บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 14

หน้า ๑ ปฐุมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑


๑. ตรัสเรื่อง
พระเสขะ ๕ อย่าง
๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕
๓. ผู้ไม่มีความเคารพ ฯลฯ
๔. ตรัสตอบปุจฉา
๕. โภคทรัพย์ ๕ ประการ

หน้า ๒ ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕
๒. สัญญา ๕ สองชุด
๓.ธรรม ๕ อย่างข้างต้น
๔.ธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ
๕. ทรงแสดงสัมปทา

หน้า ๓ ตติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๓
๑. ตรัสธรรมะที่ทำ
ให้แกล้วกล้า ๕
๒. ภิกษุผู้เข้าสกุล
๓. ตรัสสอนภิกษุ
ไข้ว่า มีธรรม ๕
๔. ทรงแสดงองค์ ๕ ว่า
จักรพรรดิ์ทรงหมุนจักรไปได้
๕. ทรงแสดงบุคคล ๕

หน้า ๔ จตุตถปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๔
๑. ตรัสแสดงผู้ฟังธรรมที่ไม่ดี-ที่ดี
๒. ความอาฆาต ๕ อย่าง
๓.ผู้ประกอบด้วยศีล ๕
๔. ผู้อยู่ป่า ๕ ประเภท
๕. ธรรมเก่าแก่
ของพราหมณ์ ๕

หน้า ๕ ปัญจมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๕
๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ
๒. ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า ฯลฯ
๓. โทษของการจาริกไปนาน
๔. ธรรม ๕ อย่าง ผู้ไม่ควร สรรเสริญ
๕. โทษของทุจจริต ๕

พระสูตรที่
ไม่จัดเข้าวรรค
ผู้ประกอบชุมนุม
ธรรมะที่มี ๖ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑
๑.ภิกษุประกอบ
ด้วยธรรม ๖

๒.ธรรมที่
ให้ระลึกถึงกัน
๓. ธรรม ๖ อย่าง
๔. ตรัสแสดงว่า
ธรรม ๖ อย่าง
๕. ตรัสกะพระอุทายี

ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ตรัสสอนพระโสณะ
๒. ผู้ละธรรม ๖
๓. ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๖
๔. ภิกษุ,,ไม่ควร
ทำให้แจ้ง ฯลฯ
๕.ความปรากฏขึ้น
แห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หายาก-

หน้า ๖ หมวดนอกจาก ๕๐ ตรัสแสดงราคะ,
โทสะ, โมหะ
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

 

เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๕

      พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ปัญจมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๕

      ( แบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อกิมพิลวรรค ว่าด้วยพระ กิมพิละ. วรรคที่ ๒ ชื่ออักโกสกวรรค ว่าด้วยผู้ด่า. วรรคที่ ๓ ชื่อทีฆจาริกวรรค ว่าด้วยการเที่ยวไป ( เดินทาง ) นาน. วรรคที่ ๔ ชื่ออาวาสิกวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่น. วรรคที่ ๕ ชื่อทุจจริตวรรค ว่าด้วยทุจจริต ).

      ๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ

ถึงเหตุที่พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ไม่นาน หรือตั้งอยู่นาน เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว โดยชี้ไปที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีความเคารพในพระพุทธ, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในกันและกัน. และตรัสแสดงถึงเรื่องอื่น ๆ ( ที่แปลไว้ในบทต้น ๆแล้วโดยมากว่าเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน" พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ดูก่อนกิมพิละ ! เมื่อตถาคต ปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการ ศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ ! เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. " )

      ๒. ตรัสว่า ภิกษุด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า

เป็นผู้ หวังโทษ ๕ อย่าง คือ ต้องอาบัติปาราชิก, ต้องอาบัติชั่วหยาบ, มีโรคอย่างหนัก, หลงทำกาละ, ตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตนรก.

แล้วได้ตรัสแสดงโทษของภิกษุผู้ก่อการทะเลาะวิวาท โทษของการพูดมาก เป็นต้น.

      ๓. ตรัสแสดงโทษของการจาริกไปนาน โดยไม่มีจุดหมาย

ว่า มีอยู่ ๕ อย่าง คือไม่ได้ฟังสิ่งที่ยังมิได้ฟัง, ที่ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจชัดขึ้น, ไม่แกล้วกล้า เพราะได้ฟังเพียงเล็กน้อย, มิโรคอย่างหนัก, ไม่มีมิตร. ในทางดีตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไป ๕ อย่าง คือมีข้าวของ มาก สั่งสมข้าวของมาก, มีเภสัชมาก สั่งสมเภสัชมาก, มีกิจกรณียะมาก ไม่ฉลาดในการงาน, คลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วย การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่ควร, ออกจากอาวาสไปไหน ก็มีความห่วงใย. แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของการไม่อยู่ประจำที่ นานเกินไป ในทางตรงกันข้าม.

แล้วได้ตรัสแสดงโทษของการอยู่ประจำที่นานเกินไปอีก ๕ ข้อ คือทำให้ตระหนี่ ในที่อยู่, ในตระกูล, ในลาภ, ในคุณความดี ( ชื่อเสียง ), ในธรรม.

ทรงแสดงโทษของการเข้าสู่สกุล ( ไปฉันเป็นประจำในหมู่บ้าน ) ซึ่ง มักทำให้ต้องอาบัติต่าง ๆ

และโทษของการคลุกคลีในสกุลเกินขอบเขต เป็นต้น.

      ๔. ตรัสแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างว่าเป็นผู้ไม่ควร สรรเสริญ

(อรรถกถาแก้ว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ ) คือไม่สมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยาและวัตร, ไม่สดับตรับฟังมาก ไม่ทรงจำ, ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่ยินดีในการขัดเกลา ไม่ยินดีในความดี, ไม่มีวาจาไพเราะ, มีปัญญาทราม. แล้วทรงแสดงฝ่ายดีตรงกันข้าม.

กับทรงแสดงถึงภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นที่เป็นที่รักเป็นที่พอใจของเพื่อนพรหมจารี และตรงกันข้ามอื่น ๆ อีกจนจบวรรค ข้อความคล้ายคลึงกัน เป็นแต่เปลี่ยนคุณธรรมบางข้อ.

