พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๓

  สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ จิตตํ ปญฺญญฺเจ ภาวยํ อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ อิติหิทํ วุตฺตํ

  วาระนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในศีลนิเทศ ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคปกรณ์ อันพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจารึกรจนาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์จะยังสาธุชนให้มีตรุณปีติปราโมทย์

  มีเนื้อความในศีลนิเทศ ปริทเฉทเป็นปฐมนั้นว่า “สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ” องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค คือพระบารมีธรรมทรงพระมหากรุณาตรัสเทศนาไว้ว่า นรชนใดประกอบด้วยปัญญาเป็นไตรเหตุ มีเพียรยังกิเลสให้มีปัญญาอันแก่กล้าเห็นภัยในสังสารวัฏ “โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ” นรชนนั้นอาจจะสางเสียซึ่งชัฏ คือตัณหา

  มีคำปุจฉาว่า “กสฺมา ปเนตํ วุตฺตํ” เหตุดังฤๅ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาพระคาถานี้ มีคำอาจารย์วิสัชนาว่า “ควนตํ กิร สาวตฺถิยํ วิหรนฺตํ” ดังได้สดับมาในเพลาราตรีหนึ่งถึงทุติยยาม เทวบุตรองค์หนึ่งมิได้ปรากฏโดยนามและโคตร เข้าสู่สำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคอันเสด็จอยู่ในพระเชตวนาราม มีนครสาวัตถีเป็นที่โคจรคาม ทูลถามอรรถปัญหา เพื่อจะถอนเสียซึ่งวิกิจฉาความสงสัยของตน ด้วยคำนิพนธ์คาถาว่า “อนฺโตชฎา. พาหิชฏา ชฏายชฏิตา ปชา” ดังข้าพระองค์จะขอทูลถาม “ภนฺเต ภควา” ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาค ตัณหามี ๒ ประการ คือตัณหาอันชัฏอยู่ในภายใน และตัณหาอันชัฏอยู่ภายนอก สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีจิตอันตัณหาชฏามีอุปมาดังข่ายแห่งนายพราน ครอบงำปกคลุมหุ้มห่อไว้

  มีอรรถสังวรรณนาพระคาถาที่เทพยดาทูลถามปัญหานั้นว่า คำกล่าวว่าชฏานั้น เป็นชื่อของตัณหา มีอุปมาดังข่าย แท้จริง ตัณหานั้นได้นามชื่อว่า “ชฏา” เพราะเหตุว่าตัณหานั้นย่อมบังเกิดแล้วบังเกิดเล่า โดยประเภทที่จะประพฤติเป็นไปในเบื้องต่ำและเบื้องบน ยึดหน่วงเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นอาทิ ด้วยอรรถว่าตัณหานั้นร้อยกรองไว้ เกี่ยวประสานไว้ ดุจดังว่าแขนงแห่งกิ่งไม้ทั้งหลายมีสุมทุมพุ่มไม้ไผ่เป็นประธาน

  อนึ่ง ตัณหานั้นชื่อว่าชัฏในภายใน และชัฏในภายนอก เพราะเหตุว่าตัณหานั้นบังเกิดขึ้นในบริขารของตน และบริขารของบุคคลผู้อื่นบังเกิดขึ้นในอายตนะภายในและอายตนะภายนอก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีจิตสันดานอันตัณหาภายในและตัณหาภายนอกบังเกิดขึ้นเนือง ๆ ดังนี้แล้ว ก็กระทำให้ฟั่นเฟือเหลือที่จะสางได้

