บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 15

หน้า ๑ สัตตกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗
๒. ตรัสแสดงอนุสัย ๗
๓. สารันททเจดีย์
๔. ตรัสแสดงคารวะ ๗
๕. ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. ตรัสตอบคำถาม
ของภิกษุรูปหนึ่ง
๒.ถ้าขาดธรรม ฯลฯ
๓.คุณสมบัติ
ของพระวินัยธร ๗

หน้า ๒ อัฏฐกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๘ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. อานิสงส์ของเมตตา
๒. เวรัญชพราหมณ์
๓.อุคคคฤหบดี
๔. ตรัสแสดงทาน ๘
๕. อุโบสถมี องค์ ๘
วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑.พระนางมหาปชาบดี
๒.บุคคล ๘ ประเภท
๓.ภิกษุประกอบด้วยธรรม
๔.สติสัมปชัญญะ ฯลฯ
๕. ตรัสสอนให้เจริญธรรม

หน้า ๓ นวกนิบาต
ชุมนุมธรรมะที่มี ๙ ข้อ

ปัณณาสกะ
หมวด ๕๐

๑. นักบวชศาสนาอื่น
๒. พระสาริบุตรถูก
ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวหา
๓. ตรัสถึงมนุษย์
ชาวอุตตรกุรุทวีป ฯลฯ
๔. ตรัสแสดงอนุบุพพวิหาร
๕.พระอานนท์แสดง
ธรรมแก่พระอุทายี

วรรคที่ไม่จัด
เข้าในหมวด ๕๐

๑. พระอานนท์ตอบพระอุทายี
๒. ตรัสแสดงการล่วง
ละเมิดศีล ๕ ข้อ
๓. ตรัสแสดงว่า
ควรเจริญความเพียรชอบ
๔. เจริญอิทธิบาท
๕. เจริญสัญญา

 

เล่มที่ ๒๓ ชื่ออังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕)
หน้า ๑

สัตตกนิบาต ชุมนุมธรรมะที่มี ๗ ข้อ

      ในหมวดนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกจัดเป็นหมวด ๕๐ ส่วนที่ ๒ จัดเป็นหมวดนอก ๕๐ ทั้งหมดด้วยกันมีประมาณ ๘๐ สูตรเศษ.

ปัณณาสกะ หมวด ๕๐

      ( หมวดนี้มี ๕ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคที่ ๑ ชื่อธนวรรค ว่าด้วยทรัพย์. วรรคที่ ๒ ชื่ออนุสยวรรค ว่าด้วยอนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวหรือที่นอนเนื่องในสันดาน. วรรคที่ ๓ ชื่อวัชชีวรรค ว่าด้วยเหตุการณ์ในแคว้นวัชชี. วรรคที่ ๔ ชื่อเทวตาวรรค ว่าด้วยเทวดา. วรรคที่ ๕ ชื่อมหายัญญวรรค ว่าด้วยการบูชายัญใหญ่ ).

      ๑. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง

ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจไม่เป็นที่เคารพและยกย่องของเพื่อนพรหมจารี คือใคร่จะได้ลาภ, ใคร่จะได้สักการะ, ใคร่จะไม่ให้ใครดูหมิ่น, ไม่ละอาย, ไม่เกรงกลัวต่อบาป, ปรารถนาลามก, เห็นผิด.

อีกนัยหนึ่ง คือเปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖, ๗ คือริษยา, ตระหนี่. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงกำลัง ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ความเพียร, ความละอาย, ความเกรง กลัวต่อบาป, ความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.

ตรัสแสดงทรัพย์ ๗ อย่าง คือความเชื่อ, ศีล, ความละอาย, ความเกรงกลัวต่อ บาป, การสดับตรับฟัง, การสละ, ปัญญา.

ตรัสกะราชมหาอำมาตย์ชื่ออุคคะ ว่า ทรัพย์ ( ทางโลก ) เป็นของสาธารณ์แก่ ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น ส่วนทรัพย์ ๗ อย่างข้างต้นไม่เป็นของสาธารณ์แก่ไฟ แก่น้ำ เป็นต้น

ตรัสแสดงสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูกมัด ) ๗ อย่าง คืออนุนยะ ( ความพอใจในกาม ), ปฏิมะ ( ความขัดใจ ), ทิฏฐิ ( ความเห็น ), วิจิกิจฉา ( ความสงสัย ), มานะ ( ความถือตัว ), ภวราคะ ( ความกำหนัด ยินดีหรือความติดในภพ คือความมีความเป็น ), อวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ).

ตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์ อันบุคคลประพฤติเพื่อละสัญโญชน์ ๗ และตรัสแสดง สัญโญชน์ ๗ อีกนัยหนึ่ง ต่างเฉพาะข้อ ๖-๗ ความริษยา, ความตระหนี่.

      ๒. ตรัสแสดงอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว หรือที่นอนเนื่องในสันดาน ) ๗ ประการ

อย่างเดียวกับสัญโญชน์ ๗ มีความพอใจในกาม ( กามราคะ ) เป็นข้อแรก มีอวิชชาเป็นข้อสุดท้าย

แล้วตรัสแสดงว่า พรหมจรรย์อันบุคคลประพฤติเพื่อละอนุสัย ๗ . ตรัสแสดงว่า ตระกูล ที่ประกอบด้วยองค์ ๗ ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้วไม่ควรนั่ง คือไม่ต้อนรับ, ไม่อภิวาท, ไม่ให้อาสนะด้วยอาการที่น่า พอใจ, ปกปิดของที่มีอยู่. ให้น้อยในของมาก,ให้ของเศร้าหมองในประณีต, ให้โดยไม่เคารพ. ฝ่ายดีคือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทที่ควรของคำนับ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คืออุภโตภาควิมุติ ( ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ) เป็นต้น ( โปรดดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย ) ตรง ๒๐. กีฏาคิริสูตร ข้อที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยบุคคล ๗ ประเภท

ตรัสแสดงบุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ ประเภท คือ ๑. จมลงไปครั้งเดียวก็จมลง ไปเลย ได้แก่บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำล้วน. ๒. โผล่ขึ้นแล้วจม ได้แก่บุคคลผู้มีคุณธรรม แต่คุณธรรมเสื่อมไป. ๓. โผล่ขึ้น แล้ว ลอยอยู่ได้ ได้แก่ผู้มีคุณธรรมไม่เสื่อม ๔. โผล่ขึ้นแล้ว เห็นแจ่มแจ้ง เหลียวดูได้แก่พระโสดาบัน. ๕. โผล่ขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง ได้แก่ พระสกทาคามี. ๖. โผล่ขึ้นแล้ว ไปถึงที่ตื้น ได้แก่พระอนาคามี ๗. โผล่ขึ้นแล้ว ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบก ได้แก่พระอรหันต์ ( ผู้ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ).

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ ๒. ผู้เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง สิ้นอาสวะและสิ้นชีวิตพร้อมกัน ๓. เห็นว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง เป็นพระอนาคามี อันตราปรินิพพายี ( มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้ ) ๔. อุปหัจจปรินิพพายี (มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมาย ถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายพระอนาคามีประเภทนี้ ควรดูอรรถกถาปุคคลบัญญัติในอภิธัมมปิฎกประกอบด้วย เพราะดูเหมือนคำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรงนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด ) ๕. อสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ) ๖. สสังขารปรินิพพายี ( ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม ) ๗. อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสใน เบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ )

ตรัสแสดงบุคคล ๗ ประเภทว่า ควรแก่ของคำนับ เป็นเนื้อนาอันยอดเยี่ยมของโลก อย่างเดียวกับข้างต้น ต่างแต่กำหนดว่าเป็นผู้เห็นว่าเป็นทุกข์ในสังขารทั้งปวง, เห็นว่าไม่ใช่ตนในธรรมทั้งปวง, เห็นว่าสุข ในพระนิพพาน ส่วนลำดับข้อ ๔ ถึงข้อ ๗ ซ้ำกัน.

ตรัสแสดงนิททสวัตถุ ( คือที่ตั้งแห่งการที่จะไม่มีอายุ ๑๐ ปีต่อไปอีก โดย อธิบายว่า จะไม่เกิดอีก ) ๗ ประการ คือภิกษุเป็นผู้มีฉันทะ ( ความพอใจ ) แรงกล้าในการสมาทานสิกขาบท และมีความรักอันยิ่งในการ สมาทานสิกขาบทต่อไป, ในการพิจารณาธรรม, ในการนำความปรารถนาออก, ในการหลีกเร้น, ในการปรารภความเพียร, ในสติและปัญญา เป็นเครื่องรักษาตน, ในการแทงทะลุความเห็น ( ตรัสรู้ด้วยมรรค ) และมีความรักอันยิ่งในการนั้น ๆ ( ๕ ข้อหลัง ) ต่อไป.

      ๓. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ สารันททเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ) ๗ อย่างแก่เจ้าลิจฉวี คือชาววัชชี ๑. จักประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และกระทำกิจที่ควรทำ ๓. จักไม่ บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ยอมรับศึกษาในธรรมะของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว ๔. จักเคารพนับถือ ชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕. จักไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้ว และสตรีสาว. ๖. จักสักการะเคารพเจดีย์ของชาววัชชี. ๗. จักจัดแจง ให้การอารักขาคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารภให้พระอรหันต์ที่ยังไม่มาได้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข.

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรมของชาววัชชี ๗ ข้อนี้ แก่วัสสการพราหมณ์ มหา อำมาตย์ของแคว้นมคธ.

ตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ( ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม ) ของภิกษุ ๗ ประการ คือ ๑. จักประชุมกัน เนืองนิตย์ ๒. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เป็นต้น ๓. จักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ เป็นต้น ๔. จักเคารพนับถือภิกษุที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ๕.จักไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น. ๖. จักยินดีในเสนาสนะป่า ๗. จักตั้งความปรารถนาดีใน ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักให้มา ที่มาแล้วให้อยู่เป็นสุข.

แล้วทรงแสดงอปริหานิยธรรมของภิกษุโดยนัยอื่นอีกหลายนัย ตลอดจนได้

ตรัสถึงธรรมที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมของภิกษุ ผู้เป็นเสขะ คล้ายกับธรรมใน หมวด ๖

กับตรัสถึงธรรมะ ๗ อย่างที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ความวิบัติของอุบาสก คือไม่ค่อยได้เห็นภิกษุ, ประมาทการฟังธรรม, ไม่ศึกษาในอธิศีล, มากไปด้วยความไม่เลื่อมใสในภิกษุที่เป็นเถระบวชใหม่ ปูนกลาง, ฟัง ธรรมด้วยจิตคิดจับผิด, แสวงหาทักขิเณยยบุคคลนอกจากพระพุทธศาสนา, ทำการอันควรทำก่อนให้ทักขิเณยยบุคคลนอกพระพุทธศาสนา นั้น. ฝ่ายดีทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม.

      ๔. ตรัสแสดงคารวะ ( ความเคารพ ) ๗ อย่าง

ตามที่เทวดามากราบทูลว่า เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ คือความเคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.

แล้วตรัสแสดงถึงธรรม ๗ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของภิกษุ คือ ๕ ข้อแรก พ้องกันกับคารวะที่แสดงมาแล้ว เปลี่ยนแต่ข้อ ๖-๗ คือเคารพในความละอาย, ในความเกรงกลัวต่อบาป.

อีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนเฉพาะข้อ ๖-๗ อีก คือว่าง่าย, คบคนดีเป็นมิตร. พระสาริบุตร กราบทูลขยายความตามความเข้าใจของท่าน ( ท่านเข้าใจว่าขยายความได้ คือทำเช่นนั้นด้วยตนเอง, พรรณนาคุณของการนั้น, ชักชวนผู้อื่นเพื่อทำ เช่นนั้น รวมทั้งสรรเสริญผู้ทำเช่นนั้นตามความจริงตามกาลอันสมควร ) ตรัสประทาน สาธุการ

ตรัสว่า มิตรประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบ คือให้สิ่งที่ให้ยาก, ทำสิ่งที่ทำยาก, อดทนสิ่งที่ทนยาก, เปิดเผยความลับแก่เพื่อน, ปกปิดความลับของเพื่อน, ไม่ละทิ้งในยามมีอันตราย, ไม่ดูหมิ่นเพื่อนเพราะสิ้นทรัพย์.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ควรคบเป็นมิตร แม้จะถูกกีดกัน ( ให้ ออกห่าง ) คือเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ, เป็นที่เคารพ, เป็นที่สรรเสริญ, เป็นผู้ว่ากล่าว, เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ, เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง ( ใน ทางธรรม ), ไม่ชักชวนในฐานะอันไม่สมควร

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ อย่าง จะทำให้แจ้งปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) โดย กาลไม่นาน คือ ๑-๓. รู้ตามความจริงว่า จิตท้อแท้, หดหู่, ฟุ้งสร้าน, ๔-๖. เวทนา สัญญา ความตรึกของเธอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันเธอรู้แจ้งแล้ว, ๗. เธอถือเอาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำดี ใช้ปัญญาแทงทะลุด้วยดีซึ่งนิมิตในธรรมอันเป็นที่สบาย และไม่เป็นที่สบาย ดีเลว ดำขาว และมีส่วนเปรียบ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๗ ย่อมทำจิตไว้ในอำนาจได้ ไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต คือฉลาดในสมาธิ, ในการเข้า, ในการตั้งอยู่, ในการออก, ในความสมควรแก่กาล, ในโคจร ( อารมณ์ ) และในอภินิหารของสมาธิ.

ตรัสสรรเสริญพระสาริบุตรว่ามีคุณธรรมข้างบนทั้งเจ็ดข้อ. นักบวชศาสนาอื่นสนทนา กันว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอด ๑๒ ปี ย่อมเป็นผู้ควรแก่ถ้อยคำว่าภิกษุ " ผู้ไม่มีสิบ " ( ไม่ต้องเวียนว่าย ตายเกิดมาให้ถูกนับอายุอีก อรรถกถา ) พระสาริบุตรนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ภิกษุที่จะชื่อว่านิททสะ ( ผู้ไม่มีสิบ ) ใน พระธรรมวินัยนี้ มิใช่ด้วยการนับพรรษา ( แต่ด้วยคุณธรรม ) แล้วตรัสแสดงนิททสวัตถุ ๗ ประการ ( ดังที่ตรัสไว้แล้วในวรรคที่ ๒ข้างบน )

ตรัสแสดงนิททสวัตถุอีก ๗ ประการ แก่พระอานนท์ผู้ได้ฟังนักบวชศาสนาอื่น พูดกันทำนองเดียวกับพระสาริบุตร เป็นแต่เปลี่ยนแสดงคุณธรรม คือ มีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, มีการสดับมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา.

      ๕. ตรัสแสดงที่ตั้งแห่งวิญญาณ ( วิญญาณฐิติ ) ๗ อย่าง

คือ ๑. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่มนุษย์, เทพบางจำพวก, เปรตบางจำพวก ๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มี สัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกพรหม ที่เกิดด้วยปฐมฌาน ๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่เทพพวก อาภัสสรพรหม ๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน ได้แก่เทพพวกสุภกิณหพรหม ๕. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากา สานัญจายตนะ ๖. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ๗. สัตว์เหล่าหนึ่งเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ

ตรัสแสดงธรรมที่เป็นบริขาร ( เครื่องประกอบ ) ของสมาธิ ๗ อย่าง มีความ เห็นชอบ เป็นต้น มีความระลึกชอบเป็นที่สุด.

ตรัสแสดงไฟ ๗ อย่าง คือ ราคะ, โทสะ, โมหะ, ผู้ควรของคำนับ, คฤหบดี ( บุคคลในครอบครัว ), ผู้ควรทักขิณา ( ของถวาย ), และไฟอันเกิดจากไม้.

ตรัสสอนอุคคตสรีรพราหมณ์ ผู้เตรียมบูชายัญ นำสัตว์ต่าง ๆ อย่างละ ๕๐๐ ผูกกับเสาเตรียมเพื่อจะฆ่า โดยทรงชี้ว่า การบูชายัญแบบนี้ได้สิ่งที่มิใช่บุญ เพราะเป็นการยกศัสตราขึ้นทางกาย วาจา ใจ

แล้วตรัสว่า ควรละไฟ ๓ อย่าง ไม่ควรเสพ คือราคะ โทสะ โมหะ. และ

ควรสักการะเคารพไฟ ๑ อย่าง คืออาหุเนยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรของคำนับ ) ได้ แก่มารดาบิดา, คหปตัคคิ ( ไฟคือคฤหบดี ) ได้แก่บุตร ภริยา ทาส คนใช้, ทักขิเณยยัคคิ ( ไฟคือผู้ควรแก่ทักขิณา ) ได้แก่สมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความประมาท ตั้งอยู่ในขันติ ( ความอดทน ) โสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) ฝึกตน ทำตนให้สม่ำเสมอ ทำตนให้ปรินิพพาน.

ส่วนไฟที่เกิดจากไม้ ควรก่อให้ติด, ควรวางเฉย, ควรดับ, ควรเก็บไว้ตามกาล อันสมควร. พราหมณ์ก็เลื่อมใส แสดงตนเป็นอุบาสก ปล่อยสัตว์เหล่านั้นไป.

