บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 14

หน้า ๑ ปฐุมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑


๑. ตรัสเรื่อง
พระเสขะ ๕ อย่าง
๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕
๓. ผู้ไม่มีความเคารพ ฯลฯ
๔. ตรัสตอบปุจฉา
๕. โภคทรัพย์ ๕ ประการ

หน้า ๒ ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ทรงแสดงนีวรณ์ ๕
๒. สัญญา ๕ สองชุด
๓.ธรรม ๕ อย่างข้างต้น
๔.ธรรมฝ่ายชั่ว ๕ ประการ
๕. ทรงแสดงสัมปทา

หน้า ๓ ตติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๓
๑. ตรัสธรรมะที่ทำ
ให้แกล้วกล้า ๕
๒. ภิกษุผู้เข้าสกุล
๓. ตรัสสอนภิกษุ
ไข้ว่า มีธรรม ๕
๔. ทรงแสดงองค์ ๕ ว่า
จักรพรรดิ์ทรงหมุนจักรไปได้
๕. ทรงแสดงบุคคล ๕

หน้า ๔ จตุตถปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๔
๑. ตรัสแสดงผู้ฟังธรรมที่ไม่ดี-ที่ดี
๒. ความอาฆาต ๕ อย่าง
๓.ผู้ประกอบด้วยศีล ๕
๔. ผู้อยู่ป่า ๕ ประเภท
๕. ธรรมเก่าแก่
ของพราหมณ์ ๕

หน้า ๕ ปัญจมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๕
๑. ตรัสแสดงธรรมะแก่พระกิมพิละ
๒. ผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า ฯลฯ
๓. โทษของการจาริกไปนาน
๔. ธรรม ๕ อย่าง ผู้ไม่ควร สรรเสริญ
๕. โทษของทุจจริต ๕

พระสูตรที่
ไม่จัดเข้าวรรค
ผู้ประกอบชุมนุม
ธรรมะที่มี ๖ ข้อ
ปฐมปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๑
๑.ภิกษุประกอบ
ด้วยธรรม ๖

๒.ธรรมที่
ให้ระลึกถึงกัน
๓. ธรรม ๖ อย่าง
๔. ตรัสแสดงว่า
ธรรม ๖ อย่าง
๕. ตรัสกะพระอุทายี

ทุติยปัณณาสก์
หมวด ๕๐ ที่ ๒
๑. ตรัสสอนพระโสณะ
๒. ผู้ละธรรม ๖
๓. ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๖
๔. ภิกษุ,,ไม่ควร
ทำให้แจ้ง ฯลฯ
๕.ความปรากฏขึ้น
แห่งสิ่ง ๖ สิ่ง หายาก-

หน้า ๖ หมวดนอกจาก ๕๐ ตรัสแสดงราคะ,
โทสะ, โมหะ
พระสูตรที่ไม่จัดเข้าวรรค

 

เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
หน้า ๑

      พระไตรปิฎกเล่มนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือตอนที่ ๑ ชื่อปัญจกนิบาต ว่าด้วย ธรรมะจำนวน ๕ ตอนที่ ๒ ชื่อฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมะจำนวน ๖.

ปัญจกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๕ ข้อ

      ในหมวดนี้ จัดเป็นหมวด ๕๐ รวม ๕ หมวด หมวดละ ๕ วรรค วรรคละประมาณ ๑๐ สูตร กับพระสูตรนอกหมวด ๕๐ อีกต่างหาก รวมทั้งสิ้น ประมาณเกือบ ๓๐๐ สูตร.

ปฐมปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๑

      ( ในหมวดนี้ มี ๕ วรรค. วรรคที่ ๑ ชื่อเสขพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลังของ พระเสขะ คือ พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา. วรรคที่ ๒ ชื่อพลวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นกำลัง. วรรคที่ ๓ ชื่อปัญจังคิกวรรค ว่าด้วยธรรมะมีองค์ ๕. วรรคที่ ๔ ชื่อสุมนวรรค ว่าด้วยนางสุมนาราชกุมารี. วรรคที่ ๕ ชื่อมุณฑราชวรรค ว่าด้วยพระ เจ้ามุณฑะ ).

