บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๑๗
๑. ขุททกปาฐะ
๒. ธัมมปทคาถา
๓. อุทาน
๔. อิติวุตตกะ
๕. สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตร
อุรควรรคที่ ๑ มี ๑๒ สูตร

 

เล่มที่ ๒๕ ชื่อขุททกนิกาย
( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗)
ขุททกปาฐะ, ธัมมปทาคาถา, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต.

       เล่ม ๒๕ นี้เป็นเล่มแรกของขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ด. ได้กล่าวแล้วในตอนแรกว่า ขุททกนิกาย หรือหมวดเบ็ดเตล็ดนี้ เริ่มตั้งแต่เล่มที่ ๒๕ ถึงเล่มที่ ๓๓ รวม ๙ เล่ม ว่าด้วยหัวข้อใหญ่ รวม ๑๕ เรื่อง ( ดูหน้าความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ) หัวข้อสุตตันตปิฎกและข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก เฉพาะเล่มที่ ๒๕ นี้ มีหัวข้อใหญ่รวมอยู่ถึง ๕ เรื่อง คือ :-

        ๑. ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ.

        ๒. ธัมมปทคาถา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม ว่าด้วยสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ.

        ๓. อุทาน ว่าด้วยพระพุทธภิษที่ทรงเปล่งออกมาปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ.

        ๔. อิติวุตตกะ ว่าด้วยถ้อยคำที่อ้างอิงว่าเป็นภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

        ๕. สุตตนิบาต ว่าด้วยชุมนุมพระสูตรเบ็ดเตล็ด.

๑. ขุททกปาฐะ

บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ

    แบ่งออกเป็น ๙ ส่วน คือ :-

      ๑. สรณคมนะ ( การถึงสรณะ ) เป็นบทสวดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็น ที่พึ่งที่ระลึกรวม ๓ ครั้ง ( พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ถึง ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ).

     ๒. ทสสิกขาบท (สิกขาบท ๑๐) เป็นบทสมาทานศีล ( สำหรับสามเณร ) คือเว้นจากการฆ่า สัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, บริโภคอาหารในเวลากาล;( เที่ยงแล้วไปจนถึงเวลารุ่งอรุณ ), ฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดูการเล่น, ทัดทรงระเบียบดอกไม้ของหอม ตกแต่งประดับประดา, ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่, รับทองและเงิน.

     ๓. อาการ ๓๒ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, ดี, เศลษม์, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, เปลวมัน, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, มูตร, มันสมอง.

     ๔. ปัญหาของสามเณร อะไรชื่อว่าหนึ่ง ? สัตว์เป็นอยู่ได้ด้วยอาหาร. อะไรชื่อว่าสอง ? นามและรูป ฯ ล ฯ ( ดูข้อความหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๑ ซึ่งมี ๑๐ ข้อ ) ในข้อหมายเลขที่ ๓.

     ๕. มงคลสูตร เล่าเรื่องของพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของเทวดา ผู้มาถามว่าอะไรเป็น มงคล โดยตรัสชี้ไปที่ข้อประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น รวม ๓๗ ประการ มิได้ทรงชี้ไปที่มงคลภายนอก หรือโชคลางอะไรเลย ดังต่อไปนี้ :-

    ๑. ไม่คบพาล ๒. คบบัณฑิต ๓. บูชาผู้ควรบูชา ๔. อยู่ในประเทศอันสมควร ๕. เคยทำบุญไว้ในกาลก่อน ๖. ตั้งตนชอบไว้ ๗. สดับตรับฟังมาก ๘. ศิลปะ ๙. ศึกษาวินัยดี ๑๐. วาจาเป็นสุภาษิต ๑๑. บำรุงบิดามารดา ๑๒. สงเคราะห์บุตรภริยา ๑๓. การงานไม่อากูล ๑๔. ให้ทาน ๑๕. ประพฤติธรรม ๑๖. สงเคราะห์ญาติ ๑๗. การงานที่ไม่มีโทษ ๑๘. เว้นจากบาป ๑๙. สำรวมจาก การดื่มน้ำเมา ๒๐. ไม่ประมาทในธรรม ๒๑. เคารพ ๒๒. เจียมตัว ๒๓. สันโดษ ( ยินดีด้วยของของตน ) ๒๔. รู้คุณท่าน ๒๕. ฟังธรรมตาม กาล ๒๖. อดทน ๒๗. ว่าง่าย ๒๘. เห็นสมณะ ๒๙. สนทนาธรรมตามกาล ๓๐. ตบะ ( ความเพียร ) ๓๑. ประพฤติพรหมจรรย์ ๓๒. เห็น อริยสัจจ์ ๓๓. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ๓๔. จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกต้องโลกธรรม ๓๕. จิตไม่เศร้าโศรก ๓๖. จิตปราศจากธุลี ๓๗. จิตเกษม ( ปลอดโปร่งจากกิเลส ).

     ๖. รตนสูตร เป็นบทสวดพรรณนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และอ้างสัจจวาจา อำนวยสวัสดิมงคล.

     ๗. ติโรกุฑฑกัณฑ์ ในที่บางแห่งเรียกติโรกุฑฑสูตร คำว่า กัณฑ์ ก็แปลว่า หมวด ติโรกุฑฑะ แปลว่า " นอกฝา " เป็นเรื่องพรรณนาถึงผู้ล่วงลับไปแล้วว่า การอุทิศส่วนกุศลไปให้ ย่อมเข้าถึงคือสำเร็จแก่ผู้ล่วงลับเหล่านั้นโดย ควรแก่ฐานะ.

     ๘. นิธิกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องขุมทรัพย์ การฝังทรัพย์ไว้ในดินไม่ยั่งยืน อาจถูกคนลักขุดไป หรือ ดินเลื่อนเคลื่อนที่ไป หรือฝังแล้วจำไม่ได้ เมื่อสิ้นบุญ สิ่งทั้งหมดนั้นก็พินาศ แต่ขุมทรัพย์คือบุญ ( อันเกิดแต่การบำเพ็ญคุณงามความดี ) เป็น ขุมทรัพย์ที่ใครจะช่วงชิงไม่ได้ เป็นของติดตัวไปเสมอ และอาจให้สำเร็จประสงค์ตั้งแต่อย่างต่ำถึงอย่างสูง.

     ๙. กรณียเมตตสูตร พรรณนาถึงการแผ่เมตตาไปในสัตว์ทุกประเภทให้มีความสุขทั่วหน้ากัน.

๒. ธัมมปทคาถา หรือธัมมบท

ว่าด้วยบทแห่งธรรม

    ได้กล่าวแล้วว่า ธัมมบท ( หรือเขียนว่าธรรมบทก็ได้ ) หมายถึงสุภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ ข้อ และได้แปลไว้เป็น อย่างแล้วในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๙๗.-๑๒๕ รวมหลายสิบข้อ ในที่นี้จะนำข้อความที่ไม่ซ้ำกันมา แปลไว้เป็นตัวอย่างอีก ๑๐ ข้อ คือ :-

    ๑. ไม่พึงมองดูความผิดพลาดของคนอื่น หรือมองดูสิ่งที่เขาทำหรือมิได้ทำ พึงมองดูแต่สิ่งที่ตนทำแล้ว หรือยัง มิได้ทำเท่านั้น.

    ๒. ดอกไม้ที่น่าชอบใจ มีสี แต่ไม่มีกลิ่น ก็เหมือนวาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม.

