บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 14

หน้า ๑ ปฐุมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑


๑. ตรัสเรื่อง
พระเสขะ ๕ อย่าง
๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕
๓. ผู้ไม่มีความเคารพ ฯลฯ
๔. ตรัสตอบปุจฉา
๕. โภคทรัพย์ ๕ ประการ

หน้า ๒ ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕
๒. สัญญา ๕ สองชุด
๓.ธรรม ๕ อย่างข้างต้น
๔.ธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ
๕. ทรงแสดงสัมปทา

หน้า ๓ ตติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๓
๑. ตรัสธรรมะที่ทำ
ให้แกล้วกล้า ๕
๒. ภิกษุผู้เข้าสกุล
๓. ตรัสสอนภิกษุ
ไข้ว่า มีธรรม ๕
๔. ทรงแสดงองค์ ๕ ว่า
จักรพรรดิ์ทรงหมุนจักรไปได้
๕. ทรงแสดงบุคคล ๕

หน้า ๔ จตุตถปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๔
๑. ตรัสแสดงผู้ฟังธรรมที่ไม่ดี-ที่ดี
๒. ความอาฆาต ๕ อย่าง
๓.ผู้ประกอบด้วยศีล ๕
๔. ผู้อยู่ป่า ๕ ประเภท
๕. ธรรมเก่าแก่
ของพราหมณ์ ๕

หน้า ๕ ปัญจมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๕
๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ
๒. ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า ฯลฯ
๓. โทษของการจาริกไปนาน
๔. ธรรม ๕ อย่าง ผู้ไม่ควร สรรเสริญ
๕. โทษของทุจจริต ๕

พระสูตรที่
ไม่จัดเข้าวรรค
ผู้ประกอบชุมนุม
ธรรมะที่มี ๖ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑
๑.ภิกษุประกอบ
ด้วยธรรม ๖

๒.ธรรมที่
ให้ระลึกถึงกัน
๓. ธรรม ๖ อย่าง
๔. ตรัสแสดงว่า
ธรรม ๖ อย่าง
๕. ตรัสกะพระอุทายี

ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ตรัสสอนพระโสณะ
๒. ผู้ละธรรม ๖
๓. ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๖
๔. ภิกษุ,,ไม่ควร
ทำให้แจ้ง ฯลฯ
๕.ความปรากฏขึ้น
แห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หายาก-

หน้า ๖ หมวดนอกจาก ๕๐ ตรัสแสดงราคะ,
โทสะ, โมหะ
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

 

เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๒

      พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒


      ( หมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคละประมาณ ๑๐ สูตรเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่อนีวรณวรรค ว่า ด้วยนีวนณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อสัญญาวรรค ว่าด้วยความกำหนดหมายในใจ. วรรคที่ ๓ ชื่อโยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ. วรรคที่ ๔ ชื่อเถรวรรค ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเถระ หรือผู้เฒ่า. วรรคที่ ๕ ชื่อกกุธวรรค ว่าด้วยบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์พระนามว่ากกุธะ).

      ๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕ ว่า ท่วมทับจิตแล้วทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง และตรัสเรียกว่า อกุศลราศี( กองแห่งอกุศล )

คือความพอใจในกาม, ความคิดปองร้าย, ความคิดหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้าน รำคาญใจ, ความลังเลสงสัย เมื่อภิกษุละไม่ได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้จักประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองอย่าง หรือจักทำให้แจ้งญาณทัสสนะวิเศษอันควรแก่พระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ ต่อเมื่อละได้ จึงเป็นไปได้ที่จะรู้จักประโยชน์ ตน เป็นต้น.

ตรัสแสดงองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ อย่าง คือมีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มีอาพาธน้อย, ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ทำตนให้ปรากฏตามความจริงในพระ ศาสดา และในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้, มีความเพียร, มีปัญญา.

ทรงแสดงสมัยที่ไม่สมควรตั้งความเพียร ๕ ประการ คือเป็นคนแก่, ถูกโรคเบียดเบียน, หาอาหารได้ยาก เกิดจราจล ประชาชนอพยพ, สงฆ์แตกกัน. ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นสมัยอันสมควร.

มารดาและบุตรออกบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุ คลุกคลีกันมาก ในที่สุด ลาสิขาออกมาอยู่ร่วมกันอย่างสามีภริยา พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสว่า รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ของหญิงเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ความผูกพัน ยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ.

ตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่ง ให้สำรวมอินทรีย์, รู้ประมาณในอาหาร, ประกอบ ความเพียรเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ), มีปัญญาเห็นแจ้ง, เจริญโพธิปักขิยธรรม ( ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งปัญญาตรัสรู้ ) เธอทำตาม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

ตรัสสอนว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ คือ ๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นหนุ่มสาวได้ ) ๒. เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในความเป็นผู้ไม่มีโรคได้ ) ๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ( อันจะทำให้ละความเมาในชีวิตได้ ) ๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบทั้งสิ้น ( อันจะทำให้ละ ความติดหรือความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความพอใจหรือฉันทราคะได้ ) ๕. เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของ กรรมนั้น ( อันจะทำให้ละทุจจริตกาย วาจา ใจ ได้).

เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหานามะ เปล่งอุทานว่า ชาววัชชีจักรอด ชาววัชชีจักรอด และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ให้เหตุผลที่เปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะทรงเห็นลิจฉวีกุมารทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ดุร้าย แย่งปล้นของขาย เช่น อ้อย, พุทรา, ขนม มากินเดินเขี่ยเท้าผู้หญิงข้างหลัง แต่กลับมายืนพนมมือนิ่งเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค. จึงตรัสว่า ผู้ใดก็ตาม ใช้ทรัพย์ให้ได้ถูกทาง ๕ ประการ ( ดั่งที่ตรัสสอน ไว้ว่าทรัพย์ ๕ ประการ อันได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา ) ผู้นั้นย่อมหวังความเจริญได้ไม่มีเสื่อม.

ตรัสว่าผู้บวชเมื่อแก่ ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือเป็น ผู้ละเอียดอ่อน เป็นต้น ( แปลไว้อย่างละเอียดแล้วว่าผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม หาได้ยาก " ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ! ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยากคือ :-
๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ละเอียดอ่อน หาได้ยาก
๒. ผู้บวชเมื่อแก่ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา หาได้ยาก
๓. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้คงแก่เรียน (พหุสฺสุโต สดับตรับฟังมาก ) หาได้ยาก
๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระธรรมกถึก ( ผู้แสดงธรรม) หาได้ยาก
๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก ).

      ๒. ทรงแสดงสัญญา ๕ สองชุด

ว่า ถ้าเจริญ ทำให้มาก จะมีผล อานิสงส์มาก มีพระนิพพาน ( อมตะ ) เป็นที่สุด คือชุดแรก ความกำหนดหมายว่าไม่งาม, ว่ามีโทษ, ในความตาย, ว่าน่าเกลียด ในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ; ชุดที่สอง กำหนดหมายว่าไม่เที่ยง, ว่าไม่ใช่ตัวตน, ในความตาย, ว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง. ( ฉบับไทยซ้ำกันทั้งสองชุด แต่ฉบับยุโรปและพม่าแยกกัน จึงแยกให้เห็นทั้งสองชุด ).

ตรัสว่า อริยสาวก, อริยสาวิกา ( สาวกชายหญิงของพระอริยะ ) เจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่าถือเอาสาระ ถือเอาส่วนประเสริฐของกายไว้ได้ คือเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.

ตรัสว่า ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่เพื่อนพรหมจารีจะ สนทนาด้วย อยู่ร่วมด้วย คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุตติ, วิมุตติญาณทัสสนะ และตอบปัญหาที่ตั้งขึ้นด้วย ถ้อยคำที่ชักชวนให้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ เป็นต้น.

