บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 15

หน้า ๑ สัตตกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗
๒. ตรัสแสดงอนุสัย ๗
๓. สารันททเจดีย์
๔. ตรัสแสดงคารวะ ๗
๕. ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. ตรัสตอบคำถาม
ของภิกษุรูปหนึ่ง
๒.ถ้าขาดธรรม ฯลฯ
๓.คุณสมบัติ
ของพระวินัยธร ๗

หน้า ๒ อัฏฐกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. อานิสงส์ของเมตตา
๒. เวรัญชพราหมณ์
๓.อุคคคฤหบดี
๔. ตรัสแสดงทาน ๘
๕. อุโบสถมี องค์ ๘
วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑.พระนางมหาปชาบดี
๒.บุคคล ๘ ประเภท
๓.ภิกษุประกอบด้วยธรรม
๔.สติสัมปชัญญะ ฯลฯ
๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม

หน้า ๓ นวกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. นักบวชศาสนาอื่น
๒. พระสาริบุตรถูก
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา
๓. ตรัสถึงมนุษย์
ชาวอุตตรกุรุทวีป ฯลฯ
๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร
๕.พระอานนท์แสดง
ธรรมแก่พระอุทายี

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
๒. ตรัสแสดงการล่วง
ละเมิดศีล ๕ ข้อ
๓. ตรัสแสดงว่า
ควรเจริญความเพียรชอบ
๔. เจริญอิทธิบาท
๕. เจริญสัญญา

 

เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ )
หน้า ๓ จบเล่ม

นวกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

      ( หมวด ๕๐ นี้ มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อสัมโพธวรรค ว่าด้วยการตรัสรู้. วรรคที่ ๒ ชื่อ สีหนาทวรรค ว่าด้วยการบรรลืออย่างราชสีห์. วรรคที่ ๓ ชื่อสัตตาวาสวรรค ว่าด้วยที่อยู่แห่งสัตว์. วรรคที่ ๔ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๕ ชื่อปัญจาลวรรค ว่าด้วยปัญจาลจัณฑเทพบุตร ).

      ๑. ตรัสสอนให้ตอบนักบวชศาสนาอื่น ถึงธรรมอันเป็นที่อาศัยของรรมที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้ มีดังต่อไปนี้

คบเพื่อนที่ดี, มีศีล, ถ้อยคำที่ขัดเกลากิเลส, ปรารภความเพียร, มีปัญญา. เมื่อตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่าง เหล่านี้แล้ว ควรเจริญธรรม ๔ อย่าง ให้ยิ่งขึ้น คืออสุภะ ( การพิจารณาว่าไม่งาม ), เมตตา, ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ไม่ใช่ตัวตน.

ตรัสว่า ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ด้วยเหตุ คืออาศัยศรัทธา, อาศัยหิริ, อาศัย โอตตัปปะ, อาศัยปัญญา แล้วละอกุศล เจริญกุศล, แล้วควรอยู่อย่างมีอุปนิสสัย ๔ อย่าง คือพิจารณาแล้วเสพ, อดทน, เว้น, บันเทา.

พระเมฆิยะขอลาพระผู้มีพระภาคไปบำเพ็ญเพียร ตรัสขอให้รอก่อน เธอกราบ ทูลถึง ๓ ครั้ง ก็ตรัสอนุญาต แต่เมื่อไปบำเพ็ญเพียร ก็ถูกอกุศลวิตกครอบงำ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนเรื่องธรรมอันเป็นที่อาศัยของธรรม ที่เป็นฝ่ายให้ตรัสรู้.

พระนันทกะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยืนคอยนอก ซุ้มประตู จนแสดงธรรมจบ จึงเสด็จเข้าไปข้างใน. พระนันทกะกราบทูลว่า ไม่ทราบว่าเสด็จมาจึงแสดงธรรมถึงเท่านี้ ( มากไป ). ตรัสตอบ ว่า เธอทำถูกแล้ว บรรพชิตที่ประชุมกันนั้น ควรทำการ ๒ อย่าง คือกล่าวธรรมิกถา หรือนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งอย่างรู้เท่า ) แล้วได้ตรัสแสดง ธรรมว่า การมีศรัทธา, มีศีล, ได้เจโตสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นแห่งจิต ) ภายใน, ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง. ถ้ามีครบก็สมบูรณ์ ถ้ามีไม่ครบก็ขาดไป เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ถ้าขาดไปเท้าหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว พระนันทกะจึงแสดงอานิสงส์ ๕ ในการฟัง ธรรมะ, สนทนาธรรมตามกาล คือ ๑. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของศาสดา, ๒. รู้อรรถรู้ธรรม. ๓. แทงทะลุบทแห่งเนื้อความอันลึกซึ้งในธรรม นั้นด้วยปัญญา. ๔. เพื่อนพรหมจารีสรรเสริญ. ๕. เมื่อแสดงธรรม ภิกษุที่ยังเป็นเสขะย่อมพยายามเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ภิกษุผู้เป็นพระ อรหันต์ ฟังธรรมชื่อว่าอยู่อย่างประกอบธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.

ตรัสว่า กำลัง ๔ คือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.

เมื่ออริยสาวกประกอบด้วยกำลัง ๔ นี้แล้ว ย่อมก้าวล่วงความกลัว ๕ ประการ คือความกลัวในการดำเนินชีวิต, ความกลัวถูกติ, ความกลัวประหม่าในที่ประชุม, ความกลัวตาย, ความกลัวทุคคติ.

พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องบุคคล, ปัจจัย ๔, คามนิคม, ชนบทว่า ควรทราบโดย ๒ อย่าง คือควรเสพ และไม่ควรเสพ กำหนดด้วยเมื่อเสพเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ ถ้าอกุศลธรรม เสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรเสพ.

ตรัสว่า พระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ( ที่ไม่ดี ) ๙ อย่าง ( ย่อไว้แล้วหน้าในเล่มที่ ๕ หน้า ๔ หมายเลขที่ ๒๖.สันทกสูตร หมายเลข ๕ มี ๕ ข้อ )   คือจงใจฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด ทั้ง ๆ รู้, สั่งสมบริโภคเหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์, ลุแก่อคติ ๔ คือลำเอียงเพราะรัก, เพราะชัง, เพราะหลง, เพราะกลัว.

ตรัสแสดงนัยอื่นอีก คือพระอรหันต์ย่อมไม่ทำการ ๙ อย่าง ( ๑ ถึง ๕ ซ้ำกัน ) ๖. บอกคืนพระพุทธ ๗. บอกคืนพระธรรม ๘. บอกคืนพระสงฆ์ ๙. บอกคืนสิกขา.

ตรัสแสดงบุคคล ๙ ประเภท คือพระอริยบุคคล ๘ กับบุถุชน. ตรัสว่า บุคคล ๙ ประเภท เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม คือพระอริยบุคคล ๘ กับโคตรภู ( อยู่ระหว่างบุถุชนกับพระอริยเจ้า ).

      ๒. พระสาริบุตรถูกภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา

ว่า เดินกระทบแล้วไม่ขอโทษ ท่านกราบทูลพระศาสดาในที่ประชุมสงฆ์ อุปมาตนเอง ๙ ข้อ คือรู้สึกตนเองเหมือนดิน, น้ำ, ไฟ, ลม ซึ่งถูก ของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างทิ้งใส่ แต่ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนผ้าเช็ดธุลีที่เช็ดของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ก็ไม่หน่าย ไม่รังเกียจ, เหมือนเด็กจัณฑาล ซึ่งเจียมตัวอยู่เสมอ เวลาเข้าไปสู่ที่ต่าง ๆ, เหมือนโคที่ถูกตัดเขา ฝึกหัดดีแล้ว ไม่ทำร้ายใคร ๆ, เบื่อหน่ายต่อกายนี้ เหมือน ชายหนุ่มหญิงสาวที่คล้องซากงูไว้ที่คอ, บริหารกายนี้ เหมือนคนแบกหม้อน้ำมันรั่วทะลุ มีน้ำมันไหลออกอยู่. ภิกษุผู้กล่าวหาก็กล่าวขอขมา รับผิด.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระสาริบุตร ว่า บุคคล ๙ ประเภท ชื่อว่ายังมีเชื้อเหลือ ( สอุปาทิเสสา มีเชื้อคือกิเลสเหลือ ) คือพระอนาคามี ๕, พระสกทาคามี ๑, พระโสดาบัน ๓ ( รวมเป็น ๙ ).