      ๕. ตรัสแสดงโทษของทุจจริต ๕ อย่าง

คือตนเองติเตียนตนได้, ผู้รู้ พิจารณาแล้วติเตียนได้, กิตติศัพท์อันชั่วย่อมฟุ้งไป, เป็นผู้หลงตาย, เมื่อตายแล้วก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

ตลอดจนโทษของความเลื่อมใสเจาะจงตัวบุคคล ๕ ประการ คือ ๑. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ยกเสียจากหมู่ ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย เป็นเหตุให้ไม่คบ ไม่ฟังธรรม และเสื่อมจากสัทธรรม ( เพราะ เข้ากับคนผิด ) ๒. เมื่อผู้นั้นต้องอาบัติ สงฆ์ลงโทษให้นั่งปลายแถว ก็เลยไม่เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ( เหมือนข้อแรก ) ๓. เมื่อผู้นั้นหลีก ไปที่อื่น ๔. เมื่อผู้นั้นสึกไป ๕. เมื่อผู้นั้นตายไป ก็เลยไม่คบภิกษุอื่น (หมายเหตุ : คำสอนนี้ดีมาก ไม่ให้ติดในบุคคล แต่ถ้าจะ เลื่อมใส ควรเลื่อมใสในหลักธรรม เพราะคนอาจเปลี่ยนแปลงได้. ถ้าเข้าใจในหลักธรรมหรือหลักการแล้ว ก็จะไม่วุ่นวายในเรื่องบุคคล).

   

พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

      ในหมวดนี้ ถือได้ว่าเป็นหมวดพิเศษ แสดงเรื่องธรรมขันธ์ ( ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ ) และเรื่องอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงหรือพ้องกับวินัยปิฎกบ้าง ที่แสดงมาแล้วในชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ (ธรรมะที่มี ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า ธัมมขัน ๕ ). ( พึงสังเกตุว่า ตั้งแต่หมวด ๕๐ ที่ ๔ มาจนจบนี้ได้ย่อความอย่างรวบรัด และแสดงเฉพาะข้อธรรมที่ไม่พ้องกันโดยมาก ).

   

ฉักกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๖ ข้อ

      ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๒ หมวด หมวดพิเศษนอก ๕๐ อีก ๒ หมวด จึงมีพระสูตร ประมาณ ๑๐๐ สูตรเศษ.

   

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

      ( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค ๆ ละ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออาหุเนยวรรค ว่าด้วยผู้ควรของ คำนับ. วรรคที่ ๒ ชื่อสาราณิยาทิวรรค ว่าด้วยธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน เป็นต้น. วรรคที่ ๓ ชื่อนุตตริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันยอดเยี่ยม. วรรคที่ ๔ ชื่อเสกขปริหานิวรรค ว่าด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมของผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๕ ชื่อธัมมิกวรรค ว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม).

      ๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง

เป็นผู้ควรคำนับ ควรของ ต้อนรับ ควรแก่ทักขิณา ( ของถวาย ) ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, ถูก ต้องโผฏฐัพพะ, รู้ธรรม แล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะ วางเฉย.

แล้วทรงแสดงภิกษุที่ประกอบด้วยธรรมะ ๖ อย่าง ( อภิญญา ๖ มี อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ว่า เป็นผู้ควรของคำนับ กับแสดงธรรม ๒ อย่าง คืออินทรีย์ ๕ พละ ๕ ( ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ) เพิ่มทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็น ๖ ข้อว่า ทำให้ภิกษุควรแก่ของคำนับ เป็นต้น.

ตรัสแสดงม้าอาชาไนยประกอบด้วยองค์ ๖ ว่า ควรแก่พระราชา คืออดทนต่อรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ และสมบูรณ์ด้วยสีกาย อีกนัยหนึ่งเปลี่ยนแต่ข้อสุดท้าย คือสมบูรณ์ด้วยกำลัง อีกนัย หนึ่งสมบูรณ์ด้วยฝีเท้า เทียบด้วยคุณธรรมของภิกษุ คืออดทนต่ออารมณ์ ๖ มีรูป เป็นต้น.

ตรัสแสดงสิ่งยอดเยี่ยม ( อนุตตริยะ ) ๖ คือการเห็น การฟัง, การได้, การศึกษา, การบำเรอ, การระลึก อันยอดเยี่ยม.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งการระลึก ๖ อย่าง คือการระลึกภึงพระพุทธ, พระ ธรรม, พระสงฆ์, ศีล, การบริจาค, เทวดา ( หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ).

ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะถึงอนุสสติ ( การระลึก ) ๖ ว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยสาวกผู้บรรลุผลแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ( พระโสดาบันบุคคล ).

      ๒. ตรัสแสดงธรรมที่ให้ระลึกถึงกัน ( ของภิกษุ ) ๖ ประการ

คือ ๑. ตั้งกายกรรม, ๒. วจีกรรม, ๓. มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารี ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี ๕. มีศีล ที่ดีเสมอกัน ๖. มีความเห็นที่ดีเสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี

ตรัสแสดงแสดงนิสสารณียธาตุ ( ธาตุคือการพ้นไป ) ๖ อย่าง คือ ๑. เมตตาที่เป็นเจโตวิมุติ ( เป็นฌาน ) เป็นความพ้นไปแห่งพยาบาท ( ความคิดปองร้าย ) ๒. กรุณาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่ง วิเหสา ( ความคิดเบียดเบียน ) ๓. มุทิตาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความพ้นไปแห่งอรติ ( ความริษยา ) ๔. อุเบกขาที่เป็นเจโตวิมุติ เป็นความ พ้นไปแห่งราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) ๕. เจโตวิมุติที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) เป็น ความพ้นไปแห่งนิมิตทั้งปวง ๖. การถอนอัสมิมานะ ( ความถืดตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ) เป็นความพ้นไปแห่งความสงสัย.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงความตายที่ไม่ดีของภิกษุผู้ทำการ ๖ อย่าง คือยินดีในการงาน ( ที่มิใช่ของบรรพชิต ), ยินดีในการพูดมาก, ยินดีในการหลับ, ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่, ยินดีในการเกี่ยวข้อง, ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า ในทางดีแสดงตรงกันข้าม

คฤหปตานีผู้เป็นมารดาของนกุลมาณพ พูดกับสามีผู้เป็นไข้หนัก ไม่ให้ ตายอย่างมีความเพ่งเล็ง ( กังวลห่วงใย ) ทั้งในการครองเรือนและในทางศีลธรรม. เมื่อคฤหบดีหายแล้ว ก็ถือไม้เท้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสชมเชยคฤหปตานีเป็นอันมาก.

ตรัสปรารภภิกษุบวชใหม่ผู้นอนกรนหลับอยู่จนตะวันขึ้น แสดงว่า พระราชา, และผู้เป็นหัวหน้าอื่น ๆ เช่น เสนาบดี, นายบ้าน, ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่เป็นที่รักของชนบทและของกลุ่มชน. ส่วนสมณพราหมณ์ที่เห็นแก่นอน ย่อมไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะได้.