      ๑. ตรัสแสดงกำลังของพระเสขะ ๕ อย่าง

อันได้แก่กำลังคือ ความเชื่อ, ความอายต่อบาป. ความเกรงกลัวต่อบาป, ความเพียร และปัญญา และได้ตรัสแสดงธรรมยักย้ายนัยต่าง ๆ โดย อาศัยหลักธรรม ๕ ประการที่กล่าวนี้ เช่น ถ้าขาดธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นทุกข์ในปัจจุบัน และหวังทุคคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป แต่ถ้ามีธรรมเหล่านี้จะอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และหวังสุคติได้เมื่อสิ้นชีวิตไป.

      ๒. ตรัสแสดงกำลัง ๕ ของพระตถาคต

เช่นเดียวกับข้อ ๑

และได้ตรัสถึงธรรมอันเป็นกำลัง ๕ อย่าง อันได้แก่กำลัง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่นและปัญญา.

กับได้ตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น คือตนเองสมบูรณ์ด้วยศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ, วิมุตติญาณทัสสนะ และชักชวนผู้อื่นเพื่อให้สมบูรณ์ด้วยธรรมเหล่านั้น. ถ้าขาดในด้านตนเองหรือในด้าน ชักชวนผู้อื่นในทางใดทางหนึ่งหรือขาดทั้งสองอย่าง ก็ชื่อว่าบกพร่องในทางนั้น ๆ.

      ๓. ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีที่พึ่ง ประพฤติไม่สมส่วนใน เพื่อนพรหมจารี

เป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, ศีล, ความเห็นชอบ และความตั้งใจมั่นชอบให้บริบูรณ์ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะบำเพ็ญธรรมะที่เป็นมารยาท, ธรรมของพระเสขะ, กองศีล, กองสมาธิ, และกองปัญญาให้บริบูรณ์ได้. ต่อเมื่อมีความเคารพ มีที่พึ่ง ประพฤติสมส่วนในเพื่อนพรหมจารี จึงเป็นไปได้ที่จะ บำเพ็ญธรรมเหล่านั้นให้บริบูรณ์ได้.

ทรงแสดงว่า ความเศร้าหมองแห่งจิต ๕ อย่าง คือความพอใจ ในกาม, ความคิดปองร้าย, ความหดหู่ง่วงงุน, ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ, และความลังเลสงสัย ( ซึ่งเรียกว่านีวรณ์ ๕ ในที่อื่น ) ทำให้จิตไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน, ไม่ผ่องใสเปล่งปลั่ง, ไม่ตั้งมั่นด้วยดี เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เปรียบเหมือนเหล็ก, โลหะ, ดีบุก, ตะกั่ว, และเงิน เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งทองฉะนั้น. เมื่อจิตปราศจากเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อ อภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น มีการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเป็นที่สุด.

ทรงแสดงว่า บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมไม่มีคุณธรรมดังต่อไปนี้ ขาดอุปนิสสัย คือ สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ), ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความ เบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณซึ่งความหลุดพ้น ). ถ้ามีศีลก็ตรงกันข้าม คือมีคุณธรรมเหล่านี้ มีอุปนิสสัยสมบูรณ์.

ทรงแสดงว่า สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) ที่องค์ ๕ อนุเคราะห์ แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผล เป็นอานิสงส์ คือศีล, การสดับตรับฟัง, การไต่ถามโต้ตอบ, สมถะ ( ความสงบ จิต ) และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ).

