พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๑๗

ธุดงคนิเทศ

   “อิทานิ เยหิ อปฺปิจฺฉตานสนฺตุฎิตาทีหิ คุเณหิ วุตฺตปฺปการสฺส สีลสส โวทานํ โหติ เต คุเณ สมฺปาเทตุ ํ ยสฺมา สมาทินฺนสีเลน โยคินา ธุตงฺคสมาทานํ กาตพฺพํ เอว หิสฺส อปิจฺฉตาสนตุฎิตา สลฺเลขตาปวิเวกาปจฺจยวิริยารมภสฺภรตาทิ คุณสถิลวิกฺขาลิตมาลํ สีลํ เจว สุปริสุทธํ ภวิสสติ วตฺตานิ จ ปมฺปชฺชิสฺสนฺตีติ อิติ อนวชชสีลพฺพตฺตคุณปริสุทฺธสพพสาจาโร โปราเณ อริยวํสตฺตเย ปติฎาย จตุตถสสภาวนารามตาสงฺขาตสฺส อริยวํสสส อธิคมารโห ภวิสฺสติ”

   วาระนี้ จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในเตรสธุดงนิเทศปริจเฉท ๒ อันมีในคัมภีร์พระสุทธิมรรค สืบอนุสนธิตามกระแสวาระพระบาลี

   พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า “โยคินา ธุตงฺคสมาทานํ” พระโยคาวาจรภิกษุผู้ประพฤติความเพียร เมื่อมีศีลอันถือเอาดีแล้ว พึงกระทำธุดงคสมาทาน ถือเอาซึ่งธุดงสืบขึ้นไปในกาลบัดนี้

   กิริยาที่บริสุทธิ์แห่งศีลอันเรากล่าวแล้ว จะอุบัติบังเกิดมีด้วยคุณทั้งหลายใด มีอัปปิจฉตาคุณ คือมีปรารถนาน้อย แลสันตุฎฐิตาคุณ คือยินดีในปัจัยแห่งตนเป็นอาทิ แลจะยังคุณทั้งหลายนั้นให้บริบูรณ์ เพราะเหตุสมาทานธุดงค์

   แท้จริงเมื่อพระโยคาวจรล้างเสียซึ่งมลทินแห่งศีลด้วยน้ำ กล่าวคืออัปปิจฉตาคุณ คือปรารถนาน้อย แลสัตุฏฐิตาคุณ ยินดีในปัจจัยแห่งตน แลสัลเลขตาคุณ กระทำให้น้อมแห่งกิเลสทั้งหลาย แลยินดีในปวิเวกแลปัจจัยคุณ กิเลสทั้งหลายมิได้สั่งสมอยู่เพราะเหตุปฏิบัติฉันใด ก็ปฏิบัติฉันนั้น

   แล้ววิริยารัมภตาคุณ ยังความเพียรให้ประพฤติเป็นไปเนือง ๆ แลสุภรตาคุณ คือเป็นบุคคลพึงเลี้ยงง่าย เพราะมิได้ปรารถนามากเป็นอาทิศีล แห่งพระภิกษุนั้นก็จะบริสุทธิ์ดี อนึ่งวัตตปฏิบัติก็จะบริบูรณ์

   พระโยคาวจรภิกษุมีสมาจารทั้งปวง อันบริสุทธิ์ด้วยศีลคุณแลวัตตคุณ อันปราศจากโทษดังนี้แล้ว ก็จะตั้งอยู่ในที่ประชุม ๓ แห่งอริยวงศ์ คือสันโดษในจีวรแลบิณฑบาต แลเสนาสนะ แลสมควรที่จะได้ซึ่งอริยวงศ์เป็นคำรบ ๔ กล่าวคือภาวะยินดีในภาวนา “ตสฺมา ธุตงฺคกถ อารพฺภิสฺสามิ” เพราะเหตุการณ์ดังนี้ ข้าพระองค์ผู้มีนามชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์จักปรารภซึ่งธุงดงกถาสืบต่อไป