    ๓. ในมนุษย์ทั้งหลาย คนที่ถึงฝั่งมีน้อย คนนอกนี้วิ่งเลาะไปตามชายฝั่ง ( ข้างนี้ ) เท่านั้น.

    ๔. คนไม่มีศรัทธา, ไม่กตัญญู, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ), มีโอกาศอันถูกขจัด, หมดหวัง, ผู้นั้นเป็นบุรุษผู้สูงสุด. ( เป็น คำกล่าว ดัดแปลงคำด่าให้เป็นคำดี คำว่า ไม่มีศรัทธา ในทางที่ดี ควรแปลว่า " ไม่เชื่อง่าย " คือพยายามทำให้ประจักษ์ในผลความดี ด้วยตนเองจนไม่ต้องเชื่อผู้อื่น, ไม่กตัญญู หรืออตัญญู แปลในทางดีว่า ผู้รู้นิพพาน ซึ่งไม่มีสิ่งใด ๆ หรือใครมาทำมาสร้างได้, ตัดช่อง ( เข้าขโมย ) แปลจากคำว่า สันธิจเฉทะ ซึ่งอาจแปลในทางที่ดีได้ว่า ตัดที่ต่อคือวัฏฏะ หรือการเวียนว่ายตายเกิดไม่ต้องเกิด อีก. มีโอกาสถูกขจัด แปลในทางดีได้ว่า หมดโอกาสที่จะเกิดอีก เพราะหมดพืชคือกุศลกรรมและอกุศลกรรมแล้ว หมดหวังหรือ คายความหวัง อาจจะตีความได้ว่า เมื่อได้บรรลุสิ่งที่สูงสุดแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องคอยมุ่งหวังอะไรต่อไปอีก. เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างใน ทางมองแง่ดี จากคำเยาะเย้ยถากถางของคนที่มุ่งร้าย ).

    ๕. ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้มิได้ประทุษร้าย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส บาปย่อมสนองคนพาลนั้นเหมือนฝุ่นที่ ซัดไปทวนลม.

    ๖. คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ต้อนโคไปสู่ที่หากินฉันใด ความแก่และความตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไปฉัน นั้น.

    ๗. ร่าเริงอะไรหรือหรือชื่นใจอะไรกัน ในเมื่อโลกลุกเป็นไฟอยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดห่อหุ้มแล้ว ไฉน จึงไม่แสวงหาดวงประทีป.

    ๘. ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงข้อนี้แล้วดับทุกข์ได้เป็นสุขอย่างยิ่ง.

    ๙. อตุละเอย ! การนินทานี้เป็นของเก่า มิใช่ของดุจมีในวันนี้ คนนั่งนิ่งก็ถูกนินทา คนพูดมากก็ถุกนินทา คนพูด พอประมาณก็ถูกนินทา คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก.

    ๑๐. ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี เคราะห์เสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี.

    มีคำสรุปว่า ในธรรมบทมีคาถา คำฉันท์ ) ๔๒๓ บท ( บางเรื่องและบางหัวข้อ อาจประกอบด้วยคำฉันท์หลายบท เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ จึงหมายเฉพาะเนื้อเรื่อง ).

๓. อุทาน

    (พระอรรถกถาจารย์อธิบายเรื่องการจัดระเบียบไว้ว่า อุทานนี้มี ๘ วรรค กล่าวโดยสูตรประมาณ ๘๐ สูตร กล่าว โดยคาถา ( คำฉันท์ ) มี ๙๕ บท ).

    ใจความสำคัญในเรื่องอุทานก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ทรงเปล่ง อุทานเป็นข้อธรรมอันมีเนื้อหาเป็นคำสั่งสอน ในที่นี้จะเลือกแปลบทอุทานใน ๘ วรรคนั้น วรรคละ ๒ เรื่อง รวมเป็น ๑๖ เรื่อง ( จาก ๘๐ เรื่อง ) ดังต่อไปนี้ :-

๑. โพธิวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้

๑. ทรงเปล่งอุทานในราตรีแรกแห่งการตรัสรู้

     ในยามที่ ๑ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ. "

     ในยามที่ ๒ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ใน กาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัย. "

     ในยามที่ ๓ " ในกาลใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืดทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระสังคามชิผู้ไม่เยื่อใยในอดีตภริยา

    " ผู้ใดไม่ยินดีผู้ที่มา ไม่เศร้าโศกถึงผู้ที่ไป เรากล่าวถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากความข้อง ว่าเป็น พราหมณ์.

๒. มุจจลินทวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ต้นจิก

๑. ทรงเปล่งอุทานที่ใต้ต้นจิก

    " ความสงัดของบุคคลผู้ยินดี ผู้สดับธรรม ผู้เห็นด้วยปัญญา เป็นสุข. ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. ความปราศจากราคะ คือความก้าวล่วงกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก. การนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ ( ความถือตัวว่าเรา เป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นสุขอย่างยิ่ง. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ณ เชตวนารม กรุงสาวัตถี ปรารภคำสนทนาของภิกษุทั้งหลาย

    " ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขใดอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความ สุขเพราะสิ้นตัณหา ( ความทพยานอยาก ). "

๓. นันทวรรค ว่าด้วยพระนันทะ

๑. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระนันทะ ( ผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดา )

    " ผู้ใดข้ามหล่มกามได้ ย่ำยีหนามคือกามได้ บรรลุความสิ้นไปแห่งความหลง ผู้นั้นเป็นผู้เห็นภัย ( ภิกษุ ) ย่อมไม่หวั่น ไหวในสุขและทุกข์. "

๒. ทรงเปล่งอุทานปรารภพระปิลินทวัจฉะ ( ผู้พูดไม่ไพเราะเพราะเคยปาก )

    " ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีความถือตัว สิ้นความโลภ ไม่ยึดว่าอะไรเป็นของเรา ปราศจากความหวัง บันเทาความโกรธ ดับอัตตาเสียได้ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.. "

๔. เมฆิยวรรค ว่าด้วยพระเมฆิยะ

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเมฆิยะ

    " ความความตรึกที่เลว ( กามวิตก ) ความตรึกที่ละเอียดอ่อน ( ปรารภญาติ, ชนบท, ลาภ, สักการะ เป็นต้น ) ที่ ติดตามไป ที่ทำจิตให้ผิดปกติ ผู้มีจิตหมุนไป ไม่รู้ความตรึกแห่งใจเหล่านี้ ยอมแล่นไป ๆ มา ๆ ( ในอารมณ์ มีรูป เสียง เป็นต้น ). แต่ผู้รู้ความ ตรึกแห่งใจเหล่านี้ มีความเพียร มีสติสำรวม ย่อมเป็นผู้ตรัสรู้ ละความตรึกเหล่านั้นที่ติดตามไป ที่ทำใจให้ผิดปกติได้โดยไม่เหลือ. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระอุปเสนาวังคันตบุตร

    " ผู้ใดไม่เดือดร้อนต่อชีวิต ไม่เศร้าโศกเมื่อจะตาย ผู้นั้นแลเป็นนักปราชญ์ เป็นผู้เห็นบท ( แห่งธรรม ) ย่อมไม่เศร้าโศก ในท่ามกลางแห่งโศก. ภิกษุถอนความทะยานอยากในภพได้ มีจิตสงบ สิ้นความท่องเที่ยวสู่ความเกิด ย่อมไม่มีความเกิดอีก. "