พระมหาโกฏฐิตะ ถามพระสาริบุตรว่า คนประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกรรมอย่างนั้น อย่างนี้หรือ ท่านตอบว่า เปล่า และตอบว่า ประพฤติเพื่อรู้, เห็น, บรรลุ, ทำให้แจ้ง, ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังมิได้รู้เห็น ยังมิได้ตรัสรู้.

พระสาริบุตรตอบพระสมิทธิ ว่า ความตรึกซึ่งเกิดจากความดำริ มีนามรูปเป็น อารมณ์, ต่างกันในธาตุทั้งหลาย, มีผัสสะเป็นเหตุเกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่ มีบุญเป็นส่วนยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร, มีอมตะเป็นที่หยั่งลง.

ตรัสว่า คำว่าฝี เป็นชื่อของกายนี้ ซึ่งมีปากแผล ๙ ( ทวาร ๙ ) มีของไม่สะอาด, สิ่งมีกลิ่นเหม็น, สิ่งที่น่ารังเกียจไหลออก. ฉะนั้น จึงควรเบื่อหน่ายในกายนี้

ตรัสแสดงสัญญา ๙ ประการ ซึ่งมีผลอานิสงส์มาก มีอมตะเป็นที่สุด คือความ กำหนดหมายว่าไม่งาม, ความกำหนดหมายความตาย, ความกำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยง, ว่า เป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์, ความกำหนดหมายในการละ, ในการคลายความกำหนัด.

ตรัสแสดงสกุลประกอบด้วยองค์ ๙ ที่ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง ( ข้อ ๑ ถึง ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ หมวด ๗ ) หมายเลขที่ ๒. เติมเพียงข้อที่ ๘. ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๙. ไม่ยินดี ภาษิตของภิกษุนั้น. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ว่า มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ พิจารณาองค์ ๘ ว่า ได้ทำตามอย่างพระอรหันต์ กับข้อ ๙ พิจารณาว่า ตนได้แผ่เมตตาจิตไปยังทิศต่าง ๆ.

ตรัสเล่าเรื่องที่เทวดาปฏิบัติไม่ชอบในบรรพชิตในชาติที่ตนเป็นมนุษย์ จึงเข้าถึงกายอันต่ำที่ปฏิบัติชอบเข้าถึงกายอันประณีต.

ตรัสแสดงธรรม แก่อนาถปิณฑิกคฤหบดีเรื่องการถวายทานให้เห็นว่า เวลามพราหมณ์เคยให้ทานอย่างมโฬาร แต่การให้ผู้ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระโสดาบัน ) เพียงผู้เดียว หรือร้อยท่านบริโภคอาหาร หรือการให้ พระสกทาคามี, พระอนาคามี, พระอรหันต์, พระปัจเจกพุทธเจ้า, ท่านเดียวหรือร้อยท่านบริโภคอาหาร, การให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค อาหาร, การให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภคอาหาร, การสร้างวิหารอุทิศสงฆ์ ๔ ทิศ, การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ, การมีจิตใจ เลื่อมใสสมาทานสิกขาบท ( ศีล ๕ ), การเจริญเมตตาเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ก็ยังมีผลมากกว่านั้น, การเจริญอานิจจสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าไม่เที่ยง ) เพียงชั่วเวลาดีดนิ้ว ก็ยังมีผลมากกว่านั้น. ( หมายเหตุ : พึงสังเกตว่า การแสดงผลของความดีสูงกว่านั้นเป็นชั้น ๆ นั้นไป สรูปลงที่เห็นว่าไม่เที่ยงเป็นสูงสุด เพราะเป็นเครื่องทำให้เกิดความเห็นแจ้ง ).

      ๓. ตรัสถึงมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป, เทพชั้นดาวดึงส์, มนุษย์ชาวชมพูทวีป

ที่มีทางดีเด่นกว่ากันและกัน ฝ่ายละ ๓ ข้อ คือมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้ไม่มีความยึดถือว่าของเรา, ไม่มีความหวงแหน, มีอายุแน่นอน ; เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุ, วรรณะ, สุข, อันเป็นทิพย์ ; มนุษย์ชาวชมพูทวีปมีความแกล้วกล้า, มีสติ, ประพฤติพรหมจรรย์อันยิ่ง.