   “ภควา หิ เตรส ธุตงฺคาตานิ” แท้จริงธุงค์ ๑๓ ประการนี้ สมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิภาค ทรงอนุญาตแด่พระภิกษุทั้งหลาย มีอามิสในโลกอันละเสียแล้ว มิได้อาลัยในกายแลชีวิต มีความปรารถนาเพื่อจะยินดีในอนุโลมปฏิบัติคือเจริญวิปัสสนา

   “เสยฺยถีทํ” ธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น คือสิ่งดังฤๅ

   ธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น คือปังสุกุลิกังคธุดงค์ ๑ เตจีวริกังธุดงค์ ๑ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ รุกขมูลิกังคธุดงค์ ๑ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ โสสานิกังคธุดงค์ ๑ ยถาสันถติกังคธุดงค์ ๑ เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑ ผสมเข้าด้วยกัน เป็นธุดงค์ ๑๓ ประการด้วยกันดังนี้

   แต่นี้จะวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการโดยอรรถวิคหะ ๑ โดยอรรถมีลักษณะเป็นต้น ๑ โดยสมาทานวิธาน ๑ โดยประเภทคือจำแนก ๑ โดยเภทะคือทำลายหรือพินาศ ๑ โดยอานิสงส์แห่งธุดงค์นั้น ๆ ๑ โดยประมาณ ๓ ตามกำหนดด้วยธุดงค์ ๑ โดยจำแนกชื่อธุดงค์เป็นต้น ๑ โดยสังเขปแลพิสดาร ๑

   เป็นบทวินิจฉัย ๙ ประการ บัณฑิตพึงรู้ด้วยประการดังนี้

   ๑. จะวินิจฉัยโดยอรรถวิคคหะในบท ปังสุกุลิกังคธุดงค์เป็นปฐมนั้นก่อน

   มีเนื้อความว่า จีวรอันใดเป็นประดุจดังว่าฟุ้งไปด้วยฝุ่น ด้วยอรรถคือสภาวะแห่งจีวรนั้นอยู่ในที่สูง เพราะเหตุว่าผ้านั้นตั้งอยู่บนฝุ่นทั้งหลายในที่ใดที่หนึ่ง มีตรอกแลสุสานประเทศป่าช้าแลกองหยากเยื่อเป็นอาทิ เหตุใดเหตุดังนั้น จีวรนั้นจึงได้ชื่อว่า ปังสุกุล

   นัยหนึ่งว่า จีวรอันใดถึงซึ่งสภาวะเป็นของอันบุคลพึงเกลียดดุจดังว่าฝุ่น จีวรนั้นชื่อว่าปังสุกุล

   กิริยาที่พระภิกษุทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล อันได้ซึ่งอรรถวิคคหะถือเอาต่างซึ่งเนื้อความดังนี้ ชื่อว่าปังสุกุล

   กิริยาที่ทรงไว้ซึ่งผ้าปังสุกุลเป็นปกติแห่งภิกษุนี้ พระภิกษุนั้นชื่อปังสุกุลิกะ แปลว่ามีทรงไว้ซึ่งปังสุกุลจีวรเป็นปกติ

   เหตุแห่งภิกษุมีทรงไว้ซึ่งปังสุกุลจีวรเป็นปกตินั้นชื่อว่าปังสุกุลิกังคะ

   การณ์ศัพท์นี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาเรียกชื่อว่าองค์เหตุใดพระภิกษุมีทรงไว้ซึ่งปังสุกุลจีวรเป็นปกติ ย่อมจะมีด้วยสมาทานอันใด คำกล่าวว่าปังสุกุลิกะนี้ กระนี้ บัณฑิตพึงรู็ว่าเป็นชื่อแห่งสมาทานเจตนานั้น