ตรัสแสดงสัญญา ( ความกำหนดหมาย ) ๗ ประการ ว่า มีอมตะเป็นที่สุด คืออสุภสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่งาม ), มรณสัญญา ( ความกำหนดหมายในความตาย ), อาหาเร ปฏิกูลสัญญา ( ความกำหนดหมาย ว่าน่าเกลียดในอาหาร ) , สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ( ความกำหนดหมาบว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ), อนิจจสัญญา ( ความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง ), อนิจเจ ทุกขสัญญา ( ความกำหนดหมายเป็นทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ), ทุกเข อนัตตสัญญา ( ความกำหนดหมายว่าไม่ใช่ตนในสิ่งที่ เป็นทุกข์ ) ครั้นแล้วตรัสอธิบายรายละเอียดในเรื่องนี้.

ตรัสกะชาณุสโสณิพราหมณ์ถึงเมถุนสันโญค ( ความเกี่ยวข้องกับธรรมะของคนคู่ ) ๗ ประการ คือ สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี บางคนปฏิญญาตนว่าเป็นพรหมจารีจริง ๆ หาได้เสพเมถุนกับมาตุคามไม่ แต่ยังยินดี ปลื้มใจ ชื่นใจด้วยเมถุนสัญโญค คือความเกี่ยวข้องกับเมถุน ๗ อย่าง คือ ๑. ยินดีในการลูบไล้, การประคบ, การให้อาบน้ำ, การนวดแห่ง มาตุคาม ปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น. ๒. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ซิกซี้เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคามปลื้มใจด้วยการเสสรวลนั้น. ๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เพ่งจ้องดูจักษุของมาตุคามด้วยจักษุของตน ปลื้มใจด้วยการเล็งแลนั้น. ๔. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะหรือพูดกับขับ ร้อง เป็นต้น ปลื้มใจด้วยเสียงนั้น. ๕. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่นึกย้อนไปถึงเรื่องเก่า ที่ได้เคยหัวเราะพูดเล่นกับมาตุคามแล้วปลื้มใจ ๖. ไม่ถึงอย่าง นั้น แต่เห็นคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้วปลื้มใจ. ๗. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้ง ความปรารถนาเพื่อจะได้เป็นเทพเจ้า หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งแล้วปลื้มใจ. พรหมจรรย์ของผู้นั้นชื่อว่าขาด, ทะลุ, ด่าง, พร้อย. ผู้นั้นประพฤติ พรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้.

ตรัสแสดงธรรมปริยายที่ชื่อว่าสัญโญควิสัญโญค ( ความผูกพันและความ คลี่คลาย ) คือสตรีพอใจในภาวะต่าง ๆ ของสตรีและบุรุษ ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นสตรีได้. บุรุษพอใจภาวะต่าง ๆ ของบุรุษและสตรี ( พอใจ ในภาวะของตน ติดอกติดใจในเพศตรงกันข้าม ) ย่อมไม่ก้าวล่วงความเป็นบุรุษได้. ต่อตรงกันข้ามคือไม่พอใจ จึงก้าวล่วงภาวะทั้งสองได้. ตรัสตอบพระสาริบุตรถึงเหตุที่ทานของบางคนมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก ส่วนของ บางคนมีทั้งผลมาก ทั้งอานิสงส์มาก. โดยตรัสชี้ไปที่การให้ทานด้วยมีความเพ่งเล็งมีจิตปฏิพัทธ์ มุ่งสะสม คิดว่าตายแล้วจัก บริโภค ( ผลของทานนั้น ) หรือตรงกันข้าม คือไม่คิดเช่นนั้นว่าเป็นต้นเหตุตามที่ถาม. อุบาสิกาชื่อเวฬุกัณฏกี ผู้เป็นมารดาของนันทมาณพ
กราบเรียนพระสาริบุตรถึงเรื่องน่าอัศจรรย์ ๗ ประการ คือ ๑. นางสนทนากับท้าวเวสสวัณ ๒. พระราชาข่มเหงฆ่าบุตรของนางตาย แต่นางไม่มีจิตผิดปกติ ๓. สามีไปเกิดไปกำเนิดยักษ์มาแสดงตนด้วยอัตตภาพเดิม นางไม่มีจิตผิดปกติ ๔. สามี ( เมื่อมีชีวิตอยู่ ) ยังหนุ่ม นำหญิงสาวมา ( เป็นภริยาน้อย ) นางไม่มีจิตผิดปกติ ๕. ตั้งแต่ปฏิญญาตนเป็นอุบาสิกา ไม่เคยมีจิตคิดล่วงสิขาบท ๖. เข้าฌานที่ ๑ ถึงฌาน ที่ ๔ ได้ตามปรารถนา ๗. ละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้. ( ดูหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก) หมายเลข ๒๒๐ , เชิงอรรถ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ และ เล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งชี้แจงไว้ดังนี้ว่า
    เล่มที่ ๓ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิกวัคค์ ; ๑. พระโสดาบันและกิเลสที่เรียกว่าสัญโญขน์ ( เครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูก ) ๓ อย่าง คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือโชคลางหรือพิธี กรรม. พระอนาคามีละเพิ่มได้อีก ๒ คือ ๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม ๕. ปฏิฆะ ความขัดใจ. พระอรหันต์ละสัญโญชน์ ได้ทั้งสิบ คือ ๕ ข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว และ ๖. รูปราคะ ความติดใจในรูป หมายถึงติดรูปฌาน ๗. อรูปราคะ ความติดใจในสิ่งที่มิใช่รูป หมายถึงติดอรูปฌาน ๘. มานะ ความถือตัว ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งสร้าน ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๕ ข้อแรกเรียก สัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ข้อหลังเรียกสัญโญชน์เบื้องสูง
    เล่มที่๕ ชื่อมัชฌิมปัณณาสก์ ; อรรถกภาว่า " พระมาลุงกยบุตรมีความเห็นผิดว่า บุคคลจะประกอบด้วยกิเลสก็เฉพาะ ตอนที่ถูกกิเลสครอบงำเท่านั้น ในขณะอื่นไม่ชื่อว่าประกอบด้วยกิเลส. " จึงเป็นการเหมาะสมที่ตรัสอธิบายให้เห็นว่าเด็กไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ โดยตรัสว่า กิเลสประเภทแฝงตัวยังติดตามอยู่

วรรคที่ไม่จัดเข้าในหมวด ๕๐

      ( ในหมวดนี้ มีวรรคเล็ก ๓ วรรค ๆ ละประมาณ ๑๐ สูตร วรรคแรกชื่ออัพยากตวรรค ว่าด้วยสิ่งที่ พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์. วรรคที่ ๒ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่. วรรคที่ ๓ ชื่อวินยวรรค ว่าด้วยวินัย ).

