บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 15

หน้า ๑ สัตตกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗
๒. ตรัสแสดงอนุสัย ๗
๓. สารันททเจดีย์
๔. ตรัสแสดงคารวะ ๗
๕. ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. ตรัสตอบคำถาม
ของภิกษุรูปหนึ่ง
๒.ถ้าขาดธรรม ฯลฯ
๓.คุณสมบัติ
ของพระวินัยธร ๗

หน้า ๒ อัฏฐกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. อานิสงส์ของเมตตา
๒. เวรัญชพราหมณ์
๓.อุคคคฤหบดี
๔. ตรัสแสดงทาน ๘
๕. อุโบสถมี องค์ ๘
วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑.พระนางมหาปชาบดี
๒.บุคคล ๘ ประเภท
๓.ภิกษุประกอบด้วยธรรม
๔.สติสัมปชัญญะ ฯลฯ
๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม

หน้า ๓ นวกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. นักบวชศาสนาอื่น
๒. พระสาริบุตรถูก
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา
๓. ตรัสถึงมนุษย์
ชาวอุตตรกุรุทวีป ฯลฯ
๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร
๕.พระอานนท์แสดง
ธรรมแก่พระอุทายี

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
๒. ตรัสแสดงการล่วง
ละเมิดศีล ๕ ข้อ
๓. ตรัสแสดงว่า
ควรเจริญความเพียรชอบ
๔. เจริญอิทธิบาท
๕. เจริญสัญญา

 

เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ )
หน้า ๒

อัฏฐกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

      ( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อเมตตาวรรค ว่าด้วยเมตตา. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อคฤหปติวรรค ว่าด้วยคฤหบดี. วรรคที่ ๔ ชื่อทานวรรค ว่าด้วยทานการให้. วรรคที่ ๕ ชื่อ อุโปสถวรรค ว่าด้วยการรักษาอุโบสถ ).

      ๑. ตรัสแสดงอานิสงส์ของเมตตา ๘ อย่าง

คือหลับเป็นสุข, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของมนุษย์, เป็นที่รักของอมนุษย์, เทวดาย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ ศรัตราย่อมไม่กล้ำกราย, เมื่อยังมิได้บรรลุธรรม อันยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงพรหมโลก.

ตรัสแสดงเหตุปัจจัย ๘ ประการ ที่เป็นไปเพื่อได้, เพื่อความไพบูล, บริบูรณ์ แห่งปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือ ๑. อาศันศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพ ตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ตั้งความรัก ความเคารพ ๒. อาศัยท่านที่กล่าว เขาไปหาไต่ถามเป็นครั้งคราว ท่านก็ช่วยชี้แจงให้คลายความสงสัย ๓. ฟังธรรมแล้ว หลีกออกทั้งทาง กาย ทางจิต ๔. มีศีล ๕. สดับตรับฟังมาก ๖. ปรารภความเพียร ๗. เมื่อไปในสงฆ์ไม่พูดเรื่องที่ไม่สมควร แต่พูดธรรมะเอง หรือเชิญผู้อื่น พูดไม่ดูหมิ่นการนิ่งแบบอริยะ ( นิ่งแบบรู้เท่า ) ๘. เห็นความเกิดความดับในขันธ์ ๕ เพื่อนพรหมจารีย่อมชมเชยภิกษุ เช่นนั้น.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ อย่าง ย่อมไม่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่เป็นที่ เคารพสรรเสริญของเพื่อนพรหมจารี คือสรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก, ติคนที่เป็นที่รัก, อยากได้ลาภ, สักการะ, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม. และได้แสดงนัยอื่นอีก โดยเปลี่ยนข้อธรรมเล็กน้อย.

ตรัสแสดงโลกธรรม ( ธรรมประจำโลก ) ๘ อย่าง คือลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ยศ, นินทา, สรรเสริญ, สุข, ทุกข์ ซึ่งบุถุชนไม่รู้เท่า มีความยินดียินร้าย แต่อริยสาวกรู้เท่า ไม่ยินดียินร้าย.

ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ว่า การที่ภิกษุพิจารณาถึงความวิบัติของตนและคนอื่น พิจารณาถึงสมบัติของตนและคนอื่นโดยการอันควร เป็นการดี. และตรัสว่า พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๘ คือโลกธรรมครอบงำจิต เป็นผู้ ไปสู่อบาย นรก อย่างไม่มีทางแก้.

ตรัสสอนให้อยู่อย่างครอบงำ ( เป็นนายเหนือ ) ลาภ, มิใช่ลาภ, ยศ, มิใช่ ยศ, สักการะ, มิใช่สักการะ, ความปรารถนาลามก, ความเป็นผู้คบมิตรชั่ว.

มีเรื่องเล่าถึงพระอุตตระ เกี่ยวกับ คติธรรมดั่งกล่าวข้างต้น.

ตรัสถึงพระนนทะศากยะ ว่าเป็นกุลบุตร, มีกำลัง, น่าเลื่อมใส, มีราคะกล้า แต่ก็อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ บริสุทธิ์ได้เพราะสำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในโภชนะ, ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น, ประกอบ ด้วยสติสัมปชัญญะ.