๕. โสณัตเถรวรรค ว่าด้วยพระโสณเถระ

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระราชดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกา

    " บุคคลเอาใจตรวจดูทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบคนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ๆ คนอื่นก็รักตนอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้น ผู้ใคร่ความสุขแก่ตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเทวทัตผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

    " ความดีคนดีทำได้ง่าย คนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำง่าย แต่คนที่ประเสริฐทำได้ยาก. "

๖. ชัจจันทวรรค

ว่าด้วยอุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล

    " ไม่พึงพยายามในความชั่วทุกอย่าง, ไม่พึงเป็นคนของคนอื่น ( ควรเป็นตัวของตัวเอง ), ไม่พึงอาศัยผู้อื่นดรงชีวิต, ไม่พึงประพฤติธรรมให้มีแผล. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนักบวชนอกศาสนาที่เถียงทะเลาะกัน เพราะเห็นต่าง ๆ กัน

    " สมณพราหมณ์บางพวกย่อมติดอยู่ในทิฏฐิเหล่านี้ เป็นคนมีความเห็นแง่เดียว ย่อมทะเลาะวิวาทกัน. "

๗. จูฬวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้ร่างเล็ก

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระภัททิยะผู้ค่อม

    " ผู้ใดหลุดพ้นในเบื้องบน เบื้องต่ำ ในที่ทั้งปวง ไม่ตามเห็นว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ผู้หลุดพ้นอย่างนี้ ได้ข้ามแล้วซึ่งโอฆะ ( ห้วงน้ำ ) ที่ยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก. "

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภมนุษย์ผู้ติดอยู่ในกาม

    " ผู้บอดเพราะกาม ติดอยู่ในข่าย ( คือตัณหา ) ถูกเครื่องปกปิดคือตัณหาปกปิดไว้ ถูกพญามารผู้ผูกมัดสัตว์ผู้ประมาท ผูกไว้แล้ว ย่อมเป็นเหมือนปลาเข้าไปในปากไซ ย่อมถึงความแก่และความตาย เหมือนลูกโคยังดื่มนม วิ่งเข้าหาแม่. "

๘. ปาฏลิคามิวรรค ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม

๑. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภพระนิพพาน

    " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้นมีอยู่ คืออายตนะที่ไม่มีดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาสานัญจายตนะ, วิญญาณัญจาตนะ,. อากิญจัญญาตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีพระจันทร์, พระอาทิตย์ทั้งสอง. เราไม่กล่าวถึงอายตนะนั้น ว่า เป็นการมา, การไป, การตั้งอยู่, การจุติ ( เคลื่อน ), การอุปบัติ ( เข้าถึงหรือเกิด ), อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้ง, ไม่มีความเป็นไป,ไม่มีอารมณ์. นั่น แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์. "

    ( หมายเหตุ : คำอธิบายพระนิพพานในรูปปฏิเสธเช่นนี้ บางท่านอาจฉงนว่าจะมีประโยชน์หรือมีความมาย อย่างไร ขอตอบว่า อย่าว่าแต่พระนิพพานซึ่งเป็นธรรมะอันสูงยิ่ง จะอธิบายได้ยากเลย แม้เรื่องง่าย ๆ ในโลกนี้ เช่น สีขาว สีเขียว ถ้าจะให้ อธิบาย ก็พูดไม่ถูกเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องอาศัยสำนวนปฏิเสธหรือชี้ให้ดู พระนิพพานก็เช่นกัน ผู้บรรลุด้วยตนเองก็ไม่มีปัญหา ส่วนผู้ยังมิได้ บรรลุ ก็ต้องอธิบายว่า ไม่เป็นอย่างที่เขานึกกันอย่างโลก ๆ )

๒. ทรงเปล่งอุทาน ปรารภนายจุนทะ กัมมารบุตร

    " บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรของผู้สำรวมย่อมไม่ถูกก่อขึ้น ผู้ฉลาดย่อมละความชั่ว ปรินิพพาน เพราะสิ้นราคะ, โทสะ, โมหะ. "

๔. อิติวุตตกะ

ว่าด้วยข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้

    อิติวุตตกะนี้ แบ่งออกเป็น ๔ นิบาต ( ชุมนุมธรรมะ ๔ ส่วน ) คือเป็นเอกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ ) ๒๗ สูตร, เป็นทุกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ ) ๒๒ สูตร, เป็นติกนิบาต ( ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ ) ๕๐ สูตร, เป็นจตุกกนิบาต ( ชุมนุม ธรรมะที่มี ๔ ข้อ ) ๑๓ สูตร, รวมทั้งสิ้นจึงมี ๑๑๒ สูตร. ในการย่อจะเลือกย่อนิบาตละ ๕ สูตร ดังต่อไปนี้:-

เอกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ

    ๑. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้ง หลายจงละธรรมอย่างหนึ่ง เราเป็นผู้ประกันพวกเธอให้ได้ความเป็นพระอนาคามี ธรรมอย่างหนึ่งนั้น คือ ความโลภ. " ตรัสทำนอง เดียวกันนี้ ถึงโทสะ ( ความคิดประทุษร้าย ), โมหะ ( ความหลง ), ความโกรธ, มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), มานะ ( ความถือตัว ).

    ๒. ข้าพเจ้า ( พระอานนท์ ) ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคผู้อรหันต์ได้ตรัสคำนี้ไว้ คือ " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ ไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ไม่ทำจิตให้คลายความกำหนัดในสิ่งนั้น ไม่ละสิ่งนั้น ก็ไม่ควรจะสิ้นทุกข์ได้ " และได้ตรัสทำนองเดียวกันนี้ ถึงเรื่องมานะ, โลภะ, โทสะ, โมหะ, ความโกรธ, ความลบหลู่บุญคุณท่าน.

    ๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นนีวรณ์ ( ธรรมเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุ คุณความดี ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกนีวรณ์นั้นหุ้มห่อแล้ว ย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน เหมือน นีวรณ์ คืออวิชชา ( ความ ไม่รู้ ) เลย. "

    ๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นเครื่องร้อยรัดอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่สัตว์ถูกร้อยรัดแล้ว ย่อมแล่นไปท่องเที่ยวไปตลอด กาลนาน เหมือนเครื่องร้อยรัด คือ ตัณหา ( ความทะยานอยาก ) เลย. "

    ๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นองค์ ( องคคุณ ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่เป็นองค์ภายในของภิกษุผู้ยังศึกษา ผู้ยังมิได้ บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาธรรมอันเกษม ( ปลอดโปร่ง ) จากโยคะ อันยอดเยี่ยม, อันเป็นองค์ ที่มีอุปการะมาก เหมือน โยนิโสมมนสิการ ( การใส่ใจหรือการพิจารณาโดยแยบคาย ) นี้เลย. " ( องค์ภายนอกตรัสถึงการคบเพื่อนที่ ดีงาม ).

ทุกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๒ ข้อ

    ๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ อย่างแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้องขัดเดือดร้อนในปัจจุบัน ตายไปแล้วก็หวังทุคคติ ( ที่ไปอันชั่ว ) ได้. ธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์ กับ ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ คืออาหารที่กินเข้าไป. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).

    ๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะ ๒ อย่างเหล่านี้ ทำความเดือดร้อนให้ คือบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำความ ดี, ทำความชั่วไว้ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนว่า เรามิได้ทำความดีไว้, ย่อมเดือดร้อนว่า เราได้ทำความชั่วไว้. " ( ธรรมะที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้ คือที่ตรงกันข้าม ).

    ๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒ อย่าง ย่อมเหมือนถูกนำไปตั้งไว้ในนรก ธรรมะ ๒ อย่าง คือ ศีลอันชั่ว, ทิฏฐิ ( ความเห็น ) อันชั่ว. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม คือศีลอันดีงาม ทิฏฐิอันดีงาม ).

    ๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้ ไม่มีความเพียร ไม่มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. ภิกษุผู้มีความเพียร มีความเกรงกลัว ( ต่อบาป ) จึงเป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อ นิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอันยอดเยี่ยม. " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ).

    ๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความตรึก ( วิตก ) ๒ อย่าง ย่อมมาสู่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยมาก คือ ความตรึกอันเกษม ( ไม่เบียดเบียน ) และ ความตรึกอันสงัด ( จากอกุศลธรรม ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความไม่ เบียดเบียนเป็นที่มายินดี ยินดีในความไม่เบียดเบียน ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาคตผู้ยินดีในความไม่เบียดเบียนโดยมากว่า เราย่อมไม่เบียดเบียน ใคร ๆ ด้วยการกระทำนี้ ไม่ว่าจะยังเป็นผู้สะดุ้งดิ้นรน ( ด้วยกิเลส ) หรือว่าเป็นผู้ถาวร ( ไม่ดิ้นรนเพราะกิเลสได้แล้ว ). ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตมีความสงัดเป็นที่มายินดี ยินดีในความสงัด. ความตรึกข้อนี้ จึงมาสู่ตถาตคผู้ยินดีในความสงัดโดยมากว่า เราละอกุศลได้แล้ว. เพราะ เหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงอยู่อย่างยินดีในความไม่เบียดเบียน ยินดีในความสงัดเถิด. "

ติกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๓ ข้อ

    ๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธาตุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ รูปธาตุ ( ธาตุคือรูป ), อรูปธาตุ ( ธาตุคือสิ่งที่ ไม่มีรูป ), " ( ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม ) นิโรธธาตุ ( ธาตุคือนิโรธความดับ ). "

    ๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหา ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กาเมสนา ( การแสวงหากาม ), ภเวสนา( การแสวงหาภพ คือความมีความเป็น ), พรหมจริยสนา ( การแสวงหพรหมจรรย์ ). "

    ๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! จักษุ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ มังสจักษุ ( ตาเนื้อ ), ทิพพจักษุ ( ตาทิพย์), ปัญญาจักษุ ( ตาปัญญา ). "

    ๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นิสสรณิยธาตุ ( ธาตุคือความแล่นออก หรือความพ้นไป ) ๓ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) เป็นความพ้นไปแห่งกามทั้งหลาย, อารุปปะ ( ความเป็นของไม่มีรูป ) เป็นความพ้นไปแห่งรูปทั้งหลาย, นิโรธ ( ความดับ ) เป็นความพ้นไปแห่งสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย. "

    ๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ ประเภท มีอยู่ในโลก คือ ๑. บุคคลที่เสมอด้วยฝนที่ไม่ตก ๒. บุคคลที่ เหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง ๓. บุคคลที่เหมือนฝนตกทุกแห่ง ( ตรัสอธิบายต่อไปว่า ผู้ไม่ให้ทานเลย เปรียบเหมือนฝนไม่ตก, ผู้ให้ทานแก่บาง คน ไม่ให้แก่บางคน เปรียบเหมือนฝนตกเฉพาะแห่ง, ผู้ให้ทานแก่ทุกคน คือแก่สมณะ, พราหมณ์, คนกำพร้า, คนเดินทาง, วณิพพก, ยาจก เปรียบเหมือนฝนตกทุกแห่ง ). "

จตุกกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๔ ข้อ

    ๑. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ของที่เล็กน้อยด้วย หาง่ายด้วย ไม่มีโทษด้วย มี ๔ อย่าง คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ( เศษ ผ้าที่เที่ยวเก็บตกในที่นั้น ๆ ), อาหารที่หามาด้วยลำแข้ง ( ที่เที่ยวบิณฑบาตได้มา ), โคนไม้, ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า. ตราบเวลาที่ภิกษุยินดีด้วยของเล็กน้อย อันหาได้ง่าย อันไม่มีโทษ เราย่อมกล่าวความยินดีนั้นว่า เป็นองค์ของความเป็นสมณะแต่ละข้อของ ภิกษุนี้. "

    ๒. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ของผู้รู้ผู้เห็น ไม่กล่าว สำหรับผู้ไม่รู้ไม่เห็น คือ รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. "

    ๓. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับทุกข์ ตามเป็นจริง. สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเป็นเพียง สมณสมมต, พราหมณสมมต ; ไม่ทำให้แจ้งซึ่ง ประโยชน์ของความ เป็นสมณะ, ประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยความรู้ยิ่งอยู่ในปัจจุบัน. " ( ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม ).

    ๔. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ความเกิดขึ้นแห่งตัณหา ๔ อย่างเหล่านี้ คือความเกิดขึ้นแห่งตัณหาเพราะเหตุแห่งจีวร ( ผ้านุ่งห่ม ), อาหาร ( บิณฑบาต ), ที่อยู่อาศัย ( เสนาสนะ ), ความมีความเป็น และความไม่มีไม่เป็น ( ภวาภวะ ). "

    ๕. " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ปลีกตัวได้จากโลก, เหตุที่ทำให้โลกเกิดอัน ตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ละเหตุที่ให้เกิดโลกได้แล้ว, ความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้ทำให้แจ้งความดับแห่ง โลกแล้ว, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตก็ได้เจริญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว. "

๕. สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตร

    ( สุตตนิบาต หรือชุมนุมพระสูตรนี้ มีพระสูตรทั้งสิ้น ๗๐ สูตร ล้วนเป็นคำฉันท์ทั้งสิ้น บางแห่งแม้จะมีร้อยแก้วปน แต่สาระผูกเป็นคำฉันท์ แบ่งออกเป็น ๕ วรรค คือ วรรคแรก ชื่อว่าอุรควรรค ว่าด้วยอุรคสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๒ ชื่อ จูฬวรรค แปลว่า วรรคเล็ก มี ๑๔ สูตร, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค แปลว่า วรรคใหญ่ มี ๑๒ สูตร, วรรคที่ ๔ ชื่ออัฏฐกวรรค ว่าด้วยพระ สูตรที่มีคำว่า อัฏฐกะตามหลัง ( อัฏฐกะ แปลว่า ผู้ไม่ตั้งอยู่ ถือเอาความว่า ไม่ติด หรืออาจแปลได้ว่า เนื้อความ หรือใจความ ) มี ๑๖ สูตร วรรคที่ ๕ ชื่อปารายนวรรค ว่าด้วยที่มุ่งอันสูง มี ๑๖ สูตร.

อุรควรรคที่ ๑ มี ๑๒ สูตร

๑. อุรคสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วยงู )

    พรรณนาถึงการที่ภิกษุละความชั่วต่าง ๆ เช่น ความโกรธ, ราคะ, ตัณหา, มานะ เป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งนี้ ฝั่งโน้นได้ เหมือนงูลอกคราบเก่าทิ้งเสียฉะนั้น.