ตรัสว่า ภิกษุภิกษุณีเจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม ๕ อย่าง ย่อมหวังผล ๒ อย่างได้ คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน กับถ้ายังมีกิเลสเหลือก็เป็นพระอนาคามี ธรรม ๕ อย่าง คือ ฉันทะ พอใจ, วิริยะเพียร, จิตตะ เอาใจใส่, วิมังสา พิจารณาสอบสวน และอุสโสฬหิ กระตือรือร้น ( อรรถกถาแก้ว่า ความเพียรอย่างแรงกล้า ).

ตรัสว่า เมื่อก่อนตรัสรู้ ได้ทรงเจริญธรรม ๕ อย่างข้างต้น (มีฉันทะ เป็นต้น ) มาแล้วได้ทรงบรรลุความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ คืออภิญญา ๖ ( มีแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด ).

ตรัสว่า ธรรม ๕ อย่างที่เจริญ ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อพระนิพพาน คือเห็นว่าไม่งามในกาย, กำหนดหมายว่าน่าเกลียดในอาหาร, ว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง, ว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง, กำหนดหมาย ในความตาย.

แล้วทรงแสดงธรรม ๕ อย่างนั้น ว่าเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ).

      ๓. ตรัสแสดงธรรม ๕ อย่างข้างต้น

( มีเห็นว่าไม่งามในกาย เป็นต้น ) ว่า เจริญ ทำให้มากแล้วจะทำให้มีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เป็นผลเป็นอานิสงส์. เมื่อภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ ) และหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) ก็ชื่อว่า ( เหมือนตีเมืองข้าศึกได้ ) คือ ๑. ถอนลิ่ม ( เครื่องกีดขวาง )เทียบด้วยละอวิชชาอย่างถอนราก ๒. ถมคู เทียบด้วยละความเวียนว่ายตายเกิด ๓. ถอนเสาระเนียด เทียบด้วยละตัณหาอย่างถอนราก ๔. ถอดลอน ( อรรถกถาแก้ว่า ทำลายบานประตู ) เทียบด้วยละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องผูกมัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างถอนราก ๕. เป็นผู้ประเสริฐ วางธง วางภาระ พักพล เทียบด้วยละความถือตัวว่า เราเป็นนั่น เป็นนี่ อย่าง ถอนราก.

ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามว่า ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่ามีธรรมะเป็นเครื่อง อยู่ ตรัสตอบว่า ๑. ผู้เรียนธรรม แต่เว้นว่างการหลีกเร้น ไม่ประกอบความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ เรียกว่าผู้ มากด้วยปริยัติ ( การเรียน ) แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่. ๒. ผู้แสดงธรรมตามที่ฟังแล้วเรียนแล้วแก่ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติ ( เหมือนข้อ ๑ ) เรียกว่าผู้มากด้วยบัญญัติ แต่ไม่เรียกว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๓. รู้สาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมตามที่ฟังแล้ว เรียน แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการสาธยาย แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๔. ผู้ตรึก, ตรอง, เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรม ตามที่ฟังแล้ว เรียนแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ เรียกว่าผู้มากไปด้วยการตรึก แต่ไม่เรียกว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๕. ผู้เรียนธรรม ไม่ทำวัน ทั้งวันให้ล่วงไปด้วยการเรียน ไม่เว้นว่างการหลีกเร้น ประกอบด้วยความสงบแห่งจิตภายในเนือง ๆ ( คือเรียนแล้วปฏิบัติ ) เรียกว่า ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.

อีกนัยหนึ่งทรงแสดงว่า ผู้รู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งธรรมนั้นยิ่งขึ้นไป ด้วยปัญญาชื่อว่าผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่.

ทรงแสดงนักรบ ๕ ประการ คือ ๑. เห็นฝุ่นฟุ้ง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๒. เห็นยอดธง ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๓. ได้ยินเสียงกึกก้องของกองทัพ ก็ไม่กล้าเข้าสู่สงคราม ๔. ถูกฆ่าตายในสงคราม ๕. เอาชนะข้าศึกได้ แต่ละข้อ เทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุ.