ตรัสถึงม้าเลว, ม้าดี, ม้าอาชาไนย ซึ่งมีอย่างละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ ) เทียบ กับบุคคล ๓ ประเภทที่มีคุณสมบัติประเภทละ ๓ ชนิด ( รวมเป็น ๙ เช่นกัน ) อย่างที่ตรัสไว้แล้ว ( ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๕) ในข้อ ๔. ทรงแสดงนักรบที่ประกอบด้วยองค์ ๓

ตรัสแสดงธรรมที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง คือเริ่มแรกอาศัยตัณหาแล้วเกิดการ แสวงหา, อาศัยการแสวงหาเกิดการได้ โดยนัยนี้มีการอาศัยกันเป็นทอด ๆ เกิดการวินิจฉัย, ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ, การหยั่ง ลง ( ปลงใจยึดถือ ), ความหวงแหน, ความตระหนี่, การถือท่อนไม้ ศัสตรา, การทะเลาะวิวาท การส่อเสียด การพูดปด และอกุศลบาปธรรม เป็นอเนก อันมีการอารักขาเป็นเหตุ.

ตรัสแสดงสัตตาวาส ( ที่อยู่ของสัตว์ ) ๙ อย่าง คือ ๑. สัตว์บางพวกมีกายต่าง กัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์, เทพบางพวก, เปรตบางพวก. ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งที่มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพพวกพรหม ผู้เกิดด้วยปฐมฌาน. ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวกอาภัสสรพรหม. ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียว กัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม. ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยอารมณ์ คือไม่มีเวทนา ได้แก่เทพพวก อสัญญีสัตว์. ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ. ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ. ๘. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ. ๙. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.

ตรัสว่า ภิกษุผู้มีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว ควรแก่คำว่า สิ้นชาติ, อยู่จบ พรหมจรรย์, ทำหน้าที่เสร็จแล้ว, ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือมีจิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว จนทราบได้ว่า จิตปราศจากราคะ, โทสะ, โมหะ จิตไม่มีธรรมที่ประกอบด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ จิตมีธรรมดาที่จะไม่กลับไปสู่ความกำหนัดในกาม, ในรูป, ในอรูป.

พระสาริบุตรอธิบายเรื่องภิกษุผู้มีจิตอันจิตอบรมดีแล้ว แก่พระจันทิกาบุตร ในทำนองคล้ายคลึงกับข้างต้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอนาถปิณฑิกคฤหบดี และสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า อริยสาวกสงบเวร ๕ ( มีฆ่าสัตว์ เป็นต้น ) ได้ และประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ. (องค์แห่ง โสดาปัตติผล ) ๔ ประการ เมื่อปรารถนาก็พึงพยากรณ์ตนเองได้ด้วยตนว่าเป็นผู้สิ้นนรก, สิ้นกำเนิดดิรัจฉาน, สิ้นภูมิแห่งเปรต,สิ้นอบาย ทุคคติ วินิบาต, เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้ต่อไป.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความอาฆาต และเครื่องนำออกซึ่งความอาฆาตอย่างละ ๙ อย่าง ( ดูที่แปลไว้แล้วหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) ข้อ ๗๔. ถึงข้อ ๗๕. และตัดข้อที่ ๑๐ ออกทั้งสองอย่าง.

ตรัสแสดงความดับโดยลำดับ ( อนุบุพพนิโรธ ) ๙ อย่าง คือ ภิกษุผู้เข้า ปฐมฌาน ความกำหนดหมายในอามิสดับ ( นอกจากนั้นเหมือนข้อ ๒ ถึงข้อ ๙ ของเรื่องอนุบุพพสังขารนิโรธที่แปลไว้แล้ว หน้าข้อความ น่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๐๐. และพึงสังเกตว่า ในหน้าเดิมหมายเลข ๑๙๙ แสดงว่า ผู้เข้าปฐมฌานวาจาดับ .

      ๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร ( ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ ) ๙ อย่าง

คือฌานที่ ๑. ถึงฌานที่ ๔ ( อันเป็นรูปฌาน ), อากาสานัญจายตนะ จนถึงเนวสัญญนาสัญญายตนะ ( อันเป็นอรูปฌาน ๔ ) และ สัญญเวทยิตนิโรธ ( ดูคำอธิบายที่เป็นพระพุทธสุภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓.

พระอุทายีถามพระสาริบุตรว่า ที่ว่าพระนิพพานเป็นสุข แต่ในพระนิพพานไม่มีเวทนา ความรู้สึกอารมณ์ จะสุขอย่างไร พระสาริบุตรตอบแสดงความสุขเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่สุขในกามคุณ ๕, สุขในรูปฌาน, สุขในอรูปฌาน, สุขในสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติอันดับสัญญาและเวทนา ). ความสุขในชั้นที่ต่ำกว่าย่อมเป็นเครื่องเบียดเบียน ( อาพาธ ), ย่อมเป็นทุกข์.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ฉลาด ย่อมไม่สามารถเข้ารูปฌาน, อรูปฌานและสัญญาเวทยิต-นิโรธได้ ส่วนภิกษุผู้ฉลาดย่อมเข้าได้ เปรียบเหมือนแม่โคที่ไม่ฉลาด เที่ยวไปบนเขาที่ไม่สม่ำเสมอไม่ได้ แต่ที่ฉลาดเที่ยวไปได้ และตรัสใน ที่สุดว่า ภิกษุผู้เข้าออกสมาบัติข้างต้นได้ อบรมสมาธิอันไม่มีประมาณดีแล้ว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งอภิญญา ๖ มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.

ตรัสว่าความสิ้นไปแห่งอาสวะย่อมมีได้ เพราะอาศัยรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ ( เว้นข้อ ๔ ) แต่ละข้อโดยตรัสอธิบายว่า เมื่อเข้าฌานแต่ละข้อแล้ว พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จนถึงมิใช่ตัวตน แล้วน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ ก็จะสิ้นอาสวะได้ หรือถ้าไม่สิ้นอาสวะก็จะได้เป็นพระอนาคามี. ตรัสสรูปในที่สุดว่า สัญญาสมาบัติ ( การเข้า ฌานที่มีความกำหนดหมายเป็นอารมณ์ ) มีเท่าใด การตรัสรู้อรหัตตผล ( อัญญาปฏิเวธ ) ย่อมมีเท่านั้น. ส่วนอายตนะ ๒ คือเนวสัญญานาสัญ- ญายตนสมาบัติ ( อรูปฌานที่ ๔ ) กับสัญญาเวทยิตนิโรธ ( อนุบุพพวิหารข้อที่ ๙ ) นั้น พระองค์ตรัสว่า ภิกษุเข้าฌานผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ ในการออกจากสมาบัติ อาศัยแล้ว เข้าออก ( จากสมาบัติ ) พึงกล่าวถึงโดยชอบ
( หมายเหตุ : นวสัญญานาสัญญายตนะ กับสัญญาเวทยิตนิโรธ เรียกว่าอายตนะ ๒ ในที่นี้. ส่วนในที่อื่น เช่น ในมหานิทาน สูตร ที่ย่อไว้หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ๒. มหานิทานสูตรอายตนะ ๒ หน้าเดียวกัน. ตรัสแสดงถึงอสัญญีสัตว์ กับเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ก็พึงทราบว่า ในสูตรนั้นแสดงถึงแหล่งเกิด ส่วนในที่นี้แสดงการเข้าสมาบัติ ที่บันทึกไว้ในที่นี้เพื่อให้เทียบ เคียงประดับความรู้ ).