      ๑. ตรัสตอบคำถามของภิกษุรูปหนึ่ง

ถึงเหตุปัจจัยที่อริยสาวกผู้ได้สดับไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่ พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสพยากรณ์ โดยทรงชี้ไปว่า ข้อที่ว่าสัตว์ตายแล้วเกิด หรือ ไม่เกิด หรือเกิดด้วย ไม่เกิดด้วยหรือเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ นั้นเป็นทิฏฐิ ( ความเห็น ), เป็นตัณหา ( ความทะยานอยาก ), เป็นสัญญา ( ความกำหนดหมาย ). เป็นมัญญิตะ ( ความสำคัญในใจ ), เป็นปปัญจิตะ ( ความเนิ่นช้า ), เป็นอุปาทาน ( ความยึดมั่น ) และเป็นวิปปฏิสาร ( ความเดือดร้อน ) ซึ่งบุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่รู้สิ่ง ( ทั้งเจ็ด ) นั้น, ไม่รู้ความเกิด, ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับของสิ่งเหล่านั้น แต่ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ จึงไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์.

ตรัสแสดงคติของบุรุษ ๗ และอนุปาทานปรินิพพาน ( ดับกิเลสอย่างไม่มีเชื้อกิเลส เหลือ ) คือพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี ๓, อุปหัจจปรินิพพายี ๑, อสังขารปรินิพพายี ๑,สสังขารปรินิพพายี ๑, อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑. ( รวมเป็น ๗ ) และตรัสถึงพระอรหันต์ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญา วิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ( ดับกิเลสหมดไม่มีเหลือ ).

พรหมชื่อติสสะ กล่าวกะพระมหาโมคคัลลานะ ว่า เทพที่มีญาณหยั่งรู้ในผู้ ยังมีกิเลสเหลือ ว่ามีกิเลสเหลือ หรือในผู้ไม่มีกิเลสเหลือ ว่าไม่มีกิเลสเหลือ ( ตามความจริง ) นั้น ได้แก่พวกพรหม แต่ก็ไม่ใช่พรหมทุกผู้. พรหมผู้ยินดีด้วยอายุ, วรรณะ, สุข, ยศ, ความเป็นใหญ่ของพรหม ( ยังยึดถือ ) ย่อมไม่รู้ ส่วนที่ไม่ยินดีด้วยสิ่งเหล่านั้น ( ไม่ยึดถือ ) จึงรู้ และรู้ถึง พระอริยบุคคล ๖ ประเภท ( เว้นสัทธานุสารีข้อที่ ๗ ดังที่ย่อไว้แล้วในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ ถึง
สัทธานุสารีผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย มีศรัทธามีความรักในตถาคตตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท.
หมายเหตุ : พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจไม่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้ พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามสมควร ).

อนึ่ง (โปรดดูในเล่มที่ ๒๒ เรื่องของพรหมชื่อติสสะด้วย ซึ่งมีเขียนไว้ดังนี้ว่า    
พระมหาโมคคัลลานะสนทนากับพรหมชื่อติสสะเรื่องญาณของเทวดาที่เกิดขึ้นว่า เราเป็นโสดาบัน. พรหมตอบว่า เทวดาในสวรรค์ ๖ ชั้น ไม่ได้เกิดญาณอย่างนี้ทุกผู้ ต่อเมื่อผู้ใดมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ ( โสดาปัตติยังคะ องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ) ผู้นั้นจึงเกิดญาณเช่นนั้น.พระโมคคัลลานะ มากราบทูลพระผู้มีพระภาค จึงตรัสเติมถึงข้อ ๗ คือรู้ถึงภิกษุผู้เข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ( ความตั้งมั่นแห่งจิตที่ไม่มีเครื่องหมาย ) ผู้ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ที่สุดแห่งพรหมจรรย์.

ตรัสแสดงผลของทานที่เห็นได้ด้วยตนเอง ๗ ข้อแก่สีหเสนาบดี คือ ๑. พระอรหันต์ย่อมอนุเคราะห์เขาก่อน ๒. ย่อมเข้าไปหาเขาก่อน ๓.ย่อมรับ ( ทานของเขา ) ก่อน ๔. ย่อมแสดงธรรมแก่เขาก่อน ๕. เขาย่อม มีกิตติศัพท์อันดีงามฟุ้งไป ๖. เขาย่อมองอาจไม่เก้อเขินเข้าสู่ชุมนุมชน ๗. เมื่อตายไปเขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. สีหเสนาบดีกราบทูลว่า ๖ ข้อแรกมิได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ( เห็นจริงเอง ) ส่วนข้อสุดท้าย ตนไม่รู้จึงเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค.

ตรัสแสดงถึงสิ่ง ๔ ประการ ที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่ถูกว่ากล่าวโดย ฐานะ ๓ คือตถาคตมีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์, มีอาชีวะบริสุทธิ์, ไม่มีทุจจริตทางกาย วาจา ใจ, ไม่มี การเลี้ยงชีวิตผิด ซึ่งจะต้องรักษามิให้คนอื่นรู้ ( รวมเป็น ๔ ข้อ ). ตถาคตมีธรรมอันกล่าวดีแล้ว ไม่มีใครค้านได้ว่ากล่าวไว้ไม่ดี, ปฏิปทา อันไปสู่พระนิพพานอันตถาคตบัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวก ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าบัญญัติไว้ไม่ดี, บริษัทสาวกของพระองค์หลายร้อย ทำให้แจ้ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ไม่มีใครคัดค้านได้ว่าไม่ได้ทำให้แจ้ง ( รวมเป็น ๓ ข้อ ).