ทรงแสดงวิมุตตายตนะ ( เหตุแห่งความหลุดพ้น ) ๕ ประการ ที่ ภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร จะมีจิตที่ยังไม่หลุดพ้นได้หลุดพ้น จะมีอาสวะที่ยังไม่สิ้นถึงความสิ้นไป คือ ๑. ศาสดาหรือเพื่อน พรหมจารีที่เคารพแสดงธรรมให้ฟัง ภิกษุก็เห็นอรรถเห็นธรรม เกิดปิติปราโมทย์ มีกายสงบ เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น ๒. ภิกษุแสดง ธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้วแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๓. ภิกษุสาธยาย ( ท่องบ่น ) ธรรมที่ได้ฟัง แล้ว เรียนแล้วโดยพิสดาร ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๔. ภิกษุตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมที่ได้ฟังแล้ว เรียนแล้ว ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น. ๕. ภิกษุอื่นเอาสมาธินิมิตอันใดอันหนึ่งไว้ด้วยดี, ใส่ใจด้วยดี, ทรงจำด้วยดี, แทงทะลุด้วย ดีด้วยปัญญา ก็เห็นอรรถเห็นธรรม จนถึงมีจิตตั้งมั่น.

ทรงแสดงว่า ญาณ ๕ ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน แก่ผู้เจริญสมาธิ อันไม่มี ประมาณ ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติเฉพาะหน้า คือความรู้เกิดขึ้นเฉพาะตนว่า ๑. สมาธินี้ มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก ( ผล ) ต่อไป ๒. สมาธินี้ประเสริฐ ไม่มีอามิส ( เหยื่อล่อ ) ๓. สมาธินี้คนชั่วส้องเสพไม่ได้ ๔. สมาธิ นี้สงบประณีต ได้มาด้วยความสงบระงับกิเลส บรรลุความเป็นธรรมอันเอกเกิดขึ้น ไม่ต้องบรรลุด้วยใช้ความเพียรข่มธรรมอันเป็นข้าศึก ห้ามกิเลส. ๕. สมาธินี้เราเข้าออกอย่างมีสติ.

ทรงแสดงการเจริญสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะมีองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุเข้าสู่ ฌานที่ ๑ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด ) ๒. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๒ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่ สมาธิ. ๓. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๓ มีกายอันนี้เต็มไปด้วยสุขที่ไม่มีปีติ ๔. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๔ แผ่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปสู่กายนี้ ๕. ภิกษุถือเอานิมิตในการพิจารณาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำด้วยดี แทงทะลุด้วยดีด้วยปัญญา ( ซึ่งนิมิตในการพิจารณานั้น ). เมื่อเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.

ทรงแสดงอานิสงส์ในการเดินจงกรม ( เดินกลับไปกลับมา ) ๕ ประการ คืออดทนต่อการเดินทางไกล, อดทนต่อความเพียร, มีอาพาธน้อย, อาหารที่กิน, ดื่ม, เคี้ยว, ลิ้มรสแล้ว ย่อมย่อยไปด้วยดี, สมาธิที่ได้ในขณะจงกรม ย่อมตั้งอยู่นาน.

ตรัสแก่พระนาคิตะ แสดงพระประสงค์ไม่รับรองพราหมณคฤหบดีชาว อิจฉานังคละผู้เตรียมของเคี้ยวของฉันมาที่ป่าอิจฉานังคละ ส่งเสียงเอ็ดอึงอยู่ที่ซุ้มประตู โดยแสดงว่า ผู้ใดไม่ได้รับโดยง่ายซึ่งความ สุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จากความสงบ จากการตรัสรู้ ผู้นั้นย่อมยินดี ความสุขอันไม่สะอาด ความสุขเกิดจาก การนอนหลับ และความสุขอันเกิดจากลาภสักการะชื่อเสียง แล้วทรงแสดงว่า ๑. อุจจาระปัสสาวะย่อมมีแก่ผู้ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ๒. ความเศร้าโศรก เป็นต้น ย่อมเกิดเพราะความปรวนแปรเป็นอื่นแห่งสิ่งที่รัก ๓. ความเป็นของปฏิกูล ( น่าเกลียด ) ในนิมิต ( เครื่อง หมาย ) ที่ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิมิตว่าไม่งาม ๔. ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ( ความถูกต้องอารมณ์มีรูป เสียง เป็นต้น ) ย่อมตั้งอยู่แก่ผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( มีตา หู เป็นต้น ) ๕. ความเป็นของปฏิกูลใน ความยึดถือ ย่อมตั้งอยู่แก่บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปในขันธ์ ๕ ที่ยึดถือ นี้เป็นผลแต่ละข้อของ ๕ ข้อนั้น.