ตรัสแนะให้กำจัดภิกษุผู้ถูกโจทท้วงเพราะอาบัติ กลับพูดถลากไถลแสดง ความโกรธเคือง เพื่อมิให้ประทุษร้ายภิกษุที่ดี ๆ.

      ๒. ตรัสตอบเวรัญชพราหมณ์

ผู้ว่ากล่าวพระองค์ด้วยคำกระทบต่าง ๆ ตรัสชี้ให้มีความหมายไปในทางดี ในทางที่แสดงว่าพระองค์ปราศจากกิเลส. แล้วตรัสว่า พระองค์ เปรียบเหมือนลูกไก่ที่ทำลายกะเปาะไข่ออกมาก่อน เพราะทรงทำลายกะเปาะไข่คือวิชชาได้ จึงควรกล่าวได้ว่า พระองค์เป็นพี่ ( ผู้แก่กว่า ใครในโลก ) แล้วตรัสแสดงถึงการที่พระองค์ได้ฌาน ๔ ได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติได้ มีทิพยจักษุ และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด. เวรัญชพราหมณ์เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

ทรงแสดงธรรมแก่สีหเสนาบดี ถึงเรื่องที่มีผู้กล่าวหาว่าพระองค์เป็นอกิริยวาทะ ( ผู้พูดว่าทำดี ทำชั่วไม่เป็นอันทำ ) เป็นต้น โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์สอนไม่ให้ทำชั่ว เป็นต้น. สีหเสนาบดีเลื่อมใสแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ( โปรดดูหน้าพระวินัย เล่มที่ ๕ ประกอบด้วย ) สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา

ตรัสแสดงม้าอาชาไนย ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบด้วยภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๘ คือ ๑. เกิดดีจาก ๒ ฝ่าย คือมารดาและบิดา เกิดในทิศที่ม้าอาชาไนยที่ดีอื่น ๆ เกิด. ๒. ย่อมกินอาหารสดหรือแห้งที่เขาให้ด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ไม่ทำหก ๓. รังเกียจที่จะนั่งหรือนอนทับอุจจาระปัสสาวะ ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุข ไม่ข่ม ขู่ม้าอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงตามเป็นจริง ซึ่งสารถีก็จะพยายามแก้ไข ๖. เป็นสัตว์เอาภาระ ( อรรถกถาแก้ว่า ปฏิบัติตามคำสั่ง ) โดย คิดว่าม้าอื่นจะเอาภาระหรือไม่ก็ตาม เราจักเอาภาระในที่นี้ ๗. ย่อมไปโดยทางตรง ๘. มีเรี่ยวแรง ม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๘ เหล่านี้ ย่อมควรแก่พระราชา ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ก็ควรของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. มีศีล ๒. บริโภคด้วย ความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ) ซึ่งอาหารที่เขาถวายเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม ไม่เดือดร้อน ๓. รังเกียจทุจจริตทางกาย วาจา ใจ รังเกียจการประกอบด้วยอกุศลบาปธรรม ๔. มีความยินดี มีความอยู่ร่วมเป็นสุขไม่ข่มขู่ภิกษุอื่น ๕. เปิดเผยความพยศคดโกงในพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี ซึ่งท่านเหล่านั้นย่อมพยายามแก้ไข ๖. เป็นผู้ศึกษา โดยคิดว่าผู้อื่นจะศึกษาหรือไม่ก็ตาม เราจักศึกษา ๗. ไปโดยทางตรง คืออริยมรรค มีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น. ๘. ปรารภความเพียร.

ตรัสแสดงม้าที่มีโทษ ๘ ประการ เทียบด้วยบุรุษที่มีโทษ ๘ ประการ โดย แสดงถึงม้าที่สั่งการอย่างหนึ่ง แต่ทำไปเสียอย่างอื่น เปรียบเหมือนภิกษุที่ไม่ดี ต้องอาบัติ ถูกตักเตือน ก็กล่าวว่าระลึกไม่ได้ เป็นต้น.

ตรัสแสดงมลทิน ๘ ประการ คือ ๑. การไม่ท่องบ่นเป็นมลทินของมนต์ ๒. ความไม่ขยันเป็นมลทินของบ้านเรือน ๓. ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ๔. ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ๕. ความ ประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง ๖. ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ๗. อกุศลบาปธรรมเป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ๘. อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง.

ตรัสแสดงว่าภิกษุประกอบด้วยองค์ ๘ ควรไปทำการทูต คือรู้จักฟัง, รู้จักทำ ให้ผู้อื่นฟัง, เรียนรู้, ทรงจำ, รู้, ทำให้ผู้อื่นรู้, ฉลาดในประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, ไม่ชวนทะเลาะ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตร ว่า มีคุณสมบัติ ( ของนักการทูต ) เช่นนั้น.

ตรัสว่า หญิงชายย่อมผูกพันกันด้วยอาการ ๘ ประการ คือรูป, การหัวเราะ, การพูด, การร้องเพลง, การร้องไห้, อากัปปกริยา, ของขวัญ, ผัสสะ.