ตรัสแสดงว่า ผู้หากินทางฆ่าสัตว์ไม่เจริญ มีทรัพย์มั่งคั่ง. ตรัสสอน ให้เจริญมรณัสสติ ( การระลึกถึงความตาย ) ทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะชื่อว่าไม่ประมาท. กับอีกนัยหนึ่ง

ตรัสสอนให้ระลึกถึงความตาย แล้วมีฉันทะ มีความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ ความกระตือรือร้นที่จะละอกุศลธรรม.

      ๓. ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง

ว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อม ( ของภิกษุ ) ในกาล ทั้งสาม ( อดีต, อนาคต, ปัจจุบัน ) คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ความเป็นคน ว่ายาก, การคบคนชั่วเป็นมิตร, ในฝ่ายดีตรัสแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงว่า คำว่า ภัย, โรค, ฝี, ความข้อง, หล่ม เป็นชื่อของกาม. ตรัสว่า ภิกษุผู้ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง พึงทำลายขุนเขาหิมพานต์เสียได้ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการทำลายอวิชชาอันต่ำทราม ธรรม ๖ อย่าง คือฉลาดในการเข้าสมาธิ, ในการตั้งอยู่ในสมาธิ, ในการออกจากสมาธิ, ในความควรแก่กาลของสมาธิ, ในอารมณ์ของสมาธิ, ใน การเข้าสมาธิสูง ๆ ขึ้นไป.

ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ ประการ มีการระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้น

พระมหากัจจานะสอนภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก ๖ อย่าง ข้างต้น.

ตรัสแสดงว่า ภิกษุควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ๖ สมัย คือเมื่อถูก นีวรณ์ ๕ ครอบงำ และเมื่อใส่ใจในนิมิตใด เป็นเหตุให้อาสวะไม่สิ้น ภิกษุก็ยังไม่รู้ไม่เห็นนิมิตนั้น, เข้าไปแล้วจะได้ขอให้สั่งสอน.

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงสมัยที่ควรเข้าไปหาภิกษุผู้อบรมจิต ตาม ความเห็นของตน. พระมหากัจจานะแสดงสมัย ๖ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้.

ตรัสถามพระอุทายีเรื่องที่ตั้งแห่งความระลึก พระอุทายีตอบไม่ได้ และ ตอบเลี่ยงไปอย่างอื่น. เมื่อตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์ตอบชี้ไปที่การเข้าฌาน, การใส่ใจอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายว่ามี แสงสว่าง ), การพิจารณาโดยความเป็นของน่าเกลียด, การพิจารณาซากศพต่างชนิด, การเข้าฌานที่ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสประทาน สาธุการ แล้วตรัสสอนเพิ่มอีกข้อหนึ่ง คือให้มีสติเมื่อก้าวไป, ถอยกลับ, ยืน, นั่ง, นอน, ทำการงาน.

ตรัสรายละเอียดเรื่องอนุตตริยะ ๖ เป็นการขยายความจากที่ประทานหัวข้อ ไว้ โดยใจความว่า การเห็น การฟัง เป็นต้น อันนับว่ายอดเยี่ยมนั้น คือที่เป็นไปในทางธรรม ( เห็นพระพุทธเจ้า, ฟังธรรม ) เป็นต้น.

      ๔. ตรัสแสดงว่า ธรรม ๖ อย่าง

คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่สำรวมอินทรีย์( มีตา หู เป็นต้น ) ไม่รู้ประมาณในโภชนะว่า เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ภิกษุผู้ยังศึกษา.

และตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความไม่ประมาท, การปฏิสันถาร ( ต้อนรับ ). ตรัสยักย้ายนัยเปลี่ยนข้อ ๕ เป็นข้อ ๖ เป็นความเคารพในหิริ ( ความละอายต่อบาป ) ความเคารพในโอตตัปปะ ( ในความเกรงกลัวต่อบาป ).

พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะ เรื่องญาณของเทวดา ที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นกัน.

ตรัสแสดงธรรม ๖ อย่าง ที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ( วิชชาภาคิยะ ) คือ อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเขอนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่เป็นทุกข์ ), ปหานสัญญา ( ความกำหนดหมายในการละ ), วิราคสัญญา ( ความกำหนดหมายใน การคลายความกำหนัดยินดี ), นิโรธสัญญา ( ความกำหนดหมายในการดับ ).

ตรัสแสดงว่า มูลเหตุแห่งวิวาทมี ๖ อย่าง คือภิกษุเป็นผู้โกรธ, ผูกโกรธ ; ลบหลู่บุญคุณท่าน, ตีเสมอ ; ริษยา, ตระหนี่ ; โอ้อวด, มีมายา ; มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด ; ยึดทิฏฐิของตนมั่น สละยาก. เมื่อมีความไม่ดี ๖ ส่วนเหล่านี้แล้ว ก็ขาดความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ก่อวิวาท ขึ้นในสงฆ์.

อุบาสิขาชื่อเวฬุกัณฑกีผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ ประดิษฐานทักขิณามีองค์ ๖ ในภิกษุสงฆ์ มีพระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข. พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า องค์ ๖ คือองค์ ๓ ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ได้แก่มีจิตผ่องใสก่อนให้ กำลังให้ ให้เสร็จแล้ว, องค์ ๓ ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ ) ได้แก่ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อละราคะ, ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อละโทสะ, ปราศจาก โมหะ หรือปฏิบัติเพื่อละโมหะ. ทักขิณาที่ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้ มีบุญอันไม่ง่ายที่จะนับจะประมาณ.

ทรงแสดงธาตุ ๖ คือ อารัพภธาตุ ( ความริเริ่ม ), นิกกมธาตุ ( ความก้าวออก ), ปรักกมธาตุ ( ความบากบั่น ), ถามธาตุ ( เรี่ยวแรง ), ธิติธาตุ ( ความอดทน ), อุปักกมธาตุ ( ความพยาพยาม ) ทั้งหกข้อนี้เป็นชื่อของ ความเพียร เพื่อชี้แจงให้พราหมณ์ผู้หนึ่งละทิ้งความเห็นผิด ปฏิเสธการกระทำของตนและของคนอื่นว่าไม่มี.

ตรัสแสดงโลภะ, โทสะ, โมหะ และอโลภะ, อโทสะ, อโมหะ ว่าเป็น ต้นเหตุให้เกิดการกระทำฝ่ายชั่ว, ฝ่ายดี ฝ่ายละ ๓ ข้อ.