   มีคำอุปมาว่า “ยถา นาม เวฬุชฏทีหิ เวฬุอาทโย” ต้นไม้ในแผ่นปฐพีมีต้นไม้ไผ่เป็นอาทิ เมื่อวัฒนาเจริญขึ้นมาแล้วเป็นแขนงหนามของตนที่เจริญขึ้นมานั้น พาให้รกเลี้ยวปกคลุมหุ้มห่อซึ่งลำต้นไว้มิให้สละสลวยได้ อันนี้แลมีอุปมาฉันใด ก็มีอุปไมยเหมือนด้วยหมู่สัตว์ที่เกิดมา ตัณหาที่เป็นผู้ชักนำให้มาเกิดเป็นกายก็ย่อมกระทำให้ฟั่นเฝือเหลือที่จะสางยังจิตสันดานให้ซ่าน ไปในรูปแลเสียงแลกลิ่นแลรสแลโผฏฐัพพะสัมผัสถูกต้องดังนี้ “ตํ ตํ โคตม ปุจฺฉามิ” เพราะเหตุการณ์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าโคตมะ ข้าพระองค์จะขอถามว่า “โก อิมํ วิชฏเย ชฏํ” บุคคลดังฤๅจะสามารถอาจเพื่อจะสางเสียได้ซึ่งชัฏ คือตัณหาอันหุ้มห่อครอบงำเกี่ยวประสานจิตสันดานแห่งสัตว์ไว้ ให้ประพฤติเป็นไปดังนี้

  เมื่อเทพยดาทูลถามอรรถปัญหาดังนี้ “สพฺพธมฺเมสุ อปฺปฏิหตณาณจาโร” องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคพระผู้มีพระญาณหาสิ่งจะกำจัดมิได้ พระญาณของพระองค์นั้น ย่อมสัญจรจาริกไปในไทยธรรมทั้งปวง มีธรรมอันเป็นไปในอดีตกาลเป็นอาทิ “เทวานํ อติเทโว” พระพุทธองค์เป็นวิสุทธิเทวดาอันเลิศล่วงเสียซึ่งเทพยดาทั้งปวงและเป็นวิสุทธิสักกะเทวราชอันล่วงเสียซึ่งสักกะเทวราชในโลกธาตุทั้งปวง “พฺรหฺมานํ อติพรหมา” เป็นวิสุทธิมหาพรหมอันล่วงเสียซึ่งพรหมทั้งปวง พระองค์แกล้วกล้าในจตุเวสารัชญาณทั้งสี่ แลทรงซึ่งพลญาณมีประการสิบ แลมีพระญาณหาสิ่งจะกั้นมิได้ มาพร้อมด้วยพระจักขุ กล่าวคือปัญญาสามารถอาจเห็นประจักษ์ด้วยอาการทั้งปวง เมื่อพระองค์จะตรัสวิสัชนาอรรถปัญหานี้จึงกล่าวพระคาถาว่า “สีเล ปติฏาย นโร สปญฺญ” เป็นอาทิโดยนัยที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง “อิมิสฺสาทานิ คาถาย” ในกาลบัดนี้ข้าพระองค์ผู้มีนามชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์จะยังอรรถแห่งพระคาถาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาผู้ทรงแสวงหาศีลขันธาทิคุณ ตรัสวิสัชนาจำแนกศีล แลสมาธิปัญญา เป็นอาทิ อันมิได้วิปริตให้พิสดาร จักกล่าวพระคัมภีร์ชื่อว่าพระวิสุทธิมรรค มีคำตัดสินหมดจดดีไม่มีเศษ เพราะเหตุว่าพระคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้มิได้เจือด้วยลัทธิอันมีในนิกายอื่น ๆ ซึ่งอาศัยในเทศนาแห่งพระมหาเถระทั้งหลายอันอยู่ในมหาวิหาร

   คัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ สามารถอาจจะกระทำปราโมทย์กล่าวคือตรุณปีติอันอ่อน ให้บังเกิดมีแก่พระภิกษุทั้งหลายอันได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา อันสัตว์โลกทั้งหลายได้ด้วยยาก พระผู้เป็นเจ้ายังมิได้รู้จักหนทางพระนิพพานว่า หนทางนี้ เป็นหนทางตรง เป็นหนทางมิได้ผิด เป็นหนทางอันเกษม สงเคราะห์เข้าในศีลขันธ์คือกองแห่งศีล สมาธิขันธ์ กองแห่งสมาธิ ปัญญาขันธ์ กองแห่งปัญญา เมื่อยังไม่รู้จักหนทาง ถึงว่าจะปรารถนาพระนิพพานก็ดี จะพยายามกระทำเพียรก็ดี ก็มิได้สำเร็จแก่พระนิพพาน