ตรัสตอบท้าวปหาราทะผู้เป็นจอมแห่งอสูร ถึงการที่ภิกษุทั้งหลายยินดีในพระ ธรรมวินัยนี้ ซึ่งมีความอัศจรรย์ ๘ ประการ ( เทียบด้วยความอัศจรรย์ ๘ อย่างของมหาสมุทรที่ท้าวปหาราทะกราบทูล ) คือ ๑. ในพระธรรม วินัยนี้มีการศึกษา การกระทำและข้อปฏิบัติโดยลำดับ ไม้ใช่เริ่มต้น ก็การตรัสรู้อรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีความลุ่มลึกโดยลำดับ ไม่ใช่เริ่มต้นก็ลึกเป็นเหว ๒. พระสาวกย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เปรียบเหมือน มหาสมุทรซึ่งมีความหยุดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงเลยฝั่งไป ๓. สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ทุศีล ย่อมประชุมกันยกออก ( จากหมู่ ) แม้เธอ จะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ก็ชื่อว่าไกลจากสงฆ์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่ซัดซากศพเข้าสู้ฝั่งโดยพลัน. ๔. วรรณะ ๔ เมื่อบวชในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมณะศากยบุตรเปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ต่าง ๆ เช่น คงคา ยมุนา เมื่อถึงมหาสมทรย่อมละชื่อ และโคตรเดิม ถึงการนับว่าสมุทร ๕. แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แต่ชื่อว่าพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพาน ธาตุ ก็ไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น เปรียบเหมือนความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรไม่ปรากฏเพราะสายน้ำตกลงมาจากอากาศ. ๖. พระ ธรรมวินัยมีรสเดียว คือมีวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นรส เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่มีรสเดียว คือรสเค็ม. ๗. พระธรรมวินัยนี้มีรตนะเป็นอันมาก เช่น สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จนถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรตนะมาก เช่น มุกดามณี ไพฑูรย์ เป็นต้น. ๘. พระธรรมวินัยนี้ เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือพระโสดาบัน, ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง โสดาปัตติผล จนถึงพระอรหันต์, ท่านผู้ ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ใหญ่ มีปลาติมิติมิงคละ ติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์.

ในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อปฐมยาม ล่วงแล้ว พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้แสดงปาฏิโมกข์ ก็ทรงนิ่ง เมื่อมัชฌิมยามล่วงแล้ว พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก ก็ทรงนิ่ง ครั้นปัจฉิมยามล่วงแล้ว จะรุ่งอรุณ พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก จึงตรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์. พระมหาโมคคัลลานะพิจารณาดู ก็ทราบ ว่ามีภิกษุทุศีลนั่งปนอยู่ในที่นั้น จึงว่ากล่าว จูงมือเธอออกไปจากนอกซุ้มประตู ใส่ดาลประตูแล้วมากราบทูล. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายพึงทำอุโบสถ แสดงปาฏิโมกข์กันเอง ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่แสดงปาฏิโมกข์ เพราะมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่พระตถาคตจัก แสดงปาฏิโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว. ตรัสแสดงเรื่องความอัศจรรย์ของมหาสมุทร ๘ ประการ เทียบกับความอัศจรรย์พระธรรมวินัย นี้ดังที่ตรัสแล้ว.

      ๓. อุคคคฤหบดีชาวกรุงเวสาลี

เรียนแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของตน คือ ๑. เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลก็เลื่อมใส ๒. เมื่อเข้าไปเฝ้าได้ฟังอนุบุพพิกถา กับอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์ เป็นที่ ๕ ๓. ตนมีภรรยาสาว ๔ คน จึงแจ้งให้นางทราบว่าตนสมาทานสิกขาบทมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนาจะอยู่ก็จงใช้ทรัพย์ทำ บุญไปหรือจะไปสู่ตระกูลญาติของตน หรือต้องการให้เรายกให้แก่บุรุษใดก็ตาม ภริยาคนใหญ่จึงแจ้งความประสงค์ ให้ให้แก่บุรุษผู่มีชื่ออย่าง นั้นอย่างนี้ ตนก็ให้ไป ไม่มีจิตผิดปกติ ๔. โภคทรัพย์ในตระกูลของตนถือเป็นของสาธารณะ สำหรับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ๕. เข้าไปหาภิกษุ ด้วยความเคารพ ๖. ถ้าท่านแสดงธรรม ตนก็ฟังโดยเคารพ ถ้าท่านไม่แสดงธรรม ตนก็แสดงธรรมแก่ท่าน ๗. มีเทวดามาบอกว่า พระผู้มีพระ ภาคตรัสธรรมไว้ดีแล้ว ตนก็ตอบว่า ท่านจะบอกหรือไม่บอกก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ตรัสธรรมไว้ดีแล้ว. จิตของตนไม่ฟู เพราะเหตุที่เทวดา มาหา หรือเพราะได้พูดกับเทวดา ๘. ตนละสัญโญชน์ ๕ เบื้องต่ำได้ ( เป็นพระอนาคามี ).

ตรัสถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของอุคคคฤหบดีชาวหัตถิคาม ในทำนอง คล้ายคลึงกัน. รวมทั้งคฤหบดีอื่นว่าประกอบด้วยความอัศจรรย์ ๗ ประการ ( น้อยกว่าผู้อื่น ๑ ข้อ ) คือหัตถกะชาวเมืองอาฬวี ( ประกอบด้วย อริยทรัพย์ ๗ )

ต่อมาตรัสสรรเสริญหัตถกะ ( อุบาสก ) ว่าสงเคราะห์บริษัท ๔ ด้วยสังคหวัตถุ ( ธรรมเป็นที่ตั้ง หรือเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ ) ๔ อย่าง และตรัสสรรเสริญว่า มีความอัศจรรย์ ๘ เพิ่มความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย..

ตรัสแสดงเหตุที่ให้เป็นอุบาสก เป็นต้น แก่มหานามศากยะว่า ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ชื่อว่าเป็นอุบาสก, มีศีล ๕ ชื่อว่ามีศีล, มีคุณธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์คนอื่น, มีคุณธรรมเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ชื่อว่าปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและคนอื่น.

ตรัสตอบหมอชีวกในทำนองเดียวกัน, ตรัสแสดงกำลัง ๘ ประการ คือ ๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง ๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง ๔. พระราชามีอิสริยะ ( ความเป็นใหญ่ ) เป็นกำลัง. ๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็รกำลัง. ๗. ผู้สดับมากมีการพิจาณาเป็นกำลัง. ๘. สมณพราหมณ์มี ขันติ ( ความอดทน ) เป็นกำลัง. ( หมายเหตุ : คำว่า บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง แปลจากคำว่า นิชฺณตฺติพลา ปณฺฑิตา ซึ่งพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองไทยท่านเคยแปลไว้อย่างนั้น แต่ในอรรถกถาแก้ว่า บัณฑิตมิได้เพ่งโทษแบบคนพาล แต่เพ่งประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ )

พระสาริบุตรกราบทูลแสดงกำลัง ๘ ประการของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ( ขีณาสพ ) คือ ๑. เห็นด้วยดีด้วยสังขารว่าไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบ ๒. เห็นด้วยดีว่ากามเป็นเหมือนหลุมถ่านเพลิง ๓. มีจิตน้อมไปสู่ความสงัด ๔. -๘. เจริญสติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยดี. ตรัสแสดงขณะหรือสมัยอันไม่สมควร เพื่ออยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการ คือ ๑. เกิดในนรก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเกิดขึ้นแสดงธรรม ๒. เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ๓. เกิดในภูมิแห่ง เปรต ๔. เกิดในเทพนิกายที่มีอายุยืน ๕. เกิดในชนบทชายแดน ๖. เกิดในเผ่ามิลักขะ ผู้ไม่มีความรู้แจ้ง ๗. เกิดในมัธยมชนบทแต่มีปัญญา ทราม.

ตรัสแสดงมหาปุริสวิตก (ความคิดหรือความตรึกของมหาบุรุษ ) ๘ ประการ คือธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย, ผู้สันโดษ, ผู้สงัด, ผู้ปรารภความเพียร, ผู้มีสติตั้งมั่น, ผู้มีจิตตั้งมั่น ( เป็นสมาธิ ), ของผู้มีปัญญา. ( ๗ข้อนี้พระอนุรุทธ์ท่านคิดได้ พระผู้มีพระภาคตรัสเพิ่มเติมข้อสุดท้าย คือ ) ธรรมนี้ของผู้ไม่เนิ่นช้า. พระอนุรุทธ์ปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์.

      ๔. ตรัสแสดงทาน ๘ อย่าง

๑. พบเข้าก็ให้ทาน ๒. ให้ทานเพราะกลัว ๓. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาเคยให้แก่เรา ๔. ให้ทานเพราะคิดว่าเขาจักให้แก่เรา ๕. ให้ทานเพราะคิด ว่าทานเป็นของดี ๖. ให้ทานเพราะคิดว่าเราหุงต้ม แต่สมณะเหล่านี้มิได้หุงต้ม ๗. ให้ทานหวังกิติศัพท์ ๘. ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับเป็น เครื่องประกอบจิต ( เพื่อให้จิตอ่อน ควรแก่คุณธรรมสูงขึ้นไป ).

และตรัสแสดงทานวัตถุ ๘ อย่างคล้ายคลึงกัน ตรัสแสดงสมณพราหมณ์ผู้ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือมีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ส่วนในทางดี มีความเห็นชอบ จนถึงความตั้งใจมั่นชอบ ( มรรคมีองค์ ๘ ) ว่าเป็นเหมือนนาเลวนาดี.

ตรัสแสดงความเกิดในที่ต่าง ๆ ด้วยอำนาจทาน ( ทานูปปัตติ ) ๘ ประการ คือ ๑. กษัตริย์, พราหมณ์หรืคฤหบดีมหาศาล ๒.-๗. เทพ ๖ ชั้น ๘. เทพพวกพรหม ทั้งแปดอย่างนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยศีล ไม่ใช่ผู้ทุศีลและ เฉพาะข้อ ๘ ต้องปราศจากราคะด้วย.

