บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 16

หน้า ๑
ทสกนิบาต
ชุมนุมธรรมะ
ที่มี ๑๐ ข้อ

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑
๑. อานิสงส์แห่งศีล
๒. เสนาสนะ
ด้วยองค์ ๕
๓.ตรัสแสดง
กำลัง ๑๐
๔. อำนาจ
ประโยชน์ ๑๐
๕. เหตุปัจจัยที่
ให้เกิดการทะเลาะ
วิวาทในสงฆ์

หน้า ๒
ทสกนิบาต
ชุมนุมธรรมะ
ที่มี ๑๐ ข้อ

ปฐมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒

๑. ควรฉลาด
ในเรื่องจิตของตน
๒.ที่สุดเบื้องต้น
ของอวิชชาไม่ปรากฏ
๓.สมบูรณ์ด้วยศีล ฯลฯ
๔. พระตถาคต
พ้นจากธรรม ๑๐
๕. ผู้บริโภคกาม ๑๐

หน้า ๓ ทสกนิบาต
ชุมนุมธรรมะ
ที่มี ๑๐ ข้อ

ตติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๓

๑. เจริญสมณสัญญา
๒. มิจฉาทิฏฐิ
๓. ๓ - ๕. ในวรรค
ทั้งสามวรรคนี้
ตรัสเรื่องเห็นผิดชอบ

จตุตถปัณณาสถ์
หมวด ๕๐ ที่ ๔

๑. ตรัสแสดงธรรม
๒.ชาณุส
โสณิพราหมณ์
๓ - ๕. แม้ใน ๓ วรรคนี้
ก็เป็นการแสดง
เรื่องอกุศลกรรมบถ
และกุศลกรรมบถ

ปัญจมปัณณาสถ์
หมวด ๕๐ ที่ ๔

หน้า ๔ เอกาทสกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๑ ข้อ
๑. ตรัสแสดง
อานิสงส์ของศีล
๒. ตรัสแสดงธรรม
แก่มหานามศากยะ

พระสูตรนอกหมวด ๕๐

 

เล่มที่ ๒๔ ชื่ออังคุตตรนิกาย
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๖ )
หน้า ๑

ทสก-เอกาทสนิบาต

( ว่าด้วยธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ, ๑๑ ข้อ )

      พระไตรปิฎกเล่มนี้ เล่มที่ ๒๔ นี้ ชื่อว่าเป็นเล่มที่ ๕ หรือเล่มสุดท้ายของอังคุตตรนิกาย คือหมวดแสดง ข้อธรรมเป็นจำนวน โดยแสดงข้อธรรมจำนวน ๑๐ และ ๑๑ โดยลำดับดังต่อไปนี้.

ทสกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๐ ข้อ

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

       (ในหมวดนี้มี ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร. วรรคแรกชื่ออานิสังสวรรค ว่าด้วยผลดี, วรรคที่ ๒ ชื่ออนาถกรณวรรค ว่าด้วยธรรมะอันทำที่พึ่ง, วรรคที่ ๓ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่, วรรคที่ ๔ ชื่ออุปาลิวรรค ว่าด้วย พระอุบาลี, วรรคที่ ๕ ชื่ออักโกสวรรค ว่าด้วยการด่า ).

      ๑. ตรัสแสดงอานิสงส์แห่งศีลที่เป็นกุศลแก่พระอานนท์
ซึ่งเป็นการแสดงอานิสงส์ ที่มีอานิสงส์ต่อ ๆ กันไปเป็นลูกโซ่ ( ๑๐ ประการ คือ ) ๑. ความไม่เดือดร้อน, ๒. ความบันเทิงใจ ( ปราโมทย์ ), ๓. ความปลื้มใจ ( ปิติ ), ๔. ความระงับ ( ปัสสัทธิ ), ๕. ความสุข, ๖. สมาธิ, ๗. ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ตามเป็นตริง ), ๘-๙. นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด ), ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ), แล้วตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมไหลมา ย่อมทำธรรมะให้เต็ม เพื่อบรรลุธรรมะที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปสำหรับภิกษุผู้มีศีล ส่วนภิกษุผู้ทุศีลตรงกันข้าม.