   “สาธโว” ดูกรสาธุสัปบุรุษทั้งหลาย ท่านทั้งปวงปรารถนาวิสุทธิกล่าวคือพระนิพพาน จงเงี่ยโสตสดับพระคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคแต่สำนักแห่งเรา ผู้จะกล่าวอรรถสังวรรณนา

  พระพุทธโฆษาจารย์เจ้านิพนธ์พระบาลี แปลเป็นภาษาสยามได้เนื้อความดังนี้ จึงดำเนินอรรถสังวรรณนาในบทคือวิสุทธินั้นว่า “สพฺพมลวิรหิตํ อจฺจนตปริสุทฺธํ” พระนิพพานเว้นจากมลทินทั้งปวงบริสุทธิ์โดยแท้บัณฑิตพึงรู้ดังนี้ หนทางพระนิพพานนั้น ชื่อว่าวิสุทธิ อุบายที่จะตรัสรู้นั้นชื่อว่ามรรค

   ข้าพระพุทธเจ้า จักกล่าวซึ่งพระคัมภีร์ชื่อว่าวิสุทธิมรรคนั้นมีอรรถคือแปลว่า ข้าพระองค์จะกล่าวซึ่งอุบายที่จะตรัสรู้พระนิพพาน “โส ปรนายํ วิสุทธิมคฺโค” อนึ่งพระวิสุทธิมรรคคืออุบายที่จะกระทำพระนิพพานนั้นให้แจ้ง ในพระสูตรบางแห่ง องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาแสดงวิปัสสนาล้วน มิได้เจือด้วยสมถะ

  “ยถาห ภควา” พระผู้ทรงพระภาค ตรัสเทศนาไว้เป็นดังฤๅ พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาไว้ด้วยพระบาทพระคาถาว่า “สพฺเพ สงฺขารา นิจฺจาติ, ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมอันยุติในภูมิ ๓ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ ทั้ง ๓ นี้เป็นอนิจจังมิได้เที่ยง ในกาลนั้นคือกาลอันมีในภายหลัง ตั้งแต่บังเกิดขึ้นแห่งญาณทั้งหลาย มีอุทยัพพยญาณ คือปัญญาอันพิจารณาเห็นซึ่งความดับเป็นอาทิ พระภิกษุนั้นก็จะเหนื่อยหน่ายในกองทุกข์ คือปัญจักขันธ์ อันเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ นี้ กามาวจรภพเป็นอาทิ “เอส มคฺโค วิสุทธิยา” ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมกล่าวคือนิพพานญาณปัญญาที่เหนื่อยหน่ายในกองทุกข์ กล่าวคือปัญจักขันธ์นี้ ชื่อว่าเป็นอุบายที่จะให้ตรัสรู้พระนิพพาน

  “กตฺถจิ ฌานปญฺญาวเสน” อนึ่งวิสุทธิมรรค คืออุบายที่จะให้ตรัสรู้พระปรินิพพานนั้น ในพระสูตรบางแห่ง องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ด้วยสามารถแห่งฌานแลปัญญา

  “ยถาห ภควา” พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้เป็นดังฤๅ สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส, นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน” ดูกรภิกษุทั้่งหลาย ฌานไม่มีแ่ก่ภิกษุอันหาปัญญามิได้ ปัญญาไม่มีแก่ภิกษุอันหาฌานมิได้ ฌานแลปัญญาทั้ง ๒ นี้มีแก่ภิกษุรูปใด ภิกษุรูปนั้นก็จะตั้งอยู่ในที่ใกล้พระนิพพานโดยแท้