ตรัสแสดงบุญกิริยาวัตถุ ( เรื่องของการทำบุญ ) ๓ ประการ คือบุญญกิริยา วัตถุสำเร็จด้วยทาน, ศีล, ภาวนา ( การอบรม ) คือ ๑. ทำ ๒ ข้อแรกน้อย ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้ตายไปแล้ว เกิดมีส่วนชั่วในมนุษย์ ๒. ทำ ๒ ข้อแรกพอประมาณ ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดมีส่วนดีในมนุษย์ ๓. ทำ ๒ ข้อแรกมาก แต่ไม่มีข้อหลังเลย ทำให้เกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ๔.-๕. ทำเหมือนข้อที่ ๓ ทำให้เกิดในเทพชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามะ, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสัตตี.

ตรัสแสดงสัปปุริสทาน ( ทานของคนดี ) ๘ ประการ คือให้สิ่งสะอาด, ให้สิ่ง ประณีต, ให้ตามกาล, ให้สิ่งที่ควร, เลือกแล้วจึงให้, ให้เนือง ๆ, ขณะให้จิตเลื่อมใส, ให้แล้วก็อิ่มใจ.

ตรัสว่า สัปปุริสะ ( คนดี ) เมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก คือ แก่มารดาบิดา, แก่บุตรภริยา, แก่ทาสและกรรมกร, แกมิตรสหาย, แก่ผู้ล่วงลับไปก่อน, แก่พระราชา, แก่เทวดา, แก่สมณพราหมณ์

ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญ ๘ ประการ คือ ๑.-๓. ถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นสรณะ ๔.-๘. เว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕ ( ถือว่าเป็นการให้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แก่สัตว์ไม่มีประมาณ).

ตรัสแสดงโทษของกายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ และดื่มสุรา ว่า ถ้าทำให้มาก เป็นเหตุให้ไปสู่นรก กำเนิดดิรัจฉาน และภูมิแห่งเปรต ส่วนโทษอย่างเบาเฉพาะข้อมีดังนี้ ๑. ฆ่าสัตว์ ทำให้มีอายุน้อย, ลักทรัพย์ ทำให้โภคะ พินาศ, ประพฤติผิดในกาม ทำให้มีเวรจากศัตรู, พูดปด ทำให้ถูกกล่าวตู่, พูดส่อเสียด ทำให้แตกจากมิตร, พูดคำหยาบ ทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ, พูดเพ้อเจ้อ ทำให้มีวาจาไม่มีใครเชื่อ, ดื่มสุราเมรัย ทำให้เป็นบ้า.

      ๕. ตรัสว่า อุโบสถมี องค์ ๘ ที่อยู่จำแล้ว

มีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือให้พิจารณาเทียบเคียงว่าพระอรหันต์ท่านงดเว้นตลอดชีวิต แต่เรางดเว้นตลอดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ก็ชื่อว่ากระ ทำตามพระอรหันต์ ตรัสแสดงผลของอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า ยิ่งกว่าเสวยราชย์ในมหาชนบท ๑๖ แคว้น มีอังคะ มคธ เป็นต้น.

ตรัสสอนนางวิสาขาและวาสฏฐอุบาสกและโพชฌาอุบาสิกาถึงเรื่องผลของอุโบสถใน ทำนองเดียวกัน.

ตรัสแสดงธรรมแก่พระอนุรุทธ์ ถึงเรื่องสตรีประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เกิด ในเทพผู้มีกายอันน่าพอใจ คือ ๑.-๕. ข้อแรก เหมือนกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๑ ) ในหัวข้อ ๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี      ๖. ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ๗. มีศีล ๘. มีการบริจาค.

ตรัสแสดงธรรมแก่นางวิสาขา และแก่คฤหปตานีมารดาของนกุลมาณพ ในทำนองเดียว กับที่ตรัสแก่พระอนุรุทธ์. ตรัสแก่นางวิสาขา ถึงเรื่องสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยในโลกนี้ คือจัดการ งานดี, สงเคราะห์บริวารชนดี, ประพฤติสิ่งที่พอใจของสามี, รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้. กับสตรีประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมีชัยใน โลกหน้า คือมีศรัทธา, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

      ( แบ่งออกเป็นวรรคเล็ก ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อสันธานวรรค ว่าด้วยความ ตั้งอยู่ด้วยดี. วรรคที่ ๒ ชื่อจาลวรรค ว่าด้วยเรื่องแผ่นดินไหว. วรรคที่ ๓ ชื่อยมกวรรค ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่กัน. วรรคที่ ๔ ชื่อสติวรรค ว่า ด้วยสติ. วรรคที่ ๕ ไม่มีชื่อ ).

      ๑. มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางมหาปชาบดี โคตมี

กราบทูลขอบวชเป็นภิกษุณี ในชั้นแรกตรัสปฏิเสธ แต่เมื่อพระอานนท์ช่วยกราบทูล ก็ตรัสอนุญาตให้พระนางบวชด้วยครุธรรม ( ธรรมที่ควร เคารพ ) ๘ ประการ ( ดูรายละเอียดที่แปลไว้จากวินัยปิฎกซึ่งพ้องกัน ) หมายเลข ๘๓ และ ( หน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ ) ๖. ภิกขุนีขันธกะ(หมวดว่าด้วยนางภิกษุณี )(และพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ เล่มเดิม ) ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ

ตรัสแสดงธรรมแก่บุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ชื่อฑีฆชาณุ เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ปัจจุบัน ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), คบคนดีเป็นมิตร, เลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ ( ไม่ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองเกินไป ) ; เรื่องปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ ๔ ประการ คือเป็นนักเลงหญิง, เป็นนักเลงสุรา, เป็นนักเลง การพนัน, คบคนชั่วเป็นมิตร, ฝ่ายดีคือปากทางแห่งความเจริญตรงกันข้าม.