ตรัสตอบพระกิมมิละ เรื่องของสัทธรรมไม่ตั้งอยู่นาน เพราะพุทธบริษัทไม่มีความเคารพในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ในการศึกษา, ในความไม่ประมาท, ในการ ต้อนรับ. ฝ่ายดีทรงแสดงในทางตรงกันข้าม.

พระสาริบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญ ทางจิต อาจอธิษฐานให้ท่อนฟืนเป็นดิน, เป็นน้ำ, เป็นไฟ, เป็นลม, ให้งาม, ให้ไม่งาม อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะมีธาตุทั้งหก ( ปฐวีธาตุ ถึงอสุภธาตุ ) อยู่ในท่อนไม้นั้น.

ตรัสกะพระนาคิตะ เรื่องไม่มีพระพุทธประสงค์ จะต้อนรับพราหมณคฤหบดี ชาวอิจฉานังคละทำนองเดียวกับในธรรมะหมวด ๕ ( ตรัสกะพระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่รับ รองพราหมณคฤหบดีชาวอิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้ รับโดยง่ายซึ่งความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจากการนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ใน นิมิต ( เครื่องหมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์ มีรูป เสียงเป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูล ในความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.) ที่ตรัสไว้แล้ว แต่มีรายละเอียดต่างไปเล็กน้อย.

      ๕. ตรัสกะพระอุทายี

ว่า คนทั่วไปเห็นสัตว์ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ หรือมนุษย์ใหญ่ ก็เรียกว่านาคะ ( สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ) แต่พระองค์ตรัสว่า ผู้ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ว่าเป็นนาคะ (หมายเหตุ :คำว่า นาคะ มาจากคำว่า นคะ ซึ่งแปลว่า ภูเขา จึงใช้เรียกสิ่งใหญ่ ๆ ได้ ).

ตรัสแสดงถึงบุคคล ๓ ประเภท คือ ๑. ประเภทที่เว้นจากความชั่ว ๒. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่เกิดความโลภเป็นครั้งคราว ๓. ประเภทที่เอาชนะความโกรธและความถือตัวได้ แต่ยังมีวจีสังขาร เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บุคคล ๓ ประเภทนี้แบ่งออกเป็นประเภทละ ๒ พวก คือพวกที่มิได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วก็มีแต่เสื่อมลงไม่สูงขึ้น อีกพวกหนึ่งได้บรรลุวิมุติ ตายไปแล้วมีแต่สูงขึ้นไม่เสื่อมลง. ( ตรัสแสดงแก่ พระอานนท์เป็นการแก้ความข้องใจของมิคสาลาอุบาสิกา ผู้ได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงอุบาสก ๒ คนที่ประพฤติพรหมจรรย์ กับไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ ถึงแก่กรรมว่า ได้เป็นพระสกทาคามีเหมือนกัน เป็นการชี้ว่า อย่าว่าแต่ประพฤติต่างกันเลย แม้แต่ประพฤติเหมือนกัน ในชั้นเดียวกัน แต่ฝ่ายหนึ่งก้าวหน้าก็มี ไม่ก้าวหน้าก็มี คนประพฤติต่างชั้นก็อาจเสมอกันได้ เพราะมีบางส่วนบกพร่อง แต่บางส่วน สมบูรณ์ ).

ตรัสว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก โดยแสดงผลร้ายของความจน ๖ ข้อ ( แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๑๒๕. ความจนเป็นทุกข์ในโลก

พระมหาจุนทะ สอนภิกษุทั้งหลาย มิให้ภิกษุผู้บำเพ็ญฌานกับภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม ) รุกรานกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ชื่อว่าหาได้ยากด้วยกัน. ( พึงสังเกตว่า พระมหาจุนทะรูปนี้ จะพูดจะสอนอะไร มักจะเพื่อสมานสามัคคี เพื่อความ ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาเสมอ

ตรัสแสดงธรรมแก่ปริพพาชกชื่อโมฬิยสิวกะ ผู้ทูลถามถึงธรรมที่เห็นได้ ด้วยตัวเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน ผู้รู้เห็นได้จำเพาะตน โดยตรัสถามว่า เมื่อโลภะ โทสะ โมหะ มีใน ภายใน ก็รู้ว่ามีในภายใน ไม่มีในภายใน ก็รู้ว่าไม่มี ใช่หรือไม่ เมื่อตอบว่า ใช่ จึงตรัสว่า นั่นคือธรรมที่เห็นด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย กาล เป็นต้น.

ตรัสตอบพราหมณ์ผู้หนึ่ง ในทำนองเดียวกับปริพพาชก เป็นแต่ตรัสถามให้ ตอบในเรื่องราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) และสันโทสะ ( การประทุษร้ายทางกาย วาจา ใจ ).

พระเขมะกับพระอุตตระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ต่างกราบทูลเป็นสุภาษิต คือพระเขมะกราบทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ไม่คิดว่า มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, มีผู้เสมอเรา, มีผู้เลวกว่าเรา. ส่วนพระสุมนะกราบ ทูลว่า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพไม่คิดว่า ไม่มีผู้ประเสริฐกว่าเรา, ไม่มีผู้เสมอเรา, ไม่มีผู้เลวกว่าเรา ( ไม่ยึดถือด้วยมานะความถือตัว ).

ตรัสว่า ความสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ญาณ ทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณ ), นิพพิทา, วิราคะ ( ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุด พ้น ) เกี่ยวเนื่องส่งเสริมกันให้บริบูรณ์โดยลำดับ.

พระสาริบุตรกับพระอานนท์สนทนาธรรมกัน พระสาริบุตรสรรเสริญพระอานนท์ ( รวม ๖ ข้อ คือ ) ๑. เรียนธรรมะ ๒. แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น ๓. บอกธรรมตามที่ฟังแล้วเรียน แล้วแก่ผู้อื่น ๔. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมะนั้น ๕. จำพรรษาอยู่ในอาสวะที่มีพระเถระผู้สดับตรับฟังมาก ๖. เข้าไปหาพระเถระเหล่า นั้นไต่ถามปัญหาเป็นครั้งคราว ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เปิดเผยชี้เแจงบันเทาความสงสัยให้ได้.

ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงบุคคล ๖ ประเภท ตามที่ถาม คือ ๑. กษัตริย์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงกำลัง ( พลกาย ) ใส่ใจถึงแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด ( เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ) ๒. พราหมณ์ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงมนต์ ใส่ใจถึงยัญ มีพรหมโลกเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๓. คฤหบดี ( ผู้ครองเรือน หรือพ่อเจ้าเรือน ) ประสงค์ทรัพย์ พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศิลปะ ใส่ใจถึงการงาน มีการงานที่สำเร็จเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๔. สตรี ประสงค์บุรุษ พิจารถึงเครื่องประดับ ตั้งจิตถึงบุตร ใส่ใจที่จะไม่มีสตรีอื่นมาร่วมสามี มีความเป็นใหญ่เป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย. ๕ โจร ประสงค์จะขโมย พิจารถึงป่ารก ตั้งจิตถึงศัสตรา ใส่ใจถึงความมืด มีการไม่ถูกเห็นเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย ๖. สมณะประสงค์ขันติ ( ความอดทน ) และโสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) พิจารถึงปัญญา ตั้งจิตถึงศีล ใส่ใจถึงความไม่กังวล มีนิพพานเป็นข้อมุ่งหมายสุดท้าย.

ตรัสว่า ความไม่ประมาท เป็นธรรมข้อหนึ่ง ที่เจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้บรรลุประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ปัจจุบันและอนาคต.

พระธัมมิกะ เป็นภิกษุเจ้าถิ่นใน ๗ วัด ในชาติภูมิ เป็นคนปากร้าย ด่าว่า ภิกษุอาคันตุกะ จนหนีไปหมด. พวกอุบาสกจึงพากันขับไล่ไม่ให้อยู่ในวัดทั้งเจ็ดวัด จึงต้องเดินทางไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัส ว่า เมื่อถูกไล่จากที่ต่าง ๆ ก็ต้องมาหาพระองค์ เหมือนพ่อค้าเดินทางเรือสู่สมุทร เมื่อไม่เห็นฝั่งก็ปล่อยนกหาฝั่งไป นกก็บินไปทั้งสี่ทิศ ทั้งทิศเบื้องบนและทิศเฉียง ถ้าเห็นฝั่งก็บินไปเลย ถ้าไม่เห็นฝั่งก็บินกลับมาสู่เรืออีก แล้วตรัสเล่าเรื่องในอดีตอีกหลายเรื่อง.

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒


      ( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ที่ ๑ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๒ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วย เทวดา. วรรคที่ ๓ ชื่ออรหันตวรรค ว่าด้วยพระอรหันต์. วรรคที่ ๔ ชื่อสีติวรรค ว่าด้วยความเย็น. วรรคที่ ๕ ชื่ออานิสังวรรค ว่าด้วยผล ดี ).

      ๑. ตรัสสอนพระโสณะ

ผู้ทำความเพียรมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ โดยตรัส อุปมาด้วยสายพิณที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป เสียงไม่ดี ต่อขึงพอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป จึงมีเสียงดี. พระโสณะปฏิบัติตามก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงข้อธรรมหลายประการ โดยเฉพาะได้กล่าวถึง พระอรหันต์ขีณาสพว่า น้อมไปสู่ฐานะ ๖ ประการ คือ เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ), ปวิเวกะ ( ความสงัด ), อัพยาปัชฌะ ( ความไม่เบียดเบียน ), ตัณหักขยะ ( ความสิ้นไปแห่ง ตัณหา ), อุปาทานักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่น ), อสัมโมหะ ( ความไม่หลง ).

พระผัคคุณะอาพาธหนัก พระอานนท์ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคขอให้เสด็จ ไปเยี่ยม พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรด เมื่อเสด็จกลับไม่นานพระผัคคุณะก็ถึงมรณภาพ. เมื่อพระอานนท์ไปกราบทูล จึงตรัสว่า จิต ของพระผัคคุณะภายหลังฟังธรรมได้หลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ( เป็นพระอนาคามี ) แล้วได้ตรัสถึงอานิสงส์ ( ผลดี ) ใน การฟังธรรมตามกาล ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล มี ๖ อย่าง คือ ๑. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๒. ฟังธรรมที่สาวกพระตถาคตแสดง จิตพ้นจากสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๓. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตพ้นจาก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ๔. ฟังธรรมที่พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรม เป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๕. ฟังธรรมที่สาวก พระตถาคตแสดง จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ๖. ตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรม จิตหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส อย่างยอดเยี่ยม.

ตรัสแสดง อภิชาติ ๖ ประการ เปรียบเทียบกับข้อบัญญัติของปูรณะ กัสสปะ คือ ๑. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แล้วประพฤติทุจจริต ๒. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ แต่ประพฤติสุจริต ๓. คนมีอภิชาติดำ ทำให้เกิดพระนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำ ออกบวชตั้ง อยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น ๔. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันดำ ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง แต่ประพฤติทุจจริต ๕. คนมี อภิชาติขาว ทำให้เกิดธรรมอันขาว ได้แก่ผู้เกิดในตระกูลสูง ประพฤติสุจริต ๖. คนมีอภิชาติขาว ทำให้เกิดนิพพานอันไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ผู้เกิดในตระกูลสูง ออกบวชตั้งอยู่ในคุณธรรม ทำนิพพานให้เกิดขึ้น.

ตรัสแสดงคุณธรรมของภิกษุผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ว่า ละอาสวะได้ ๖ อย่าง ( มีละด้วยการสำรวม เป็นต้น ( โปรดดูที่แปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก ) หมายเลข ๑๑๗. ต้องเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จึงสิ้นอาสวะได้ เป็นแต่ในนั้นแสดงวิธีการ ๗ อย่าง ในที่นี้แสดง ๖ อย่าง ยกข้อว่าด้วยทัสสนะออกเสีย ).

ตรัสถึงภิกษุ ๖ ประเภท คืออยู่ป่า, อยู่ท้ายบ้าน, ถือบิณฑบาต, รับนิมนต์, ทรงผ้าบังสุกุล, ทรงคฤหบดีจีวร ( ผ้าที่คฤหบดีถวาย ) ซึ่งมีทั้งชั่วทั้งดี.