   อนึ่งพระวิสุทธิมรรคนี้ ในพระสูตรบางแห่ง องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาด้วย สัมมากัมมันตะเป็นอาทิ

  “ยถาห ภควา” พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาไว้เป็นดังฤๅ พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “กมฺมํ วิชฺชา จ ธมโม จ สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งปวงย่อมจะบริสุทธิ์ด้วยกรรม คือมรรคเจตนา ๑ ด้วยวิชชาคือสัมมาทิฏฐิ ๑ ด้วยศีลคือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ๑ ด้วยอุดมชีวิตคือสัมมาอาชีวะ ๑ ด้วยธัมมะ คือสัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๑ ดังนี้

   บางแห่งว่าด้วยธรรม ๔ ประการ คือ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมาอาชีวะ ๑

   “น โคตฺเตน ธเนน วา” สัตว์ทั้งหลายจะบริสุทธิ์ด้วยโคตรแลบริสุทธิ์ด้วยทรัพย์ก็หาไม่

   “กตฺถจิ สีลาทิวเสน” อนึ่งพระวิสุทธิมรรคนี้ ในพระสูตรบางแ่ห่งองค์พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาแสดงด้วยศีลเป็นอาทิ

   “ยถาห ภควา” องค์พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้เป็นดังฤๅ องค์พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “สพฺพทา สีลสมฺปนฺโน ปญฺญวา สุสมาหิโต” พระภิกษุในพระศาสนานี้ ถึงพร้อมด้วยจตุปาริสุทธิศีลมาแล้วเนือง ๆ ด้วยปัญญาอันเป็นโลกิยะแลปัญญาอันเป็นโลกุตตระ มีจิตอันตั้งมั่นด้วยสมาธิอันประกอบด้วยประการเสมอ ด้วยปัญญาอันเป็นโลกิยะแลเป็นโลกุตตระ กระทำความเพียรเพื่อว่าจะสละอกุศลธรรม จะยังกุศลธรรมให้บังเกิดในตน มิได้เอื้อเฟื้ออาลัยในกายแลชีวิต “โอฆํ ตรติ ทุตฺตรํ” พระภิกษุนั้นสามารถอาจจะเข้าโอฆะทั้ง ๔ มีกามโอฆะเป็นประธานอันสามัญสัตว์ทั้งปวงมีอาจจะข้ามได้

   “กตฺถจิ สติปฏานาทิวเสน” พระวิสุทธิมรรคนี้ ในพระสูตรบางแห่ง องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสพระสัทธรรมเทศนาด้วยโพธิปักขิยธรรม มีพระสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นอาทิ

   “ยถาห ภควา” พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ เป็นดังฤๅ พระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาไว้ว่า “เอกายโน ภิกฺขเว อยํ มคฺโค” ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรรคมรรคานี้ เป็นหนทางอันบุคคลผู้เดียวพึงสัญจรย่อมประพฤติเป็นไปเพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์ แลจะยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงเสียซึ่งทุกข์แลโทมนัส ให้ตรัสรู้พระนิพพานกระทำพระปรินิพพานให้แจ้ง หนทางซึ่งบุคคลผู้เดียวพึงสัญจรนั้นคือ พระสติปัฏฐานทั้ง ๔ แลพระสัมมัปปธาน ๔ เป็นอาทิ

   อนึ่ง ในปัญหาพยากรณ์ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์กล่าวแก้ แก่เทพยดาอันลงมาทูลถามปัญหานี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงศีลเป็นอาทิ

  อรรถสังวรรณนาโดยสังเขป ในคาถาเทพยดาถามปัญหา ก็ยุติการแต่เพียงเท่านี้

   ในกาลนี้ พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจะสังวรรณนาอรรถพระคาถาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสวิสัชนา จึงดำเนินเนื้อความว่า “สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ” สัตว์โลกที่มีปัญญา อันมาพร้อมด้วยปฏิสนธิ อันเป็นไตรเหตุ อันบังเกิดแก่กุศลธรรม ปฏิบัติบำเพ็ญศีลกระทำให้ศีลของตนบริบูรณ์มิให้ด่างพร้อย จึงได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในศีล

   เมื่อตั้งอยู่ในศีลแล้ว ก็อุตสาหะกระทำความเพียร ที่จะยังกิเลสทั้งหลายให้ร้อนจำเดิมแต่ต้น แลให้ร้อนไปโดยภาคทั้งปวง

   อนึ่งสัตว์ผู้นั้นมีปัญญาอันแก่กล้าชื่อว่า เนปกปัญญา ในบทคือเนปกปัญญานี้ คือองค์สมเด็จพระศาสดาตรัสเทศนา ประสงค์เอาปัญญา อันประกอบด้วยวิธีจะรักษาพระกรรมฐาน แท้จริงในปัญหาพยากรณ์นี้พระพุทธองค์ประสงค์เอาปัญญา ๓ ประการ

   ปัญญาที่หนึ่งนั้น ประสงค์เอาปัญญาที่มาพร้อมด้วยปฏิสนทธิอันเป็นไตรเหตุ

   ปัญญาที่สองนั้น ประสงค์เอาวิปัสสนาปัญญา อันพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์

   ปัญญาที่สามนั้น ประสงค์เอาปริหาริกปัญญา อันกำหนดกิจทั้งปวงมีกิจที่จะเล่าเรียนพระกรรมฐานทั้งสอง คือพระสมถกรรมฐานและพระวิปัสสนากรรมฐาน

  สัตว์นั้นได้นามชื่อว่า ภิกษุ เพราะเหตุว่าเห็นภัยในสังสารวัฏประกอบด้วยโยนิโสมนสิการเจริญพระสมาธิ คือเล่าเรียนกสิณบริกรรม แลเจริญวิปัสสนาให้เห็นว่า ปัญจวิธขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขังเป็นอนัตตา “โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ” สัตว์ที่ได้นามชื่อว่าภิกษุนั้นย่อมประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ คือ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญาทั้ง ๓ มีสหชาติปัญญาอันเป็นไตรเหตุเป็นอาทิ แลความเพียรยังกิเลสให้ร้อน ๑ เป็น ๖ ประกอบด้วยกันดังนี้ พึงถางชัฏคือตัณหานี้

   มีคำอุปมาว่า บุรุษอันประกอบด้วยกำลัง ยืนอยู่เหนือพื้นปฐพียกขึ้นซึ่งศาสตราอันตนลับอานไว้เป็นอันดี พึงถางเสียซึ่งพุ่มไม้ไผ่อันใหญ่อันชัฏไปด้วยหนามหนา “เสยฺยถาปิ นาม” ชื่อว่ามีอุปมาฉันใด ก็มีอุปไมยเหมือนหนึ่งสัตว์คือภิกษุในพระพุทธศาสนายืนอยู่เหนือปฐพี กล่าวคือศีล ยกขึ้นซึ่งศาสตรา กล่าวคือวิปัสสนาอันตนลับอานแล้วเป็นอันดี เหนือศิลากล่าวคือความเพียรพึงดัดเสียแห่งตน

   อนึ่งพระภิกษุจะถางเสียได้ซึ่งชัฏคือตัณหา ก็ถางเสียได้ในขณะแห่งตนได้พระอรหัตตมรรค ในขณะที่ได้สำเร็จแก่พระอรหัตตผลแล้ว พระภิกษุนั้นก็ได้ชื่อถางชัฏคือตัณหาสำเร็จแล้ว เป็นอัคคทักขิไณยบุคคล ควรจะพึงรับทานอันเลิศแห่งสัตว์อันอยู่ในมนุษย์โลก กับด้วยสัตว์อันอยู่ในเทวโลกเหตุการณ์ดังนั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค จึงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่เทพยดานั้นด้วยบาทพระคาถามีคำกล่าวว่า “สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ” เป็นอาทิ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