เรื่องธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อนาคต ๔ ประการ คือถึงพร้อมด้วยศรัทธา, ศีล, จาคะ ( การบริจาก ), ปัญญา.

และตรัสแก่อุชชยพราหมณ์ในทำนองเดียวกัน. ตรัสว่า ภัย ทุกข์ เป็นต้น เป็นชื่อของกาม. ตรัสแสดงคุณธรรม ๘ อย่างของภิกษุหลายนัย ที่ทำให้ภิกษุเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อนาบุญ อันยอด เยี่ยมของโลก อย่างสูงทรงแสดงพระอริยบุคคลทั้งแปด.

      ๒. ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภท

คือภิกษุอยากได้ลาภ ๑. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๒. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๓. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ก็เสียใจ เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๔. ไม่พยายามเพื่อได้ ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็มัวเมาประมาท เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๕. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระ สัทธรรม ๖. พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๗. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิด ขึ้น ก็ไม่เสียใจ ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ๘. ไม่พยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ไม่มัวเมาประมาท ไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้ควรแก่ตน ควรแก่คนอื่น คือ ๑. พิจารณาได้ไวในกุศลธรรม ๒. ทรงจำธรรมะที่สดับแล้วได้ ๓. พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ๔. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วก็ปฏิบัติ ธรรมตามสมควรแก่ธรรม ๕. มีวาจาไพเราะ ๖. ชี้แจงชักชวนเพื่อนพรหมจารีให้อาจหาญร่าเริง

ครั้นแล้วตรัสว่า ลดข้อแรก เหลือแต่ ๕ ข้อหลังก็ใช้ได้, ลด ๒ ข้อหลัง เหลือแต่ ๔ ข้อแรกก็ใช้ได้, ลดข้อ ๓-๔ เหลือเพียง ๔ ข้อก็ใช้ได้, ลดข้อ ๑ กับข้อ ๕-๖ ก็ใช้ได้, ลด ๔ ข้อแรก เหลือเพียงข้อ ๕ ข้อ ๖ ก็ใช้ได้.

ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ขอให้ทรงแสดงธรรมโดยย่อ โดยตรัสสอนให้สำเนียก ว่า ๑. จิตจักตั้งมั่น อกุศลธรรมจักไม่ครอบงำ ๒.-๕. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา อันเป็นเจโตวิมุติ ( อันเป็น ฌาน ). ๖.-๙. เราจักเจริญทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เมื่อได้ทำได้อย่างนี้ ก็จะอยู่เป็นผาสุกทั้ง อิริยาบถเดิน, ยืน, นั่ง, นิน.

ตรัสแสดงอธิเทวญาณทัสสนะ ( การเห็นด้วยฌาณซึ่งอธิเทพ หรือเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ ๘ ประการ คือเมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงปรารภราจะได้รู้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรจนรู้เห็นได้ตาม ต้องการแล้ว ก็ทรงปรารถนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปจนสำเร็จสมบูรณ์ครบ ๘ ข้อ จึงปฏิญญาพระองค์ว่าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑. เรา จักรู้สึกมีแสงสว่าง เห็นรูป ๒. เราจักยืนสนทนาไต่ถามกับเทวดา ๓. เราจักรู้ว่าเทวดานี้มาจากเทพนิกายโน้น ๆ ๔. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านั้น เคลื่อนจากนี้ เกิดในที่นั้นเพราะผลแห่งกรรมนี้ ๕. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขทุกข์อย่างนี้ ๖. เราจักรู้ว่าเทวดาเหล่านี้อายุ ยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่นานเท่านี้ ๗. เราเคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้หรือไม่ ๘. หรือว่าเราไม่เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่านี้.

ตรัสแสดงอภิภายตนะ ( เหตุอันครอบงำอารมณ์ที่เป็นข้าศึกหรือธรรมะฝ่ายต่ำ ) ๘ ประการ คือ ๑. กำหนดหมายรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๒. กำหนดหมายในรูป เห็น รูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๓. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกเป็นรูปเล็ก ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๔. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกไม่มีประมาณ ทั้งที่ผิวพรรณดีและทราม ๕. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเขียว ๖. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีเหลือง ๗. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูปภายนอกสีแดง ๘. กำหนดหมายอรูปภายใน เห็นรูป ภายนอกสีขาว ทั้งแปดข้อนี้ต้องมีความกำหนดหมายประจำทุกข้อว่า เรารู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ( คือไมารู้เห็นอย่างติด แต่เป็นนายเหนือสิ่ง ที่เห็นได้ ). (หมายเหตุ : คำว่า อภิภายตนะ มีมาแล้วในมหาปรินิพพานสูตร, สังคีติสูตร, ทสุตตรสูตร เช่น ที่ปรากฏในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) ทรงปลงอายุสังขาร แต่ไม่ได้แจงรายละเอียด ย่อไว้เพียงชื่อบ้าง กล่าวเพียงตัวอย่างของธรรมหมวด ๘ บ้าง ในที่นี้จึงย่อไว้ให้เห็นชัด. มีข้อน่าสังเกต คือเป็นเรื่องของการปฏิบัติทางจิตภาค สมถะ และตั้งแต่ข้อ ๕ ถึงข้อ ๘ เป็นเรื่องของกสิณ ).