ตรัสตอบพระกิมิละ ( ฉบับยุโรปเป็นกิมพิละ ) ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้ง อยู่นานเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ( ๗ ข้อ ) คือบริษัท ๔ ไม่เคารพในพระศาสดา, ในพระธรรม, ในพระสงฆ์, ในการศึกษา, ในสมาธิ, ในความไม่ประมาท, ในการต้อนรับ.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรมะ ๗ ประการจะทำให้แจ้งวิมุติทั้งสองอันไม่มีอาสวะ โดยการไม่นาน คือมีศรัทธา, มีศีล, สดับตรับฟังมาก, หลีกเร้น, ปรารภความเพียร, มีสติ, มีปัญญา,

ตรัสแสดงธรรมแก่พระมหาโมคคัลลานะ เรื่องวิธีแก้ง่วง ๗ ประการ และ ตรัสสอนมิให้ชูงวง ( ถือตัว ) เข้าสู่สกุล, มิให้กล่าวถ้อยคำก่อการทะเลาะวิวาท, ไม่ควรคลุกคลีด้วยคฤหัสถบรรพชิต แต่ควรคลุกคลีด้วย เสนาสนะอันสงัด. แล้วตรัสตอบปัญหาที่ว่า ภิกษุเชื่อว่าหลุดพ้น เพราะสิ้นตัณหา อยู่จบพรหมจรรย์ล่วงส่วน ด้วยเหตุคือ เมื่อภิกษุได้สดับ ว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือ ก็รู้ยิ่งกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง, พิจารณาความคลายกำหนัด, ความดับ, ความสละคืน ในเวทนาทั้งสามคือสุข, ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข, เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่ยึดถือสิ่งใด ๆในโลก, ไม่สะดุ้งดิ้นรน, ดับสนิทเฉพาะตน.

ตรัสสอนว่า อย่ากลัวบุญ เพราะคำว่า บุญเป็นชื่อของความสุข แล้วตรัสว่า ได้เคยทรงเห็นผลที่น่าพอใจมาแล้ว คือทรงเจริญเมตตาจิต ๗ ปี ไม่ต้องเสด็จมาสู่โลกนี้ถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัปป์ ( กัปป์เสื่อมกัปป์เจริญ ๗ สมัย ) ในสังวัฏฏโลก ( โลกเสื่อม ) ทรงเกิดในอาภัสสรพรหม, ในวิวัฏฏโลก ( โลกเจริญ ) ทรงเกิดในพรหมวิมานอันว่าง เป็นท้าวมหาพรหม, ทรงเคยเกิดเป็นท้าวสักกะ ๓๖ ครั้ง, เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมหลายร้อยครั้ง.

ตรัสแสดงภริยา ๗ ประเภท คือภริยาเสมอด้วย ผู้ฆ่า, เสมอด้วยโจร, เสมอด้วย นาย, เสมอด้วยแม่, เสมอด้วยน้องสาว, เสมอด้วยเพื่อน, เสมอด้วยทาสี,

ตรัสแสดงธรรม ๗ อย่างที่ศัตรูชอบ ที่เป็นเหตุแห่งศัตรู มาสู่หญิงหรือชายผู้มีความ โกรธ คือ ๑. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้มีผิวพรรณทราม คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำ แม้จะอาบน้ำลูบไล้ ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาว ผิวพรรณก็ทราม ๒. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้นอนเป็นทุกข์ คนมักโกรธถูกความโกรธครอบงำแม้จะนอนบน บัลลังก์ มีเครื่องประดับงดงาม ก็นอนเป็นทุกข์ ๓. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีประโยชน์มาก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถือเอาสิ่งมิใช่ประโยชน์ว่าเป็นประโยชน์ สิ่งเป็นประโยชน์ว่ามิใช่ประโยชน์ ธรรมคือการเป็นศัตรูของกันและกัน ที่ยึดไว้ ย่อมเป็นไปเพื่อ มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน. ๔. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีทรัพย์ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ก็ถูกพระราชา ทำให้ทรัพย์เข้าไปสู่พระคลังหลวง. ๕. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูมิให้มียศ คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมเสื่อมจากยศ ๖. ศัตรูย่อม ปรารถนาต่อศัตรูมิให้มีมิตร คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ญาติมิตรย่อมเว้นไกล. ๗. ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูให้ตาย แล้วเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก คนมักโกรธที่ถูกความโกรธครอบงำ ประพฤติทุจจริต ตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก.