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แสดงความน่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาค ทรงบรรลุโอกาส ( หาช่องว่างได้ ) ในที่คับแคบ ( แออัดด้วยกามคุณ ) คือมีตา มีรูป ตลอดจนถึงมีกาย มีสิ่งที่พึงถูกต้องด้วยกาย แต่ก็ไม่ทรง รับรู้รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะนั้น. พระอุทายีถามว่า มีสัญญาหรือไม่ ตอบว่า มี. ถามว่า มีสัญญาอะไร จึงไม่รับรู้รูป เป็นต้นนั้น. ตอบเป็นใจความว่า มีสัญญาในอากาศ, ในวิญญาณ, ในความไม่มีอะไร ( เข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ) ก็ไม่ต้องรับรู้รูป เสียง เป็นต้นได้. ( ข้อ ความในพระสูตรนี้ น่าพิจารณามาก พระอานนท์สรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าในที่แออัดด้วยกามคุณ ๕ แต่พระพุทธเจ้าก็หาช่องว่างได้ โดยไม่ ต้องรับรู้กามคุณ ๕ คือมีให้รู้ให้เห็น แต่ก็ไม่รู้ไม่เห็น โดยวิธีเข้าอรูปฌานที่ ๑ ถึง ๓ ก็เป็นอันตัดความสนใจในอารมณ์ที่เป็นรูปทั้งหมดได้ ).

ตรัสแสดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้ถือลัทธิโลกายตนะ ๒ คน ผู้ถามพระองค์ถึง เจ้าลัทธิชื่อปูรณะ กัสสปะ กับนิครนถนาฏบุตร โดยตรัสปฏิเสธที่จะวิจารว่าใครดีกว่ากัน แต่ได้ตรัสธรรมะว่า บุรุษ ๔ คน มีฝีเท้าเร็วอย่าง ยอดเยี่ยม ออกเดินทางหาที่สุดโลกโดยไม่หยุดเลย แม้มีอายุ ๑๐๐ ปี ก็จะตายก่อนไม่ถึงที่สุดโลก ที่สุดทุกข์. แล้วตรัสแสดงกามคุณ ๕ มีรูป เป็นต้น ที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แล้วตรัสถึงภิกษุผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) ตรัสชี้ว่า ภิกษุเช่นนี้ชื่อว่าข้ามที่สุดโลก ข้ามตัณหาเสียได้.

ตรัสแสดงธรรมเรื่องสงครามระหว่างเทพกับอสูร เทพแพ้ ๓ ครั้ง แล้วก็กลับ ชนะ โดยฝ่ายอสูรแพ้ถึง ๓ ครั้ง ตรัสเปรียบเทียบกับการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ทำให้มารเห็นได้ว่ามีเครื่องต่อต้านความกลัว ซึ่งตน จะทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเข้าอรูปฌาน ๔ แต่ละข้อ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึงที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ชื่อว่าทำมารให้ถึง ที่สุด มารก็จะไม่แลเห็น และชื่อว่าข้ามพ้นตัณหาได้ในโลก

ตรัสถึงภิกษุผู้หลีกออกจากหมู่ บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุรูปฌาน, อรูปฌาน, และสัญญาเวทยิตนิโรธ เหมือนพญาช้างใหญ่ในป่าปลีกตัวจากหมู่ อยู่ตามลำพังฉะนั้น.

เมื่อประทับอยู่ในนิคมของแคว้นมัลละชื่ออุรุเวลกัสสปะ ได้เสด็จไปพักกลาง วัน ณ ป่าใหญ่ตปุสสะ คฤหบดี เข้าไปหาพระอานนท์ กล่าวว่า เนกขัมมะ ( คือออกจากกามหรือออกบวช ) เปรียบเหมือนเหวสำหรับตนผู้ เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม แต่ก็มีภิกษุหนุ่มผู้มีจิตยินดีในเนกขัมมะ จึงขอให้แสดงเนกขัมมะให้ฟัง. พระอานนท์จึงพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงตรัสเล่าถึงพระดำริ และการกระทำของพระองค์ ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้ ที่ทรงยกจิตให้สูงขึ้นเป็นชั้น ๆ จากกาม ขึ้นสู่เนกขัมมะ และรูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ กับสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นที่สุด ครั้งแรกก็ยังไม่เห็นโทษในสิ่งที่ต่ำกว่า ต่อเมื่ออบรมจิตให้มาก จนจิตได้ตั้งอยู่ ในธรรมที่สูงขึ้นแล้ว จึงเห็นสิ่งที่ต่ำกว่า เป็นสิ่งเบียดเบียน ( อาพาธ ) เป็นทุกข์. แล้วตรัสในที่สุดว่า ตราบใดยังทรงเข้าออกอนุบุพพนิโรธ- สมาบัติ ( สมาบัติที่มีการดับสิ่งต่าง ๆ ไปโดยลำดับ ) ๙ ประการ ทั้งโดยอนุโลมคือตามลำดับ ทั้งโดยปฏิโลมคือย้อนลำดับไม่ได้แล้ว ตราบนั้น ก็ไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม.