พระสาริบุตรกับพระอานนท์ ต่างแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงโทษของความ เป็นผู้ทุศีลและอานิสงส์ของความเป็นผู้มีศีลฝ่ายละ ๑๐ ข้อ.

พระสาริบุตรตอบพระอานนท์ ถึงการได้สมาธิที่ไม่มีความกำหนดหมายในสิ่ง ๑๐ อย่างว่า เป็นอย่างที่มันเป็น แต่ก็ยังมีสัญญาอยู่ คือในสมัยที่ท่านอยู่ในป่าอันธวัน ใกล้กรุงสาวัตถี ได้เข้าสมาธิเช่นนั้น ไม่มีความกำหนดหมาย ว่าธาตุ ๔ เป็นธาตุ ๔, ไม่มีความกำหนดหมายว่าอรูป ๔ เป็นอรูป ๔, ไม่มีความกำหนดหมายในโลกนี้ โลกหน้าว่าเป็นโลกนี้ โลกหน้า ( รวมเป็น ๑๐ ข้อ ) แต่ก็ยังมีสัญญาคือความกำหนดหมายว่า ความดับภพ เป็นนิพพาน ( ภวนิโรโธ นิพฺพานํ ) คือสัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไป.

ตรัสว่า ถ้าภิกษุขาดองคคุณ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ก็ควรจะทำให้สมบูรณ์ คือความเป็นผู้มีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม ), ก้าวลงสู่บริษัท, เป็นผู้กล้าหาญแสดงธรรมแก่บริษัท, เป็นผู้ทรง วินัย, เป็นผู้อยู่ป่า อยู่เสนาสนะอันสงัด, เป็นผู้ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน. ถ้าประกอบด้วย ธรรม ๑๐ อย่างนี้ ก็เป็นผู้น่าเลื่อมใสในทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง. แล้วได้ ตรัสแสดงองคคุณอื่นเป็นการยักย้ายนัย.

      ๒. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะ ( ที่อยู่อาศัย ) อันประกอบด้วยองค์ ๕

ก็จะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะโดยกาลไม่นาน คือ ๑. มีศรัทธา ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มายา ๔. ปรารภความเพียร ๕. มีปัญญา. เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ไม่ไกลไม่ใกล้เกินไป สะดวกด้วยการไปมา ๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ๓. มีสัมผัสเกี่ยวกับยุง เหลือบ ลม แดด สัตว์เสือกคลานน้อย ๔. พอจะมีปัจจัย ๔ เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ไม่ยากนัก ๕. มีภิกษุที่ทรงความรู้อยู่ พอจะไต่ถามให้ท่านแก้ความสงสัยให้ได้.

ตรัสว่า ภิกษุละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ชื่อว่าเป็นอุดมบุรุษในพระธรรมวินัยนี้ คือละนีวรณ์ ๕, ประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีศีล เป็นต้น.

ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูดมัด ) ๑๐ ประการ   (ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ )   ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

ตรัสแสดงกิเลสเครื่องผูกมัดจิต ๕ และตอของจิต ๕   ( ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ หน้า ๒ )    ตอของจิต ๕

ตรัสว่า บรรดาสัตว์ทุกชนิด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอด, บรรดากุศลธรรม ความไม่ประมาทเป็นยอด.

ตรัสว่า บุคคล ๑๐ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม ของโลก คือพระพุทธเจ้า, พระปัจเจกพระพุทธเจ้า, พระอริยบุคคล ๗ ประเภท ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๓ )    ใน ๒๐. กีฏาคิริสูตร   โครตภู ( ผู้อยู่ในระหว่างพระอริยเจ้ากับบุถุชน ).

ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ( ธรรมที่ทำที่พึ่ง ) ๑๐ ประการ คือ ๑. มีศีล ๒. สดับฟังมาก ๓. คบเพื่อนที่ดี ๔. ว่าง่าย รับคำสั่งสอนโดยเคารพ ๕. ช่วยเหลือกิจของเพื่อนพรหมจารี ๖. ใคร่ธรรม ๗. ปรารภความเพียร ๘. สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๙. มีสติ ๑๐ มีปัญญา.