ทรงแสดงนักรบอีก ๕ ประการ คือ ๑. ที่ถูกฆ่าตายในสงคราม ๒. ที่ถูกยิง ( ด้วยลูกศร ) ญาตินำมาตายกลางทาง ๓. ที่ถูกยิงญาตินำมาพยาบาล ตายในภายหลัง ๔. ที่ถูกยิง ญาตินำมาพยาบาลและ หาย ๕. ที่ชนะสงคราม แต่ละข้อเทียบด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุเช่นกัน.

ทรงแสดงอนาคตภัย ( ภัยในอนาคต ) ๕ อย่าง ซึ่งภิกษุผู้อยู่ป่าเมื่อ มองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาท พากเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. เราอยู่ป่าคนเดียวอาจถูกแมลงป่องต่อยหรือตะขาบ กัดตายได้ ๒. เราอาจพลาดล้ม อาหารที่บริโภคอาจเป็นพิษ ดีของเราอาจกำเริบ เสมหะของเราอาจกำเริบ ลมเพียงดังศัสตราอาจกำเริบ เราอาจตายได้เพราะเหตุนั้น ๓. เราอาจพบกับสัตว์ร้าย เช่น ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น สัตว์เหล่านั้นอาจทำลายชีวิตเราให้ตายได้ ๔. เราอาจพบกับพวกโจรที่ปล้นแล้วหรือยังมิได้ปล้น มันอาจฆ่าเราให้ตายได้ ๕. อมนุษย์ร้ายที่อยู่ในป่า อาจฆ่าเราให้ตายได้.

ทรงแสดงอนาคตภัยอีก ๕ อย่าง ที่ภิกษุเมื่อมองเห็น ก็ควรเป็นผู้ไม่ ประมาท พากเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ คือ ๑. ขณะนี้เรายังหนุ่ม แต่ก็จะมีสมัยที่ความแก่จะมาถึงร่างกายนี้ ทำให้ยากที่จะ ใส่ใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๒. ขณะนี้เรายังมีโรคน้อย แต่ก็จะมีสมัยที่ความเจ็บไข้จะมาถึงร่างกายนี้. ๓. ขณะนี้ข้าวหาง่าย แต่ก็จะมีสมัยที่ข้าวยาก มนุษย์จะอพยพไปหาสถานที่หาอาหารง่าย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจ คำสอนของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด ๔. ขณะนี้มนุษย์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่เกิดภัย คือการก่อการกำเริบในดง ชาวชนบทขึ้นเกวียนเดินทางกระจัดกระจายไป พวกมนุษย์อพยพไปสู่ที่ที่ปลอดภัย และการอยู่ปะปนคลุกคลี ทำให้ยากจะใส่ใจคำสอน ของพระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด. ๕. บัดนี้สงฆ์ยังพร้อมเพรียงกัน แต่ก็จะมีสมัยที่สงฆ์แตกกัน ซึ่งยากที่จะใส่ใจคำสอนของ พระพุทธเจ้า จะเสพเสนาสนะอันสงัด

แล้วทรงแสดงอนาคตภัยอื่นเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะประพฤติไม่ดีไม่งาม.

      ๔. ตรัสแสดงธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ

ของภิกษุผู้เป็นเถระ ซึ่งจะทำให้ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ ของเพื่อนพรหมจารี คือกำหนัด, คิดประทุษร้าย, หลง, กำเริบ, มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เป็นต้น ในฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดงธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองเดียวกันนี้อีกหลายนัย.

ทรงแสดงธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุผู้เป็นเสขะ ( ยังศึกษาเพื่อคุณความดีสูงขึ้นไป ) ๕ ประการ คือความยินดีในการงาน, ในการพูดมาก, ในการนอนหลับ, ในการคลุกคลีด้วยหมู่, ไม่พิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว และฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม และได้ทรงแสดง ธรรมฝ่ายชั่วฝ่ายดีทำนองนี้ในนัยอื่นอีก.