      ๒. ตรัสแสดงว่า ถ้าขาดธรรมอย่างหนึ่ง ก็ขาดธรรมข้ออื่น ๆ ต่อกันไปเป็นอันดับ

คือความละอาย ความเกรงกลัวต่อบาป, การสำรวมอินทรีย์ ศีล, สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ). ยถาภูตญาณทัสสนะ ( ความรู้ด้วยญาณ ตามเป็นจริง ), นิพพิทา ( ความเบื่อหน่าย ), วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ), วิมุตติญาณทัสสนะ ( ความเห็นด้วยญาณถึงความหลุดพ้น ). ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่สังขารไม่เที่ยง ไม่น่าไว้ใจ ความที่จะเบื่อหน่ายกำหนัด ควรที่จะพ้นไปเสีย
แล้วตรัสถึงระยะกาลที่ล่วงไปหลายแสนปี ที่จะมีสมัยซึ่งฝนไม่ตก, พืชต้นไม้ใบหญ้า จะเหี่ยวแห้งไม่มีเหลือ. แล้วก็ถึงสมัยที่อาทิตย์ขึ้น ๒ ดวง, ๓ ดวง, ๔ ดวง, ๕ ดวง, ๖ ดวง, จนถึง ๗ ดวง ซึ่งมหาปฐพี นี้และขุนเขาสิเนระจะลุกไหม้มีเปลวไฟพลุ่งขึ้นไปถึงพรหมโลก     ต่อ จากนั้นตรัสเล่าเรื่องศาสดาชื่อสุเนตตะ ผู้สอนสาวกให้ไปเกิดพรหมโลก ลงมาจนถึงเกิดในคฤหบดีมหาศาล ( ในโลกนี้ ) แล้วตรัสเล่าถึง สุเนตตศาสดาเจริญเมตตาจิต ๗ ปีได้ผล ( อย่างที่ตรัสเล่าไว้ในวรรคที่ ๑ ก่อนวรรคนี้ ) แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นต้นได้ ทั้งนี้เพราะมิได้ตรัสรู้ศีล, สมาธิ, ปัญญา, วิมุติ อันเป็นอริยะ ส่วนพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรม ๔ อย่างนั้นแล้ว ต่อแต่นี้จึงไม่เกิดอีก.

ตรัสแสดงถึงพระนครชายแดน ของพระราชาที่แวดล้อมด้วยดีถึง ๗ ชั้น ซึ่ง ข้าศึกไม่พึงทำอะไรได้ ( ไม่พึงเอาชนะได้ ) แล้วตรัสเปรียบเทียบว่า อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ ได้ฌาน ๔ ตามต้องการ มารก็เอาชนะไม่ได้เหมือนกันคือมีศรัทธา, มีความละอาย, มีความเกรงกลัวต่อบาป, สดับตรับฟังมาก, ปรารภความเพียร, มีสติ. มีปัญญา.

ตรัสว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นเนื้อนา บุญอันยอดเยี่ยมของโลก คือ ๑. รู้ธรรม ( รู้คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ มีสูตร เป็นต้น ) ๒. รู้อรรถ ( รู้ความหมายของคำสอนนั้น ) ๓. รู้ตน ๔. รู้ประมาณ ๕. รู้กาล ๖. รู้บริษัท ( ประชุมชน ) และ ๗. รู้บุคคลที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน.

ตรัสเปรียบเทียบเรื่องการออกบวชของอริยสาวก จนถึงได้ฌานและได้เป็นพระขีณาสพ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของต้นปาริฉัตตกะ ในชั้นดาวดึงส์ จนถึงมีดอกเบ่งบานในที่สุด.

ตรัสรับรองภาษิตของพระสาริบุตรในเรื่องคารวะ ๗ ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๔ เรื่องตรัสแสดงคารวะ ) ที่ว่าเมื่อมีคาระข้อหนึ่งแล้ว ก็จะมีข้ออื่น ๆ ต่อไป.

ตรัสว่า ภิกษุไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งภาวนา ( การอบรม ) ลำพังเกิดความปรารถนา จะให้จิตพ้นจากอาสวะ ย่อมพ้นไม่ได้ เพราะมิได้อบรมธรรมะต่าง ๆ ( โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ )      เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์ เปรียบเทียบแม่ไก่ไม่กกไข่ มีแต่ความ ปรารถนาให้ลูกไก่ออกจากไข่ก็เป็นไปไม่ได้. ในฝ่ายดีคือที่สำเร็จได้ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. ตรัสเรื่องกอง ไฟใหญ่ เปรียบเทียบ ว่า ถ้าถอดกองไฟก็ยังดีกว่าเป็นทุศีล เป็นต้น.

ตรัสถึงศาสดาทั้งเจ็ดมีสุเนตตศาสดา เป็นต้น ซึ่งปราศจากความกำหนัดในกาม เป็นเหตุให้ผู้มีจิตประทุษร้ายในท่าน พร้อมด้วยบริษัทประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก. ถ้าทำดีต่อท่านก็ได้ผลดี จึงควรตั้งจิตไม่ประทุษร้ายใน เพื่อนพรหมจารี.

แล้วตรัสแสดง เรื่องอรกศาสดา ซึ่งสอนสาวกเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ว่าเล็ก น้อยถึง ๗ ข้อ ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นมนุษย์มีอายุถึง ๖ หมื่นปี จึงควรไม่ประมาท จะได้ไม่เดือดร้อนภายหลัง.

      ๓. ตรัสแสดงคุณสมบัติของพระวินัยธร ( ผู้ทรงวินัย ) ๗ อย่าง

คือรู้จักอาบัติ, มิใช่อาบัติ, อาบัติเบา, อาบัติหนัก, เป็นผู้มีศีล, ได้ฌาน ๔, ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ แล้วทรงยักย้าย นัยถึงคุณสมบัติ ๗ ข้อของพระวินัยธรอีกต่าง ๆ.

ตรัสถึงลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๗ อย่างแก่พระอุบาลี คือเป็นไปเพื่อ เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว, เพื่อคลายกำหนัด, เพื่อดับ, เพื่อสงบระงับ, เพื่อรู้ยิ่ง, เพื่อตรัสรู้, เพื่อนิพพาน.

แล้วได้ตรัสแสดงอธิกรณสมถะ ๗ คือเครื่องระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง ( ดูใน พระวินัยเล่มที่ ๒     ในข้อ๕. ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ๗ อย่าง

พระสูตรที่ไม่จัดเข้าในวรรค

      ตรัสว่า เพราะเหตุที่ทำลายธรรมะ ๗ อย่าง จึงชื่อว่า เป็นภิกษุ คือสักกายทิฏฐิ ( ความเห็นเป็นเหตุยึดถือกายของตน ), ความลังเลสงสัย, การลูบคลำศีลและพรต ( ถือโชคลาง หรือติดลัทธิพิธี ), ราคะ, โทสะ, โมหะ, มานะ.