ตรัสแสดงนาถกรณธรรม ๑๐ ประการ เช่นเดิม แต่อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้า ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการแล้ว ก็ทำให้ภิกษุที่เป็นเถระ, ที่เป็นปูนกลาง, ที่บวชใหม่ ตั้งใจว่ากล่าวสั่งสอน หวังความเจริญได้ในกุศล ธรรมไม่มีเสื่อม.

ตรัสแสดงอริยวาสะ ( คุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ ) ๑๐ ประการ คือ ๑. ละองค์ ๕ คือละนีวรณ์ ๕. ๒. ประกอบด้วยองค์ ๖ คือวางเฉยในอารมณ์ทั้งหกมีรูป เป็นต้น ในเมื่อได้เห็น เป็นต้น. ๓. รักษาสิ่ง เดียว คือประกอบด้วยจิตมีสติเป็นเครื่องรักษา. ๔. มีอปัสเสนะ ( พนักพิง ) ๔ คือ พิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดทน, พิจารณาแล้วเว้น, พิจารณาแล้วบรรเทา. ๕. มีการยึดถือความเจริญ เฉพาะอย่างอันนำออกแล้ว ( เช่น ไม่ยึดถือว่าโลกเที่ยง เป็นต้น ) ๖. มีการแสวงหาอันสละ แล้วด้วยดี ( เช่นละการแสวงหากาม ) ๗. มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว ๘. มีกายสังขาร ( ลมหายใจเข้าออก ) อันสงบระงับ คือเข้าฌานที่ ๔. มีจิตพ้นแล้วด้วยดี ( จากราคะ โทสะ โมหะ ). ๑๐. มีปัญญาอันพ้นแล้วด้วยดี คือรู้ว่าละกิเลสได้.

      ๓. ตรัสแสดงกำลัง ๑๐ ประการของพระตถาคต

( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ หน้า ๒)    ในหัวข้อของ กำลัง ๑๐

ตรัสกะพระอานนท์ ว่า ไม่มีญาณอย่างอื่นยิ่งไปกว่ายถาภูตญาณ ( คือญาณรู้เห็น ตามความเป็นจริงในเรื่องนั้น ๆ ).

ตรัสแสดงธรรมที่ควรละด้วยกาย ( คือกายทุจจริต ), ที่ควรละด้วยวาจา ( คือ วจีทุจจริต ), ที่ควรละเพราะเห็นด้วยปัญญา ( คือความโลภ, ความคิดประทุษร้าย, ความหลง, ความโกรธ, ความผูกโกรธ, การลบหลู่บุญคุณ ท่าน, การตีเสมอ, ความตระหนี่, ความริษยา ).

พระมหาจุนทะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องภิกษุผู้กล่าวญาณวาทะ ( กล่าวถึงความรู้ ) แต่ถ้าถูกธรรม ( ๙ อย่าง มีความโลภ เป็นต้นข้างบนนี้ ) ครอบงำได้ ก็พึงทราบว่าเธอไม่รู้จริง, ภิกษุผู้กล่าวภาวนาวาทะ ( กล่าวถึงการอบรมกาย, ศีล, จิต, ปัญญา ) หรือกล่าววาทะทั้งสองอย่างข้างต้น แต่ถ้าถูกธรรมะ ( ๙ อย่างข้างบนนี้ ) ครอบงำ ก็พึงทราบ เธอได้ว่าเธอไม่รู้จริง. แต่ถ้าตรงกันข้าม คือไม่ถูกธรรมะเหล่านั้นครอบงำ ก็พึงทราบว่ารู้จริง.

ตรัสแสดงกสิณายตนะ ( แดนกสิณ คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ ที่ใช้ในการเพ่งให้จิตสงบเป็นสมาธิ ) ๑๐ ประการ ได้แก่กสิณ คือ ๑. ดิน ๒. น้ำ ๓. ไฟ ๔. ลม ๕. สีเขียว ๖. สีเหลือง ๗. สีแดง ๘. สีขาว ๙. อากาส ( ช่องว่าง ) ๑๐. วิญญาณ.

พระมหากัจจานะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาชื่อกาลี ขยายความแห่งพระพุทธ ภาษิตเรื่องการบรรลุประโยชน์ความสงบแห่งหทัย โดยอธิบายเรื่องกสิณ ๑๐.