๒. ธนิยสูตร ( สูตรว่าด้วยธนิยะผู้เลี้ยงโค )

    แสดงคำโต้ตอบของธนิยะผู้เลี้ยงโค พูดเชื้อเชิญให้ฝนตกเพราะตนได้ทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว เช่น มุงหลังคา นำ เชื้อไฟมาเตรียมไว้แล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากตอ ( ของจิต ) มีหลังคา ( คือกิเลส ) อัน เปิดแล้ว, ไฟ ( คือกิเลส ) ก็ดับแล้ว ฝนจะตกก็ตกเถิด. อันเป็นคำโต้ตอบแสดงความเตรียมพร้อมทางโลก กับความเตรียมพร้อมทางธรรม.

๓. ขัคควิสาณสูตร ( สูตรเปรียบเทียบด้วย นอแรด )

    เป็นพระสูตรที่พรรณนาการประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งแนะให้อยู่แต่ผู้เดียว เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด. เช่น ที่กล่าวว่า " วางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนใคร ๆ เลย ไม่ปรารถนาบุตร ก็จะ ปรารถนาสหายแต่ที่ไหน ควรเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้น. "

๔. กสิภารทวาชสูตร ( ว่าด้วยภารทวาช พราหมณ์ผู้ไถนา )

    พราหมณ์ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพเจ้าไถหว่านแล้วจึงบริโภค ท่านจงไถหว่านบ้างสิ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ก็ไถและหว่านเหมือนกัน. เมื่อพราหมณ์ถามถึงไถ จึงตรัสตอบว่า " ศรัทธาเป็นพืช, ความเพียรเป็นฝน, ปัญญาเป็นแอกและไถ, ความละอายใจเป็นงอนไถ, ใจเป็นสายเชือก, สติเป็นผาล ( ใบไถสำหรับไถนา ) "เป็นต้น.

๕. จุนทสูตร ( ว่าด้วยนายจุนทะ กัมมารบุตร )

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของนายจุนทะ กัมมารบุตร เรื่องสมณะมี ๔ ประเภท คือ ๑. มัคคชินะ ( ผู้ชนะ กิเลสด้วยมรรค ). ๒. มัคคเทสกะ ( ผู้แสดงมรรค ) ๓. มัคคชีวี ( ผู้ดำรงชีพอยู่ในมรรค คือผู้กำลัง ปฏิบัติ ) ๔. มัคคทูสี ( ผู้ประทุษร้ายมรรค คือผู้ประพฤติชั่ว เท่ากับเป็นผู้ทำลายแห่งความเจริญของตน )."

๖. ปราภวสูตร ( ว่าด้วยความเสื่อม )

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงปากทางแห่งความเสื่อมไว้หลายข้อด้วยกัน. ดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ " รัก อสัตบุรุษ ( คนชั่ว ), ไม่รักสัตบุรุษ ( คนดี ), ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มักหลับ, มักเข้ากลุ่มสนทนา, ไม่หมั่น, เกียจคร้าน, โกรธง่าย, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " มั่งคั่ง แต่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าล่วงวัย, นั่นเป็นปากทางแห่งความ เสื่อม. " หยิ่งเพราะชาติ, หยิ่งเพราะทรัพย์, หยิ่งเพราะโคตร, ดูหมิ่นญาติของตน, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " " เป็นนักเลงหญิง เป็น นักเลงสุรา, เป็นนักเลงการพนัน, ทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศ, นั่นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม. " เป็นต้น.

๗. วสลสูตร ( ว่าด้วยคนเลวหรือคนถ่อย )

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่ภารทวาชพราหมณ์ผู้บูชาไฟ ถึงเรื่องคนเลว และธรรมที่ทำให้คนเลว รวมหลาย หัวข้อด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้. " คนใดมักโกรธ, ผูกโกรธ, เป็นคนชั่วที่ลบหลู่บุญคุณท่าน, มีความคิดเห็นวิบัติ, มีมายา, พึงรู้คนนั้นว่าเป็น คนเลว. " " คนใดเบียดเบียนผู้เกิดครั้งเดียว หรือเกิด ๒ ครั้ง ( เกิด ๒ ครั้ง คือออกมาเป็นไข่แล้วจึงออกจากไข่เป็นตัวอีกต่อหนึ่ง ), ไม่มีความ เอ็นดูในสัตว์มีชีวิต, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว. " " ผู้ใดยกตัวเอง, ข่มผู้อื่น, เป็นคนเลวเพราะความถือตัวนั้น, พึงรู้คนนั้นว่าเป็นคนเลว " ในที่ สุดได้ตรัสสรูปหลักการทางพระพุทธศาสนาว่า " บุคคลมิใช่เป็นคนเลวเพราะชาติ มิใช่เป็นคนดี ( พราหมณ์ ) เพราะชาติ แต่เป็นคนเลวเพราะ การกระทำ, เป็นคนดีเพราะการกระทำ. ".

๘. เมตตสูตร ( ว่าด้วยการแผ่เมตตา )

    พ้องกับที่กล่าวไว้แล้วในขุททกปาฐะ ( ดูในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน ) เป็นการแสดงวิธีแผ่เมตตาจิตไปในสัตว์ ทุกชนิดอย่างกว้างขวาง.

๙. เหมวตสูตร ( ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่าง สาตาคิรยักษ์กับเหวตยักษ์ รวมทั้งพระพุทธภาษิตในตอนท้าย )

    เหมวตยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " โลกเกิดขึ้นในอะไร, ทำความพอใจ ( สันถวะ = ชมเชย ) ในอะไร, โลกอาศัยอะไร และเดือดร้อนในอะไร ? " ตรัสตอบว่า " โลกเกิดขึ้นในสิ่ง ๖ สิ่ง, ทำความพอใจในสิ่ง ๖ สิ่ง, อาศัยสิ่ง ๖ สิ่ง, เดือดร้อน ในสิ่ง ๖ สิ่ง ( คือในกามคุณ ๕ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ มีใจเป็นที่ ๖ ทั้งนี้ตามพระพุทธภาษิตตอน ต่อไป ) " และได้ตรัสว่า คลายความพอใจในสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะพ้นจากทุกข์เป็นต้น.

๑๐. อาฬวกสูตร (ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ )

    แสดงการตรัสตอบของพระผู้มีพระภาค ในเมื่ออาฬวกยักษ์ทูลถามแบบข่มขู่ คำถามคำตอบมีดังนี้ :-

    " อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มในในโลกนี้ของบุรุษ ตรัสตอบว่า ศรัทธา ), อะไรประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ( ตรัสตอบว่า ธรรมะ ), อะไรมีรสดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย ( ตรัสตอบว่า สัจจะ ), ปราชญ์กล่าวถึงชีวิตของผู้เป็นอยู่เช่นไรว่า เป็นชีวิตอันประเสริฐ ( ตรัสตอบว่า ชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญ ). "

    " จะข้ามโอฆะ ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ข้ามได้ด้วยศรัทธา ), จะข้าม อรรณพ๑๐ ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ข้ามได้ด้วยความไม่ประมาท ), จะก้าวล่วงทุกข์ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยความเพียร ), จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยปัญญา ). "

     " จะบรรลุเกียรติได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ด้วยสัจจะ ), จะผูกมิตรไว้ได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ), ละโลกนี้ไปสู่โลกอื่น จะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร ( ตรัสตอบว่า มีธรรมะผู้ครองเรือน ๔ อย่าง คือ สัจจะ, ธัมมะ,๑๑ ธิติ ( ความอดทน ), จาคะ ( การสละ ) ละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก. " อาฬวกยักษ์ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เลื่อมใสในพระ พุทธศาสนา.