      ๔. ตรัสตอบปุจฉาของพระนางสุมนาราชกุมารี

ว่า สาวกของพระองค์ ๒ รูป มีศรัทธา ศีล ปัญญาเสมอกัน แต่รูปหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกรูปหนึ่งไม่เป็นผู้ให้

ถ้าไปเกิดเป็นเทพ, เป็นมนุษย์ รูปที่เป็นผู้ให้ย่อมได้รับสิ่ง ๕ สิ่งอัน เป็นของทิพย์, อันเป็นของมนุษย์เหนือกว่ารูปที่ไม่เป็นผู้ให้ คือ อายุ, ผิวพรรณ, ความสุข, ยศ และความเป็นใหญ่.

ถ้าออกบวช เป็นบรรพชิต รูปที่เป็นผู้ให้ ก็จะเหนือกว่าโดยฐานะ ๕ คือ ต่อเมื่อมีผู้ขอร้องจึงบริโภคปัจจัย ๔ มาก ถ้าไม่มีผู้ขอร้องก็บริโภคน้อย, ถ้าอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจารี ๆ ก็ประพฤติต่อเธอ ด้วยกายกรรม, วจีกรรม, มโนกรรม อันน่าพอใจโดยมาก ที่ไม่น่าพอใจมีน้อย, ย่อมนำมาให้แต่สิ่งที่น่าพอใจโดยมาก สิ่งที่ไม่น่า พอใจมีน้อย.

แต่ถ้าบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอะไรต่างกันระหว่าง ความหลุดพ้นของผู้หนึ่งกับความหลุดพ้นของอีกผู้หนึ่ง.

ตรัสตอบพระนางจุนทีราชกุมารี ถึงผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยรู้ว่าเลิศอย่างไร ( ตามแนวแห่งความเลื่อมใส ๔ ประการ ที่เคยกล่าวไว้แล้วในปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑ ความเลื่อมใส ๔ ประการ คือ ๑. พระตถาคตเป็นเลิศแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๒. อริยมรรคมีองค์ ๘เป็นเลิศแห่งธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๓. วิราคธรรม ( ความคลายกำหนัดยินดี ) อันได้แก่นิพพานเป็นเลิศแห่งธรรมที่ ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง๔. พระอริยสงฆ์ ๔ คู่ ๘ บุคคล เป็นเลิศแห่งหมู่ทั้งหลาย. ผู้เลื่อมใสใน ๔ อย่างนี้ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศอันจะ มีผลเลิศ ). และมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ว่า จะเข้าถึงสุคติ ไม่เข้าถึงทุคคติเมื่อล่วงลับไป.

หลานชายของเมณฑกเศรษฐีชื่ออุคคหะ นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุรวม ๔ รูปไปฉัน แล้วขอให้ตรัสสอนหญิงสาว ( หลายคน ) ที่จะไปสู่สกุลแห่งสามี จึงประทานโอวาท ๕ คือ ๑. พึงปรารถนาดี รับใช้ ปฏิบัติและพูดจาด้วยดีต่อมารดาบิดาของสามี. ๒. แสดงความเคารพต่อบุคคลที่สามีเคารพ เช่น มารดา บิดา สมณพราหมณ์ รวมทั้งจัดที่นั่งและน้ำให้เมื่อมาถึงบ้าน ๓. ขยันไม่เกียจคร้าน พิจารณาจัดทำการงานภายในบ้านของสามี ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับขนแกะหรือฝ้าย. ๔. รู้การที่ควรทำและไม่ควรทำต่อคนภายในบ้านของสามี เช่น ทาส, คนรับใช้, กรรมกร, ดูแลคนเหล่านั้นเมื่อเจ็บไข้ จัดแบ่งอาหารให้ตามส่วน. ๕. รักษาทรัพย์, ข้าวเปลือก, เงิน, ทอง, ที่สามีหามาให้ดี ไม่ทำตนให้เป็นคน เสียหาย เช่น เป็นนักเลง เป็นขโมย หรือทำลายทรัพย์ (หมายเหตุ : ข้อความในพระสูตรนี้ แสดงว่าการนิมนต์พระ ๔ รูป ไปฉันถือเป็นการมงคล อรรถกถาก็อธิบายอย่างนั้น. แสดงว่ากิจการงานภายในบ้านของคนสมัยนั้น มีเกี่ยวกับขนแกะและฝ้าย แสดงว่า บ้านใหญ่ ๆ ปั่นฝ้าย ทอผ้าใช้เอง และแสดงว่าสตรีมีส่วนรับผิดชอบการเงินด้วย ).