      ๕. ทรงแสดงสัมปทา

( ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์ ๕ อย่าง หลายนัย ซ้ำกับที่ตรัสไว้ในตอนต้น ๆ ( หมวด ๕๐ ที่ ๑ )

แล้วทรงแสดงการพยากรณ์ ( อ้างว่าได้บรรลุ ) อรหัตตผล ๕ อย่าง คือ พยากรณ์เพราะโง่เขลา, ปรารถนาลามกจึงพยากรณ์, พยากรณ์เพราะเป็นบ้า, พยากรณ์ด้วยเข้าใจผิดว่าได้บรรลุ, พยากรณ์ โดยชอบ ( คือได้บรรลุจริง ).

ทรงแสดงการอยู่เป็นสุข ๕ อย่าง คือเข้าฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ และทำให้ แจ้งเจโวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ.

ทรงแสดงว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะตรัสรู้ธรรมที่ไม่กำเริบไม่นาน เลย คือบรรลุความเป็นผู้แตกฉานในอรรถ, ในธรรม, ในภาษาพูด, ในปฏิภาณ และพิจารณาจิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.

ทรงแสดงว่า ภิกษุเสพสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ จะบรรลุธรรมที่ไม่กำเริบไม่นานเลย คือมีความริเริ่มในการงานน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษดีในเครื่อง ประกอบแห่งชีวิต, มีอาหารน้อย ไม่เห็นแก่ท้อง, หลับน้อย ประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น, สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ได้, พิจารณา จิตตามที่หลุดพ้นแล้ว.

และทรงแสดงยักย้ายอีกหลายนัยคล้ายคลึงกัน. ทรงแสดงว่าพระตถาตคย่อมแสดง ธรรมด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ไม่ใช่ทำอย่างเสียไม่ได้ ) แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แก่ คนส่วนใหญ่ และแม้แต่พวกเนสาท ( ขอทานและพรานนก มีความรวมในคำว่าเนสาท ) ที่นำข้าวติดตัวไป. เปรียบเหมือนราชสีห์ เมื่อจะประหารเหยื่อก็ประหารด้วยความเคารพ ( ด้วยอาการอันดีงาม ผึ่งผาย ).

ตรัสกะพระมหาโมคคัลลานะถึงศาสดา ๕ ประเภท ที่ต้องอาศัย หรือหวังความคุ้มครองจากสาวก, ส่วนพระองค์ไม่ต้องหวังเช่นนั้น.


    '๑' . ปธานิยังคะ แปลตามอรรถกถา ที่แล้วมาเคยแปลว่า องค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน ( ธรรม ๕ อย่าง มีอุปการะมาก คือองค์ ๕ ที่ควรตั้งไว้เป็นประธาน อันได้แก่ ๑. มีศรัทธาเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่ โอ้อวด ไม่มีมายา ๔. ลงมือทำความเพียร ๕. มีปัญญาเห็นความเกิดความดับ ฯลฯ.

    '๒' . ตามศัพท์ว่า ชาววัชชีจักเป็น ภวิสฺสนฺติ วชฺชี

    '๓' . ขออุปมาในการตีเมืองข้าศึกได้นี้ หมายความว่า จะต้องทำลายเครื่องกีดขวางทุกชนิดที่ฝ่ายรับทำไว้ คือ ๑. ทำลายเครื่องกีดขวางรอบนอกก่อนถึงคูเมือง ๒. ถมคูเมือง ๓. ถอนเสาระเนียด คือเสาที่ปักไว้อย่างแข็งแรงด้านนอกของ ประตู ๔. ถอนกลอนประตูเมือง เปิดบานประตูออกไป ๕. วางธง วางสิ่งแบกหามพักพล

    '๔' . หมายถึงการงานที่เป็นแบบคฤหัสถ์ หรือการงานที่ไม่เนื่องด้วยการอบรมจิตใจ

    '๕' . อันนภาระ มีภาระเรื่องข้าว คือแบกข้าว นำข้าวติดตัวไป หรือเอาข้าวทูนหัวไป

    '๖' . ถอดความไว้ว่า " ศาสดา ๕ ประเภทที่ต้องอาศัยหรือหวังความคุ้มครองจากสาวก คือศาสดาผู้ มีศีลไม่บริสุทธิ์, มีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์, มีการแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์, มีการตอบคำถามไม่บริสุทธิ์, มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่แสดงตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ "


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