      ๕. พระอานนท์แสดงธรรมแก่พระอุทายี

ผู้ถามถึงเรื่องที่บุคคลจะบรรลุโอกาสในที่คับแคบ โดยอธิบายถึงการที่ภิกษุเข้าฌาน ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ( รวม ๙ ข้อ ) แล้วชี้ว่า คำว่า ที่คับแคบ หมายถึงกามคุณ ๕ เลื่อนขึ้นไปจากฌานที่ ๑ ถึงอรูปฌานที่ ๔ ( รวม ๘ ข้อ ) เป็นที่คับแคบของ ฌานที่สูงขึ้นไป แต่เมื่อถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ จึงชื่อว่าบรรลุโอกาสในที่คับแคบ ( แหวกช่องว่างในที่แคบ ) อย่างแท้จริง ( ๘ ข้อ ต้นเป็นการแหวกช่องว่างได้โดยปริยาย คือเพียงโดยอ้อม ข้อที่ ๙ เป็นการแหวกช่องว่างได้โดยนิปปริยาย คือโดยตรง )

พระอานนท์ตอบคำถามของพระอุทายี เรื่องพระอริยบุคคลประเภทกายสักขี, ปัญญาวิมุต, อุภโตภาควิมุต, ( รวม ๓ ประเภท ) ว่า ได้แก่ผู้บรรลุอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งเก้า เป็นแต่ว่าบรรลุ ๘ ข้อแรก เป็นโดยปริยาย ( โดยอ้อม ) แต่บรรลุข้อหลัง ( สัญญาเวทยิตนิโรธ ) สิ้นอาสวะ ชื่อว่าเป็นกายสักขี เป็นต้นโดยตรง ( นิปปริยาย ).

พระอุทายีถามถึงความหมายของคำว่า สันนทิฏฐิกรรม ( ธรรมที่เห็นได้เอง ), สันทิฏฐิกนิพพาน ( นิพพานที่เห็นได้เอง ), นิพพาน ( ความดับ ), ปรินิพพาน ( ความดับสนิท ), ตทังคนิพพาน ( ความดับด้วยองค์นั้น ), ทิฏฐธัมมนิพพาน ( นิพพานในปัจจุบัน ). พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่ภิกษุเข้ารูป ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานที่ถามนั้นโดยปริยาย แต่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สิ้นอาสวะ เป็นธรรมะ เป็นนิพพานชนิด ต่าง ๆ นั้น โดยนิปปริยาย ( โดยตรง ).

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

       ๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
ถึงคำว่า เขมะ ( ความเกษม คือความปลอดโปร่งจากกิเลส ). ผู้บรรลุความเกษม, อมตะ ( ความไม่ตาย ), ผู้บรรลุ อมตะ, ภัย ( ความไม่กลัว ), ผู้บรรลุอภัย, ปัสสัทธิ ( ความระงับ ), อนุบุพพปัสสัทธิ ( ความระงับโดยลำดับ ), นิโรธ ( ความดับ ), อนุบุพพนิโรธ ( ความดับโดยลำดับ ) โดยปริยายถึงการที่ภิกษุเข้ารูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ว่าเป็นโดยอ้อม และเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธว่าเป็นโดยตรง.