๑๑. วิชยสูตร ( ว่าด้วยชัยชนะ )

    พรรณนาถึงความน่าเกลียดของร่างกายส่วนต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรติด ไม่ควรยึดถือ.

๑๒. มุนิสูตร ( ว่าด้วยมุนีคือผู้รู้ )

    มีคำพรรณนาลักษณะต่าง ๆ ของมุนีไว้เป็นอันมาก เช่น " บัณฑิตทั้งหลายย่อมประกาศบุคคลผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวง, รู้จักสิ่งทั้งปวง, มีปัญญาดี, ไม่ติดในธรรมทั้งปวง, ละสิ่งทั้งปวง, หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา ว่าเป็นมุนี " ดังนี้เป็นต้น.

จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ซึ่งมี ๑๔ สูตร

๑๓. รตนสูตร ( ว่าด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเปรียบดุจรตนะ )

    เป็นคำพรรณนาคุณพระรัตนตรัย ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน

๑๔. อามคันธสูตร (ว่าด้วยกลิ่นคาว )

    เป็นสูตรที่พรรณนาถึงความชั่วทางกาย วาจา ใจ ว่าเป็นกลิ่นคาวมิใช่ปลาหรือของกินอื่น ๆ แล้วพรรณนาถึงการ ประกอบคุณงามความดีว่าทำให้ปราศจากกลิ่นคาว.

๑๕. หิริสูตร ( ว่าด้วยความละอายในการทำ ความชั่ว )

    แสดงถึงการประกอบคุณงามความดีและคุณธรรมของมิตร ลงสุดท้ายให้ดื่มรสของความสงัด และรสของความสงบ ผู้ดื่มรส อันเกิดแต่ปีติในธรรม ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป.

๑๖. มงคลสูตร ( ว่าด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นมงคล)

    ได้กล่าวไว้แล้ว ( ดูในหัวข้อ ๑ ขุททกปาฐะ บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้านบน )

๑๗. สูจิโลมสูตร (ว่าด้วยสุจิโลมยักษ์ )

    แสดงการตรัสตอบปัญหาว่า ราคะ, โทสะ, ความไม่ยินดี, ความยินดี, ความกลัว, ( ขนพอง ), ความตรึก ล้วนเกิด จากอัตตภาพ ( คือร่างกายจิตใจ ) นี้ทั้งสิ้น ผู้ใดรู้และบันเทาได้ ผู้นั้นย่อมข้ามโอฆะได้.

๑๘. ธัมมจริยสูตร (ว่าด้วยการประพฤติธรรม )

    แสดงว่าแม้การประพฤติธรรมและประพฤติพรหมจรรย์ จะเป็นแก้วอันประเสริฐ แต่ผู้ที่บวชแล้วถ้าประพฤติไม่ดี ชีวิตของผู้นั้นก็เลวทราม เพิ่มมลทินให้แก่ตน ต่อเมื่อละความชั่วต่าง ๆ จึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

๑๙. พราหมณธัมมิกสูตร (ว่าด้วยธรรมะของ พราหมณ์ )

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณมหาศาลหลายคน ชี้แจงธรรมะของพราหมณ์ตามคติพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนมิให้เบียดเบียน เป็นคำสอนตรงกันข้ามกับคติของพราหมณ์ ที่มีการฆ่าสัตว์บูชายัญ. นอกจากนั้นยังแสดงภึงธรรมะอื่น ๆ พราหมณ์ก็ เลื่อมใส ปฏิญญาตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

๒๐. นาวาสูตร (ว่าด้วยเรือ )

    เป็นคำสอนถึงการประพฤติธรรมว่า เปรียบเหมือนมีเรือข้ามน้ำได้..

๒๑. กึสีลสูตร (ว่าด้วยประพฤติอย่างไร จึงจะ บรรลุประโยชน์อันสูงสุด )

    ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม.

๒๒. อุฏฐานสูตร (ว่าด้วยความหมั่น )

    เป็นคำสอนปลุกใจให้ลุกขึ้น อย่ามัวหลับไหลอยู่ ให้ศึกษาเพื่อสันติ อย่าปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่า.

๒๓. ราหุลสูตร (ว่าด้วยพระราหุล )

    พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพระราหุลเนือง ๆ ด้วยพระพุทธโอวาทใจความว่า ให้ละกามคุณ ๕ คบกัลยาณมิตร เสพเสนาสนะอันสงัด รู้ประมาณในอาหาร อย่าทำความทะยานอยากในปัจจัย ๔ สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) ในอินทรีย์ ๕ ( มีตาเป็นต้น ) เจริญกายคตาสติ มากด้วยความหน่าย ( ในโลกิยะ ). เจริญนิมิตว่าไม่งาม และเจริญความไม่มีนิมิต ถอนกิเลสที่แฝงด้วยตัวคือ มานะเสีย.

๒๔. วังคีสสูตร (ว่าด้วยพระวังคีสะ )

    พระวังคีสะกราบทูลถามถึงพระอุปัชฌายะของตน พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปัชฌายะของเธอดับตัณหาได้แล้ว ปรินิพพานแล้ว.

๒๕. สัมมาปริพพาชนิยสูตร (ว่าด้วยการเที่ยว ไปด้วยดี )๑๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงว่า ผู้เช่นไรชื่อว่าเที่ยวไปด้วยดี หรือมีหลักธรรมของปริพพาชกอย่างแท้จริง โดยใจ ความคือกิเลสต่าง ๆ ไม่ติด อยู่ในโลกิยธรรม.

๒๖. ธัมมิกสูตร (ว่าด้วยธัมมิกอุบาสก )

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของธัมมิกอุบาสกถึงคุณสมบัติของพระสาวกที่ดี โดยใจความ คือไม่ละเมิดพระวินัย ฟังธรรมแล้วพิจารณาส้องเสพ ( ธรรม ) ด้วยดี และได้แสดงถึงคุณสมบัติของสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ เช่น ให้รักษาอุโบสถ, เว้นทุจจริต, เลี้ยง มารดาบิดา ประกอบด้วยการค้าอันถูกต้องตามธรรม.

จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ซึ่งมี ๑๒ สูตร

๒๗. ปัพพัชชาสูตร (ว่าด้วยการบวช )

    ตรัสเล่าเรื่องการเสด็จออกผนวชของพระองค์ จนกระทั่งเสด็จผ่านกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตรเห็น ทรงส่งทูตตามไป ทราบที่พักแล้วเสด็จด้วยพระองค์เองไปถึงที่ประทับ ณ บัณฑวบรรพต ทูลถามถึงพระชาติ. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบตอน นั้นยังมิได้ตรัสรู้ ).