   ๒. ในบทคือ เตจีวริกังคธุดงค์ เป็นคำรบ ๒ นั้น มีอรรถวิคคหะว่า “ติจีวรํ” ผ้า ๓ ผืน คือผ้าสังฆาฏิ แลผ้าอุตราสงค์ แลผ้าชื่ออันตรวาสก เป็นปกติแห่งพระภิกษุนี้ เหตุดังนั้นพระภิกษุนี้จึงมีนามชื่อว่า เตจีวริกะ โดยนัยกล่าวมาแล้วในปังสุกุลธุดงค์

   องค์ คือเหตุ ได้แก่สมาทานเจตนาของพระภิกษุในที่ทรงไว้ซึ่งไตรจีวร มีผ้าสังฆาฏิเป็นต้น ชื่อว่า เตจีวริกังคะ

   ๓. ในปาฑปาติกังคธุดงค์ที่ ๓ นั้นมีอรรถวิคคหะว่า กิริยาที่ตกแห่งก้อนอามิสทั้งหลายกล่าวคือภิกขะ ชื่อว่า บิณฑบาต

   มีอรรถรูป อาจารย์กล่าวว่าก้อนอามิสที่บุคลผู้ือื่นให้ตกลงอยู่ในบาตรแห่งพระภิกษุ ชื่อว่าบิณฑบาต

   พระภิกษุรูปใดแสวงหาบิณฑบาต เข้าไปสู่สกุลนั้น ๆ เที่ยวแสวงหาหวังบิณฑบาต ภิกษุรูปนั้นชื่อว่าปิณฑปาติโก

   นัยหนึ่ง กิริยาที่ตนแห่งก้อนอามิส เป็นวัตตปฏิบัติของพระภิกษุนี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่า ปิณฑปาตี

   “ปิณฺฑปาติ เอว ปิณฺฑปาติโก” กิริยาที่ภิกษุเที่ยวไปเพื่อก้อนอามิสชื่อว่า ปิณฑปาติโก เหตุคือสมาทานเจตนาของพระภิกษุอันเที่ยวไปเพื่อก้อนอามิส ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ

   ๔. ในสปทานจาริกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๔ นั้น มีบทวิคคหะว่าทานศัพท์ แปลว่า ขาด แปลว่ามิได้ประพฤติเป็นไปมีระหว่าง กิริยาที่พระภิกษุเว้นจากประพฤติเป็นไป ไม่มีระหว่างนั้นชื่อว่าอปทาน อธิบายว่าไม่ขาด

   ประพฤติอย่างใด เป็นไปกับด้วยไม่ขาด ประพฤติอย่างนั้นชื่อว่า สปทาน

   มีอรรถรูปว่า ภิกษุเที่ยวไปไม่ให้ขาด ไม่เว้นเรือน ไม่ล่วงลำดับเรือน ชื่อว่า สปทาน

   กิริยาที่เที่ยวไปไม่ล่วงลำดับเรือน เป็นปกติของพระภิกษุนี้เพราะเหตุดังนั้น พระภิกษุรูปนั้นชื่อว่า สปทานจารี “สปทานจารี เอว สปทานจารโก” พระภิกษุเที่ยวกับด้วยมิได้ขาด คือเที่ยวไปโดยลำดับเรือนชื่อว่า สปทานจาริกะ

   องค์ คือเจตนาที่จะถือเอาด้วยดีของพระภิกษุที่จะเที่ยวไปกับด้วยมิได้ขาดตามลำดับเรือน ชื่อว่า สปาทานจาริกังคะ

   ๕. ในเอกาสนิกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๕ มีอรรควิคคหะว่ากิริยาที่ปบริโภคในอาสนะที่นั่งอันเดียว ชื่อว่า เอกาสนะ

   บริโภคในอาสนะอันเดียวนั้นเป็นปกติของพระภิกษุนี้ พระภิกษุนั้นชื่อว่าเอกาสนิกะ

   “ตสฺมา องฺคํ เอกาสนิกงฺคํ องค์คือสมาทานของพระภิกษุบริโภคในอาสนะอันเดียวนั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ

   ๖. ในปัตตปิณฑกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๖ นั้น มีอรรถวิคคหะว่าก้อนอามิสในบาตรอันเดียวแท้ ชื่อว่า ปัตตปิณฑิก เพราะเหตุธุดงค์นี้สมาทาน สมาทานวิธีห้ามภาชนะเป็นคำรบ ๒