   “ตตฺรายํ ยาย ปญฺญาย สปญโญติ วุตฺโต ตตฺรายสฺส กรณียํ นตฺถิ ปุริมกมมานุภาเวเนว หิสฺส สา สิทฺธา”

  “อาตาปี นิปโกติ เอตฺถ วุตฺติวริยวเสน ปน เตน สาตจฺจ การินา ปญฺญาวเสน จ สมปชานการิน หุตฺวา สีเล ปติฏาย จิตฺตปญฺญาวเสน วุตฺตา สมถวิปสุสนา ภาเวตพฺพาติ”

   “อิมํ ตตฺร ภควา สิลสมาธิปญฺญามุเขน วิสุทฺธิมคคํ ทสฺเสติ”

   พระสัทธรรมเทศนาสืบลำดับวาระพระบาลีมา มีเนื้อความว่าองค์สมเด็จพระศาสดา ตรัสเทศนาในพระคาถาว่า “สปญฺโญ” พระโยคาวจร ภิกษุประกอบด้วยปัญญาอันใด กิจที่พระโยคาวจรภิกษุจะพึงกระทำในปัญญานั้นบมิได้มี เหตุดังฤๅ เหตุว่า ปัญญานั้นย่อมสำเร็จแ่ก่พระโยคาวจรภิกษุนี้ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรม ที่พระโยคาวจรภิกษุสันนิจจยาการก่อสร้างมาแล้วแต่ปุริมภพปางก่อน

   ในบทคือ “อาตาปี นิปโก” องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาด้วยสามารถ ศีล สมาธิ ปัญญา หวังจะให้พระโยคาวจรเจ้ามีความอุตสาหะกระทำเนือง ๆ กระทำให้มากด้วยวิริยะพยายาม แลกระทำตนให้รู้รอบคอบด้วยปัญญา แล้วพึงเจริญสมถะแลวิปัสสนา

   ในพระคาถานี้ องค์พระผู้มีพระภาค ตรัสเทศนาชื่อว่าพระวิสุทธิมรรค คือหนทางพระปรินิพพาน ด้วยศีล สมาธิ แลปัญญาเป็นประธาน

   “เอตฺตา หิ ติสฺโส สิกฺขา” แท้จริง สิกขาทั้ง ๓ คืออธิศีล สิกขา อธิจิตตสิกขา อติปัญญาสิกขา องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคทรงแสดงด้วยเทศนามีประมาณเท่านี้

   อนึ่ง “ติวิธกลฺยาณสาสนํ” คำสั่งสอนที่จะให้ปฏิบัติ แลคำสั่งสอนที่จะให้ตรัสรู้ธรรมวิเศษ มีคุณอันบัณฑิตพึงนับ ๓ ประการ คือมีคุณอันบัณฑิตนับในต้น แลท่ามกลางแลที่สุด แลอุปนิสัยแห่งไตรวิชชา แลการที่จะเว้นจากลามกทั้ง ๒ คือกามสุขัลลิกานุโยคกระทำความเพียรให้ติดอยู่ในกามสุข อัตตกิลมถานุโยคกระทำความเพียรให้ตนได้ความลำบาก

   แลการที่พึงเสพซึ่งมัชฌิมปฏิบัติอันเป็นท่ามกลาง องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็ทรงแสดงด้วยเทศนามีประมาณเท่านี้

   อนึ่ง “อปายาทิสมติกฺกมนุปาโย” อุบายที่จะล่วงเสียซึ่งเตภูมิกวัฏมีบังเกิดในจตุราบายเป็นอาทิ แลสละกิเลสด้วยอาการทั้ง ๓ มีวิขัมภนปหานเป็นประธาน

   แลธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิตก แลวิจารเป็นอาทิ แลการที่จะชำระเสียซึ่งสังกิเลสทั้ง ๓ แลจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นอุปนิสัยแก่มรรค แลผลมีพระโสดาปัตติมรรคเป็นต้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงแสดงด้วยเทศนามีประมาณเท่านี้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com