พระจิตตหัตถิสาริบุตร พูดแทรกขึ้นในเมื่อพระเถระทั้งหลายกำลังกล่าว อภิธัมมกถากันอยู่ พระมหาโกฏฐิตะจึงห้ามปรามภิกษุที่เป็นมิตรสหายของผู้พูดแทรกจึงเตือนว่า พระจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นผู้ฉลาด อาจจะ พูดอภิธรรมกับพระเถระทั้งหลายได้. พระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า ถ้าไม่รู้ปริยายแห่งจิตของผู้อื่น ก็ยากจะรู้ได้ แล้วกล่าวว่า คนที่เสงี่ยมเจียม ตัว สงบระงับในเมื่ออยู่อาศัยศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เคารพนั้น ถ้าแยกออกไปก็อาจถูกราคะครอบงำจิตได้ เหมือนโคที่ผูกไว้ จะว่า ไม่กินข้าวกล้าไม่ได้ แม้บุคคลได้ฌานทั้งสี่และได้เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต ( เครื่องหมาย ) ก็อาจเสื่อม ถูกราคะครอบงำ ลาสิกขาไปได้. ต่อมา พระจิตตหัตถิสาริบุตรลาสิกขาไปจริง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสว่า ไม่ช้าจิตตะก็จะระลึกได้ถึงเนกขัมมะ. ในไม่ช้าจิตตหัตถิ สาริบุตรก็บวชอีก และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ( จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาท ปริพพาชก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ ( ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น. ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิปทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วิญญูบุรุษเช่นข้าพเจ้า จะไม่ รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร. )

พระเถระหลายรูปสนทนากัน ถึงปัญหาว่า อะไรเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย อะไร เป็นท่ามกลาง อะไรเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ต่างแสดงความเห็นชี้ไปที่ผัสสะ ความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ว่าเป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย ความดับ ตัณหาเป็นเครื่องเย็บให้ติดกัน ดังนี้เป็นต้น ( รวม ๖ นัยฺ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จมา ตรัสว่า คำตอบเหล่านั้นทั้งปวงถูกโดยปริยาย แต่ที่ พระองค์ทรงมุ่งหมาย ( ตรงกับที่รูปแรกกล่าวไว้ ) คือผัสสะ ความเกิดแห่งผัสสะ เป็นส่วนสุด ๒ ฝ่าย เป็นต้น.

ตรัสแสดง ธรรมแก่พระอานนท์ ถึงบุคคล ๖ ประเภท แบ่งเป็น ๓ ประเภท แรก กับ ๓ ประเภทหลัง คือ ประเภทแรก ได้แก่ผู้มีธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้จะไปสู่อบายนรก. ๓. ประเภทหลัง ได้แก่ผู้มี ธรรมอันไม่เสื่อม, ผู้มีธรรมอันเสื่อม, ผู้มีธรรมคือพระนิพพาน.

ตรัสแสดง ธรรมปริยายว่าด้วยนิพเพธิกะ ( ชำแรกหรือทำลายกิเลส ) คือควร ทราบธรรม ๖ อย่าง คือ กาม, เวทนา, สัญญา, อาสวะ, กรรม, ทุกข์ พร้อมด้วยความเกิดขึ้น, ความต่างกัน, วิบาก ( ผล ), ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งธรรมทั้งหกนั้น.

ตรัสแสดง กำลังของพระตถาคต ๖ ประการ คือ ๑. ทรงรู้ฐานะและอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ) ตามความเป็นจริง. ๒. ทรงรู้ผลโดยฐานะ โดยเหตุ ตามเป็นจริง แห่งการทำกรรมที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน. ๓. ทรงความรู้ เศร้าหมอง, ความผ่องแผ้ว, การออกแห่งฌาน, วิโมกข์, สมาธิ และสมาบัติ. ๔. ทรงระลึกชาติได้ ๕. ทรง ได้ทิพยจักษุ ๖. ทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ กำลังทั้งหกข้อของพระตถาคตเหล่านี้ทำให้ทรงปฏิญญาความเป็น หัวหน้า ( อาสภัณฐานะ ฐานะแห่งโคอุสภะ หรือโคผู้นำฝูง ) บรรลือสีหนาท หมุนพรหมจักร ( ล้อธรรมอันประเสริฐ ).

      ๒. ตรัสว่า ผู้ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งอนาคามิผล

คือความ ไม่ศรัทธา ( เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ), ความไม่ละอาย, ความไม่เกรงกลัวต่อบาป, ความเกียจคร้าน, ความหลงลืมสติ, ความมีปัญญทราม. ฝ่ายดี ทรงแสดงตรงกันข้าม.

ทรงแสดงว่า บุคคนละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความหดหู่, ความง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน, ความรำคาญใจ, ความไม่ศรัทธา, ความประมาท. ฝ่ายดีทรงแสดงตรง กันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุคบมิตรชั่ว ดำเนินตามมิตรชั่ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำธรรมะเกี่ยว กับความประพฤติและมารยาท ( อภิสมาจาริกธรรม ), ธรรมของพระเสขะ, และทำศีลให้บริบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ที่จะละกามราคะ ( ความ กำหนัดในกาม ), รูปราคะ ( ความกำหนัดในรูป ), อรูปราคะ ( ความกำหนัดในสิ่งที่มิใช่รูป ). ในทางดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะยินดีในความสงัด, ที่จะถือเอา นิมิตแห่งจิตไว้,๑๐ ที่จะทำสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะทำสัมมาสมาธิ ( ความ ตั้งใจมั่นชอบ ) ให้บริบูรณ์, ที่จะละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) ได้, ที่จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้. ฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

เทวดากราบทูลถึงธรรม ๖ อย่างที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ความเป็นผู้ว่าง่าย และการคบเพื่อนที่ดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเล่า พระ สาริบุตรจึงกราบทูลว่า ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้ง สรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร.

ตรัสว่า ถ้าไม่มีสมาธิอันสงบระงับ ประณีต ก็ไม่ได้เสวยอภิญญา ๖ ( มีแสดง ฤทธิ์ได้ เป็นต้น ) ต่อมีสมาธิเช่นนั้นจึงได้อภิญญา ๖.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้เห็นแจ่ม แจ้งในคุณวิเศษนั้น ๆ คือไม่รู้จักธรรมที่เป็นส่วนแห่งความเสื่อม, ความเสมอตัว, ความก้าวหน้า,๑๑ การทำลายกิเลส ตามความเป็นจริง, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย ( ไม่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม ). ในฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรบรรลุความเป็นผู้มีกำลังสมาธิ คือไม่ฉลาดในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออกเกี่ยวกับสมาธิ, ไม่ทำการโดยเคารพ, ไม่ทำการโดยติดต่อ, ไม่ทำการให้เป็นที่สบาย. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ คือนีวรณ์ ๕ กับ ไม่เห็นโทษของกาม ตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ. ในฝ่ายดีทรงแสดงตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรเข้าฌานที่ ๑ อีกอย่างหนึ่ง คือ ความตรึกในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน, ความกำหนดหมายในกาม, ในการพยาบาท, ในการเบียดเบียน และฝ่ายดีทรงแสดง ตรงกันข้าม.

      ๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง

ย่อมอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน คือ ประกอบด้วยความตรึกในกาม ( เป็นต้น เหมือนข้างบนนี้ ) ฝ่ายดีตรัสในทางตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งความเป็นพระอรหันต์ คือความถือตัว ( มานะ ), ความดูหมิ่นตัวเอง ( โอมานะ ), ความดูหมิ่นผู้อื่น๑๒ ( อติมานะ ), ความ สำคัญผิดว่าได้บรรลุ ( อธิมานะ ), ความกระด้าง ( ถัมภะ ), ความถือตัวว่าเลวยิ่ง ( อตินิปาตะ ). ในทางดีคือตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุไม่ละธรรม ๖ อย่างไม่ควรทำให้แจ้งธรรมอันยิ่งของมนุษย์ คือความหลงลืมสติ, ความไม่มีสัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ), ความไม่สำรวมอินทรีย์ ( มีตาเป็นต้น ), ความไม่รู้ประมาณในโภชนะ, พูดปด, พูดเลียบเคียงหาลาภ. ในทางดี คือตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง เป็นผู้มากไปด้วยความสุขกายสุขใจในปัจจุบัน คือยินดีในธรรม, ยินดีในการทำความดีให้เกิดขึ้น ( ภาวนา ), ยินดีในการละความชั่ว, ยินดีในความสงัด, ยินดีในความไม่พยาบาท, ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างไม่ควรบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ไม่ควร ทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญ คือไม่ฉลาดในความเจริญ, ไม่ฉลาดในความเสื่อม, ไม่ฉลาดในอุบาย, ไม่ปลูกความ พอใจเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ, ไม่รักษากุศลธรรมที่บรรลุแล้ว, ไม่ดำเนินการด้วยการกระทำอันติดต่อ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่างจะบรรลุความยิ่งใหญ่ไพบูลในธรรมทั้งหลายไม่ นาน คือมากด้วยแสงสว่าง ( คือความรู้ถึงฌาณ ). มากด้วยความเพียร ( โยคะ ), มากด้วยความรู้สึก ( เวทะ อรรถกถาแก้ว่า ปีติปราโมทย์ ) มากด้วยความไม่สันโดษ ( ในกุศลกรรม ),๑๓ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม, ทำความ เพียรยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

ทรงแสดงถึงผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง จะตกนรกเหมือนนำไปวางไว้ และ

ตรงกันข้ามจึงขึ้นสวรรค์เหมือนนำไปวางไว้ คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติ ผิดในกาม, พูดปด, มีความปรารถนาลามก, มีความเห็นผิด

อีกนัยหนึ่ง คือพูดปด, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ, โลภ, คะนอง.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้เแจ้งความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นธรรมที่เลิศ คือไม่มีศรัทธา, ไม่มีความละอาย, ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป, เกียจคร้าน, ๑๔มีปัญญาทราม, ห่วงใยในกายในชีวิต ฝ่ายดีคือตรงกันข้าม

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง หวังความเสื่อมในกุศลธรรมได้ ไม่มีความเจริญ ในอนาคต คือปรารถนามาก ทุกข์ร้อน ( เพราะความปรารถนามากนั้น ), ไม่สันโดษด้วย ปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ไม่มี ศรัทธา, ทุศีล, เกียจคร้าน, หลงลืมสติ, มีปัญญาทราม. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

      ๔. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง ไม่ควรทำให้แจ้งความเห็นอันยอดเยี่ยม

คือไม่ข่มจิต, ไม่ประคองจิต, ไม่ปลอบจิต, ไม่เพ่งจิต ในสมัยที่ควรทำเช่นนั้น, น้อมไปในธรรมอันเลว, ยินดีในกายของ ตน. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ อย่าง แม้ฟังธรรม ก็ไม่ควรเพื่อจะก้าวลงสู่ทำนอง ธรรมอันถูกต้องในกุศลธรรม คือประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกรรม ( ทำกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ), ๑๕ ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือกิเลส ( มีความเห็นผิดอย่างแรง ), ประกอบด้วยเครื่องปิดกั้นคือวิบาก ( ผล แห่งกรรมส่งให้ไปเกิดในที่ไม่สมควร ), ไม่มีศรัทธา, ไม่มีฉันทะ ( ความพอใจ ), มีปัญญาทราม,

อีกนัยหนึ่ง ทำอนันตริยกรรม ๕ กับมีปัญญาทราม.

อีกนัยหนึ่ง ไม่ฟังธรรม, ไม่ตั้งโสต, ส่งใจไปที่อื่น, ถือเอาแต่สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ทอดทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์, ประกอบด้วยความพอใจ ที่ไม่สมควร. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ละธรรม ๖ อย่างไม่ได้ ไม่ควรทำให้แจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุยึดกายของตน, ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ตัดลัทธิพิธีหรือโชคลาง ), ราคะ โทสะ โมหะ ที่ ทำให้ไปสู่อบาย. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ละธรรม ๖ อย่างที่กล่าวมานี้ได้ และไม่ควรทำธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

ตรัสแสดงอภัพพฐาน ( ฐานะที่ไม่ควรหรือที่เป็นไปไม่ได้ ) ๖ ประการ คือ ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่อยู่อย่างขาดความเคารพในพระศาสดา, พระธรรม, พระสงฆ์, การศึกษา, ไม่ควรก้าวล่วงอคมนียวัตถุ ( สิ่งที่ไม่ ควรถึงอรรถกถาแก้ว่า ทิฏฐิ ๖๒ ), ไม่ควรยังภพที่ ๘ ให้เกิดขึ้น ( ไม่เกิดอีกเป็นครั้งที่ ๘ ).

ตรัสแสดงอภัพพฐาน ๖ ประการ คือผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ไม่สมควรเห็นว่า สังขารใด ๆ เที่ยง, เป็นสุข, ธรรมใด ๆ เป็นอัตตาตัวตน, ไม่ควรทำอนันตริยกรรม, ไม่ควรถือมงคลตื่นข่าว, ไม่ควรแสวงหาทักขิเณยยบุคคล นอกพระพุทธศาสนา.

อีกนัยหนึ่ง คือไม่ควรทำอนันตริยกรรม ๕ และถือศาสนาอื่น.