๒๘. ปธานสูตร (ว่าด้วยการตั้งความเพียร )

    พระผู้มีพระภาคเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ขณะทรงบำเพ็ญเพียรใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ทรงตอบมารชื่ออนมุจิ ซึ่งมาพูดกล่อม พระทัยให้เลิกความเพียร ทรงชี้ว่า กาม, ความริษยา, ความหิวระหาย, ความทะยานอยาก, ความหดหู่ ง่วงงุน, ความหวาดกลัว, ความสงสัย, ความลบลู่บุญคุณผู้อื่น ความตีเสมอ เป็นเสนามารที่ ๑ ถึงที่ ๘ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังทรงแสดงเสนามารต่อไปอีก คือลาภ, ชื่อเสียง, สักการะ, ยศที่ได้มาโดยผิดธรรม, การยกตัวเอง, การดูหมิ่นผู้อื่น แล้วตรัสว่า ในการทำสงคราม ( กับพญามาร ) นั้น พระองค์ยอมตายดีกว่า ที่จะเป็นผู้แพ้แล้วมีชีวิตอยู่. พญามารเสียใจที่ไม่สามารถเอาชนะพระองค์ได้ จึงหายไปในที่นั้น.

๒๙. สุภาสิตสูตร (ว่าด้วยคำสุภาษิต )

    พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงองค์ ๔ ของวาจาสุภาษิตที่ไม่มีโทษ ที่วิญญูชนไม่ติเตียน คือ ๑. พูดเป็นสุภาษิต ๒. พูดเป็นธรรม ๓. พูดเป็นที่รัก ๔. พูดจริง ไม่พล่อย. แล้วพระวังคีสะกราบทูลขยายความเป็นคำฉันท์.

๓๐. สุนทริกสูตร (ว่าด้วยสุนทริก ภารทวาช พราหมณ์ )

    พราหมณ์ภารทวาชโคตร ชื่อสุนทริกะ เห็นพระผู้มีพระภาค ก็ถามว่า ท่านชาติอะไร ( ในวรรณะ ๔ ) พระองค์ตรัส ตอบว่า อย่าถามถึงชาติเลย จงถามถึงความประพฤติดีกว่า แล้วทรงแสดง แสดงคุณสมบัติของมุนี ที่แม้เกิดในสกุลต่ำ แต่ประพฤติดี ทำลาย กิเลส ก็นับเป็นอาชาไนยได้ พราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก.

๓๑. มาฆสูตร (ว่าด้วยมาฆมาณพ )

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบคำถามของมาฆมาณพเรื่องผู้ประสงค์บุญควรบูชายัญอย่างไร โดยทรงแสดงว่า ควรบูชา ท่านผู้มีคุณสมบัติที่ดีงาม ละกิเลสได้ มาณพก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก

๓๒. สภิยสูตร (ว่าด้วยสภิยปริพพาชก)

    สภิยปริพพาชกไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเรื่องคุณสมบัติของภิกษุ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ. ปริพพาชกขอบรรพชา อุปสมบทและได้สำเร็จอรหัตตผล.

๓๓. เสลสูตร (ว่าด้วยเสลพราหมณ์ )

    เนื้อความอย่างเดียวกับเสลสูตร ที่ย่อไว้แล้ว หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๕ ) หมายเลขที่ ๔๒. เสลสูตร

๓๔. สัลลสูตร (ว่าด้วยลูกศรคือความโศก )

    ส่วนใหญ่พรรณนาถึงชีวิตที่ใกล้ต่อความตายเข้าไปทุกขณะ เมื่อบุคคลถอนลูกศรได้ ก็จะไม่เศร้าโศก ได้นิพพาน.

๓๕. วาเสฏฐสูตร (ว่าด้วยเสฏฐมาณพ )

    มีข้อความอย่างเดียวกับที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๕) หมายเลขที่ ๔๘.วาเสฏฐสูตร

๓๖. โกกาลิกสูตร (ว่าด้วยพระโกกาลิกะ )

    มีความพ้องกับที่ย่อไว้แล้ว หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๒ ) ในหมวด ๕๐ ที่ ๒ หมายเลขที่ ๔

๓๗. นาลกสูตร (ว่าด้วยพระนาสกะ )

    พระนาลกะ ( ผู้เป็นน้องชายของอสิตดาบส ) ถามปัญหาเรื่องโมเนยยปฏิบัติ ( การปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี ), พระผู้มี พระภาคตรัสตอบแสดงคุณสมบัติของมุนี.

๓๘. ทวยตานุปัสสนาสูตร (ว่าด้วยการพิจารณาธรรมที่เป็นคู่ )

    คือพิจารณาทุกข์พร้อมด้วยเหตุให้ทุกข์เกิด พิจารณาความดับทุกข์ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อ พิจารณาเป็นคู่อย่างนี้ อย่างไม่ประมาท มีความเพียร ก็จะได้บรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีกิเลสเหลือ ก็จะได้เป็นพระอนาคามี. นอก จากนั้นได้ตรัสแสดงวิธีพิจารณาธรรมเป็นคู่อย่างพิสดาร.

จบวรรคที่ ๓ ขึ้นวรรคที่ ๔ ซึ่งมี ๑๖ สูตร๑๓

๓๙. กามสูตร (ว่าด้วยกาม )

    พรรณาโทษของกามและสอนให้เว้นกาม เหมือนวิดน้ำเรือรั่วพาเรือให้ถึงฝั่งได้.

๔๐. คุหัฏฐกสูตร (ว่าด้วยข้อเปรียบเทียบมิให้ ติดอยู่ในถ้ำ )

    โดยใจความ ให้รู้ความจริงเรื่องกาม มีความรู้เท่า ไม่ติดยึดถือ ก็จะข้ามโอฆะได้. อนึ่ง คำว่า ถ้ำ นั้น หมายถึง ร่างกาย.

๔๑. ทุฏฐัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในทิฏฐิ อันชั่ว )

    แสดงว่ามุนีไม่ติดอยู่ในทิฏฐิความเห็น เพราะมีคุณธรรม จึงไม่ติดอัตตา หรือนิรัตตา ( อนัตตา ).

๔๒. สุทธัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในความ บริสุทธิ์ที่คนเข้าใจผิดว่าจะมีได้ด้วยการเห็น )

    มีบางคนเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์ จะมีได้เพราะได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสสอนมิให้ติดในสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง เป็นต้น.

๔๓. ปรมัฏฐกสูตร (ว่าด้วยมิให้ติดอยู่ในสิ่งที่ ยอดเยี่ยมตามความเห็นผิด )

    ข้อสำคัญคือให้คลายทิฏฐิ อย่ายึดถือในสิ่งใด ๆ.

๔๔. ชราสูตร (ว่าด้วยความแก่ )

    แสดงว่าชีวิตน้อย ในที่สุดก็จะต้องตาย ไม่ควรยึดถือ คนที่เรารักตายไปแล้ว ก็ไม่ได้เห็นกัน เปรียบเหมือนการ ฝันไป ตื่นขึ้นก็ไม่เห็น.

๔๕. ติสสเมตเตยยสูตร (ว่าด้วยติสสเมตเตยย- มาณพ )

    พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องโทษของกาม ตรัสแนะนำให้ศึกษาความสงัด.

๔๖. ปสูรสูตร (ว่าด้วยปริพพาชกชื่อปสูระ )

    ตรัสแสดงว่า ผู้ที่ติดอยู่ในความเห็น หรือสัจจะเฉพาะอย่าง ย่อมโต้เถียงกันว่า ความบริสุทธิ์มีเฉพาะในลัทธิของตน แล้วตรัสแสดงโทษของความติดในทิฏฐิ.