   กิริยาที่ถือเอาก้อนอามิสในบาตร การทำสำคัญว่าก้อนอามิสในบาตร ในกาลเมื่อจะถือเอาก้อนอามิสในบาตร เป็นปกติของพระภิกษุนี้ เหตุดังนั้น พระภิกษุนั้นได้ชื่อว่า ปัตตปิณฑิกะ

   องค์ คือสมาทานเจตนาแห่งพระภิกษุ มีอันถือเอาก้อนอามิสในบาตรกระทำสำคัญว่าก้อนอามิสในบาตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ปัตตะปิณฑิกังคะ

   ๗. ในขลุุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๗ นั้นว่า ขลุศัพท์เป็นนิบาตประพฤติเป็นไปในอรรถคือแปลว่า ปฏิเสธ

   มีบทวิเคราะห์ว่า พระภิกษุกระทำซึ่งห้ามโภชนะแล้วแลตั้งอยู่ได้ ซึ่งภัตร์ในภายหลัง ชื่อว่า ปัจฉาภัอตัง

   โภชนะของภิกษุอันห้ามข้าวแล้วแลได้ภัตร์ในภายหลังนั้นชื่อว่าปัจฉาภัตะโภชนะ

   ภัตร์อันภิกษุห้ามข้าวแล้วแลได้ในภายหลัง กระทำสำคัญว่าปัจฉาภัตร์ในโภชนะปัจฉาภัตร์นั้นเป็นปกติของพระภิกษุ เหตุดังนั้นพระภิกษุนั้นชื่อว่าปัจฉาภัติกะ แปลว่าพระภิกษุห้ามข้าวแล้วซึ่งภัตร์ในภายหลังเป็นปกติ

   “น ปจฺฉาภตติโก ขลุปจฺฉาภตฺติโก” ภัตร์ที่พระภิกษุห้ามข้าวแล้วแลได้ในภายหลัง กระทำสำคัญว่าปัจฉาภัตร์ในโภชนะปัจฉาภัตร์นั้นเป็นปกติของพระภิกษุนี้หามิได้ พระภิกษุนั้นชื่อว่าขลุปัจฉาภัตติกะ

   คำกล่าวว่า ขลุปัจฉาภัตติโก นี้เป็นชื่อแห่งบริโภคอันยิ่ง อันกำลังแห่งสมาทานห้ามแล้ว

   อนึ่ง มีคำพระอรรถกถาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในอรรถกถาว่า “ขลูติ เอโก สกุโณ” นกจำพวกหนึ่ง ชื่อว่าขลุ ถือเอาแล้วซึ่งผลไม้ด้วยปาก เมื่อผลไม้นั้นตกเสียแล้ว นกนั้นก็มิได้จิกกัดกินซึ่งผลไม้อื่น ๆ “ตาทิโส อยํ” พระภิกษุที่มีขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ เป็นปกตินี้ก็เหมือนหนึ่งนกนั้น จึงได้นามชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติโก

   องค์ ซึ่งสมาทานเจตนาของพระภิกษุที่ห้ามข้าวแล้วได้ซึ่งภัตรในภายหลัง กระทำสำคัญว่าภัตรในภายหลังเป็นปกติของตนหามิได้นั้นชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

   ๘. ในอารัญญิกกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๘ นั้น “อญเญ นิวาโส อารญฺญํ” กิริยาที่นอนอยู่ในประเทศอันบุคคลไม่ยินดีชื่อว่า อารัญญัง

   การที่อยู่ในอรัญราวป่าเป็นปกติของพระภิกษุนี้ เหตุดังนั้นพระภิกษุจึงได้ชื่อว่า อารัญญิโก

   องค์ คือสมาทานเจตนาของพระภิกษุอันอยู่ในประเทศไม่พึงยินดีเป็นปกตินั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ

   ๙. ในรุกขมูลิกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๙ นั้น มีบทวิคคหะว่า “รุกฺขมูเล นิวาโส” กิริยาที่อยู่ในภายใต้ต้นไม้นั้นชื่อว่า รุกขมูล

   การที่อยู่ในภายใต้ต้นไม้นั้น เป็นปกติของพระภิกษุนั้น เหตุดังนั้นพระภิกษุนั้นจึงได้ชื่อว่า รุกขมูลิกะ

   องค์ คือสมาทานเจตนาของพระภิกษุ มีอันอยู่ในภายใต้ต้นไม้เป็นปกตินั้นชื่อว่า รุกขมูลิกังคะ

   ๑๐. ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๑๐ แลโสสานิกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๑๑ ก็มีนัยดุจเดียวกันกับด้วยอารัญญิกกังคธุดงค์ แลรุกขมูลิกังคธุดงค์ฉันนั้น

   ๑๒. ในยถาสันถติกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๑๒ นั้น มีบทวิคหะว่า “ยเถว สนฺถตํ” เสนาสนะใด ๆ อันพระภิกษุเป็นผู้ปูเสนาสนะให้ถึงแก่พระภิกษุ เสนาสนะนั้นชื่อว่า ยถาสันถตัง

   ยถาสันถติกังคธุดงค์นี้เป็นชื่อแห่งเสนาสนะ ที่พระภิกษุเป็นผู้ตกแต่งเสนาสนะแสดงขึ้นก่อนว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน

   กิริยาที่อยู่ในเสนาสนะ อันพระภิกษุเป็นผู้ตกแต่งจัดแจงเสนาสนะแสดงขึ้นก่อนว่าเสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน เป็นปกติของพระภิกษุนั้นเหตุดังนี้ พระภิกษุนั้นจึงชื่อว่า ยถาสันถตินะ

   องค์คือสมาทานเจตนาของพระภิกษุมีอันอยู่ในเสนาสนะ อันพระภิกษุเป็นผู้ตกแต่งเสนาสนะแสดงขึ้นก่อนว่า เสนาสนะถึงแก่ท่าน เป็นปกตินั้นชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ

   ๑๓. ในสัชชิกังคธุดงค์เป็นคำรบ ๑๓ นั้น มีบทวิคคหะว่า “สยนํ ปฏิกฺขิปิตฺวา” กิริยาที่พระภิกษุห้ามซึ่งอิริยาบท คือนอนแล้วแลอยู่ด้วยอิริยาบถคือนั่งนั้น เป็นปกติแห่งพระภิกษุนั้น เหตุดังนั้นพระภิกษุนั้นจึงได้ชื่อว่า เนสัชชิกะ

   องค์คือสมาทานเจตนาของพระภิกษุ ที่จะห้ามซึ่งอิริยาบถนอนแล้วอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เนสัชชิกังคะ

   อนึ่ง ธุดงค์ทั้งปวงนี้ ชื่อว่าเป็นองค์แห่งพระภิกษุ ชื่อว่าธุตะเพราะเหตุว่าภิกษุนั้น มีกิเลสอันกำจัดเสียแล้วด้วยวิธีสมาทานนั้น ๆ

   นัยหนึ่ง ปัญญามีคำเรียกว่าธุตะอันได้แล้ว เพราะเหตุว่าปัญญานั้นชำระเสียแล้วซึ่งกิเลสเป็นองค์แห่งธุดงค์ทั้งหลาย มีปังสุกุลีกังคธุดงค์เป็นอาทิ เหตุดังนั้น ปังสุกุลิกังคะเป็นประธานนั้น จึงมีนามชื่อว่า ธุตังคาตานิ

   นัยหนึ่ง ปังสุกุลิกังคะเป็นอาทินั้น ชื่อว่า ธุตะ เพราะเหตุกำจัดเสียซึ่งข้าศึก แลชื่อว่าองค์ เพราะเหตุปฏิบัติด้วยอาการอันดี ในธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นประธาน เหตุดังนั้น จึงได้นามชื่อว่า ธุดงค์