      และตรัสว่า เพราะสงบ ๗ อย่างข้างต้นได้จึงชื่อว่า สมณะ เพราะลอยธรรมเหล่านี้ได้ จึงชื่อว่า พราหมณ์ เป็นต้น.

      ตรัสถึงอสัทธรรมและสัทธรรม โดย ทรงไปที่ความไม่มีศรัทธา จนถึงมีปัญญาทรามว่า เป็นอสัทธรรม ส่วนสัทธรรม ตรงกันข้าม.

      ตรัสว่า บุคคลที่ควรแก่ของคำนับ ตลอดจนเป็นเนื้อ นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก คล้ายกับที่ตรัสไว้แล้ว ( ดังที่ย่อไว้แล้วใน วรรคที่ ๒ เรื่องตรัสแสดงอนุสัย ).

      ตรัสว่า ควรเจริญธรรมะ ๗ อย่าง คือ โพชฌงค์ ๗ ( ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ ) ๑๑. ทสุตตรสูตร หมวดที่ ๗, สัญญา ๗ ( ดูในข้อความน่ารู้จาก ไตรปิฎก )     หมายเลข ๑๙๖ สัญญา ( ความจำ) ๗ มีอะไรบ้าง , เพื่อละอุปกิเลส ๑๖ (ดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ )     ในข้อ ๗. วัตถูปมสูตร ( สูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี ).


    '๑' . ในภาษาบาลี มี " จ " ศัพท์ถึง ๘ แห่ง แสดงว่าแบ่งออกเป็น ๘ ข้อ แต่ข้อความข้างต้นบังคับให้มี ๗ ข้อ จึงได้รวมคำว่า เป็นที่รัก เป็นที่พอใจเข้าด้วยกัน เป็นข้อเดียวกัน

    '๒' . ( โปรดดูพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ชื่อทีฆนิกาย ประกอบด้วย )ตรงหัวข้อที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗ อย่างในที่นั้นมีเพิ่มข้อ ๒ ว่า ได้แก่สัตว์ที่มี อยู่ในอบาย ๔ ด้วย และให้ดูคำอธิบายศัพท์ในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ประกอบด้วย

    '๓' . ธรรมะเรื่องนี้ มีเนื้อความไม่พาดพิงถึงเรื่องราว ๗ ข้อ แต่พยัญชนะพาดพิงถึง โดยแจกภาวะต่าง ๆ ของหญิง ชายออกไปฝ่ายละ ๗ คือ อินทรีย์, กิริยา, อาการ, ประเภท, ความพอใจ, เสียง, เครื่องประดับของสตรีหรือบุรุษ

    '๔' . คำอธิบายเรื่องพระอนาคามีตามศัพท์เหล่านี้ (โปรดดูเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔)     ทุติยปัณณสาก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ หัวข้อที่ ๔-๕ มีข้อน่าสังเกตุ คือ อันตราปรินิพพายี ๓ ประเภทนั้น เปรียบเหมือนประกายไฟจากแผ่นเหล็กที่ถูกตี ๑. เกิดขึ้นแล้วดับไป ๒. เกิดขึ้นลอยขึ้นไปแล้วดับ ๓. เกิดขึ้น ลอยขึ้น ตก ลงมายังไม่ถึงพื้น ก็ดับไป

    '๕' . ข้อความตรงนี้ได้ทำเครื่องหมายพิเศษใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ เพื่อให้เห็นข้อความตอนนี้ชัดเจนขึ้น. ในหนังสือ วิทยาศาสตร์ ฝ่ายดาราศาสตร์บางเล่มกล่าวว่า ดวงอาทิตย์ของเรามิใช่อยู่โดดเดี่ยว แต่นับเนื่องในกลุ่มดวงอาทิตย์อื่น ๆ รวมกันแล้ว ๙๓ กลุ่ม จึงเป็นโครงสร้างของทางช้างเผือก ( Milky way ) อันมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒๐๐,๐๐๐ ปีแสง คือแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ จะต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ แสนปี และยังมีความคิดกันถึงดวงดาว ( ดวงอาทิตย์ ) ดวงอื่น ๆ ซึ่งอาจเดินทางเข้ามาใกล้สุริยะระบบได้ใน ลักษณะเช่นนั้นก็ไม่มีปัญหาว่า ที่ว่าดวงอาทิตย์ขึ้นหลายดวงจนเป็นเหตุให้โลกมนุษย์เป็นไปนั้น มีทางเป็นไปได้จริงในทางวิทยาศาสตร์ ท่าน ผู้ใดใคร่ค้นคว้าโปรดอ่านหนังสือ THE MARVELS AND MYSTERIES OF SCIENCE หน้า ๖๑ และ ๖๒ ประกอบการพิจารณา และ โปรดอ่านบันทึกพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓    หมวด ๔ อัคคัญญสูตร ตรงข้อที่ว่า การได้รับผลเสมอกัน ที่คำว่า หมายเหตุ    
และดูเชิงอรรถข้อ ๒ ในเล่มที่ ๑๓ หน้า ๑      ซึ่งมีข้อความดังนี้ว่า : ๒. พระสูตรนี้ให้ข้อคิดที่สำคัญยิ่งหลายประการ เช่น แสดงว่า แม้มีฤทธิ์มาก เหาะไปได้ไว ก็ไม่สามารถค้นหาที่สุดแห่งโลกจักรวาลได้ เทียบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ที่ว่าแสงซึ่งเดินทางวินาทีละ ๑๘๖,๒๗๒ ไมล์ แสงของ ดาวบางดวงต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๖๕๐ ปี จึงมาถึงโลกเราหลักวิชาดังกล่าวจึงรับรองภาษิตของโรหิตัสสเทพบุตร แต่พระผู้มีพระภาคก็แสดง โลกอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าสังขารโลก โดยชี้มาที่ร่างกายมนุษย์นี้เองว่า ถ้ารู้แล้วก็ทำทุกข์ให้สิ้นไปได้


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