๔๗. มาคัณฑิยสูตร (ว่าด้วยคัณฑิยพราหมณ์ )

    ตรัสแสดงให้เห็นความน่าเกลียดของกายนี้ อันเต็มไปด้วยของโสโครก และตรัสสอนให้ละมานะความถือตัว ไม่ติด ในกาม ไม่ยึดมั่นสัญญา ( ความกำหนดหมายในใจ ) และทิฏฐิความเห็น.

๔๘. ปุราเภทสูตร (ว่าด้วยภายหลังความตาย )

    ตรัสสอนให้ละตัณหา ไม่มีความยึดถือ. มีคำสอนไม่ให้ยึดอัตตาและนิรัตตา ( อนัตตา ) ทั้งสองด้วย.

๔๙. กลหวิวาทสูตร (ว่าด้วยการทะเลาะ วิวาท )

    ตรัสแสดงเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท แล้วตรัสสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณา เป็นผู้หลุดพ้น ไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร.

๕๐. จูฬวิยูหสูตร (ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะ ทิฏฐิ สูตรเล็ก )

    ตรัสสอนให้เห็นว่า การติดความคิดเห็นเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันซึ่งควรจะแก้ไข.

๕๑. มหาวิยูหสูตร (ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะ ทิฏฐิ สูตรใหญ่ )

    ตรัสสอนผลร้ายของการวิวาทกันและสอนมิให้ยึดถือ.

๕๒. ตุวฏกสูตร (ว่าด้วยสันติบท คือทางแห่ง ความสงบ๑๔ )

    พระผู้มีพระภาคแสดงทางแห่งความสงบและมีข้อความเรื่องไม่มีอัตตา และนิรัตตา ( อนัตตา ) และคุณธรรมอื่น ๆ ที่เป็นไปเพื่อไม่ยึดถือ.

๕๓. อัตตทัณฑสูตร (ว่าด้วยโทษของตน )

    ตรัสสอนให้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท และให้ตั้งอยู่ในคุณความดี.

๕๔. สาริปุตตสูตร (ว่าด้วยพระสาริบุตร )

    แสดงการโต้ตอบระหว่างพระผู้มีพระภาคกับพระสาริบุตรเรื่องคุณธรรมของภิกษุ.

จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ซึ่งมี ๑๖ สูตร

    ในวรรคที่ ๕ นี้ แสดงการถามปัญหาของมาณพ ๑๖ คน ซึ่งพาวรีพราหมณ์แต่งปัญหาให้ศิษย์ ของตน ๑๖ คนไป กราบทูลพระผู้มีพระภาค เพื่อรู้ว่าจะเป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือไม่. สูตรทั้งสิบหกจึงมีชื่อตามชื่อของมาณพทั้งสิบหก ซึ่งแต่ละสูตรแสดงคำถามและ คำตอบ ( เป็นคำฉันท์ ) ในที่นี้จะแสดงชื่อมาณพทั้งสิบหกนั้นคือ ๑. อชิตะ ๒. ติสสเมตเตยยะ ๓. ปุณณกะ ๔. เมตตคู ๕. โธตกะ ๖. อุปสีวะ ๗. นันทะ ๘. เหมกะ ๙. โตเทยยะ ๑๐. กัปปะ ๑๑. ชตุกัณณี ๑๒. ภัทราวุธะ ๑๓. อุทยะ ๑๔. โปสาละ ๑๕. โมฆราช ๑๖. ปิงคิยะ ( เมื่อรวม ๑๖ สูตรนี้เข้าด้วย จึงเป็น ๗๐ สูตร ).

    ( หมายเหตุ : สาระสำคัญในสุตตนิบาตนี้ ส่วนใหญ่แสดงคุณธรรมที่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ให้ดับกิเลสเพื่อบรรลุ นิพพาน แม้คำถามคำตอบของมาณพ ๑๖ คน ก็เป็นไปในเรื่องความหลุดพ้นแทบทั้งสิ้น.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย

ขุททกปาฐะ, ธัมมปทคาถา, อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิบาต.


    '๑' . การนับจำนวนว่า ๓๗ นี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ในอรรถกถาท่านนับเป็น ๓๘ โดยการแยกการบำรุงมารดากับ การบำรุงบิดาไว้เป็น ๒ ข้อ และว่าอาจแยกข้อสงเคราะห์บุตร กับภริยาออกเป็น ๒ ข้ออีกก็ได้ หรือจะรวมอย่างที่เขียนไว้ข้างบน ( คือรวมเป็น ๓๗ ข้อ ) ก็ได้

    '๒' . พระสูตรเหล่านี้ได้เลือกแปลไว้บ้างแล้ว รวม ๑๕ สูตร หรือ ๑๕ หัวข้อ คือระหว่างหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒-๒๑ หมายเลข ๒ ถึง ๑๔ และ ๑๗-๑๘-๑๙ ที่นำมาย่อไว้ในตอนนี้จะเลือกที่ไม่ซ้ำกัน

    '๓' . คำขึ้นต้น แบบเดียวกับข้อ ๑, ๒ จึงละไว้ ไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก. และเป็นอันโปรดทราบด้วยว่า จนจบอิติวุตตกะ มีคำ ขึ้นต้นแบบเดียวกันทั้งสิ้น

    '๔' . โยคะ คือกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ

    '๕' . คำเต็มว่า ไม่สำรวมทวารในอินทรย์ทั้งหลาย โดยใจความ คือไม่ระวังตา หู เป็นต้น

    '๖' . วณิพพก กับยาจก ต่างกัน คือวณิพพก คือผู้ขออย่างพรรณนาอานิสงส์ของทานว่า จะให้ได้บรรลุผลดีอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนยาจก คือผู้ขอธรรมดา ทั้งนี้เป็นคำอธิบายของอรรถกถา

    '๗' . แรดพันธุ์อินเดีย มีนอหรือเขาเดียว แต่พันธุ์ของประเทศอื่น มีนอคู่บ้าง นอเดียวบ้าง

    '๘' . มรรค หมายถึงหนทาง หรือข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความดับทุกข์

    '๙' . โอฆะ ได้แก่ห้วงน้ำคือกิเลส มี ๔ อย่าง คือ กาม, ภพ, ทิฏฐิ, อวิชชา

    '๑๐' . อรรณพ ได้แก่ห้วงน้ำ หรือมหาสมุทร คือความเวียนว่ายตายเกิด

    '๑๑' . ธัมมะในที่นี้ หมายถึงทมะการฝึกตนหรือความข่มใจ

    '๑๒' . พระสูตรนี้ เท่ากับการให้ความหมายของคำว่า ปริพพาชก ตามหลักพระพุทธศาสนา. เมื่อแปลตามศัพท์ปริพพาชก แปลว่า ผู้เที่ยวไป เป็นชื่อนักบวชนอกพระพุทธศาสนา

    '๑๓' . มีเรื่องเล่าว่า พระโสณกุฏิกัณณะ ได้เคยสวดพระสูตร ๑๖ สูตรนี้ ในที่พระพักตร์พระศาสดา อันแสดงว่า มีการท่อง จำพระสูตรมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล ดูหน้าความรู้เรื่องพระไตรปิฎก ) พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี

    '๑๔' . ตามศัพท์ ตุวฏะ หรือตุวฏกะ แปลว่า เร็ว

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