ตรัสแสดงถึงปัญหา ( คำถาม ), อุทเทส ( บทตั้ง ), เวยยากรณ์ ( คำตอบ ) ตั้งแต่ ๑ ข้อ ๒ ข้อไปจนถึง ๑๐ ข้อ ซึ่งนักบวชศาสนาอื่นตอบให้สมบูรณ์ไม่ได้ มีแต่อึดอัดยิ่งขึ้น คือ ๑ ข้อ ได้แก่สัตว์ทั้งปวงเป็นอยู่ได้ ด้วยอาหาร. ๒ ข้อ คือนาม และรูป. ๓ ข้อ คือเวทนา. ๔ ข้อ คืออาหาร ๔ ( มีอาหารที่พึงกลืนกินเป็นคำ ๆ, อาหารคือผัสสะ ( ความถูก ต้อง ), อาหารคือเจตนา, อาหารคือวิญญาณ ). ๕ ข้อ คืออุปาทานขันธ์ ( ขันธ์หรือกองแห่งรูปนามที่คนยึดถือ ) ๕ ประการ. ๖ ข้อ คืออายตนะ ภายใน ๖ ( มีตา เป็นต้น ) ๗ ข้อ คือวิญญาณฐิติ ๗    ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ )    ในหมายเลขที่ ๕        ๘ ข้อ คือโลกธรรม ๘ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ ) ในหมายเลขที่ ๑    ๙ ข้อ คือสัตตาวาส ๙ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๓ )     ในหมายเลขที่ ๓    ๑๐ ข้อ คืออกุศลกรรมบท ๑๐ ( กายทุจจริต ๓, วจีทุจจริต ๔, มโนทุจจริต ๓ ).

นางภิษุณีชาวเมืองกชังคละ แสดงธรรมแก่พวกอุบาสกชาวเมืองกชังคละใน ทำนองเดียวกับเรื่องปัญหา ๑๐ ข้อข้างต้น. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสชมเชย.

ตรัสว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จึงไม่ต้องกล่าว ถึงในสิ่งที่เลว. แล้วตรัสแสดงโลกพันโลก มีพระจันทร์พระอาทิตย์ถึงพัน ซึ่งท้าวมหาพรหมเป็นเลิศ อริยสาวกผู้ได้สดับก็ยังเบื่อหน่ายคลาย กำหนัดในสิ่งที่เลิศนั้น. แล้วได้ตรัสถึงธรรมอื่น ๆ อันพ้องกับที่เคยตรัสมาแล้ว เช่น กสิณายตนะ ๑๐ อภิภายตนะ ๘ เป็นต้น. ในที่สุดได้ตรัส แสดงนิพพานในปัจจุบันตามหลักพระพุทธศาสนา.

พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ๑๐ ข้อ คือทรง เห็นว่าพระผู้มีพระภาค ๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ๒. ทรงมีศีล ๓. ทรงเสพเสนาสนะอันสงัด. ๔. ทรงสันโดษ ด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ๕. ทรงเป็นผู้คำนวนของคำนับ จนถึงทรงเป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ๖. ทรงมีถ้อยคำขัดเกลากิเลส ๗. ทรงได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา ๗. ทรงระลึกชาติได้ ๙. ทรงมีทิพจักษุ ๑๐. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ทรงเห็นเหตุเหล่านี้ จึงทรงแสดงความเคารพ และตั้งความปปรารถนาดีในพระผู้มีพระภาค.

      ๔. ตรัสแสดงอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการในการที่ทรงบัญญัติสิกขาบท

ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘ )    ชื่อปริวาร ในหมายเลข ๙ และเรื่องทางพระวินัยอื่น ๆเช่น การชักเข้าหา อาบัติเดิม จนถึงสังฆเภท สังฆสามัคคี เป็นการตรัสชี้แจงแก่พระอุบาลี พ้องกับที่มีอยู่แล้วในวินัยปิฎก.

      ๕. ตรัสเรื่องเหตุปัจจัยที่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในสงฆ์

มีการแสดงสิ่งมิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม เป็นต้น. และตรัสว่า เหตุเหล่านี้เป็นมูลแห่งการวิวาท และเรื่องอื่น ๆ ที่ปรากฏว่าย่อมาแล้วใน วินัยปิฎก.

