...๓.ห้ามพูดเกี้ยวหญิง
...๔.ห้ามพูดล่อหญิง..
...๕.ห้ามชักสื่อ
...๖.ห้ามสร้างกุฏิด้วยการขอ
...๗.ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดย..
...๘.ห้ามโจทอาบัติปราชิก..
...๙.ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ
..๑๐.ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน
..๑๑.ห้ามเป็นพรรคพวกของ..
..๑๒.ห้ามประทุษร้ายสกุล..

คฤหัสถ์ ๗ อนิยตกัณฑ์
...๑.นั่งในที่ลับตากับหญิง..
...๒.นั่งในที่ลับหูกับหญิง..

 

สิกขาบทที่ ๗
(ห้ามสร้างวิหารใหญ่โดยสงฆ์มิได้กำหนดที่)

              เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี. ครั้งนั้น คฤหบดีผู้เป็นอุปฐาก (บำรุง) พระฉันนะ ขอให้พระฉันนะแสดงที่ให้ ตนจะสร้างวิหารถวาย. พระฉันนะให้ปราบพื้นที่ ให้ตัดต้นไม้ที่ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นการก่อความสะเทือนใจ มนุษย์ทั้งหลายจึงพากันติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงติ และทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำวิหารใหญ่อันมีเจ้าของ เฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่. ภิกษุเหล่านั้น พึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้ทำวิหารใหญ่ในที่มีผู้จองไว้ หาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปแสดงที่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบท โดยละเอียด ส่วนลักษณะการไม่ต้องอาบัติ คงเป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทที่ ๖.

สิกขาบทที่ ๘
(ห้ามโจทอาบัติปาราชิกไม่มีมูล)

              เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระทัพพมัลลบุตร (ผู้เป็นบุตรแห่งมัลลกษัตริย์) ได้บรรลุพระอรหัตตผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีก. ต่อมาท่านปรารถนาจะทำประโยชน์แก่คณะสงฆ์ โดยเป็นผู้จัดเสนาสนะ (เสนาสนคาหาปกะ มีหน้าที่จัดที่พักให้พระที่เดินทางมา) และเป็นผู้แจกภัตต์ (ภัตตุทเทสกะ มีหน้าที่จัดภิกษุไปฉันในที่นิมนต์ ในเมื่อทายกมาขอพระต่อสงฆ์) จึงกราบทูลความดำริของท่านแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคประทานสาธุการ และทรงแสดงความเห็นชอบด้วยที่จะให้ท่านทัพพมัลลบุตรทำหน้าที่ทั้งสองนั้น.

              จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้สงฆ์เชิญพระทัพพะก่อนแล้ว ให้ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศขอความเห็นชอบในการสมมติ พระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้แจกเสนาสนะ และแจกภัตต์ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเป็นอันสงฆ์ได้สมมติ (หรือแต่งตั้ง) แล้ว.

              พระทัพพมัลลบุตรทำหน้าที่มาด้วยดี ครั้งหนึ่งถูกภิกษุพวกพระเมตติยะ และภุมมชกะ (สองรูปนี้เป็นหัวหน้าของกลุ่มภิกษุผู้มักก่อเรื่องเสียหาย) เข้าใจผิดหาว่าท่านไปแนะนำคฤหบดีผู้หนึ่ง มิให้ถวายอาหารดี ๆ แก่พวกตน ซึ่งความจริงคฤหบดีผู้นั้น ไม่เลื่อมใส และรังเกียจด้วยตนเอง. จึงใช้นางเมตติยาภิกษุณีให้เป็นโจทก์ฟ้องพระทัพพมัลลบุตร ในข้อหาต้องอาบัติปาราชิกเพราะข่มขืนนาง.

              พระพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์ ไต่สวน ได้ความว่าเป็นการแกล้งใส่ความ จึงให้สึกนางเมตติยาภิกษุณี. พวกภิกษุผู้ใช้ออกรับสารภาพแทน ก็ไม่ทรงผ่อนผัน กลับทรงเรียกประชุมสงฆ์ ติเตียนหมู่ภิกษุผู้คิดร้าย ใส่ความฟ้องพระทัพพมัลลบุตร ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติสังฆาทิเสส แก่ภิกษุผู้ประพฤติเช่นนั้น.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียด และแสดงลักษณะการไม่ต้องอาบัติว่า ๑. โจทด้วยเข้าใจผิดในภิกษุผู้บริสุทธิ์ ว่าไม่บริสุทธิ์ ๒. โจทภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์จริง ๓. ภิกษุเป็นบ้า ๔. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.

สิกขาบทที่ ๙
(ห้ามอ้างเลสโจทอาบัติ)

              เล่าเรื่องภิกษุ พวกพระเมตติยะ และภุมมชกะชุดเดิม แกล้งหาเลส โจทพระทัพพมัลลบุรด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล คือเห็นแพะตัวผู้เป็นสัดด้วยแพะตัวเมีย ก็นัดกันตั้งชื่อแพะตัวผู้ว่า พระทัพพมัลลบุตร ตั้งชื่อแพะตัวเมียว่า เมตติยาภิกษุณี แล้วเที่ยวพูดว่า ตนได้เห็นพระทัพพมัลลบุตรได้เสียกับนางเมตติยาภิกษุณีด้วยตาตนเอง.

              ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนพระทัพพมัลลบุตร ได้ความว่าเป็นการอ้างเลส ใส่ความ จึงมอบให้สงฆ์จัดการไต่สวนภิกษุพวกที่อ้างเลสใส่ความ เมื่อพวกเธอรับเป็นสัตย์จึงทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามอ้างเลสใส่ความภิกษุด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ทรงปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่ผู้ล่วงละเมิด.

              ต่อไปเป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียด และคำอธิบายลักษณะไม่ต้องอาบัติ เป็นอย่างเดียวกับสิกขาบทที่ ๘. (ตั้งแต่สิกขาบทที่ ๑ ถึงที่ ๙ เรียกว่าปฐมาปัตติกะ คือต้องอาบัติตั้งแต่ลงมือทำครั้งแรก ส่วนสิกขาบทที่ ๑๐ ถึง ๑๓ เรียกยาวตติยกะ สงฆ์ต้องสวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ขืนดื้อดึงจึงต้องอาบัติ).

สิกขาบทที่ ๑๐
(ห้ามทำสงฆ์ให้แตกกัน)

              เริ่มเรื่อง เล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนารามเช่นเคย แล้วเล่าเรื่องพระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ, พระกฏโมรกดิสสกะ, พระที่เป็นบุตรของนางปัณฑเทวี และพระสมุทรทัตชักชวนให้ทำสงฆ์ให้แตกกัน พร้อมทั้งบอกแผนการที่จะเสนอไปในทางเคร่งครัดยิ่งขึ้น ๕ ข้อ ซึ่งเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงอนุญาต และตนจะได้นำข้อเสนอนั้นประกาศแก่มหาชน. ข้อเสนอ ๕ ข้อ คือ
              ๑. ภิกษุพึงอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าละแวกบ้าน ต้องมีโทษ
              ๒. ภิกษุพึงถือบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต ผู้ใดรับนิมนต์ (ไปฉันตามบ้าน) ต้องมีโทษ
              ๓. ภิกษุพึงใช้ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น คือผ้าหรือเศษผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง ตามที่ต่าง ๆ บ้าง นำมาซักและปะติดปะต่อเป็นจีวร) จนตลอดชีวิต ผู้ใดรับคฤหบดีจีวร (ผ้าที่เขาถวาย) ต้องมีโทษ
              ๔. ภิกษุพึงอยู่โคนไม้จนตลอดชีวิต ผู้ใดเข้าสู่ที่มุง (ที่มีหลังคา) ต้องมีโทษ
              ๕. ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสัตว์ ผู้ใดฉัน ต้องมีโทษ

              ภิกษุเหล่านั้นเห็นมีทางชนะก็ร่วมด้วย พระเทวทัตจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลข้อเสนอทั้งห้าข้อนั้น.

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนเทวทัต ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ป่าก็จงอยู่ป่า, ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ละแวกบ้าน ก็จงอยู่ในละแวกบ้าน. ผู้ใดปรารถนาจะเที่ยวบิณฑบาตก็จงเที่ยวบิณฑบาต, ผู้ใดปรารถนาจะรับนิมนต์ ก็จงรับนิมนต์, ผู้ใดปรารถนาจะใช้ผ้าบังสุกกุล ก็จงใช้ผ้าบังสุกุล, ผู้ใดปรารถนาจะรับคฤหบดีจีวร (ผ้าที่เขาถวาย) ก็จงรับคฤหบดีจีวร, เราอนุญาตที่นอนที่นั่ง ณ โคนไม้ ตลอด ๘ เดือน (ที่มิใช่ฤดูฝน), เราอนุญาตเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ (ว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงจะให้ภิกษุบริโภค).

              พระเทวทัตดีใจ จึงเที่ยวประกาศให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตข้อเสนอที่ดีของตน ทำให้คนที่มีปัญญาทรามบางคนเห็นว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มักมาก. แต่คนที่เข้าใจเรื่องดี กลับติเตียนพระเทวทัต ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนพระเทวทัต รับเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียน และบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุพากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกัน เมื่อภิกษุอื่นห้ามปราม ไม่เชื่อฟัง ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์) เพื่อให้เธอเลิกเรื่องนั้นเสีย ถ้าสวดประกาศครบ ๓ ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขากบทโดยละเอียด และแสดงลักษณะไม่ต้องอาบัติ คือ ๑. สงฆ์ไม่สวดประกาศ ๒. เธอละเลิกเสียได้ ๓. ภิกษุเป็นบ้า ๔. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.