ตรัสแสดงวิโมกข์ ๘ ( ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘

ตรัสแสดงอริยโวหาร ( คำพูดที่ประเสริฐ ) และอนริยโวหาร ( คำพูดที่ไม่ ประเสริฐ ) ฝ่ายละ ๘ อย่าง ( พ้องกับที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ หน้า ๕ หมวดนอกจาก ๕๐ ) หัวข้อ ๕.

ตรัสแสดงบริษัท ๘ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ, เทพชั้น จาตุมหาราช, ชั้นดาวดึงส์, มาร, พรหม.

เมื่อทรงปลงอายุสังขารเกิดแผ่นดินไหว พระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุปัจจัย ให้แผ่นดินไหว ตรัสว่ามีอยู่ ๘ ประการ คือลมกำเริบ, ผู้มีฤทธิ์บันดาล, พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต ลงสู่ครรภ์พระมารดา, ประสูติ, ตรัสรู้, พระตถาคตแสดงธรรมจักร, ปลงอายุสังขาร, ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

      ๓. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ

เป็นผู้น่าเลื่อมใสทุกทาง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับฟังมาก, เป็นผู้กล่าวธรรม, ก้าวลงสู่บริษัท, กล้าหาญแสดงธรรม, ได้ฌาน ๔ ตามปรารถนา, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน.

ตรัสอีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะ ข้อที่ ๗ เป็นถูกต้องวิโมกข์อันสงบด้วยนามกาย.

ภิกษุหลายรูปแสดงความเห็นในการเจริญสติระลึกถึงความตายต่าง ๆ กัน. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ตลอดคืนและวัน, ตลอดวัน, ตลอดครึ่งวัน, ตลอดเวลาที่ฉันอาหารมื้อหนึ่ง, ตลอดเวลาที่ฉัน อาหารครึ่งมื้อ ยังอยู่ในเกณฑ์ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะช้าไป. ส่วนผู้ที่คิดว่าเราจักมีชีวิตอยู่ระหว่างเคี้ยวอาหารคำเดียว, ระหว่าง หายใจเข้าออก จึงชื่อว่าไม่ประมาท เจริญมรณสติ เพื่อสิ้นอาสวะ.

ตรัสสอนให้เจริญมรณสติ แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.

ตรัสแสดงสัมปทา ( ความถึงพร้อม ) ๘ อย่าง คือถึงพร้อมด้วยความหมั่น, การรักษา ( ทรัพย์ที่หามาได้ ), การคบคนดีเป็นมิตร, การเลี้ยงชีวิตโดยสม่ำเสมอ, ความเชื่อ, ศีล, การบริจาค, ปัญญา.

พระสาริบุตรสอนภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล ๘ ประเภท ( พ้องกับพระพุทธภาษิต เรื่องภิกษุอยากได้ลาภ ๘ อย่างในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน ) และเรื่องบุคคลที่ควรแก่ตนและผู้อื่น ( เหมือนกันคือ ดูในหัวข้อที่ ๒ .ตรัสแสดงบุคคล ๘ ประเภทหน้าเดียวกัน )

ตรัสถึงธรรม ๘ อย่าง เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งภิกษุผู้ยังศึกษา คือยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมด้วยอินทรีย์, ไม่รู้ประมาณในโภชนะ, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดี ในธรรมอันทำให้เนิ่นช้า ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสถึงที่ตั้งแห่งความเกียจคร้าน ๘ อย่าง คือ ๑. จะทำงานกลัวลำบากกาย, ๒. ทำแล้วก็รู้สึกว่าลำบากกาย, ๓. จะเดินทางก็กลัวลำบากกาย, ๔. เดินทางแล้วก็รู้สึกลำบากกาย, ๕. เที่ยวบิณฑบาต ไม่ได้อาหารตามที่ ต้องการ รู้สึกว่าลำบากกาย, ๖. เที่ยวบิณฑบาต ได้อาหารตามที่ต้องการ รู้สึกว่ากายหนัก ( อึดอัดเพราะอิ่ม ), ๗. มีอาพาธเล็กน้อย, ๘. หาย จากอาพาธไม่นาน.

ทรงแสดงที่ตั้งแห่งความเพียร ( อารัพภวัตถุ ) ๘ ประการตรงกันข้าม.

      ๔. ตรัสว่า ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้ไม่มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดนลำดับ

ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็ทำให้มีธรรมะอื่น ๆ อีก ๗ ข้อโดยลำดับ ( ดูหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ หน้า ๑) ในวรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐ หมายเลข ๒..