   วินิจฉัยโดยอรรถวิคหะในธุดงค์ ๑๓ ประการ บัณฑิตพึงรู้ด้วยประการดังนี้ก่อน

   แต่นี้จะวินิจฉัยโดยลักษณะเป็นอาทิในธุดงค์ ๑๓ ประการ บัณฑิตพึงรู้โดยนัยเราจะกล่าวต่อไปนี้

   แท้จริง ธุดงค์ ๑๓ ประการทั้งนี้ มีเจตนาอันประพฤติเป็นไปด้วยสามารถสมาทานเป็นลักษณะ

   สมด้วยพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า “โย สมาทิยติ โส ปุคฺคโล” แปลเนื้อความว่าการกบุคคล คือพระภิกษุผู้จะปฏิบัติพระองค์ใด สมาทานถือเอาด้วยดี พระภิกษุผู้จะปฏิบัตินั้นจะถือเอาด้วยดี ด้วยธรรมทั้งหลายใด ธรรมทั้งหลายนั้น คือจิตแลเจตสิก

   เจตนาที่ประพฤติเป็นไปด้วย สามารถแห่งสมาทานเจตนาอันใด สมาทานเจตนานั้น ชื่อว่า ธุดงค์

   วจีประโยค คือประกอบซึ่งวาจาห้ามเสียซึ่งวัตถุทั้งหลาย มีจีวรอันคฤหบดีถวายเป็นอาทินั้น ชื่อว่า วัตถุ

   แท้จริง ธุดงค์ ๑๓ ประการทั้งปวงนี้ มีกำจัดเสียซึ่งโลภอันยิ่งคือโลภในรูปในเสียงเป็นอาทิ อันประพฤติเป็นไปด้วยสามารถแห่งตัณหาเป็นกิจ

   มีสภาวะมิได้โลเลเป็นผล มีปรารถนาอันน้อยเป็นอาทิเป็นธรรมแห่งพระอริยบุคคล เป็นอาสันการณ์

   วินิจฉัยโดยวัตถุทั้งหลาย มีลักษณะเป็นต้น ในธุดงค์ ๑๓ ประการ บัณฑิตพึงรู้โดยนัยดังแสดงมาแล้วนี้

   แต่นี้จะวินิจฉัยในบททั้ง ๕ มี “สมาทานวิทานโต” เป็นอาทิ

   มีเนื้อความว่าธุดงค์ทั้งปวงนี้ เมื่อองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุทั้งหลายพึงสมาทานในสำนักแห่งพระองค์

   เมื่อองค์พระผู้ทรงพระภาคเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้งหลายพึงสมาทานในสำนักแห่งพระมหาสาวก

   เมื่อพระมหาสาวกทั้งหลายมิได้มีแล้ว พระภิกษุทั้งหลายพึงสมาทานในสำนักแห่งพระขีณาสพ

   เมื่อพระขีณาสพเจ้ามิได้มีแล้ว พึงสมาทานในสำนักพระอนาคามี แลพระสกิทาคามี แลพระโสดาบัน แลพระมหาเถระที่ทรงพระไตรปิฎกแลปิฎก ๒ แลทรงไว้ซึ่งพระปิฎก ๑ แลพระสังคีติกเถระ แลพระอรรถกถาจารย์ เมื่อพระอรรถกถาจารย์ไม่มีแล้ว พึงสมาทานในสำนักพระเถระองค์ใดองค์หนึ่งผู้ทรงซึ่งธุดงค์ เมื่อพระเถระผู้ทรงซึ่งคุณคือธุดงค์ไม่มีแล้วพระภิกษุทั้งหลายพึงไปกวาดลานพระเจดีย์แล้วนั่งยองแล้ว แลกล่าวพระบาลีสมาทาน ดุจกล่าวพระบาลีสมาทานในสำนักองค์สัมมาพระสัมพุทธเจ้าแล้วพึงสมาทาน อนึ่ง จะสมาทานด้วยตนเองนั้นก็ควร


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com