ตรัสตอบสีหเสนาบดี ถึงเรื่องผู้ให้ทาน ย่อมได้รับผลปัจจุบัน ๔ ข้อ คือ ๑. เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก ๒. สัตบุรุษย่อมคบหา ๓. มีเกียรติศัพท์ฟุ้งไป ๔. เข้าสู่สมาคมองอาจไม่เก้อเขิน ส่วนผลใน อนาคตมี ๑ ข้อ คือตายไปแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๔ ข้อแรกมิได้เชื่อเพราะพระผู้มีพระภาคตรัส แต่ เชื่อเพราะเห็นจริงด้วยตนเอง. ส่วนข้อหลังไม่ทราบ จึงต้องเชื่อตามพระผู้มีพระภาค.

ตรัสแสดงอานิสงส์ของทานซ้ำกับข้างต้นแล้ว ตรัสเรื่องทานที่ให้ตามกาล ๕ คือ ๑. ทานที่ให้แก่ผู้มา ๒. ทานที่ให้แก่ผู้ไป๓. ทานที่ให้ในเวลาข้าวยาก ๔. ข้าวออกใหม่ ๕. ผลไม้ออกใหม่ที่ถวายในผู้ มีศีล.

ตรัสว่า ผู้ให้โภชนะ ( อาหาร ) ชื่อว่าให้อายุ, ผิวพรรณ, สุข, กำลัง และปฏิภาณ และตนก็จะได้สิ่งเหล่านั้นอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง.

ทรงแสดงว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีอานิสงส์ ๕ คือ ๑. สัตบุรุษย่อม อนุเคราะห์ก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาก่อน ๓. ย่อมรับ ( ของถวาย ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมให้ฟังก่อน ๕. ผู้นั้นตายไปย่อมเข้าสู่ สุคติโลกสวรรค์ ผู้มีศรัทธาย่อมเป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหมือนต้นไทรใหญ่ ที่เกิดในพื้นดี ในทางสี่แพร่ง เป็นที่พึ่งของนกทั้งหลายฉะนั้น.

ทรงแสดงว่า มารดาบิดาเห็นฐานะ ๕ จึงปรารถนาบุตร คือ ๑. บุตร ที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา ๒. จักทำกิจให้ ๓. สกุลวงศ์ จักตั้งอยู่ยั่งยืน ๔. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมเป็นทายาท ( ผู้รับมรดก ) ๕. เมื่อเราตายแล้ว จักเพิ่มให้ซึ่งทักขิณา ( ในข้อที่ ๕ นี้ รู้สึกว่าจะถือเป็นธรรมเนียมสำคัญของชาวอินเดียสมัยนั้น ).

ตรัสว่า อันโตชน ( คนที่อาศัยอยู่ในบ้าน ) อาศัยหัวหน้าสกุลผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญ ด้วย ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การบริจาก, และปัญญา.

      ๕. ตรัสแสดงสิ่งที่พึงได้จากโภคทรัพย์ ๕ ประการ

คือเลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภริยา ทาส กรรกรให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. ใช้จ่ายในคราวมีอันตรายเกิดขึ้น เพื่อทำตนให้มีความสวัสดี ๔. ทำพลี ๕. มีญาติพลี เป็นต้น ๕. ถวายทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.