ตรัสแสดงเหตุที่ทำให้พระธรรมเทศนาของพระตถาคตบางครั้งก็แจ่มแจ้ง บางครั้งก็ ไม่แจ่มแจ้ง คือมีศรัทธา, เข้าไปหา, นั่งใกล้, ไต่ถาม, ตั้งโสตสดับธรรม, ทรงจำธรรม, พิจารณาอรรถแห่งธรรม, ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ( ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่แจ่มแจ้ง ).

ตรัสว่าธรรมทั้งปวง มีความพอใจเป็นมูล, เกิดแต่ความใส่ใจ, มีสัมผัสเป็นเหตุ เกิด, มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง, มีสมาธิเป็นประมุข, มีสติเป็นใหญ่, มีบุญเป็นสิ่งยอดเยี่ยม, มีความหลุดพ้นเป็นแก่น.

ตรัสว่า โจรประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความพินาศโดยพลัน ไม่ตั้งอยู่นาน คือทำร้ายผู้ที่มิได้ทำร้าย, ขโมยของไม่ให้มีเหลือ, พาสตรีไป, ข่มขืนหญิงสาว, ปล้นนักบวช, ปล้นพระคลังหลวง, ทำกรรมในที่ใกล้เกินไป, ไม่ฉลาดในการฝังทรัพย์. และตรัสว่าถ้าตรงกันข้ามก็ไม่ถึงความพินาศโดยพลัน ตั้งอยู่ได้นาน.

ตรัสว่า คำว่า สมณะ, พราหมณ์, ผู้ภึงเวท, หมอ, ผู้ไม่มีทลทิน, ผู้ปราศจากมลทิน, ผู้มีญาณ, ผู้หลุดพ้น เป็นชื่อของพระตถาคต.

ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่ต้อนรับพราหมณ์คฤหบดีชาวอิจฉานังคละ ผู้ส่งเสียงเอ็ดอึง.

ตรัสเรื่องอุบาสกที่ควรคว่ำบาตร หงายบาตร ( ดังที่ย่อไว้แล้วหน้าพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗) การลงโทษคว่ำบาตรแก่วัฑฒะลิจฉวี และเรื่องอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ดั่งที่มี แล้วในพระวินัย.

      ๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม ๘ อย่าง

คืออริยมรรคมีองค์ ๘, อภิภายตนะ ๘ ( ดูด้านบนในหัวข้อหมายเลขที่ ๒. ตรงคำว่า หมายเหตุ ) วิโมกข์ ( ดูที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ ( ดูที่หน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ ) หัวข้อที่ ๗. วัตถูปมสูตร. มีราคะ เป็นต้น.


    '๑' . มีข้อน่าสังเกตพิเศษสำหรับคนธรรพ์ว่าอยู่ในมหาสมุทร แต่ในที่อื่นมีกล่าวว่า อยู่ที่ต้นไม้ ( ดูที่บทของเล่มที่ ๑๙ ซึ่งมีเขียนขยายความไว้ดังนี้ว่า : ในข้อที่๑๐. คันธัพพกายสังยุตต์ ประมวลเรื่องเทพพวกคนธรรพ์ คือเทพที่สิงอยู่ ณ กลิ่นแห่งรากไม้, แก่นไม้, กะพี้ไม้, เปลือกไม้, สะเก็ดไม้, ใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้, รสไม้, กลิ่นไม้. )

    '๒' . น่าจะหมายความว่ารักษาศีล ๕ ยกข้อ ๓ คือประพฤติผิดในกามออก เลื่อนข้อ ๔-๕ ไปไว้เป็นข้อที่ ๓-๔ แล้ว สมาทานข้อ ๕ เว้นจากอพรหมจรรย์คือการเสพกาม

    '๓' . เว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย, กินอาหารในเวลาเที่ยงแล้วถึงรุ่งอรุณของวันใหม่, ฟ้อนรำขับร้องประโคม ดูการเล่น ทัดทรงดอกไม้ของหอม, ใช้ที่นั่งนอนสูงใหญ่ยัดนุ่นและสำลี

    '๔' . ตรัสขยายความในตอนต่อไปว่า เจริญสมาธินี้ ( อันประกอบด้วยเมตตา ) อันมีวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๑ ) บ้าง, อัน ไม่วิตก มีแต่วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีทั้งวิตก วิจาร ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีปีติ ( ฌานที่ ๒ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๓ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันไม่มีปีติ ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันมีแต่ความ สุข ( ฌานที่ ๓ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๔ ในฌาน ๕ ) บ้าง, อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ( ฌานที่ ๔ ในฌาน ๔ หรือฌานที่ ๕ ในฌาน ๕ บ้าง ), นี้ เป็นพระพุทธภาษิตแห่งที่ ๒ ที่ตรัสถึงฌาน ๕ โดยแสดงองค์ฌาน แต่ไม่ได้บอกชื่อว่าที่ ๑ ถึงที่ ๕ . ดูข้อความในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ หน้า ๒) ในหัวข้อที่๒๘. อุปักกิเลสสูตร ที่ข้อที่๕

    '๕' . ข้อความตอนนี้ความจริงซ้ำกับข้อความในหน้าพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๕ ในข้อ๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ แต่ตอนนี้ย่อไว้ พิสดารกว่า และเป็นอันขยายความของตอนที่แล้วให้ชัดขึ้น


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