ตรัสแสดงโทษ ๑๐ ประการในการเข้าสู่ภายในพระราชวัง คืออาจทำให้เป็นที่ สงสัยเมื่อยิ้มกับพระมเหสี, ถูกสงสัยเกี่ยวกับของหาย, เกี่ยวกับความลับรั่วไหล เป็นต้น.

ตรัสว่า ผู้มีรายได้ วันละ ๑ กหาปณะ ถึงวันละพันกหาปณะเก็บทรัพย์ที่ได้มานั้น ไว้ มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็อาจมีกองโถคทรัพย์ใหญ่ได้ แต่ที่จะเสวยสุขโดยส่วนเดียว อันมีทรัพย์เป็นเหตุสักคืนหนึ่ง วันหนึ่ง หรือครึ่งวัน ก็ยังไม่แน่ เพราะกามเป็นของไม่เที่ยง ส่วนสาวกของพระองค์ไม่ประมาท บำเพ็ญ ๑๐ ปี ๙ ปี หรือ ๑๐ เดือน ๙ เดือน ถึง ๑ เดือน หรือ ๑๐ ทิวาราตรี ถึง ๑ ทิวาราตรี ก็พึงได้ประสบสุขโดยส่วนเดียว ถึงร้อยปี แสนปี ล้านปี และได้เป็นสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระโสดาบัน.

ตรัสว่า โลภะ, โทสะ, โมหะ, อโยนิโสมนสิการ ( การไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ) เป็นปัจจัยแห่งการกระทำบาปกรรม ส่วนอโลภะ เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งการกระทำกัลยาณกรรม.

ตรัสแสดงธรรมะ ๑๐ อย่างที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ คือ ๑. เรามีเพศ ต่างจากคฤหัสถ์แล้ว ๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ๓. ยังมีกิริยาอาการที่ดีงามอย่างอื่นอีกที่ต้องทำ ๔. เราติตนเองโดยศีลได้หรือไม่ ๕. ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเราโดยศีลได้หรือไม่ ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ๗. เรามีกรรมเป็นของตัว จักเป็นผู้รับผลของกรรมดีชั่ว ที่ทำไว้ ๘. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙. เรายินดีในเรือนว่างหรือไม่ ๑๐. เราได้บรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์หรือไม่.

ตรัสว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ถึงธรรม ๑๐ อย่างที่ตั้งอยู่ในร่าง คือหนาว, ร้อน, หิว, ระหาย, ปวดอุจจาระ, ปัสสาวะ, ความสำรวมกาย, ความสำรวมวาจา, ความสำรวมใจ, เครื่องปรุงภพที่ทำให้เกิดอีก.

ตรัสแสดงสาราณิยธรรม ( ธรรมอันทำให้ระลึกถึงกัน ) ๑๐ ประการ     ในทำนองเดียวกับนาถกรณธรรม ( ดูในหมายเลขที่ ๒ มีศีล เป็นต้น ).


    '๑' . ความจริงเป็นข้อความอันเดียวกับที่กล่าวไว้ ( ในหน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๒ . ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ ในวรรคที่ไม่จัดเข้าใน หมวดที่ ๕๐ที่หมายเลข ๓ ) เป็นแต่ในที่นี้เพิ่มคุณธรรมขึ้นอีก ๒ ข้อ และเรียงข้อความอีกสำนวนหนึ่งให้พิสดารขึ้นกว่าเดิม

    '๒' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑    หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒.   และเชิงอรรถ ( ที่มีเขียนอธิบายไว้ด้านล่าง แล้วด้วย )

    '๓' . โปรดดูข้อความเปรียบเทียบ หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ หมวด ๕๐ ที่ ๑ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๕ )   และ เล่มที่ ๑๔ หน้า ๓ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หมายเลขที่ ๒.( กำลังของพระตถาคต ๖ )    และดูธรรม วิภาคปริเฉทที่ ๒ พร้อมทั้งคำอธิบายในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๗๔-๑๗๕    ประกอบด้วย

    '๔' . คำว่า อากาสในที่นี้ หมายถึงช่องว่าง หรือ อวกาศ ( Space ) ไม่ได้หมายความถึงแก๊ส อย่างที่เข้าใจกันในทาง วิทยาศาสตร์ เพราะแก๊สเหล่านั้นจัดเข้าในลมไปแล้ว ตามความหมายทางพระพุทธศาสนา


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