ตรัสว่าบุคคลละธรรม ๙ อย่างไม่ได้ ไม่ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) อรหัตตผล คือราคะ, โทสะ, โมหะ, โกธะ ( โกรธ ), อุปนาหะ ( ผูกโกรธ ), มักขะ ( ลบหลู่บุญคุณท่าน ), ปลาสะ ( ตีเสมอ ), อิสสา ( ริษยา ), มัจฉริยะ ( ตระหนี่ ). ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

       ๒. ตรัสแสดงการล่วงละเมิดศีล ๕ ข้อ
( ฆ่าสัตว์ถึงดื่มน้ำเมา ) ว่า เป็นความทุรพลแห่งสิกขาควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ ( ดูหน้าในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ใน ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร เพื่อละความทุรพลแห่งสิกขา. ตรัสแสดงนิวรณ์ นีวรณ์ ๕ ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๖๘. อกุศลราศี ( กองแห่งอกุศล ) กามคุณ ๕ ( มีรูป เป็นต้น ), อุปาทานขันธ์ ๕ ( ขันธ์ที่ยึดถือ มีรูป, เวทนา เป็นต้น ), สัญโญชน์ เบื้องต่ำ ๕ ( สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุ ยึดถือกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต, ความพอใจในกาม, ความพยาบาท ), คติ ๕ ( ทางไปหรือที่ไป ๕ คือ นรก, กำเนิดดิรัจฉาน, เปรตวิสัย, มนุษย์, เทพ ), มัจฉริยะ ๕ ( ความตระหนี่ ๕ คือตระหนี่ที่อยู่, ตระกูล, ลาภ, คำสรรเสริญ, ธรรมะ ), สัญโญชน์เบื้องสูง ๕ ( ความติดในรูป, ความติดในอรูป, ความถือตัว, ความฟุ้งสร้าน, ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ), เจโตขีละ ๕ ( ตอของจิต ๕ ), เครื่องผูกมัดจิต ๕ ( เจตโสวินิพันธะ ) แล้วตรัสแสดงว่า ควรเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละธรรมเหล่านั้น.

       ๓. ตรัสแสดงว่า ควรเจริญความเพียรชอบ ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์เพื่อละธรรมเหล่านั้น.

       ๔. ตรัสว่า ควรเจริญอิทธิบาท ๔
( ดูเสด็จป่ามหาวัน หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) เสด็จป่ามหาวันเพื่อละธรรมเหล่านั้น.

       ๕. ตรัสว่า ควรเจริญสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๙ ประการ
เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( หน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ ) ๗. วัตถูปมสูตร มีราคะ เป็นต้น.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓

ชุมนุมธรรมะที่มี ๗-๘-๙ ข้อ

    '๑' . พระโสดาบัน, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล, พระสกทาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล, พระอนาคามี, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล, พระอรหันต์, ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล

    '๒' . ดูรายละเอียดหน้าในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ ) ใน ทุติยปัณณาสก์ ที่ข้อที่ ๔-๕

    '๓' . โปรดดูเรื่องที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง หน้าเล่มที่ ๑๕ หน้า ๑ ) ในข้อ ๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง เทียบเคียงดูด้วย และในหน้านั้น ได้อ้างอิงข้อความควรรู้ ดูหน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ข้อ ๖ ถึงข้อ ๗ ( และหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ) ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่าง

    '๔' . มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, มีศีลที่ดีงามอันพระอริยเจ้าใคร่

    '๕' . โปรดดูพระพุทธภาษิต หน้าข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก ) หมายเลข ๒๑๓. เทียบเคียงด้วยจะชัดยิ่งขึ้น

    '๖' . ในที่นี้ควรบันทึกเรื่องต้นฉบับบาลีด้วย คำว่า สัญญาปฏิเวธ เข้าใจว่า ที่ถูกเป็น อัญญาปฏิเวธ ตามที่อรรถกถา นำไปเป็นบทตั้ง คำว่า ฌายิโสเต ก็เข้าใจว่า เป็น ฌายีเหเต ตามที่อรรถกถาตั้งเป็นบทตั้งไว้ ทั้งตรงฉบับยุโรปด้วย ฌายิโสเต จึงน่าจะ คลาดเคลื่อน

    '๗' . ความหมายของชื่อเหล่านี้มีมาแล้วในตอนก่อน ๆ จึงไม่อธิบายไว้มาก เฉพาะ ๒ เรื่องหลัง โปรดดูหน้าพระสุตตันตะเล่มที่ ๔ หน้า ๒   ในข้อ ๑๖. เจโตขีลสูตร ) ที่ เครื่องผูกมัดจิต ๕ การอ้างอิงเช่นนี้ เพื่อให้ได้ทบทวนเรื่องที่ผ่านมาแล้ว


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