ตรัสแสดงว่า สัตบุรุษเกิดในสกุล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คน เป็นอันมาก คือ แก่มารดา บิดา, บุตร ภริยา, ทาส กรรมกร, เพื่อนฝูง, สมณพราหมณ์.

ตรัสแสดงสิ่งที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ แต่ได้โดยยาก ๕ อย่าง คือ อายุ, ผิวพรรณ, สุข, ยศ, สวรรค์

แล้วทรงแสดงว่า จะได้สิ่งเหล่านี้เพราะเหตุเพียงอ้อนวอนหรือปรารถนา เพราะถ้า ได้เพราะเหตุอ้อนวอนหรือปรารถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะเสื่อมจากอะไร คงได้สิ่งที่ต้องการหมด ) ผู้ ใคร่จะได้สิ่งเหล่านี้ ควรบำเพ็ญปฏิปทาที่ทำให้ได้สิ่งเหล่านี้จึงจะได้.

ตรัสว่า ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ ย่อมได้สิ่งที่น่าพอใจ ผู้ให้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด ย่อมได้สิ่งที่เลิศ, ประเสริฐ, และประเสริฐสุด และเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่ที่เกิดนั้น ๆ.

ตรัสแสดงความไหลมาแห่งบุญกุศล ๕ อย่าง คือภิกษุบริโภคจีวร, บิณฑบาต, ที่อยู่อาศัย, เตียงตั่ง, ยาแก้โรคของผู้ใด เข้าเจโตสมาธิอันไม่มีประมาณอยู่ ความไหลมาแห่งบุญกุศลอันให้ผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์อันไม่มีประมาณ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจแก่ผู้นั้นอย่างนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้.

ทรงแสดงความถึงพร้อม, และทรัพย์อย่างละ ๕ ประการ อัน ได้แก่ศรัทธา, ศีล, การสดับ, การสละ, และปัญญา.

ทรงแสดงฐานะที่ใคร ๆ ไม่พึงได้ในโลก ๕ อย่าง คือ ขอให้ สิ่งที่มี ความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าแก่, อย่าเจ็บไข้, อย่าตาย, อย่าสิ้นไป, อย่าพินาศไปเลย. บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมไม่พิจารณา ย่อมเศร้าโศก ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตรงกัน ข้าม

ตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ทรงมีความทุกข์ เสียพระทัยเกี่ยว กับการสวรรคต ของพระนางมัลลิกา ในทำนองเดียวกับข้อความข้างต้น.

พระนารทะ อยู่ในกุกกุฏาราม กรุง ปาตาลิบุตร ทูลพระเจ้ามุณฑะ ผู้ไม่เป็นอันสรงเสวยเมื่อพระนางภัททาเทวีสวรรคต ในทำนองเดียวกับที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้วข้างต้น.


    '๑' . ธรรม ๕ อย่างนี้ เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว ศีล คือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, สมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่น, ปัญญา คือการรู้เท่าทันความจริง, วิมุตติ คือความหลุดพ้น, วิมุตติญาณทัสสนะ คือการรู้ด้วยญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่าธัมมขันธ์ ๕

    '๒' . ไม่มีประมาณ อรรถกถาแก้ว่า เป็นโลกุตตรธรรม

    '๓' . เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

    '๔' . อรรถกถาไม่ได้เล่าว่า เป็นพระราชธิดาของใคร แต่ข้อความในพระสูตรแสดงว่าอยู่ในกรุงราชคฤห์ จึงเห็นได้ว่าคงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร

    '๕' . พลี ๕ โดยละเอียดมีว่า ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ, อติถิพลี ต้อนรับแขก, ปุพเพตพลี ทำบุญอุทิศให้ ผู้ตาย, ราชพลี เสียภาษีอากรแก่หลวง, เทวดาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา ( หรือเสียสระเพื่อบูชาคุณความดีที่ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา .

    '๖' . เรื่องนี้เห็นชัดว่า เป็นเหตุการณ์ภายหลังปรินิพพาน เมื่อสร้างกรุงปาตลิบุตรแล้ว แต่เนื้อธรรมะยกของเก่า มาแสดง


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