อีกนัยหนึ่ง คือไม่ควรเห็นว่าสุข ทุกข์ ตนเองทำขึ้น, คนอื่นทำขึ้น, ทั้งตนเองและ คนอื่นทำขึ้น, ไม่ใช่ตนเองทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่คนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ไม่ใช่ทั้งตนเองและคนอื่นทำขึ้น แต่เกิดขึ้นเอง, ทั้งนี้เพราะ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นผู้เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรมอันเกิดขึ้นแต่เหตุ.

      ๕. ตรัสว่า ความปรากฏขึ้นแห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หาได้ยากในโลก

คือพระพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า, ผู้เกิดในแดนอันประเสริฐ ( อริยายตนะ ),๑๖ ความเป็นผู้ไม่มีอินทรีย์ วิกล ( ตา, หู เป็นต้น ไม่พิการ ) ไม่โง่เง้า, หรือเป็นใบ้, มีความพอใจในกุศลธรรม.

ตรัสแสดงอานิสงส์ ๖ ประการ ในการทำให้แจ้งโสดาปัตติผล คือเที่ยงใน พระสัทธรรม, มีธรรมะอันไม่เสื่อม, เมื่อทำที่สุดทุกข์ได้ก็ไม่มีทุกข์ ( น่าจะหมายความว่าทุกข์ชนิดไหนและได้แล้วก็จะไม่เกิดอีก ), ประกอบ ด้วยญาณ ( ความรู้ ) อันไม่ทั่วไป ( แก่บุถุชน ), เห็นด้วยดีซึ่งเหตุ และธรรม อันเกิดขึ้นแต่เหตุ.

ตรัสแสดงฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ๖ อย่าง คือเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เห็นว่าสังขารเที่ยง จะประกอบด้วยความพอใจอันสมควร, จะก้าวสู่ทำนองคลองธรรมอันถูกต้อง, จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผลถึงอรหัตตผล ( ผล ๔ ).

แล้วทรงแสดงว่า ผู้เห็นว่าสังขารเป็นสุข เห็นธรรมว่าเป็นตัวตน เห็นนิพพานว่าเป็นทุกข์ ก็มีนัยเดียวกับข้างบนนี้. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยงใน สังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต ( ว่าส่วนนี้ไม่เที่ยง ส่วนอื่นเที่ยง ) คือสังขารทั้งปวง จักปรากฏโดยความเป็นของไม่มีที่ตั้ง, ใจของ เราจักไม่น้อมไปในโลกทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลกทั้งปวง, ใจของเราจักน้อมไปสู่พระนิพพาน, เราจักละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่อง ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้, เราจักประกอบด้วยคุณเครื่องเป็นสมณะอันยอดเยี่ยม.

ตรัสว่า ภิกษุผู้เห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ ในสังขารทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือความกำหนดหมายในพระนิพพานของเราจักปรากฏในสังขารทั้งปวง, ใจของเราจักออกจากโลก ทั้งปวง, เราจักเห็นสันติในพระนิพพาน, เราจักถอนกิเลสที่แฝงตัว ( อนุสัย ) ได้, เราจักชื่อว่าทำกิจที่ควรทำ, เราจักชื่อว่าได้บำเรอพระศาสดา ด้วยการบำเรออันประกอบด้วยเมตตา.

ตรัสว่า ภิกษุเห็นอานิสงส์ ๖ อย่าง ควรตั้งความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนใน ธรรมทั้งปวงโดยไม่กำหนดขอบเขต คือเราจักไม่มีตัณหาและทิฏฐิ ( ความทะยานอยากและความเห็นเป็นเหตุยึดถือ ) ในโลกทั้งปวง, เราจัก ดับความถือว่าเป็นเรา, ความถือว่าเป็นของเราเสียได้, เราจักประกอบด้วยญาณอันไม่สาธารณะ, เราจักเห็นด้วยดีซึ่งเหตุและธรรมอันเกิดแต่ เหตุ.

ตรัสว่า ควรละภพ ๓ คือ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ.

ความเจริญสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา.

ตรัสว่า ควรละตัณหา ๓ คือ กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา.

ควรละมานะ ๓ คือ มานะ ( ความถือตัว ), โอมานะ ( การดูหมิ่นตัวเอง ), อติมานะ ( การดูหมิ่นผู้อื่น หรือถือตัวว่าสูงกว่าผู้อื่น ).


    '๑' . หวงที่อยู่ มีที่ว่างก็ไม่อยากรับใครไว้, ตระหนี่ในตระกูล คือไม่ต้องการให้ตระกูลที่อุปฐากตน

    '๒' . ในคำอธิบายตรัสถึงศรัทธา, ศีล, สุตะ ( การสดับ ), จาคะ ( การสละ ), และปัญญา

    '๓' . ในข้อ ๑๒ . มหาราหุโลวาทสูตร ทรงแสดงว่า อุเบกขาเป็นเหตุให้ละปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) ได้  (พระสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๒)   ในข้อ ๔

    '๔' . เล่มที่ ๑๒ หน้า ๒   ชื่ออังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ประกอบด้วย  ดูที่เรื่อง ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ สูตรที่ ๓ หมายเลข ๒

    '๕' . ในธรรมะหมวด ๕ ที่แล้วมา ใช้คำว่า พระกิมพิละ และแสดงความเคารพ ๕ ข้อ. ชื่อที่เพี้ยนกันเล็กน้อย เช่นนี้ เข้าใจว่าเป็นด้วยต้นฉบับมากกว่า แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าคนละรูป

    '๖' . อรรถกถาว่า ได้แก่การเจรจาปราศรัย

    '๗' . น้องชายพระสาริบุตร

    '๘' . บาลีใช้คำว่า ธมฺมโยคา อรรถกถาแก้ว่า พระธรรมกถึก

    '๙' . กาม คือความใคร่, เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, อาสวะ กิเลสที่ดองสันดาน, กรรม การกระทำ, ทุกข์ หมายเอาทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร

    '๑๐' . นิมิต คือเครื่องหมายแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิต

    '๑๑' . ความขาดทุน, เสมอตัว, ได้กำไร

    '๑๒' . อรรถกถาแก้ว่า ความถือตัวว่าสูงกว่าเขา

    '๑๓' . ความคิดก้าวหน้าในความดีอยู่เสมอ ไม่พอใจอยู่เพียงเท่าที่มีอยู่

    '๑๔' . ฉบับไทยไม่มีข้อนี้ ฉบับพม่าและยุโรปมี

    '๑๕' . มีการฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น

    '๑๖' . อรรถกถาแก้ว่า ในมัธยมประเทศ ซึ่งถ้าจะถอดความก็คือเกิดในที่ซึ่งมีความเจริญหรือแวดล้อมด้วยเหตุที่ จะให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