สิกขาบทที่ ๑๑
(ห้ามเป็นพรรคภวกของผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน)

              เนื่องมาจากสิกขาบทที่ ๑๐ คือภิกษุโกกาลิกะ เป็นต้น สนับสนุนพระเทวทัต ว่าไม่ควรติเตียนพระเทวทัต พูดเป็นธรรม เป็นวินัย ต้องด้วยความพอใจของตน. ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนภิกษุพวกที่สนับสนุน ภิกษุผู้พากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกันนั้น. ความทราบถึงพระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ได้ความจริงแล้ว จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามสนับสนุนภิกษุผู้พากเพียรทำสงฆ์ให้แตกกัน ถ้าห้ามไม่ฟัง ให้ภิกษุทั้งหลายสวดประกาศตักเตือน (เป็นการสงฆ์) ถ้าครบ ๓ ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบท ส่วนลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติ ก็คล้ายกับสิกขาบทที่ ๑๐ มีเพิ่มภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน มีเวทนากล้า อีก ๒ ข้อ.

สิกขาบทที่ ๑๒
(ห้ามเป็นคนว่ายากสอนยาก)

              เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้น พระฉันนะ ประพฤติอนาจาร (ความประพฤติอันไม่สมควร) ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว กลับว่าติเตียน. ภิกษุทั้งหลายจึงพากันติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียนและทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำตนเป็นผู้ว่ายาก ถ้าไม่เชื่อฟัง ภิกษุทั้งหลายสวดประกาศตักเตือน (เป็นการสงฆ์) ถ้าครบ ๓ ครั้ง ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              "ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียด ส่วนลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติอย่างเดียวกับสิกขาบทที่ ๑๐.

สิกขาบทที่ ๑๓
(ห้ามประทุษร้ายสกุล คือประจบคฤหัสถ์)

              เริ่มเรื่องเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุเลว ๆ ที่ชื่อว่าเป็นพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ เป็นพระเจ้าถิ่นอยู่ในชนบท ชื่อว่ากิฏาคิริ เป็นพระอลัชชี.

              มีภิกษุรูปหนึ่ง จำพรรษาในแคว้นกาสี ผ่านมาพัก ณ ชนบทนั้น เพื่อจะเดินทางไปกรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ภิกษุนั้นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยอาการสำรวม แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่ชอบ เพราะไม่แสดงอาการประจบประแจง เหมือนภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จึงไม่ถวายอาหาร. แต่อุบาสกผู้หนึ่ง (เป็นผู้เข้าใจพระธรรมวินัยถูกต้อง) เห็นเข้า จึงนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไปฉันที่บ้านของตน สั่งความให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ประพฤติตนไม่สมควรต่าง ๆ

              ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท มีใจความว่า ภิกษุประทุษร้ายสกุล (ประจบคฤหัสถ์ ทอดตนลงให้เขาใช้) มีความประพฤติเลวทราม เป็นที่รู้เห็นทั่วไป ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวและขับเสียจากที่นั้น ถ้าเธอกลับว่าติเตียน ภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์) ให้เธอละเลิก ถ้าสวดครบ ๓ ครั้ง ยังดื้อดึง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              ต่อจากนั้น เป็นคำอธิบายตัวสิกขาบทโดยละเอียด และแสดงลักษณะที่ไม่ต้องอาบัติเหมือนสิกขาบทที่ ๑๑. (พึงสังเกตว่า ตั้งแต่สิกขาบที่ ๑๐ มา ถึงสิกขาบทที่ ๑๓ ที่เรียกว่ายาวตติยกะนั้น ต้องสวดประกาศครบ ๓ ครั้ง จึงต้องอาบัติ).


๑. สิกขาบทนี้ ต่างจากสิกขาบที่ ๖ โดยสาระสำคัญ คือสิกขาบทที่ ๖ ภิกษุทำเอง ด้วยการขอสิ่งของและขอแรง ส่วนสิกขาบทนี้คนอื่นทำให้ จึงไม่มีการจำกัดขนาด แต่คงต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้เหมือนสิกขาบทก่อน เพื่อกันมิให้ปลูกตามใจชอบ โดยสงฆ์ไม่รับรู้อันอาจเกะกะไม่เป็นระเบียบ และอาจเป็นเหตุกระทบต่อความรู้สึกของคนอื่น. พึงสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทั้งสองสิกขาบทนี้ ให้ปลูกสร้างที่อยู่โดยมีบริเวณโดยรอบ ขนาดเกวียนเดินรอบได้ ไม่นิยมให้ปลูกติด ๆ กัน
๒. พระดำรัสตอบของพระพุทธเจ้าเป็นไปในทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป อนุโลมให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
๓. พระฉันนะรูปนี้ เคยตามเสด็จเมื่อคราวทรงผนวช จึงตัวว่าเป็นคนสำคัญ ไม่ยอมให้ใครว่ากล่าว กลายเป็นคนดื้อว่ายาก ใครปราบไม่ลง พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือ อย่าให้ใครว่ากล่าวตักเตือนหรือพูดจาด้วย จึงกลับตัวได้ในที่สุด

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