พระอนาคตวงศ์
กัณฑ์ที่ ๔

 


พระดิสสะ
หน้า ๒

       เมื่อครั้งศาสนาพระโกนาคมน์เจ้านั้น ช้างนาฬาคีรีหัตถีตัวนี้เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่แห่งสมเด็จบรมกษัตริย์พระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระยาธรรมราชผู้ประเสร็ฐเสวยศิริราชสมบัติในจำปากนคร บรมกษัตริย์พระธรรมราชนั้น มีพระราชโอรสผู้ชาย ๕ พระองค์ ช้างธนบาลหัตถีนาฬาคีรีตัวนี้ เป็นบรมโพธสัตว์ได้เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่มีนามว่า ธรรมเสนกุมารองค์ ๑ น้องรองลงไปชื่อว่า ภัททกุมารองค์ ๑ ชื่อว่ารามกุมารองค์ ๑ ชื่อว่าปมาทกุมารองค์ ๑ ชื่อว่าธัชชกุมารองค์ ๑ เป็นพระราชกุมาร ๕ พระองค์ด้วยกัน

       ครั้งนั้นสมเด็จพระราชบิดา สั่งให้พระราชโอรสที่ง ๕ พระองค์นั้น ให้ไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักแห่งทิศาปาโมกข์อาจารย์ ณ เมืองตักศิลา พระราชกุมารทั้งหลายก็ไปเรียนได้วิชชาศิลปศาสตร์คนละอย่าง เจ้าธรรมเสนกุมาร ผู้เป็นพระเชษฐาพี่ชายใหญ่นั้น รู้วิชชาการกล่าวแก้ในทานและศิลเป็นศิลปศาสตร์ ฯ

       เจ้าภัททกุมารนั้น รู้วิชาศรธนูอันมีพิษเป็นศิลปศาสตร์ ฯ เจ้ารามกุมารนั้น รู้วิชาดอกไม้ไฟเป็นศิลปศาสตร์ ฯ เจ้าปมาทกุมารนั้น รู้วิชชาช่างทองเป็นศิลปศาสตร์ ฯ เจ้าธัชชกุมารนั้รู้วิชชามนต์กำราบอสรพิษเป็นศิลปศาสตร์ ฯ อันว่าพระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์เรียนได้ชำนิชำนาญแล้ว ก็ลาอาจารย์ออกจากเมืองตักศิลามาถึงกรุงจำปากนครแล้ว ก็เข้าไปยังสำนักสมเด็จพระราชบิดาถวายบังคม แล้วจึงกราบทูลสำแดงศิลปศาสตร์แห่งตนที่เรียนมา ถวายแก่สมเด็จพระบิดาต่าง ๆ กัน

       สมเด็จพระบิดาได้ทัสสนาเห็นศิลปศาสตร์ของพระโอรสก็ดีพระทัยนัก ตรัสสรรเสริญพระราชกุมารทั้งหลาย แล้วก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลให้พระราชโอรสตามสมควร อยู่จำเนียรกาลมาพระราชโอรสมีวัยเจริญขึ้น สมควรที่จะครอบครองศิริราชสมบัติได้แล้ว ส่วนสมเด็จพระราชบิดานั้น ทรงคิดว่าเรามีความเสนหาในลูกทั้งหลายเป็นอันมาก

       เมื่ออยู่พร้อมกัน ๕ คนนี้ แม้เรายกสมบัติให้แก่ลูกผู้ใดแล้ว ลูกทั้งหลายที่ไม่ได้ราชสมบัติ ก็จะเกิดรบพุ้งฆ่าฟันกันชิงเอาราชสมบัติเป็นอันแท้ ด้วยว่าราชกุมารทั้งหลายนี้ ล้วนมีศิลปศาสตร์เรียนมาแต่สำนักอาจารย์ทั้งสิ้น ถ้าชาวเมืองทั้งหลายอื่น ๆ สรรเสริญซึ่งศิลปศาสตร์ของกุมารคนใดแล้ว

       เราก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่กุมารคนนั้น เมื่อพระองค์จินตนาดังนี้แล้ว ก็สั่งให้จัดแจงแต่งนาวาไว้พร้อม จึงได้หาพระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์มา แล้วตรัสว่าดูก่อนเจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นลูกรักของวิดา ๆ ได้ทรงทราบว่าเจ้าทั้งหลายเรียนศิลปศาสตร์ได้คนละอย่างต่าง ๆ กัน บิดาก็มีความยินดีบัดนี้เจ้าจงพากันไปในพระนครอื่น แล้วจงสำแดงศีลปศาสตร์ให้ มนุษย์ชาวเมืองเห็น ถ้ามหาชนทั้งหลายในเมืองอื่นนั้น กล่าวชมเชยสรรเสริญศิลปศาสตร์ของเจ้าคนใด บิดาจะยกศิริราชสมบัติให้แก่เจ้าผู้นั้น

       มีพระราชโองการตรัสดังนั้นแล้ว ก็ให้พระราชกุมารทั้งหลายไปในสาคร เมื่อพระราชกุมารมีเจ้าภัททกุมารเป็นอาทิ ซึ่งเป็นพระอนุชาแห่งเจ้าธรรมเสนบรมโพธิสัตว์ทั้ง ๔ พระองค์ ไม่มีสติปัญญาสำคัญผิดคิดมิชอบ หลงใหลไปในท้องมหาสมุทร์ ครั้งนั้นเจ้าภัททกุมารเข้าใจว่าลูกศรอันมีพิษ ที่อาจารย์สั่งสอนมานั้นว่า มีอยู่ภายใต้ท้องพระมหาสมุทร์ โดยคิดว่าเราจะโจนลงไปในน้ำ สำแดงศิลปศาสตร์ภายใต้มหาสมุทร์มีชัยชนะได้ลูกศรอันมีพิษขึ้นมา เมื่อพระบิดาได้ทรงฟังว่าเรามีชัยก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่เรา เจ้าภัททกุมารคิดดังนี้แล้ว ก็โจนลงไปในท้องมหาสมุทร์ ครั้งนั้นมหามัจฉาปลาใหญ่ก็กินกุมารนั้นเสีย ฯ